พัฒนาระบบรางไทยเชื่อมต่อ EEC กับแดนมังกร ผ่านรถไฟลาว-จีน

โดย ปุญญภพ ตันติปิฎก I Economic Intelligence Center I ธนาคารไทยพาณิชย์

ในวันที่ 2 ธันวาคม 2021 สปป. ลาว เตรียมเปิดให้บริการโครงการรถไฟลาว-จีน ในฝั่งลาวเชื่อมต่อนครหลวงเวียงจันทน์กับนครคุนหมิงของจีน หลังใช้เวลาก่อสร้างราว 5 ปี โครงการนี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผน Belt and Road Initiative ของจีน จะช่วยให้การขนส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างลาวกับจีนและภายในลาวเอง สะดวกรวดเร็ว ต้นทุนลดลง และดึงดูดการค้าการลงทุนเพิ่มขึ้น

การเปิดให้บริการโครงการนี้ เป็นโอกาสของไทยในการพัฒนาระบบรางฝั่งไทยให้เชื่อมต่อไปถึงจีนโดยเฉพาะเส้นทางขนส่งสินค้ากับ EEC ซึ่งเป็นฐานการค้าที่สำคัญระหว่างไทยกับจีน โดยเฉพาะในสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าเกษตรกรรม เช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด อีกทั้ง ยังสามารถรองรับการค้าผ่านแดนไทย-จีนที่กำลังขยายตัวสูง 60%YTD ในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 ปัจจุบัน การขนส่งสินค้าระหว่าง EEC กับจีนพึ่งพิงทางทะเลและถนนเป็นหลัก ขณะที่ทางรางยังมีการใช้งานจำกัด เนื่องจากเส้นทางส่วนใหญ่ยังเป็นรถไฟทางเดี่ยว อีกทั้ง การพัฒนารถไฟทางคู่ยังติดปัญหาก่อสร้างในช่วงคลองขนาดจิตร-จิระ อยู่ระหว่างศึกษากับเตรียมประมูลช่วงขอนแก่น-หนองคาย-เวียงจันทน์ และสรรหาเอกชนเดินรถช่วงแหลมฉบัง-หนองคาย ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2026 ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงยังอยู่ระหว่างก่อสร้างช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมาและอยู่ระหว่างศึกษากับออกแบบช่วงนครราชสีมา-หนองคาย-เวียงจันทน์ โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการตลอดเส้นทางได้ในช่วงปี 2029-2032 ทำให้ในช่วงนี้จำเป็นต้องเน้นเพิ่มการใช้งานระบบรางที่มีอยู่ก่อน

การเชื่อมต่อระบบรางระหว่าง EEC กับจีนจะก่อให้เกิดประโยชน์และเพิ่มศักยภาพการค้าการลงทุนของไทยในหลายมิติ กล่าวคือ

1. ลดต้นทุนโลจิสติกส์ ทั้งนี้ รายงานของ World Bank ปี 2020 พบว่า การขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือแหลมฉบังถึงคุนหมิงผ่านรถไฟลาว-จีนเมื่อเทียบกับทางถนนทั้งเส้นทาง ลดต้นทุนขนส่งต่อตันได้ตั้งแต่ 32% ถึง มากกว่า 50% ขึ้นอยู่กับรูปแบบการขนส่งในฝั่งไทย โดยถ้าในฝั่งไทยขนส่งด้วยรถบรรทุกต้นทุนจะลดลง 32% ขณะที่รถไฟทางเดี่ยว-คู่จะลดลงมากกว่า 40% และรถไฟความเร็วสูงซึ่งเป็นรางขนาดเดียวกันจะลดลงมากกว่า 50% นอกจากนี้ การขนส่งทางรางยังใช้เวลาเพียง 0.5-1.5 วัน ซึ่งเร็วกว่าทางถนนที่ใช้เวลา 2-3 วัน และทางทะเลที่ใช้เวลา 5-7 วัน

2. เพิ่มทางเลือกรูปแบบการขนส่งสินค้าไปยังจีนและต่อเนื่องไปถึงยุโรปผ่านเส้นทางสายไหมใหม่จีน-ยุโรปที่กำลังขยายตัวสูงด้วยระยะเวลาขนส่งที่น้อยกว่าทางทะเลมากกว่าเท่าตัวเหลือเพียงราว 15 วัน โดยเวียดนามเริ่มให้บริการเส้นทางฮานอย-เบลเยี่ยมผ่านเส้นทางนี้แล้ว อีกทั้ง การขนส่งทางรางจะช่วยกระจายความเสี่ยงจากทางทะเลดังเช่นในปัจจุบันที่การแพร่ระบาด COVID-19 ส่งผลให้การขนส่งทางทะเลติดขัดล่าช้าและค่าขนส่งเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว

