ทุนจีนขยายการลงทุนต่อเนื่องใน SSEZ กัมพูชา พัฒนาห่วงโซ่อุปทานระดับโลก

เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) ซึ่งจีนเป็นผู้ลงทุนในกัมพูชา ได้เปลี่ยนให้จังหวัดชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของพระสีหนุ ให้มีความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคและระดับโลก ด้าน Long Dimanche รองผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวว่า SSEZ ถือเป็นเขตอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในแง่ของขนาดเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของกัมพูชา ซึ่งเขตอุตสาหกรรมดังกล่าวมีขนาดกว่า 11 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันมีโรงงานประมาณ 170 แห่ง ทั้งจากจีน ยุโรป สหรัฐฯ ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคอื่นๆ ด้วยเงินลงทุนรวมกว่า 1.3 พันล้านดอลลาร์ สร้างการจ้างงานกว่า 30,000 ตำแหน่ง เน้นไปที่ภาคการผลิตเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋าและเครื่องหนัง รวมไปถึงเครื่องจักร วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน ชิ้นส่วนรถยนต์ และยางรถยนต์ เป็นต้น ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าและส่งออกผ่าน SSEZ เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1.9 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในอนาคตคาดว่า SSEZ จะสามารถรองรับโรงงานได้ทั้งหมด 300 แห่ง ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และจะสร้างงานให้กับชาวกัมพูชามากถึง 100,000 ตำแหน่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501181084/chinese-invested-economic-zone-integrating-cambodias-sihanoukville-into-regional-global-supply-chains-official/

กัมพูชากำหนดกรอบนโยบายแห่งชาติ ประจำปี 2022-35 เพื่อผลิตภาพทางเศรษฐกิจ

รัฐบาลกัมพูชาประกาศกรอบการดำเนินการตามกรอบนโยบายแห่งชาติประจำปี 2022-2035 เพื่อเพิ่มผลิตภาพทางเศรษฐกิจของกัมพูชา โดยเน้นไปที่การกระตุ้นภาคการลงทุนและสร้างแรงดึงดูดทางการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงเร่งปรับปรุงผลิตภาพทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันก็ถือเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับภาคประชาชน ภายใต้การจัดการบริหารความเสี่ยงของการหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกและความไม่แน่นอนด้านพลังงาน โดยในปัจจุบันอุปสงค์ภายนอกและเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และคาดว่าจะช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะถัดไป ตามการรายงานของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง ซึ่งคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในปี 2023 จะขยายตัวมากกว่าร้อยละ 6.6 ที่มีมูลค่าจีดีพีรวมอยี่ท่ 32.29 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่จีดีพีต่อหัวคาดว่าจะอยู่ที่ 1,924 ดอลลาร์ โดยในปัจจุบันอยู่ที่ 1,785 ดอลลาร์ ขณะที่ที่เงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ด้านทุนสำรองเงินตราต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 22.14 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงปี 2023

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501180684/national-policy-framework-for-economic-productivity-2022-35-unveiled/

COFCO Group ลงนาม MoU ซื้อวัตถุดิบอาหารกับหลายประเทศรวมถึงกัมพูชา

COFCO Group ผู้ผลิตอาหารและผู้ค้าธัญพืชรายใหญ่ที่สุดของจีน (พิจารณาจากรายได้) ได้ลงนามในสัญญาซื้อมูลค่ากว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ กับพันธมิตรต่างประเทศ ในช่วงระหว่างงาน China International Import Expo (CIIE) ครั้งที่ 5 ณ เซี่ยงไฮ้ โดยบริษัทเน้นถึงการนำเข้าน้ำมันพืชสำหรับบริโภค น้ำตาล เนื้อสัตว์ แอลกอฮอล์ และผลิตภัณฑ์นมจากตลาดต่างประเทศ รวมถึงธัญพืชและสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวฟ่าง และฝ้าย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการแปรรูปอาหารในประเทศจีน ด้าน Luan Richeng ประธาน COFCO กล่าวว่า บริษัทพร้อมที่จะจัดหาวัตถุดิบทางการเกษตรจากประเทศต่างๆ เช่น ไทย กัมพูชา สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส คาซัคสถาน รัสเซีย และบราซิล เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501180881/cofco-group-signs-large-purchase-contracts-with-multiple-foreign-partners-including-cambodia/

