คลังสวนแวต 9% ทำของแพง-เศรษฐกิจเจ๊งหนักกว่าเดิม

คลังแจงขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 9% ชี้ทำของแพง ซ้ำเติมชาวบ้าน เศรษฐกิจเจ๊งหนักกว่าเดิม พร้อมการันตีฐานะคลังไทยแกร่ง ถังไม่แตก นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีนายสมหมาย ภาษี อดีต รมว.คลัง เสนอให้ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 9% เพื่อดูแลเศรษฐกิจว่า การปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเรื่องละเอียดอ่อนจะต้องพิจารณาอย่างเหมาะสม เพราะหากขึ้นไปแล้วจะทำให้สินค้าและบริการแพงขึ้น อำนาจการซื้อประชาชนลดลง และซ้ำเติมประชาชนในยุคไวรัสโควิดเพิ่มอีก โดยประเมินว่าหากขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 9% จะทำให้เศรษฐกิจหดตัวยิ่งกว่าเดิม จีดีพีจะลดลงอย่างน้อย 0.6% ต่อปี  พร้อมทั้งขอยืนยันว่า กระทรวงการคลังมีเงินคงคลังที่เข้มแข็ง และเพียงพอต่อการเบิกจ่ายงบประมาณรัฐ รวมถึงใช้ดูแลฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศจากโควิด ตลอดจนยังสามารถบริหารจัดการหนี้ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐได้ ทั้งนี้ ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา ครม.มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 7% ต่อไปอีก 1 ปี จนถึงวันที่ 30 ก.ย.64 เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพและกระตุ้นให้มีการบริโภคของประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/794224

ส่งออกข้าวโพดไปไทยหยุดชะงัก

ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 63 เมียนมาหยุดการส่งออกข้าวโพดจากชายแดนเมียวดี  เมียนมาส่งออกข้าวโพดไปไทยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 63 โดยได้รับการยกเว้นภาษีเป็นไปตามข้อกำหนดข้าวโพดของไทย แต่เวลานี้ตรงกับเวลาที่ฤดูเก็บเกี่ยวข้าวโพดในไทย เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเกษตรกรไทยจึงเพิ่มภาษีการส่งออกข้าวโพดของเมียนมา

ที่มา: https://elevenmyanmar.com/news/corn-export-to-thailand-halts

‘โควิด’ ฉุดธุรกิจลดจ้างงาน 75%

ถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ถึงภาคแรงงาน การจ้างงานที่มีดีมานด์ลดลงอย่างมาก จากการวิเคราะห์ของ “จ๊อบไทย” (JobThai) ผู้ให้บริการหางานสมัครงานออนไลน์ ระบุว่า องค์กรมีความต้องการแรงงานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 รวมกันอยู่ที่ 303,776 อัตรา โดย ก.พ.เปิดรับสูงสุด 124,629 อัตรา แต่ในช่วง มี.ค.-เม.ย. การจ้างงานลดลง 16.5% ซึ่งเป็นช่วงที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นและกระจายวงกว้างมากขึ้น เมื่อวิเคราะห์ลงในรายละเอียด พบว่า ประเภทธุรกิจมีความต้องการแรงงานมากที่สุด คือ “อาหาร-เครื่องดื่ม” เนื่องจากผู้บริโภคยังคงมีการใช้จ่ายในหมวดสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ตรงข้ามกับ “ธุรกิจท่องเที่ยว” ที่มีความต้องการแรงงานน้อยที่สุด ผลจากการที่ภาคการท่องเที่ยวหดตัวรุนแรง หลายประเทศรวมถึงประเทศไทยที่ประกาศใช้มาตรการจํากัดการเดินทางระหว่างประเทศและมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติในไทยลดลง จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจกลุ่มนี้ ซึ่งต่อเนื่องถึงธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท สปาและสนามกอล์ฟ สำหรับทิศทางของตลาดแรงงานจากนี้ไป คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อดูสถิติช่วงต้นเดือน ก.ค. พบว่าสายอาชีพที่มีแนวโน้มเปิดรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ฟรีแลนซ์ อาจารย์-ครูและกลุ่มบุคลากรด้านสุขภาพ ได้แก่ แพทย์ เภสัชกรและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/896714?utm_source=homepage_hilight&utm_medium=internal_referral