3. ดึงดูดให้เกิดการลงทุนใน EEC เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มศักยภาพการขนส่ง โดยเฉพาะจากเทรนด์การปรับตัวของ supply chain โลก ที่ทำให้นักลงทุนทั้งชาวจีนและชาวต่างชาติมีแนวโน้มกระจายความเสี่ยงการลงทุนออกจากจีนไปยังประเทศใกล้เคียงที่ขนส่งสินค้ากับจีนได้สะดวกรวดเร็วภายใต้ต้นทุนต่ำ

ดังนั้น ภาครัฐควรเร่งส่งเสริมให้เกิดการใช้งานระบบรางในไทยเชื่อมต่อรถไฟลาว-จีนมากขึ้น ควบคู่กับการเร่งพัฒนาโครงการรถไฟที่เกี่ยวข้องให้เปิดดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว โดยในระยะสั้น ควรสนับสนุนให้เกิดการใช้งานรถไฟทางเดี่ยว-คู่ภายใต้โครงข่ายปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพบริการ การพัฒนาระบบพิธีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ รวมถึงการแก้ไขปัญหาคอขวดด้วยการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ เช่น สะพานข้ามพรมแดน ท่าเรือบก ระบบขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิสำหรับผัก-ผลไม้ เป็นต้น ส่วนในระยะกลาง-ยาว ควรเร่งพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ควบคู่กับรถไฟความเร็วสูงให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดประสานกันภายใต้ขั้นตอนที่โปร่งใส่กับงบประมาณที่กำหนด การพัฒนาระบบรางนี้จะมีส่วนช่วยผลักดันให้ไทยกลายเป็นฮับโลจิสติกส์ของอาเซียนได้

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7795

สะพานมิตรภาพลาว-ไทย แห่งที่ 5 สำเร็จไปแล้วกว่า 14 %

การก่อสร้างสะพานมิตรภาพลาว-ไทยแห่งที่ 5 เชื่อมจังหวัดบริคัมไซกับจังหวัดบึงกาฬในประเทศไทยข้ามแม่น้ำโขงคีบหน้า 14 % ของการก่อสร้างทั้งหมด เมื่อแล้วเสร็จคาดว่าสะพานจะกลายเป็นศูนย์กลางการค้าและเส้นทางคมนาคมระดับภูมิภาคอีกแห่งสำหรับสปป.ลาวและประเทศเพื่อนบ้าน โครงการดังกล่าวได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย (สพพ.) ให้เงินกู้แก่รัฐบาลสปป.ลาว 1.38 พันล้านบาท นายเลทอง พรมวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการกล่วว่า “รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการก่อสร้างถนนและสะพานที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อไม่ให้ลาวถูกมองว่าไม่มีทางออกสู่ทะเลอีกต่อไป แต่กำลังจะกลายเป็นประเทศศูนย์กลางโลจิสติกส์ในระดับภูมิภาค ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เนื่องจากจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งและกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสปป.ลาว”

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Road177.php

National Road 13 ปรับปรุงแล้วสำเร็จไปแล้วกว่า 40 เปอร์เซ็นต์

การปรับปรุงถนนแห่งชาติ 13 ทางเหนือระหว่างหมู่บ้านสิกขิตในเขตนาไซทองของเมืองหลวงและอำเภอโพนหงในแขวงเวียงจันทน์เสร็จสมบูรณ์แล้วกว่า 40 % การปรับปรุงประกอบด้วยการปรับปรุงพื้นผิวถนนและการติดตั้งช่องระบายน้ำสองข้างทางถนนเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ยาว 58 กม. โครงการนี้ได้รับทุนจากธนาคารโลก กองทุนนอร์ดิก กองทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย และกองทุนถนนของรัฐบาล National Road 13 เป็นเส้นทางหลักของประเทศไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ถนนสายนี้เป็นทางหลวงสายสำคัญที่สุดในประเทศสปป.ลาว เชื่อมกับจีนทางตอนเหนือและกัมพูชาทางตอนใต้ รวมระยะทาง 1,500 กม. นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมโยงด้านลอจิสติกส์ที่สำคัญไปยังเวียดนามและประเทศไทย การปรับปรุงถนนครั้งนี้จะเป็นส่วนช่วยสำคัญในการส่งเสริมประสิทธิภาพด้านการขนส่งระดับภูมิภาคของสปป.ลาว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Road177.php