CDC อนุมัติโครงการการลงทุนในกัมพูชา 2 โครงการ มูลค่า 14 ล้านดอลลาร์

สภาเพื่อการพัฒนาแห่งกัมพูชา (CDC) ได้รับรองโครงการการลงทุนใหม่ 2 โครงการ ด้วยเงินลงทุนรวม 14 ล้านดอลลาร์ โดย CDC อนุมัติโครงการการลงทุนให้แก่ บริษัท New Shui Yat (Cambodia) Co., Ltd. และ Kanjin (Cambodia) Luggage Co., Ltd. ซึ่งบริษัทแรกคาดว่าจะลงทุนใลค่า 8.5 ล้านดอลลาร์ ในการผลิตกล่องกระดาษแข็งในจังหวัดกำปงสปือ ในขณะที่บริษัทที่สองคาดว่าจะลงทุนมูลค่า 5.5 ล้านดอลลาร์ ในการผลิตกระเป๋าและกระเป๋าเดินทางในจังหวัดกันดาล โดยทั้งสองโครงการคาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 2,000 ตำแหน่ง ให้กับคนในท้องถิ่น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501180202/two-more-projects-worth-14-million-approved-by-cdc/

กัมพูชาคาดส่งออกข้าวสารไปยังจีนเพิ่มขึ้นในปีหน้า

กัมพูชาคาดจะส่งออกข้าวสารไปยังจีนเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จากการมีผลบังคับใช้ของข้อตกลงการค้าระดับภูมิภาคที่ครอบคลุม (RCEP) และข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA) ไปเมื่อต้นปีนี้ กล่าวโดย Song Saran ประธานสมาพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (6 พ.ย.) ซึ่งจีนยังคงเป็นผู้นำเข้าข้าวสารรายใหญ่ของกัมพูชาในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ โดยข้อตกลงทางการค้าทั้งสองฉบับดังกล่าวทำให้กัมพูชาเข้าถึงตลาดได้มากขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ของกัมพูชา และคาดว่าจะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมข้าวของกัมพูชา เพื่อเป็นการส่งเสริมการส่งออกของกัมพูชา ซึ่งตั้งแต่มกราคมถึงตุลาคม การส่งออกข้าวสารของกัมพูชาไปยังตลาดต่างประเทศอยู่ที่ 509,249 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้รวม 324 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501180448/cambodia-to-export-more-milled-rice-to-china-in-coming-years/

ข้อตกลงการค้าเสรี กัมพูชา-เกาหลีใต้ จะมีผลบังคับใช้ในเดือน ธ.ค.

นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ได้ประกาศว่าข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและเกาหลีใต้ (CKFTA) จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนธันวาคมปีนี้ ซึ่งได้กล่าวในพิธีเปิดการประชุมระดับสูงว่าด้วยการครบรอบ 10 ปีความตกลงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และการเปิดตัวหนังสือว่าด้วยกรอบการบูรณาการระดับภูมิภาค โดยสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) ซึ่งข้อตกลง FTA ดังกล่าวถือเป็นข้อตกลงในระดับทวิภาคีฉบับที่สองของกัมพูชาจากก่อนหน้านี้ที่ได้ลงนามร่วมกับจีนในช่วงต้นปี โดยทั้งสองประเทศหวังว่าข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นแรงผลักดันหลักในการส่งเสริมภาคการค้าและการลงทุนระหว่างกัมพูชาและเกาหลีใต้ ภายใต้ผลประโยชน์ร่วมกัน และจะช่วยเร่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศหลังประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้านมูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและเกาหลีใต้ในปัจจุบันแตะมูลค่า 818 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามรายงานของสมาคมการค้าระหว่างประเทศแห่งเกาหลี (KITA) คิดเป็นกัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังเกาหลีใต้มูลค่า 301 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501179178/cambodia-korea-free-trade-agreement-to-enter-into-force-in-december/

มูลค่าการค้าระหว่างกัมพูชากับกลุ่มประเทศ RCEP เพิ่มขึ้น 11% ในช่วง 9 เดือน

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชารายงานว่ามูลค่าการค้าของกัมพูชากับกลุ่มประเทศความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีมูลค่าแตะ 24,000 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2022 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาไปยังกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP มูลค่า 4.7 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ในขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 19.3 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ซึ่งประเทศคู่ค้ารายสำคัญ 5 อันดับแรกของกัมพูชาในกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP ได้แก่ จีน เวียดนาม, ไทย, สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ด้านปลัดกระทรวงพาณิชย์และโฆษกรัฐบาล Penn Sovicheat กล่าวว่า RCEP ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในกัมพูชาและในภูมิภาค

