‘พาณิชย์’ ระดมกูรูตลาดจีนเต็มเวทีเสวนาติดอาวุธผู้ส่งออกไทย เน้นการใช้ประโยชน์เอฟทีเออาเซียน-จีน

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จัดเสวนาติวเข้มผู้ประกอบการไทยบุกตลาดจีน เน้นการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเออาเซียน-จีน ขนกูรูตลาดจีนมาแนะนำการค้าขายกับจีนหลังโควิด-19 กลยุทธ์การบุกตลาดออนไลน์ ปลื้ม! ได้รับความสนใจจากภาคธุรกิจเพียบ นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการสัมมนา “1 ทศวรรษ เอฟทีเอ อาเซียน ? จีน ? ก้าวต่อไปของเอกชนไทยในแดนมังกร” ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศการจัดสัมมนาครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยทราบถึงโอกาสในการขยายการค้ากับจีน จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-จีน ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่ปี 2548 นอกจากนี้ กรมฯ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐ นักวิชาการ และภาคเอกชน ที่มีประสบการณ์และประสบความสำเร็จในการเจาะตลาดจีนมาร่วมเสวนาในหลายประเด็น ซึ่งภายใต้ความตกลงการค้าเสรีฉบับดังกล่าว จีนได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าให้ไทยแล้วกว่า 95% ของรายการสินค้าทั้งหมดส่งผลให้การค้าสองฝ่ายเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยมูลค่าการค้าระหว่างไทย-จีน นับตั้งแต่ก่อนมี FTA ในปี 2547 จนถึงปี 2562 ขยายตัวถึง 420%

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/beco/3163670

ไทยดัน เจฮับ ยึดเทรนด์คนกินผักมูลค่า 5 แสนล้าน

กระทรวงเกษตร เร่งวางโรดแมปดันไทยเป็น “เจฮับ” โมเดลซิลิคอนวัลเลย์ผลิตอาหารแห่งอนาคตเจาะตลาด 4 พันล้านคน มูลค่า 5 แสนล้านบาท จับมือภาคเอกชนลุยส่งออก โดยที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ เพื่อสร้างโอกาสและศักยภาพใหม่ให้กับประเทศ ซึ่งอาหารแห่งอนาคตเป็นเป้าหมายสำคัญ กระทรวงเกษตรฯจึงให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรขับเคลื่อนโครงการพืชแห่งอนาคต เพื่อตอบสนองการผลิตอาหารแห่งอนาคต ที่มีแนวโน้มความต้องการของตลาดเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีอาหารที่ใช้โปรตีนจากพืชผลิตเป็นอาหารหรือเนื้อจากพืช หรือ อาหารเจ จะเป็นสินค้าเกษตรอาหารตัวใหม่ในการสร้างรายได้สร้างอาชีพและธุรกิจการเกษตรใหม่ๆ ให้กับภาคเกษตรและกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารในยุคโควิดที่ผู้บริโภคทั่วโลกโดยเฉพาะในจีน อินเดีย ญี่ปุ่น อาเซียน สหรัฐฯและยุโรป ต้องการอาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้นนับเป็น New Normal ในยุคโควิดเป็นเทรนด์การรับประทานอาหารแนวใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก อีกทั้งข้อมูลของ FAO  คาดการณ์ว่าจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ของโลกเพิ่มขึ้น 30% ภายใน 15 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ คณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และกรกอ. สศก. สวก.และศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมหรือศูนย์ AIC สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม หอการค้าไทยและกระทรวงพาณิชย์ จะร่วมกับกลุ่มบริษัทไทยผู้ผลิตอาหารเจภายใต้โมเดลเนื้อจากพืชจัดทำโรดแมปตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารแห่งอนาคต หรือเรียกว่า ซิลิคอน วัลเลย์อาหารแห่งอนาคต

ที่มา:https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/899252?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=economic

