คาดเศรษฐกิจกัมพูชาฟื้นตัวได้ดีในปีนี้

ธนาคารโลกคาดข้อตกลงการค้าเสรี ความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA) จะช่วยส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมการเกษตรและการแปรรูปผลผลิตการเกษตรของกัมพูชา ซึ่งคาดว่าจะหนุ่นให้เศรษฐกิจของกัมพูชาฟื้นตัวได้ดีจากผลกระทบของโควิด-19 ภายในปี 2022 รวมถึงอุปสงค์ทั่วโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ควบคู่ไปกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ และการเปิดพรมแดนเต็มรูปแบบ โดยคาดว่าในปีนี้เศรษฐกิจจะเติบโตที่ร้อยละ 5.4 และจะเติบโตร้อยละ 6.6 ในปีหน้า และคาดว่ารายได้ต่อหัวจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,785 ดอลลาร์ ในปี 2022 และจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1,924 ดอลลาร์ ในปี 2023 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อภายในประเทศคาดว่าจะลดลงเหลือร้อยละ 2.5 ในปี 2023 จากร้อยละ 5 ในปี 2022

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501204073/cambodias-economy-recovers-well-in-2022-with-better-growth-forecast-for-next-year-despite-headwinds/

กัมพูชาส่งออกไปยังญี่ปุ่นโต 10% มูลค่าแตะ 1.6 พันล้านดอลลาร์

กัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่า 1,658 ล้านดอลลาร์ ไปยังญี่ปุ่นในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ในขณะที่ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคมกัมพูชานำเข้าสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นมูลค่า 433 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นการค้าทวิภาคีระหว่าง กัมพูชา-ญี่ปุ่น อยู่ที่ 2,081 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่น ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง กระดาษและเครื่องใช้สำนักงาน และเครื่องหนัง ขณะที่กัมพูชานำเข้าเครื่องจักร รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ ผ้าผืน และพลาสติกจากญี่ปุ่นเป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501200556/cambodias-export-to-japan-up-10-at-1-6b/

กัมพูชาตั้งเป้าส่งออกสินค้าเกษตรไปยังจีน

กัมพูชาตั้งเป้าส่งออกสินค้าเกษตรไปยังจีนเป็นตลาดหลักสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันทางการกัมพูชาได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA) ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา ในขณะที่มูลค่าตลาดจีนในปัจจุบันอยู่ที่มูลค่า 805 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 6.0 ของการส่งออกสินค้าทั้งหมด แต่หากนับเฉพาะสินค้าเกษตรตลาดจีนครองสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 40 หรือคิดเป็นมูลค่า 281 ล้านดอลลาร์ ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดของกัมพูชาที่มูลค่าการส่งออกทั้งหมด 715 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ สำหรับตลาดจีนเน้นไปที่การนำเข้า กล้วย ข้าวสาร และมันสำปะหลังเป็นสินค้าสำคัญ นอกจากนี้ FDI ของจีนยังคงมีสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าโครงการ FDI ที่ได้รับอนุมัติคิดเป็นมูลค่าโครงการรวมกว่า 4.0 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 260 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2022

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501200944/cambodias-agricultural-commodities-target-china-as-a-key-export-destination/

ทางการกัมพูชารายงานการจัดเก็บภาษีเกินเป้าหมายกว่า 114%

กรมสรรพากร กระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง รายงานการจัดเก็บภาษีมูลค่าแตะ 3.2 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งเกินกว่าเป้ากรอบงบประมาณที่ได้กำหนดไว้กว่าร้อยละ 114 โดยคาดว่าในปี 2022 การจัดเก็บภาษีจะสูงกว่าเป้าหมายถึงร้อยละ 115 เมื่อเทียบกับแผนการจัดเก็บประจำปี 2022 ซึ่งปริมาณการจัดเก็บที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีและการบริหาร ตลอดจนมาตรการอื่นๆ ได้ส่งเสริมให้การจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501198406/taxation-revenue-collection-exceeds-114-of-budget-plan/

ธนาคารโลกชี้เศรษฐกิจกัมพูชาโต 4.8% ปีนี้

ธนาคารโลกรายงานถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของกัมพูชาที่กำลังกลับมาฟื้นตัวหลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยธนาคารโลกคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาไว้ที่ร้อยละ 4.8 ในปี 2022 เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง รวมถึงภาคการส่งออกก็เริ่มกลับมาขยายตัว ซึ่งได้ระบุไว้ในรายงานเศรษฐกิจกัมพูชาของธนาคารโลกประจำเดือนธันวาคม โดยอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สินค้าเดินทาง และรองเท้าของกัมพูชาสามารถฟื้นตัวได้ดีในสถานการณ์ปัจจุบัน ในขณะที่ภาคบริการซึ่งดำเนินการภายใต้กลยุทธ์ “Living with COVID-19” ได้กระตุ้นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแตะ 1.2 ล้านคน ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2022 ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นและการลงทุนทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในปี 2023 จะเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 5.2 จากภาคการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น สนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ ภายใต้อัตราเงินเฟ้อที่ลดลง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501198797/world-bank-says-cambodias-economy-on-recovery-path-forecast-4-8-percent-gdp-growth-for-this-year/

ข้อจำกัดด้านสุขอนามัย กระทบการส่งออกมะม่วงกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้

มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures: SPS) ที่เข้มงวดได้ก่อให้เกิดความท้าทายสำหรับภาคการส่งออกมะม่วงสดของกัมพูชาไปยังตลาดเกาหลีใต้ หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงในการส่งออกมะม่วงสดในปี 2015 ด้าน Hean Vanhan รัฐมนตรีต่างประเทศกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง กล่าวว่า แม้รัฐบาลเกาหลีใต้จะไฟเขียวให้ส่งออกมะม่วงสดของกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้ แต่กัมพูชาก็ยังไม่บรรลุเป้าหมายเนื่องจากปัญหาทางเทคนิคในการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้วที่กัมพูชาเริ่มเจรจาเพื่อส่งออกมะม่วงไปยังเกาหลีใต้ แต่ยังไม่เป็นผลเนื่องจากขาดเครื่องมือหรือขั้นตอนตามข้อกำหนด เช่น กระบวนการทางความร้อนด้วยน้ำ (HWT) และกระบวนการทำความร้อนด้วยไอน้ำ (VHT) เพื่อเป็นการขจัดสิ่งเจือปนในผลไม้ ตามรายงานของกระทรวงเกษตร รายงานว่าการส่งออกมะม่วงของกัมพูชาอยู่ที่ประมาณ 138,000 ตันในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ส่งออกไปยังเวียดนาม ไทย จีน และบางประเทศในสหภาพยุโรป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501197614/hygiene-requirements-hit-fresh-mango-export-to-south-korea/

AEON เปิดห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่ในกัมพูชา

Aeon Mall (Cambodia) Co., Ltd. และ Aeon (Cambodia) Co., Ltd. จ่อเปิดตัวห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่แห่งที่สามในนาม “Aeon Mall Meanchey” ในวันที่ 15 ธันวาคม ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 290 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงพนมเปญ ห่างจากใจกลางกรุงพนมเปญประมาณ 8 กิโลเมตร โดยห้างสรรพสินค้าแห่งนี้มีพื้นขนาดประมาณ 174,000 ตารางเมตร 4 ชั้น จอดรถได้มากกว่า 3,200 คัน และมอเตอร์ไซค์ 1,850 คัน ซึ่งคาดว่าจะจ้างพนักงานประมาณ 5,000 คน ในการให้บริการในห้างสรรพสินค้า โดยห้างสรรพสินค้าแห่งนี้นอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อการช็อปปิ้งแล้ว ยังมีสวนสาธารณะกลางแจ้งในห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในประเทศอีกด้วย ซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้คาดว่าจะสามารถดึงดูดผู้คนให้เข้ามาใช้บริการได้ ภายใต้แนวคิดการผสมผสานเทรนด์การใช้ชีวิตในปัจจุบันเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501197611/new-290m-luxury-aeon-mall-meanchey-to-open-next-week/

ปริมาณการค้าระหว่าง กัมพูชา-ไทย โต 29%

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 8,589 ล้านดอลลาร์ในช่วง 10 เดือนของปี เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชามูลค่า 959 ล้านดอลลาร์ไปยังไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะเดียวกันการนำเข้าสินค้าของกัมพูชาจากไทยคิดเป็นมูลค่า 7,630 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29 ตามรายงานของกระทรวงพาณิชย์ไทย ซึ่งสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังไทย ได้แก่ สิ่งทอ สินค้าเกษตร อัญมณี และผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป เป็นสำคัญ ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญจากไทย ได้แก่ ปลา เนื้อสัตว์ ผัก รถยนต์ ปุ๋ยอินทรีย์ อาหาร และวัสดุก่อสร้าง โดยในปีที่แล้วการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 7.97 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.26 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501196940/cambodia-thailand-trade-surges-29/

กัมพูชาเล็งส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารไปยังสหรัฐฯ

สหรัฐอเมริกาถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการส่งออกของกัมพูชา โดยคิดเป็นร้อยละ 43 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาในช่วงเดือนมกราคมถึงกรกฎาคมของปีนี้ ซึ่งในปี 2021 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากกัมพูชามีมูลค่าสูงถึง 8.7 พันล้านดอลลาร์ สินค้าส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มเครื่องแต่งกาย รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง โดยปัจจุบันกัมพูชามีความพยายามเป็นอย่างมากในการผลักดันการส่งออกผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารเพื่อเป็นการกระตุ้นภาคการส่งออกของประเทศ ซึ่งคาดว่าในอนาคตการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวจะเร่งขยายตัวอย่างรวดเร็วในระยะไม่กี่ปี ผ่านการสนับสนุนจากกระทรวงสำคัญๆ ของรัฐบาล ได้แก่ กระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง (MEF), กระทรวงเกษตร ประมง และป่าไม้ (MAFF), กระทรวงพาณิชย์ (MOC) สหรัฐอเมริกา, กรมวิชาการเกษตร สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำกัมพูชา, หอการค้าอเมริกันในกัมพูชา (AmCham) และวิสาหกิจเขมร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501196186/cambodia-eyes-food-product-export-to-us/

นครวัดกัมพูชากลับมาครึกครื้นอีกครั้งในรอบ 11 เดือน

ทางการรายงานว่าอุทยานโบราณคดีอังกอร์ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 225,191 คน ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 9 ล้านดอลลาร์ จากการจำหน่ายตั๋วเข้าชมอุทยานฯ โดยในเดือนพฤศจิกายนเพียงเดือนเดียวมีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังอุทยานฯ กว่า 55,842 คน สร้างรายได้ถึง 2.25 ล้านดอลลาร์ ซึ่งอุทยานโบราณคดีนครวัดตั้งอยู่ในจังหวัดเสียมราฐทางตะวันตกเฉียงเหนือ บนพื้นที่ 401 ตารางกิโลเมตร ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในปี 1992 ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดอุทยานฯ ได้ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากถึง 2.2 ล้านคน ในปี 2019 สร้างรายได้กว่า 99 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501195645/life-returns-to-cambodias-famed-angkor-recording-over-225000-international-tourists-in-11-months/