พาณิชย์จับมือผู้ส่งออกข้าวถก BERNAS ดันข้าว กข79 บุกตลาดมาเลเซีย

กรมการค้าต่างประเทศ ร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยหารือหน่วยงานกำกับดูแลการนำเข้าข้าวของรัฐบาลมาเลเซีย (BERNAS) กระชับความสัมพันธ์ทางการค้า เปิดตัวข้าวขาวพื้นนุ่ม กข 79 หวังเรียกคืนส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในมาเลเซีย นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 กรมการค้าต่างประเทศได้ประชุมผ่านระบบ Video Conference ร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และหน่วยงานกำกับดูแลการนำเข้าข้าวของมาเลเซีย (Padiberas Nasional Berhad : BERNAS) เพื่อกระชับความสัมพันธ์และหารือเกี่ยวกับสถานการณ์การผลิตและการค้าข้าวในปี 2563 การประชุมในครั้งนี้ BERNAS แจ้งว่าภายในปี 2563 คาดการณ์ว่าอาจนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านตัน จากปกตินำเข้าประมาณ 8 แสนตัน เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มาเลเซียหันไปนำเข้าข้าวจากประเทศคู่แข่งของไทยมากขึ้น แม้ว่าคุณภาพจะด้อยกว่าข้าวไทย แต่ด้วยราคาข้าวไทยปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง โดยปัจจุบันมาเลเซียนำเข้าข้าวจากจากเวียดนาม ปากีสถาน เมียนมา ไทย และอินเดีย ตามลำดับ นอกจากนี้ กรมฯ ได้แจ้งให้ BERNAS ทราบว่าไทยอยู่ระหว่างการจัดทำยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563 – 2567 โดยไทยจะเน้นหลักการ “การตลาดนำการผลิต” เพื่อให้ไทยมีสินค้าข้าวที่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น ทั้งนี้ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้นำเสนอข้าว กข 79 ซึ่งเป็นข้าวขาวสายพันธุ์ใหม่ของไทย ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์การค้าข้าวในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยฝ่ายมาเลเซียแจ้งว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ที่มีการแพร่ระบาดของโรคฯ ผู้บริโภคในมาเลเซียมีการซื้อข้าวเพิ่มขึ้นแต่เป็นข้าวที่มีราคาต่ำ สะท้อนให้เห็นถึงภาวะ Panic Buying ของผู้บริโภคภายในประเทศ อย่างไรก็ดี ภาวการณ์ดังกล่าวได้กลับเป็นปกติแล้วตั้งแต่ช่วงมิถุนายนที่ผ่านมา โดยในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีการหารือผ่านระบบ Video Conference กับสมาคมผู้นำเข้าข้าวของฮ่องกง ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี สำหรับการส่งออกข้าวไทยตั้งแต่เดือนมกราคม – กรกฎาคม 2563 ส่งออกข้าวไปแล้ว ปริมาณ 3.30 ล้านตัน มูลค่า 69,469 ล้านบาท ทั้งนี้ ส่งออกไปมาเลเซีย ปริมาณ 66,007 ตัน มูลค่า 990 ล้านบาท

ที่มา: https://www.prachachat.net/economy/news-515295

‘ไทย อินโดนีเซีย’ เป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ของเวียดนาม ในเดือน ก.ค.