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501179149/cambodias-trade-with-rcep-countries-up-11-pct-in-9-months-ministry/

สิงคโปร์แซงหน้าจีน ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในกัมพูชา

ในปี 2021 สิงคโปร์ได้เข้ามาแทนที่จีนในฐานะประเทศผู้ลงทุนรายสำคัญของกัมพูชา ด้วย 6 โครงการลงทุนขนาดใหญ่ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40 ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งประเทศจีนครองตำแหน่งผู้ลงทุนรายสำคัญในปี 2019 และ 2020 ตกลงมาเป็นอันดับ 2 ร่วมกับสหรัฐฯ ตามรายงานของ Investment Monitor ในเรื่อง “Cambodia punches above its weight in attracting FDI” โดยกัมพูชาถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ดึงดูดนักลงทุนอันดับ 3 ในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก รองจากสิงคโปร์และนิวซีแลนด์ อ้างอิงจากฐานข้อมูลโครงการการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของ GlobalData ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าว การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในกัมพูชาพุ่งสูงสุดในปี 2019 ด้วยโครงการลงทุนกว่า 43 โครงการ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 15.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2018 หรือคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 3.7 พันล้านดอลลาร์ ที่เคยได้รายงานไว้ใน World Investment Report 2020

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501178069/singapore-replaces-china-as-cambodias-top-fdi-source/

นายกฯ ฮุนเซน กล่าวถึงการเปิดประเทศก่อนกำหนด ทำให้ประเทศกลับมาเติบโตอีกครั้ง

นายกรัฐมนตรีฮุนเซน กล่าวในระหว่างพิธีสำเร็จการศึกษาของ Royal University of Law and Economics ว่าการที่รัฐบาลกัมพูชาตัดสินใจเปิดประเทศไปเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2021 ที่ผ่านมา เนื่องจากสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไว้ได้ ส่งผลทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศกลับมาเติบโตอีกครั้ง โดยในปีนี้ทางการคาดว่าเศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัวร้อยละ 5.4 และจะขยายตัวถึงร้อยละ 6.6 ในปี 2023 จากอุปสงค์ภายนอกและกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่กลับมาสู่ภาวะปกติ ด้าน Lim Heng รองประธานหอการค้ากัมพูชา กล่าวเสริมว่า การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศ เป็นผลมาจากการควบคุมโรคระบาดที่ประสบความสำเร็จภายใต้การรณรงค์ฉีดวัคซีนของรัฐบาล รวมถึงทางการยังได้ออกกฎหมายเพื่อการลงทุนฉบับใหม่ อีกทั้งกัมพูชายังได้ทำการลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีกับจีนและเกาหลีใต้ และหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในระยะถัดไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501178071/pm-says-early-reopening-put-country-back-on-growth-trajectory/

จำนวนบัญชีเงินฝากในสถาบันการเงินกัมพูชา เพิ่มขึ้นกว่า 18% ในช่วง 8 เดือนแรกของปี

จำนวนบัญชีเงินฝากภายในธนาคารพาณิชย์และสถาบันรับฝากเงินรายย่อย (MDIs) ในกัมพูชา เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 14.3 ล้านบัญชี ณ เดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 18 จากจำนวน 12.1 ล้านบัญชี ณ สิ้นปี 2021 โดยในจำนวนนี้คิดเป็นบัญชีในธนาคารพาณิชย์ 11.7 ล้านบัญชี และอีก 2.6 ล้านบัญชีอยู่ใน MDIs ซึ่งมูลค่าเงินฝากเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 8 หรือคิดเป็นมูลค่า 41.5 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาดังกล่าวจากมูลค่าเงินฝาก 38.4 พันล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2021 โดยปัจจุบันกัมพูชามีธนาคารพาณิชย์รวมทั้งสิ้น 58 แห่ง, ธนาคารเฉพาะกิจ 9 แห่ง และสถาบันไมโครไฟแนนซ์ 86 แห่ง รวมถึง MDIs 5 แห่ง ซึ่งมีสำนักงานใหญ่และสาขารวม 2,593 แห่ง ขณะที่มีตู้เอทีเอ็ม (ATM) รวมกันทั้งสิ้น 4,219 แห่งทั่วประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501177879/number-of-deposit-accounts-at-cambodias-banks-financial-institutions-up-18-pct-in-first-8-months/