การค้าระหว่างประเทศกัมพูชาลดลงร้อยละ 1.9 ที่ 46.82 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2023

การค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาในช่วงปี 2023 ลดลงร้อยละ 1.9 อยู่ที่ 46.82 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 1.8 แต่การนำเข้ากลับลดลงร้อยละ 5 ตามข้อมูลการค้าที่เผยแพร่โดยกรมศุลกากร และสรรพสามิต (GDCE) สำหรับการส่งออกรวมของกัมพูชาในช่วงปี 2023 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 22.64 พันล้านดอลลาร์ และการนำเข้ามีมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 24.18 พันล้านดอลลาร์ ส่งผลทำให้กัมพูชาขาดดุลการค้าอยู่ที่ 1.53 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว โดยจีนยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกัมพูชาด้วยมูลค่าการค้าทวิภาคี 12.26 พันล้านดอลลาร์ ภายใต้ความไม่แน่นอนจากภาวะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ การปะทุของความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ฮามาส และความกดดันด้านเงินเฟ้อที่ตามมา อีกทั้งการไม่ต่ออายุของระบบสิทธิพิเศษทั่วไป (GSP) จากสหรัฐฯ และผลประโยชน์จาก EBA จากสหภาพยุโรป (EU) ก็เป็นส่วนที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาเป็นอย่างมาก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501421111/cambodias-trade-declines-1-9-to-46-82-billion-in-2023/

เมียนมาร์มีรายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรมูลค่ารวม 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐใน 9 เดือน

สถิติของกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า การส่งออกสินค้าเกษตรของเมียนมาร์สร้างรายได้ 2.313 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณปัจจุบัน พ.ศ. 2566-2567 ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวลดลงจาก 2.688 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันของปีงบประมาณที่แล้ว โดยลดลง 374.172 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เมียนมาร์ส่งออกสินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ แร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ และสินค้าอุตสาหกรรมสำเร็จรูป ในขณะที่นำเข้าสินค้าทุน สินค้าขั้นกลาง วัตถุดิบสำหรับการผลิตสินค้า CMP และสินค้าอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ เมียนมาร์ได้ดำเนินยุทธศาสตร์การส่งออกแห่งชาติ (NES) พ.ศ. 2563-2568 เพื่อกระตุ้นการส่งออก ภาคส่วนที่มีลำดับความสำคัญของ NES ประกอบด้วยการผลิตทางการเกษตร เครื่องนุ่งห่มและเครื่องแต่งกาย อุปกรณ์อุตสาหกรรมและอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจประมง ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ การผลิตและบริการดิจิทัล บริการโลจิสติกส์ การจัดการคุณภาพ บริการข้อมูลการค้า นวัตกรรม และภาคผู้ประกอบการ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/agri-export-earnings-in-myanmar-total-us2-3-bln-in-9-months/

สหรัฐฯ ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางด้านการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชา (MoC) ระบุว่า กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2023 มูลค่ารวม 8,144 ล้านดอลลาร์ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.89 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2022 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38.25 ของปริมาณการส่งออกรวมทั้งหมดที่มีมูลค่าอยู่ที่ 21,292 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้าจากสหรัฐฯ ของกัมพูชา ปรับตัวลดลงเช่นกันร้อยละ 23.97 ที่มูลค่า 223 ล้านดอลลาร์ ภายใต้โครงการอย่างสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ซึ่งหมดอายุไปในช่วงปี 2020 โดยเฉพาะสินค้ากลุ่ม เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ขณะที่สินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้แก่ เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์เสื้อผ้า เครื่องหนัง สินค้าสำหรับเดินทาง กระเป๋าถือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นสำคัญ ในขณะที่กัมพูชานำเข้ายานพาหนะ เครื่องจักรและเครื่องใช้เครื่องจักรกล เครื่องมือทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์ยาจากสหรัฐฯ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501416446/us-remains-cambodias-biggest-export-destination-2/

กัมพูชาส่งออกไปยังอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นกว่า 112%