กรมศุลกากรเวียดนาม ระบุว่าไทยและอินโดนีเซีย ยังคงเป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ในตลาดเวียดนาม ด้วยสัดส่วนรวมกันร้อยละ 76 ของยอดนำเข้ารวม โดยในเดือน มิ.ย. เวียดนามนำเข้ารถยนต์จากไทยและอินโดนีเซีย อยู่ที่ 3,552 คัน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 67 ของยอดนำเข้ารวมของเวียดนาม (97.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทั้งนี้ ในเดือน ก.ค. เวียดนามนำเข้ารถยนต์ 4,761 คัน เป็นมูลค่าราว 108 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในแง่ของปริมาณ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว และในแง่ของมูลค่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว ซึ่งจากตัวเลขทั้งหมดนั้น จำนวนรถยนต์ที่นำเข้าจากไทยอยู่ที่ 2,324 คัน (48.8% ของยอดนำเข้ารวม) อีกทั้ง ราคารถยนต์เฉลี่ยจากไทยอยู่ที่ 16,308 ดอลลาร์สหรัฐต่อคัน ในขณะที่ รถยนต์ที่นำเข้าจากอินโดนีเซีย มีราคาเฉลี่ยต่ำกว่า 10,900 ดอลลาร์สหรัฐต่อคัน ในเดือน ก.ค. นอกจากนี้ เวียดนามนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่อยู่ที่ 347 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่มาจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไทยและจีน

ที่มา : https://tuoitrenews.vn/news/business/20200901/thailand-indonesia-stand-as-vietnams-major-auto-exporters-in-july/56499.html

ห้างฯ ยอมเฉือนเนื้อหั่นราคาระบายสต็อกครึ่งปีหลัง

นักการตลาด ชี้ ครึ่งหลังปีนี้ห้างใช้หมัดเด็ด ยอมขายขาดทุนดึงคนเข้าห้าง แห่กระหน่ำแคมเปญแรงลดสูงสุด 80% ช่วยกระตุ้นตลาด ระบายสต็อกเก่า นายชลิต ลิมปนะเวช อุปนายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าขณะนี้บรรดาผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าต่างออกมาใช้กลยุทธ์ ยอมขายขาดทุนเพื่อเป็นตัวดึงดูดคนเข้าห้าง สำหรับช่วยระบายสต็อกสินค้าเก่าและกระตุ้นยอดขายชดเชยในช่วงที่ปิดให้บริการชั่วคราวไป 2 เดือน ซึ่งเห็นได้จากการที่ห้างยักษ์ใหญ่ต่างๆออกมากจัดแคมเปญ ลดราคา ตรึงราคา สินค้าเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภคในช่วงครึ่งปีหลังนี้เกือบทุกค่าย นายสเตฟาน จูเบิร์ท ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายบริหารสินค้า และรักษาการ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการตลาด บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) ในเครือเซ็นทรัล รีเทล กล่าวว่า ในครึ่งปีหลังนี้บริษัทจะใช้กลยุทธ์ เงินเพิ่ม มาโรบินสัน โดยจับมือร่วมกับพันธมิตรแบรนด์สินค้าชั้นนำ ทั้งเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องครัว และของใช้ในบ้าน ของใช้และของเล่นเด็กทั้งหมด 100 แบรนด์ รวม 10,000 รายการ เพื่อจำหน่ายสินค้าในราคาที่คุ้มค่า เช่น ตรึงราคาสินค้านาน 6 เดือน เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภค และกระตุ้นบรรยากาศการจับจ่ายให้คึกคักขึ้น ทั้งนี้กลยุทธ์ดังกล่าวประกอบด้วย ราคาดี ถูกจริง ไม่มีการปรับราคาสินค้าขึ้นหรือลดลงในเวลา 6 เดือน ,จำหน่ายสินค้าราคาถูกหมดแล้วหมดเลย ,ซื้อมากลดมาก และจำหน่ายสินค้าลิมิเต็ด อิดิชั่น ในราคาพิเศษ ที่มีจำหน่ายเฉพาะที่โรบินสันเท่านั้น รายงานข่าวจาก บริษัท สยามพิวรรธน์ รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้จัดแคมเปญ ไอคอนสยาม ช้อปปิ้ง ดับเบิ้ลโบนัส นำสินค้ามาลดราคาสูงสุด 80% พร้อมมอบของรางวัลและบัตรกำนัลต่างๆ อาทิ  กิ๊ฟว้อยเชอร์ 1,000 บาท บัตรชมภาพยนตร์ เพื่อต้อนรับวันหยุดยาวตั้งแต่วันที่ 3-7 ก.ย.นี้ ที่ห้างไอคอนสยาม และในช่วงเดียวกันนี้ห้างสยามเซ็นเตอร์และสยามดิสคัฟเวอรี่ ยังได้จัดแคมเปญ เซลสุดพลังรับวันหยุดยาวตลอด5 วันเต็ม ยกกองทัพสินค้าแบรนด์ดังทั้งไทยและระดับอินเตอร์มาลดราคาสูงสุด 70% เพื่อให้คนไทยได้ปลดปล่อยพลังช้อปแบรนด์สินค้ามากมาย น.ส.นงลักษณ์ โลหะมาณพ ผู้จัดการใหญ่การตลาด คอปเปอร์เรท โปรโมชั่นทบริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า เดอะมอลล์ได้จัดแคมเปญ พกพอยท์ มาช้อปเวอร์ โดยสมาชิกเอ็ม การ์ด นำคะแนนสะสมมาแลกเป็นคูปงส่วนลดได้สูงสุด 40% เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/792801