“ส.ว.สถิตย์” แนะตั้งสหภาพศุลกากรในกลุ่ม CLMV สร้างกลไกพึ่งตนเองในกรอบที่ใหญ่ขึ้น

“ส.ว.สถิตย์” แนะทางรอดยุคโควิด-19 เสนอตั้งสหภาพศุลกากรในกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และ ไทย ทลายอุปสรรคทางการค้าชายแดนระหว่างกัน สร้างกลไกการพึ่งตนเองในกรอบที่ใหญ่ขึ้น พร้อมให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมการเกษตรที่มีห่วงโซ่การผลิตครอบคลุมประชากรจำนวนมาก และใช้ทรัพยากรในประเทศที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2563 ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์ุ สมาชิกวุฒิสภาได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นต่อรายงานเรื่องข้อเสนอทิศทางประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด-19 ของคณะกรรมาธิการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม ของวุฒิสภาว่า สงครามการค้า และโควิด-19 ทำให้ประเทศไทยต้องหันกลับมาเน้นเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น พึ่งตนเอง สำหรับประเทศไทยไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเศรษฐกิจของไทยมีขนาดเล็กเกินกว่าที่จะอยู่ได้ด้วยตนเอง ไทยควรจะเร่งประสานเศรษฐกิจรวมกลุ่มกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย (CLMVT: Cambodia, Laos, Myanmar, Vietnam, Thai) เพื่อสร้างกลไกในการพึ่งตนเองในกรอบที่ใหญ่ขึ้น สินค้าไทยเป็นที่นิยมในกลุ่มประเทศเหล่านี้ และผลิตจากวัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก นอกจากนี้ ดร.สถิตย์ เสนอว่า เศรษฐกิจของกลุ่ม CLMVT ควรพัฒนาไปสู่การจัดตั้งเป็นสหภาพศุลกากร (Customs Union) กล่าวคือ นอกจากเสรีในการนำเข้า-ส่งออกกันแล้ว อัตราภาษีศุลกากร ที่นำเข้ามาในแต่ละประเทศของสหภาพศุลกากรจะเป็นอัตราเดียวกัน

ที่มา : https://mgronline.com/politics/detail/9630000087276

ยอดผลิตรถยนต์ก.ค.ร่วง47% เหตุยอดขาย-ส่งออกไม่ฟื้น

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยจำนวนการผลิต ยอดขายภายในประเทศ และการส่งออกรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของประเทศ ในเดือนก.ค. 63 โดยจำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ ทั้งสิ้น 89,336 คัน ลดลง 47.71% เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน  จากการผลิตเพื่อส่งออกลดลง47.42%  และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลง 47.98% แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา24.59%เนื่องจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ส่วนใหญ่กลับมาเปิดทำการ และโรงงานเริ่มเปิดสายการผลิตเพิ่มขึ้นส่วนจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนม.ค.-ก.ค.63 มีจำนวนทั้งสิ้น 695,468 คัน ลดลง 43.77% ด้านยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ59,335 คัน ลดลง 24.8%  แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนมิ.ย.2.28%  เพราะรัฐบาลผ่อนคลายล็อกดาวน์เพิ่มขึ้นรวมทั้งการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และจากการจัดงานบางกอกอินเตอร์เนชั่นแนลมอเตอร์โชว์กลางเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ด้านการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เดือนก.ค.จำนวน 49,564 คัน ลดลง 39.67%  โดยส่งออกลดลงทุกตลาด เนื่องจากยอดขายรถยนต์ในประเทศคู่ค้าลดลงจากการระบาดของโควิด-19 เช่น หกเดือนแรกปีนี้ยุโรปลดลง 39.5%  สหรัฐลดลง 23.8%  ญี่ปุ่นลดลง 20.1% บลาซิลลดลง 38.9%   ด้านมูลค่าการส่งออก 28,848.50 ล้านบาท ลดลง28.47%  อย่างไรก็ตาม อัตราการลดลงของเดือนก.ค.น้อยกว่าเดือนมิ.ย. ตามการค่อยๆผ่อนคลายการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ ทำให้ เดือนก.ค.รวมมูลค่าการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนอื่น ๆ อะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วน และอะไหล่รถจักรยานยนต์ มีทั้งสิ้น 40,645.24 ล้านบาท ลดลง 38.14% ขณะที่เดือน 7 เดือนแรกรวมมูลค่าการส่งออกรวมฯมีทั้งสิ้น 345,357ล้านบาท ลดลง 32.65%

ที่มา:https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/894539?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=economic

นายกรัฐมนตรีร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 รับรองปฏิญญาพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 เช้านี้ 26 มิ.ย. และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพ เพื่อขับเคลื่อนให้ประชาคมอาเซียนมีความเข้มแข็ง และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการรับมือกับโรคโควิด-19 และเตรียมการฟื้นฟูอาเซียนหลังสถานการณ์คลี่คลาย โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ผ่านระบบการประชุมทางไกลจากทำเนียบรัฐบาลด้วย สำหรับเอกสารผลลัพธ์ที่สำคัญจากการประชุม ซึ่งผู้นำอาเซียนจะรับรองมี 2 ฉบับ คือ 1. วิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยอาเซียนที่แน่นแฟ้นและตอบสนอง : ก้าวข้ามความท้าทายและเสริมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ที่เน้นความแน่นแฟ้นของอาเซียนในทุกมิติ เสริมสร้างขีดความสามารถของกลไกต่าง ๆ ที่มีอยู่ เพื่อรับมือกับความท้าทายและโอกาส เช่น ภัยคุกคามความมั่นคงรูปแบบใหม่ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และผลกระทบจากโรคโควิด-19 เป็นต้น 2. ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปของงาน เป็นเอกสารที่แสดงเจตจำนงทางการเมืองของประเทศสมาชิกอาเซียนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพและสามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับโลก เช่น สนับสนุนให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน พัฒนาฐานข้อมูลด้านตลาดแรงงาน การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการพัฒนาทักษะแรงงาน เป็นต้น