การส่งออกของกัมพูชาไปยังอินโดนีเซียและอินเดียเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก สำหรับในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ย. 2023 คิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 111.7 และ 55.1 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2022 โดยสหรัฐฯ ยังคงเป็นประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ของกัมพูชาคิดเป็นกว่าร้อยละ 39.7 ของการส่งออกทั้งหมด ซึ่งคิดเป็นการปรับตัวลดลงร้อยละ 0.9 เทียบกับสัดส่วนการนำเข้าของสหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันของปี 2022 ที่สัดส่วนร้อยละ 40.6 ของการส่งออกกัมพูชาในช่วงปี 2022 รายงานกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ขณะเดียวกันการเติบโตด้านการส่งออกไปยังอินโดนีเซียและอินเดียกลับขยายตัวอย่างมาก สะท้อนจากการส่งออกของกัมพูชาไปยังอินโดนีเซียมีมูลค่าสูงถึง 70.56 ล้านดอลลาร์ และส่งออกไปยังอินเดียมีมูลค่าสูงถึง 264.5 ล้านดอลลาร์ โดยทางฟากฝั่งรัฐบาลกัมพูชาพร้อมดันภาคอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มการเชื่อมต่อทางอากาศโดยตรงระหว่างอินเดียและกัมพูชา ภายในปี 2024 และการขยายทางหลวงไตรภาคี อินเดีย-เมียนมา-ไทย (IMT) ไปทางตะวันออก ด้วยความช่วยเหลือด้านเงินกู้จากอินเดีย ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นการค้าระหว่างทั้งสองประเทศได้เป็นอย่างมากในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501415859/cambodias-exports-to-indonesia-jump-112-percent/

กัมพูชาส่งออกยางในช่วง ม.ค.-พ.ย. พุ่งแตะ 445 ล้านดอลลาร์

รายงานจาก General Directorate of Rubber (GER) ระบุว่ากัมพูชาส่งออกยางแห้งไปยังตลาดโลกรวมกว่า 334,176 ตัน สำหรับในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2023 เพิ่มขึ้นในแง่ปริมาณร้อยละ 3.6 จากปริมาณ 322,586 ตัน เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สร้างรายได้เข้าประทศกว่า 445.4 ล้านดอลลาร์ ลดลงในแง่ของมูลค่าร้อยละ 4.4 จากมูลค่า 465.8 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจุบันยางแห้งหนึ่งตันมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1,333 ดอลลาร์/ตัน ซึ่งต่ำกว่าราคาในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วประมาณ 111 ดอลลาร์/ตัน สำหรับประเทศผู้นำเข้ารายสำคัญของกัมพูชายังคงเป็นมาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และจีน ด้านการเพาะปลูกกัมพูชามีพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด 407,172 เฮกตาร์ ซึ่งร้อยละ 78.6 ของพื้นที่เพาะปลูก หรือประมาณ 320,184 เฮกตาร์ สามารถที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501408025/cambodia-earns-over-445-million-from-rubber-exports-in-the-first-11-months/

มูลค่าการส่งออกของกัมพูชาในช่วง 11 เดือนแรกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

การส่งออกสินค้าของกัมพูชาในช่วง 11 เดือนแรกของปี ขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 1.2 หรือคิดเป็นมูลค่าเกือบ 2.05 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการรายงานล่าของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรกของกัมพูชา ได้แก่ สหรัฐฯ เวียดนาม จีน ไทย และญี่ปุ่น โดยสหรัฐฯ ยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดของกัมพูชาที่มูลค่าการนำเข้ารวม 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ปรับตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะเดียวกัน มูลค่าการส่งออกของกัมพูชาไปยังเวียดนามและจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 37.8 และร้อยละ 18.5 ที่มูลค่า 2.61 พันล้านดอลลาร์ และ 1.31 พันล้านดอลลาร์ ตามลำดับ ซึ่งเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และสินค้าเพื่อการท่องเที่ยวยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้จากการส่งออกกัมพูชามากที่สุด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501407510/cambodias-export-turnover-slightly-rises-in-11-months/

ผู้ประกอบการไทย-จีน MOU ซื้อขายมัน,กาแฟกว่า 5,430 ล้านบาท

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างผู้ประกอบการไทย-จีน ที่โรงแรม Wanda Vista Kunming นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งการลงนามในครั้งนี้ เกิดขึ้นตามนโยบาย Quick Win ของรัฐบาล ในการผลักดันการส่งออก โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิง จัดกิจกรรมจับคู่เจรจาการค้าทางออนไลน์ล่วงหน้าให้กับผู้ประกอบการไทย ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าแป้งมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์กาแฟ กับผู้นำเข้าสินค้าไทยในจีน (Thai-Yunnan Quick Win Business Matching and Networking) ซึ่งสามารถตกลงซื้อขายกันได้ และนำมาซึ่งการลงนามในครั้งนี้ ระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้นำเข้าจีน โดยเป็นการตกลงสั่งซื้อสินค้าแป้งมันสำปะหลังและสตาร์ชที่ผลิตได้จากหัวมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์กาแฟ คิดเป็นมูลค่ากว่า 5,430 ล้านบาท