จ่อชงครม.ไฟเขียวแผนนำเข้าอาหารสัตว์ ปลาป่น-กากถั่ว-ข้าวโพดปี64-66

พาณิชย์ เตรียมชง “ครม.” เคาะนโยบายอาหารปี 64-66 กำหนดนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้งกากถั่วเหลือง ปลาป่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เหมือนปี 61-63 โดยให้นำเข้าได้ทั้งจากสมาชิกดับเบิลยูทีโอ เอฟทีเอ และนอกเอฟทีเอ แต่ยังคงกำหนดให้ผู้นำเข้าข้าวสาลี ต้องซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศในสัดส่วนเดิมที่ 1 ต่อ 3 หวังไม่ให้ราคาข้าวโพดดิ่ง จากการนำเข้าข้าวสาลีที่มากขึ้น นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายอาหาร ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้เห็นชอบนโยบายอาหารสัตว์ปี 64-66 แล้ว โดยจะเปิดให้นำเข้ากากถั่วเหลือง ปลาป่น และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เหมือนกับปี 61-63   และจะเสนอให้ ครม. พิจารณาภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ทั้งนี้ กากถั่วเหลือง กำหนดการนำเข้าแบบไม่จำกัดปริมาณ ทั้งจากภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) มีภาษีนำเข้าในโควตา 2% และนอกโควตา 119%, กรอบความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อื่นๆ เช่น ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) ภาษี 0%, เอฟทีเออาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ภาษี 0% เป็นต้น และประเทศที่ไม่มีเอฟทีเอกับไทย ภาษีนำเข้า 6% และเสียค่าธรรมเนียมการนำเข้า โดยแหล่งนำเข้าใหญ่คือ บราซิล อาร์เจนตินา และสหรัฐ ส่วนปลาป่น กำหนดให้นำเข้าปลาป่นโปรตีน 60% แบบไม่จำกัดปริมาณ โดยการนำเข้าจากอาฟตา ภาษี 0%, ภายใต้เอฟทีเอต่างๆ เช่น อาเซียน-จีน ภาษีนำเข้า 0% เอฟทีเออาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ภาษี 0%, เอฟทีเอไทย-ชิลี ภาษี 0% และประเทศนอกเอฟทีเอ ภาษีนำเข้า 6% โดยแต่ละปีไทยนำเข้าจากชิลีเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กำหนดให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นผู้นำเข้าแต่เพียงผู้เดียว โดยนำเข้าภายใต้ดับเบิลยูทีโอ ปริมาณ 54,700 ตัน ภาษีในโควตา 20% นอกโควตา 73% และเสียค่าธรรมเนียมตันละ 180 บาท ส่วนภายใต้อาฟตา ภาษี 0% ไม่จำกัดปริมาณ แต่จำกัดช่วงเวลาการนำเข้าระหว่างวันที่ 1 ก.พ.-31 ส.ค.ของทุกปี เอฟทีเออื่นๆ เช่น ไทย-ออสเตรเลีย ภาษีในโควตา 4% นอกโควตา 65.70% เป็นต้น โดยปี 62 ไทยนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กว่า 1 ล้านตัน ส่วนใหญ่นำเข้าจากอาเซียน