ที่มา:https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/886773?utm_source=category&utm_medium=internal_referral

การส่งออกสินค้าเกษตรช่วงการระบาดของโควิด-19

มาตรการระงับการส่งออกข้าวในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ของไทยและหลายประเทศ เพื่อป้องกันวิกฤติขาดแคลนข้าวนั้นเป็นมาตรการที่จำเป็นจริงหรือ เมื่อปริมาณข้าวยังเพียงพอต่อการบริโภคภายใน และการระงับการส่งออกข้าวก็อาจทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารในอีกหลายประเทศได้ในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งออกข้าวที่เป็นอาหารหลักของประชากรเกือบครึ่งโลก ทาง FAO ก็กังวลว่าผลจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจเกิดวิกฤติขาดแคลนข้าว และทำให้ราคาข้าวสูงขึ้นและจะมีผลกระทบต่อประชากรที่ยากจนที่พึ่งข้าวเป็นอาหารหลัก เนื่องจากอาจมีประเทศส่งออกข้าวบางประเทศห้ามหรือจำกัดการส่งออกข้าวเพื่อสำรองไว้บริโภคในประเทศซึ่งปรากฏว่าเมื่อเดือน มี.ค.2563 เวียดนามได้ประกาศระงับการส่งออกข้าว เพื่อความมั่นคงทางด้านอาหารภายในประเทศ เช่นเดียวกับประเทศกัมพูชาก็มีแผนการระงับการส่งออกข้าวไว้เพื่อความมั่นคงด้านอาหารในประเทศเช่นกัน ต่อมาในเดือน เม.ย.2563 เวียดนามได้ประกาศส่งออกข้าวตามปกติ ส่วนกัมพูชาก็มิได้มีการระงับการส่งออกข้าวตามแผนที่กำหนดไว้ ทำให้ข้อวิตกการขาดแคลนข้าวลดลง

ที่มา:https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/885541?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=economic

พาณิชย์ เผยยอดขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าทางออนไลน์โต 20% ช่วงโควิด-19 ระบาด

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กระตุ้นให้การขอใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form D แบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form D) เพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.63 ที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงในภูมิภาคอาเซียน ทำให้มีผู้ประกอบการขอรับบริการ e-Form D จากกรมการค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 20% จากช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.63 สำหรับ e-Form D เป็นหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียนที่ ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศได้ให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า e-Form D อย่างเต็มรูปแบบ (Live Operation) กับสมาชิกอาเซียน ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.63อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสดควิด-19 จะคลี่คลายลง แต่กรมฯ ยังคงตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้รับบริการด้วยการเดินหน้ายกระดับการให้บริการด้วยนวัตกรรมดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยการผลักดันให้ผู้ประกอบการหันมาใช้ e-Form D มากขึ้น เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการนำเข้า-ส่งออก

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/iq03/3128621

พาณิชย์ จับมือสภาเกษตรกรฯ แนะช่องทางขายสินค้าเกษตรไทย ช่วงโควิด-19

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศประชุมทางไกลกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ หารือการบรรเทาปัญหาให้ภาคเกษตรที่เผชิญกับวิกฤติจากสถานการณ์โควิด-19 เน้นช่วยหาตลาดให้สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์การเกษตร และประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ของกระทรวงพาณิชย์ พร้อมแนะใช้ประโยชน์จาก FTA เพิ่มแต้มต่อและขยายส่งออกไปตลาดโลกทั้งนี้หากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย คาดว่าพฤติกรรมของตลาดจะเปลี่ยนไป โดยผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรฐานและคุณภาพของสินค้าเกษตร อาหารปลอดภัย และเกษตรอินทรีย์มากขึ้น จึงจำเป็นที่กลุ่มเกษตรกรจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในเรื่องดังกล่าว ซึ่งทั้งสองหน่วยงานพร้อมร่วมมือกันให้ความรู้แก่เกษตรกรในเครือข่าย โดยเฉพาะเรื่องการผลิตสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและเพื่อส่งออก รวมทั้งแนะนำให้ใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพื่อสนับสนุนการขยายโอกาสส่งออกไปยังตลาดโลก