ที่มา : https://www.innnews.co.th/news/politics/news_654821/#google_vignette

สรท.ลุ้นส่งออกพลิกบวก 1-2%

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยถึงแนวโน้มการส่งออกปี 2566 ว่า จะขยายตัวติดลบ 1% มีมูลค่า 284,600 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากดัชนีภาคการผลิต PMI ประเทศคู่ค้าหลักฟื้นตัวช้า และบางประเทศหดตัวลง อาทิ สหรัฐ ญี่ปุ่น เวียดนาม โดยเฉพาะยุโรปทรงตัวต่ำกว่าระดับ 50 ต่อเนื่อง 6 เดือนติดต่อกัน ส่วนแนวโน้มการส่งออกในปี 2567 คาดการณ์ว่าจะกลับมาเติบโตเป็นบวก 1-2% มีมูลค่า 286,500-289,300 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหาร ผลไม้ ยานยนต์และส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ยังเติบโตต่อเนื่อง เป็นอุตสาหกรรมเรือธงที่ช่วยขับเคลื่อนการส่งออกปีหน้า รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทยังเคลื่อนไหวในกรอบทิศทางการอ่อนค่า อยู่ในกรอบ 34.9-35.10 บาท/เหรียญสหรัฐ ช่วยเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันให้กับสินค้าไทย ส่วนราคาน้ำมันคาดว่าไม่กดดันต่อราคาค่าระวางเรือให้ปรับเพิ่มขึ้น ส่วนกรณีที่รัฐบาลเตรียมปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ต้องให้เกียรติคณะกรรมการไตรภาคีในการพิจารณาปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำเนื่องจากมีการหารือและวิเคราะห์ข้อมูลมาอย่างรอบด้านแล้ว แต่ก็จำเป็นต้องรับฟังความเห็นจากฝ่ายนโยบาย หากปรับขึ้นตามมติคณะกรรมการไตรภาคีเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก เพราะจะไม่ส่งผลกระทบทำให้ผู้ประกอบการปรับขึ้นราคาสินค้า

ที่มา : https://www.khaosod.co.th/newspaper/newspaper-inside-pages/news_8006429

กัมพูชาส่งออกแตะ 2.05 หมื่นล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ย.

กรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) เผยว่าการส่งออกของกัมพูชาในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2023 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 2.049 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 1.2 เป็นผลมาจากภาคอุตสาหกรรมหลักอย่าง เสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเดินทาง กลับมาขยายตัว โดยสหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกหลักของกัมพูชา คิดเป็นมูลค่าการส่งออกรวม 8.14 พันล้านดอลลาร์ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่การส่งออกไปยังเวียดนาม ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 37.8 สู่มูลค่า 2.61 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 1.89 พันล้านดอลลาร์ รวมถึงการส่งออกไปยังจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันร้อยละ 18.5 คิดเป็นมูลค่า 1.31 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งอุตสาหกรรมดังกล่าวมีโรงงานและสถานประกอบการรวมกว่า 1,133 แห่ง ก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณกว่า 840,000 คน และด้วยความตกลง RCEP และ FTA ร่วมกับจีนและเกาหลีใต้ ที่มีผลบังคับใช้ในปี 2022 มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการส่งเสริมสินค้าของกัมพูชาและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501405278/cambodias-exports-touch-20-5-billion-in-jan-nov/

FTA ระหว่าง กัมพูชา-เกาหลีใต้ ดันการส่งออกเครื่องนุ่งห่มแตะ 173 ล้านดอลลาร์

FTA ดันการส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องนุ่งห่มของกัมพูชาไปเกาหลีใต้แตะ 173 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.84 สำหรับในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2023 ขณะที่ในปี 2022 กัมพูชาส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปยังเกาหลีใต้ที่มูลค่า 191.37 ล้านดอลลาร์ โดยการเพิ่มขึ้นนี้เกิดขึ้นหลังจากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2022 ขณะที่การส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวโดยภาพรวมของกัมพูชาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.05 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) มีสิทธิประโยชน์ด้านการลดภาษีนำเข้าสินค้าจากกัมพูชาหลายรายการ รวมทั้งเสื้อผ้า ทำให้สินค้ากัมพูชามีราคาที่สามารถแข่งขันได้มากขึ้นในตลาดเกาหลีใต้ สำหรับอุตสาหกรรมเสื้อผ้าถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สำคัญของกัมพูชาด้วยการมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 16 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และมีการจ้างงานประมาณกว่า 700,000 คน ในกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501401901/fta-boosts-cambodias-apparel-export-to-south-korea-reaches-173-million/