โลจิสติกส์เวียดนามรั้งอันดับ 3 อาเซียน

ตามการประชุมที่จัดขึ้นโดยกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เผยว่าการจัดอันดับดัชนีวัดประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ (LPI) ปรากฏว่าเวียดนามอยู่อันดับที่ 39 จาก 160 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน นาย Tran Quoc Khanh รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ได้กล่าวว่าเวียดนามยังอยู่อันดับท็อป 10 ของตลาดเกิดใหม่ที่มีอัตราการเติบโตราว 14-16% โดยเฉพาะจำนวนธุรกิจโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้นและการพัฒนางานบริการด้านโลจิสติกส์ สิ่งดังกล่าวเป็นผลมาจากการความพยายามของภาคเอกชนและภาครัฐบาล ทั้งนี้ นาย Tran Thanh Hai รองผู้อำนวยการสำนักงานการค้าต่างประเทศ กล่าวว่าภาคการขนส่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงกิจกรรมการส่งออก-นำเข้า การหมุนเวียนสินค้าและการผลิต

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1001531/viet-nam-ranks-third-in-logistics-performance-index-in-asean.html

รัฐสปป.ลาวลงนามร่วมทุนเอกชน ตั้งบริษัทพัฒนาโลจิสติกส์สปป.ลาว

รัฐบาลสปป.ลาวลงนามข้อตกลงร่วมทุนกับบริษัท ท่าเรือแห้งท่าแขก จำกัด ซึ่งจะพัฒนา “ท่าเรือแห้งท่าแขก” ให้เป็นเส้นสู่การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจุดผ่านแดนคำม่วนและสนับสนุนให้สปป.ลาวกลายเป็นศูนย์บริการโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคและระดับสากล ท่าเรือแห้งท่าแขกจะเป็นศูนย์กลางในการบริการด้านลอจิสติกส์ที่ทันสมัยและครบวงจร และจะมีส่วนช่วยในการลดต้นทุนการขนส่ง ซึ่งจะทำให้ธุรกิจสปป.ลาวสามารถแข่งขันในตลาดโลกและตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการได้อย่างเต็มที่ การพัฒนา “ท่าเรือแห้งท่าแขก” เป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลเรื่อง “การพัฒนาการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ในประเทศสปป.ลาว” ซึ่งระบุถึงความสำคัญและความจำเป็นในการพัฒนาท่าเรือในประเทศลาว และสอดคล้องกับนโยบายของประเทศที่จะเปลี่ยนจากการ “ประเทศไม่มีทางออกสู่ทะเลสู่ประเทศที่บริการขนส่งทางบกระดับภูมิภาคและโลก”

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_State_114.php

ท่าเรือแห้งธนาเล้ง เวียงจันทน์ โลจิสติกส์ พาร์ค สนับสนุนการเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์

ท่าเรือแห้งทนาเล็ง (TDP) และเวียงจันทน์โลจิสติกส์พาร์ค (VLP) โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่สองโครงการได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลสปป.ลาวในการเปลี่ยนสปป.ลาวให้กลายเป็นจุดเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์และประเทศที่เชื่อมโยงทางบกภายในภูมิภาคเอเชี่ยตะวันออกเฉี่ยงใต้ ท่าเรือแห้งทนาเล็งเป็นเป้าหมายที่สำคัญในการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์แห่งชาติของสปป.ลาวตั้งแต่ปี 2559 ถึง 2568 โครงการนี้มีแผนที่จะเชื่อมโยงกับเส้นทางการค้าทางทะเล สนามบิน และทางรถไฟ ดังนั้นโครงการนี้จะช่วยสนับสนุนและเพิ่มศักยภาพทางการค้าและการลงทุนสูงสุดของสปป.ลาว ในอนาคตอันใกล้ โครงการนี้มีแผนที่จะเชื่อมโยงกับท่าเรือหวุงอังในจังหวัดห่าติ๋งตอนกลางของเวียดนาม ซึ่งรัฐบาลสปป.ลาวและเวียดนามได้ตกลงที่จะร่วมกันพัฒนาเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของทั้งสองประเทศ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Thanaleng_105.php