ที่มา : http://www.thaidailymirror.com/index.php/economy/showcontent/146700.html

ททท.วางแผนรองรับนักท่องเที่ยว หลังการระบาด COVID-19

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.เตรียมรับการคลายล็อกดาวน์ประเทศ จากสถานการณ์ระบาดของโรค COVID-19 ไว้ 3 ระดับ และหากทุกอย่างเปิดหมดต้องเตรียมตัวรับมือกับพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไปททท.มองว่า นักท่องเที่ยวกลุ่มแรกที่พร้อมออกเดินทางหลังการระบาดคลี่คลาย คือกลุ่มเจเนอเรชั่น Y ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ชอบคิดนอกกรอบ ชอบนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยจึงต้องปรับตัวให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนบริการของตัวเองให้สอดคล้องกับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ เพื่อรองรับกระแสการเดินทางที่กำลังจะเกิดขึ้นนอกจากนี้ยังประเมินว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว คือการเปลี่ยนแปลงภายใต้ New Normal การท่องเที่ยวต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพ ความสะอาด และความปลอดภัยมากขึ้น และไม่สามารถคาดหวังนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ เช่น กรุ๊ปทัวร์ได้แล้ว แต่หลังจากนี้ไปการเดินทางท่องเที่ยวจะเปลี่ยนมาเป็นกรุ๊ปขนาดเล็กมากขึ้น หรือเดินทางด้วยตัวเอง และรูปแบบการท่องเที่ยวจะเป็นระยะสั้น เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อรวมทั้งเชื่อว่านักท่องเที่ยวจะหันมาสนใจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากขึ้น ส่วนคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยปีนี้ (63) น่าจะอยู่ที่ 14-16 ล้านคน และนักท่องเที่ยวไทยคาดอยู่ที่ 80-100 ล้านครั้ง

ที่มา : https://news.thaipbs.or.th/content/292423

พิษ COVID-19 อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยสู่จุดต่ำสุดในรอบ 9 ปี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ปริมาณการผลิตรถยนต์ในปี 2563 อาจหดตัวลงประมาณร้อยละ 21-25 นับว่าต่ำสุดในรอบกว่า 9 ปี เนื่องจากการส่งออกที่อาจลดต่ำลงมากไปแตะระดับ 750,000 – 780,000 คัน จากปีก่อนส่งออกได้กว่า 1 ล้านคัน ซึ่งวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ไปทั่วโลกในปัจจุบัน ส่งผลต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไทยในแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยทั้งในไทยและในระดับโลกอันเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อคำสั่งซื้อรถยนต์จากทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ยอดขายในประเทศก็มีความเสี่ยงที่จะลดลงไปแตะระดับ 800,000 – 820,000 คัน หรือหดตัวร้อยละ 19 – 21 จากปีก่อน ส่วนการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์สู่ภาวะปกติอีกครั้งคาดว่า อาจเป็นช่วงกลางปี 64 หรือต้นปี 65 หลังเศรษฐกิจโลกจะทยอยฟื้นฟู นอกจากนี้ทำให้เห็นถึงปัญหาสำคัญในรูปแบบกระบวนการผลิตปัจจุบันซึ่งมีการพึ่งพิงฐานการผลิตเดียวมากเกินไปชัดเจนขึ้น ทำให้ค่ายรถและผู้ผลิตชิ้นส่วนอาจต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนใหม่ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในอนาคต ด้วยการกระจายความเสี่ยงในการจัดหาชิ้นส่วนรถยนต์ในห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้ แนวทางที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าค่ายรถและผู้ผลิตชิ้นส่วนจะนำมาใช้นับจากนี้อาจแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือการลดระดับระบบการผลิตแบบ Just In Time ลง ขณะที่อีกแนวทางเน้นลดการพึ่งพิงฐานการผลิตเดียวโดยการโยกฐานการผลิตออกสู่ประเทศที่เป็นฐานผลิตระดับยุทธศาสตร์ของภูมิภาค อาจจะทำให้เกิดทิศทางการจัดห่วงโซ่อุปทานการผลิตรูปแบบใหม่ที่ชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีโอกาสจะดึงดูดการลงทุนเข้ามาได้ แต่การเตรียมพร้อมรับมืออย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศใช้ระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิตมากขึ้นจะช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันกับประเทศฐานผลิตอื่น โดยเฉพาะกับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังขยายตัว

ที่มา : https://news.thaipbs.or.th/content/292174