ที่มา: : https://www.dailynews.co.th/economic/792578

เผยตัวเลขการผลิตเพิ่มขึ้น 3 เดือนติด

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน ก.ค.อยู่ที่ระดับ 85.47 ขยายตัวจากเดือน มิ.ย. 3.12% เป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 แต่หดตัว 14.69% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว รวมถึงประเทศไทย ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 56.01% จากเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 55.07% ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และกำลังทยอยฟื้นตัวขึ้น สู่ระดับปกติในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ภายใต้เงื่อนไขว่าจะไม่มีการระบาดของโควิด-19 รอบที่ 2 กรณีดังกล่าว ได้ส่งผลให้เกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้นในบางอุตสาหกรรมที่สามารถตอบสนองต่อผู้บริโภคได้ เช่น อุตสาหกรรมอาหารและยารักษาโรค ที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศคู่ค้าที่สำคัญ และสงครามการค้าสหรัฐฯและจีน รวมถึงปัญหาน้ำท่วมจีน ได้ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกต้องชะงักลง และอุตสาหกรรมบางประเภทต้องขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต เกิดปัญหาด้านการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบจากฐานการผลิตในต่างประเทศ ได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายราย ต้องย้ายฐานการผลิตออกเพื่อกระจายความเสี่ยง นับเป็นโอกาสของประเทศไทย กรณีดังกล่าว จึงสอดรับกับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มุ่งพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้สามารถรองรับอุตสาหกรรมที่จะย้ายเข้ามาใหม่ได้ รวมถึงการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่มีการเตรียมความพร้อมในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติได้ทันที.

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/business/market-business/1918876

กัมพูชาวางมาตรการฟื้นฟูการท่องเที่ยวร่วมกับไทย

คณะทำงานด้านการท่องเที่ยวของกัมพูชา – ไทย ได้หารือเกี่ยวกับการหาแนวทางแก้ไขและดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศ โดยคณะทำงานด้านการท่องเที่ยวของกัมพูชานำโดยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาการท่องเที่ยวและความร่วมมือระหว่างประเทศของกระทรวงการท่องเที่ยว ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พบปะกันผ่านการประชุมทางไกล โดยแบ่งปันประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ซึ่งกัมพูชาและไทยได้วางกลยุทธ์ในกิจกรรมช่วยเหลือและแผนในอนาคตซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ “mitigation phase”, “early recovery” และ “post-COVID-19 crises recovery plan” โดยทำการกำหนดจังหวัดนำร่องโครงการเพื่อจัดเตรียมแพ็คเกจทัวร์ และเตรียมการต้อนรับ การจัดการที่ดี ภายใต้ความเหมาะสมและปลอดภัย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50756873/measures-to-restore-regional-tourism/

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชากับไทยในช่วง 7 เดือนแรก

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 4,555 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ลดลงร้อยละ 10.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคมกัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังประเทศไทยมูลค่า 839 ล้านดอลลาร์ ลดลงเมื่อเทียบเป็นรายปีที่ร้อยละ 21.13 ตามประกาศตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ของไทย ซึ่งกัมพูชานำเข้าสินค้าจากไทยทั้งสิ้น 3,716 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 7.27 เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยเมื่อปีที่แล้วการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชากับไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.28 สู่ 9,418 ล้านดอลลาร์  ซึ่งคิดเป็นกัมพูชาส่งออก 2,272 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 195

ที่มา : https://en.khmerpostasia.com/2020/08/25/cambodia-thailand-bilateral-trade-reaches-us4-5-billion-in-first-seven-months/