กลุ่มโลจิสติกส์เรียกร้องให้รัฐบาลผ่อนปรนข้อจำกัดด้านการขนส่ง

ในขณะที่ธุรกิจภายในประเทศกัมพูชากำลังเผชิญกับความกดดัน พยายามดำเนินการภายใต้ข้อจำกัดของรัฐบาลหลังจากที่ได้ออกมาตรการล็อกดาวน์ ร่วมกับความกังวลเรื่องความปลอดภัยทางด้านอาหาร โดยสมาคมโลจิสติกส์แห่งกัมพูชา (CLA) จึงได้ขอให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงเพื่อช่วยบรรเทาความตึงเครียดเหล่านี้ลง ซึ่งอุปสรรคที่พบในขณะนี้คือบริษัทที่มีสำนักงานในเขตพื้นที่สีแดงจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราว เจ้าหน้าที่เกือบทั้งหมด ไม่สามารถเดินทางผ่านไปยังพื้นที่นั้นๆได้ โดยถูกจำกัดหรือห้าม กิจกรรมทางศุลกากร ซึ่ง CLA ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อหน่วยงานรัฐเพื่อขอใบอนุญาตจราจรสำหรับรถบรรทุกสำหรับงานหนักทุกประเภทที่มีความจำเป็นในการเดินทางเข้าและออกจากพื้นที่ที่ถูกปิดกั้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50843076/logistics-group-calls-on-govt-to-ease-restrictions-to-ensure-deliveries/

เวียดนามคาดอีก 10 ปีข้างหน้า ภาคบริการขยายตัว 7-8%

ภาคบริการของเวียดนาม ตั้งเป้าขยายตัว 7-8% ในปี 2564-2573 สูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของเศรษฐกิจและคาดว่าจะมีสัดส่วน 50% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ภายในปี 2573 โดยเป้าหมายดังกล่าว ถูกกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์แห่งชาติ กลยุทธ์นี้มุ่งเน้นปฏิรูปสถาบัน ส่งแสริมภาคบริการให้มีความโปร่งใสมากขึ้น พร้อมกับมีประสิทธิภาพและสามารถแข่งขันได้ รวมถึงเร่งปรับโครงสร้างองค์กรในภาวะการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ อีกทั้ง ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมองค์ความรู้และการแข่งขันของภาคบริการ อาทิ การท่องเที่ยว ไอที การเงินการธนาคาร โลจิสติกส์ การศึกษา การอบรมและการดูแลสุขภาพ เป็นต้น ประกอบกับจัดตั้งศูนย์บริการท่องเที่ยว เพื่อผลิตสินค้าท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูงและมีเอกลักษณ์ประจำชาติ วัฒนธรรมอันโดดเด่น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/services-sector-expected-to-expand-by-78-percent-this-decade/200218.vnp

สถานการณ์โลจิสติกส์กัมพูชาหลังการประชุมด้านการขนส่งอาเซียนครั้งที่ 40

แม้กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนจะได้มีการลงนามข้อตกลงด้านการขนส่งแล้ว 4 ฉบับภายในภูมิภาคเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน แต่ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันส่งผลทำให้การดำเนินการตามกรอบข้อตกลงล่าช้าเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยกรอบข้อตกลงเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าระหว่างกัมพูชาและไทยตกลงที่จะกำหนดให้มีรถบรรทุกผ่านแดนจำนวน 150 คันต่อประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดนและเป็นการเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งในการประชุมคณะทำงานอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งอาเซียนครั้งที่ 40 โดยเน้นที่สถานการณ์ปัจจุบันของการขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างประเทศต่างๆในภูมิภาค รวมถึงการฟื้นฟูการขนส่งในภูมิภาคของประเทศสมาชิกอาเซียน ไปจนถึงการทบทวนข้อเสนอแนะและแนวทางในการปฏิบัติด้านการขนส่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50831298/logistics-transportation-scrutinised-at-40th-asean-meeting/

หอการค้า จี้แก้ค่าเงินบาทแข็ง โลจิสติกส์ เจรจาการค้าให้คืบหน้า ก่อนไทยเสียหายแข่งขันไม่ได้

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าอาหารไทยขยายตัวไม่เต็มศักยภาพ เนื่องจากมีปัจจัยหลายด้านยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งทางหอการค้าไทยเห็นว่าวิกฤตระยะสั้นที่ต้องเร่งแก้ไขคือ ค่าเงินบาทของไทยที่ยังคงแข็งค่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียนประเทศไทยแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่งมาก ส่งผลทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลง โดยมองว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่สามารถแข่งขันได้ควรอยู่ที่ 32 บาท นอกจากนี้ ยังมีปัญหาในเรื่องของโลจิสติกส์การขนส่งทางเรือและการขาดแคลนคอนเทนเนอร์ในการขนส่ง การปรับค่าระวางเรือที่สูงขึ้นแบบไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และอีกปัญหาสำคัญคือการเจรจาข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่ประเทศไทยไม่มีความคืบหน้าในขณะที่ประเทศคู่แข่งหลายประเทศได้แต้มต่อเรื่องของภาษีและมีการเข้าร่วมการเจรจาต่าง ๆ แล้ว ทั้งการทำ FTA ไทย-อียู,อังกฤษ และ CPTPP รวมถึงการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต

ที่มา : https://www.innnews.co.th/news/economy/news_45591/