“เวียดนาม” เผยยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่ ม.ค.-เม.ย. ลดลงฮวบ!

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยภาพรวมการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเดือน เม.ย. 2566 พบว่ามีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่จำนวน 16,000 แห่ง และทุนจดทะเบียนรวม 154,600 พันล้านดอง เพิ่มขึ้น 12.3% และ 6.2% เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว ตามลำดับ ทำให้จำนวนรวมในช่วงเดิอน ม.ค.-เม.ย. 2566 มียอดการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่จำนวน 49,900 แห่ง และตัวเลขทุนจดทะเบียนรวม อยู่ที่ 465,000 พันล้านดอง โดยในแง่ของจำนวนธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นเพียง 0.6% แต่ทุนจดทะเบียนรวมลดลงอย่างมาก

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/registered-capital-per-enterprise-in-vietnam-declines-in-jan-apr/

“มูดี้ส์” ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของแบงก์เวียดนาม

สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงิน ‘มูดี้ส์’ (Moody’s) ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของธนาคาร Saigon Thuong Tin Commercial Bank (Sacombank) จากเดิมคงที่ ปรับขึ้นเป็นเชิงบวก (Positive) ซึ่งการปรับขึ้นเครดิตดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการประเมินในเรื่องของความสามารถในการจัดการสินเชื่อของธนาคาร ผ่านการบริหารหนี้สูญและการจำหน่ายสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และยังได้ปรับอันดับจากระดับ Caa1 ขึ้นมาอยู่ที่ B3 นอกจากนี้ ธนาคาร Sacombank มีอัตราส่วนการกู้ยืมระหว่างธนาคารต่ำที่สุดในบรรดากลุ่มธนาคารที่ได้มีการจัดอันดับ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/moodys-upgrades-sacombanks-credit-rating-outlook-to-positive-post1016365.vov

“SCG” เดินหน้ารุกตลาดเวียดนาม

บมจ. เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) อนุมัติการลงทุนเข้าซื้อหุ้น 70% ของ Starprint Vietnam JSC (SPV) ซึ่งเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษแข็งแบบพับได้ ด้วยมูลค่า 1.53 พันล้านบาท หรือประมาณ 44.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้เป็นข้อได้เปรียบทางธุรกิจในตลาดเวียดนาม ทั้งนี้ นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง กล่าวว่าบริษัทจะเดินหน้าขยายโอกาสทางธุรกิจและเวียดนามเป็นหนึ่งในตลาดที่มีศักยภาพสูง รวมถึงมีความต้องการผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ บริษัท SPV มีฐานลูกค้าที่โดดเด่นและมีประวัติที่ดีในเรื่องของความสัมพันธ์ทางการค้ากับบริษัทข้ามชาติและบริษัทระดับประเทศ โดยบริษัทดังกล่าวมีกำลังการผลิตการพิมพ์ออฟเซ็ท 16,500 ตันต่อปี และกล่องแข็ง 8 ล้านชิ้นต่อปี นอกจากนี้ เมื่อประเมินงบการเงินของบริษัท SPV ในปี 2565 พบว่ารายได้รวมของกิจการ อยู่ที่ 43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยกำไรสุทธิหลังหักภาษี 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/thailands-packaging-company-to-expand-business-in-vietnam/252178.vnp

“เวียดนาม” เผย ม.ค.-เม.ย. ดึงดูด FDI เข้าประเทศ 8.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำนักงานการลงทุนต่างประเทศ กระทรวงวางแผนและการลงทุน (MPI) เปิดเผยข้อมูล ณ วันที่ 20 เม.ย. พบว่าเวียดนามดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) 8.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการเบิกจ่ายเงินทุน FDI มูลค่า 5.85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ลดลง 1.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สิ่งเหล่านี้ได้ส่งสัญญาเชิงบวกท่ามกลางความผันผวนของการลงทุนจากต่างประเทศ หลังจากมีการกำหนดภาษีเงินได้นิติบุคคลทั่วโลก (Global Minimum Tax : GMT) ที่อัตรา 15% ของกลุ่มบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีรายได้เกินกว่า 750 ล้านยูโร หรือประมาณ 829.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ณ วันที่ 20 เม.ย. 2566 โครงการที่ได้รับอนุญาตใหม่มีจำนวน 37,100 โครงการ ด้วยเงินทุนจดทะเบียนรวม 445.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการเบิกจ่ายไปแล้วกว่า 279.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วน 62.8% ของจำนวนเงินทุนที่จดทะเบียนโครงการใหม่ทั้งหมด

ที่มา : https://tuoitrenews.vn/news/business/20230425/foreign-investors-pledge-nearly-89bn-to-vietnam-in-janapr/72817.html

“เวียดนาม” เผยส่งออกข้าวพุ่ง หลังวิกฤตขาดแคลนข้าวโลก

จากข้อมูลของกรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่าในไตรมาสแรกของปีนี้ เวียดนามส่งออกข้าว 1.85 ล้านคัน คิดเป็นมูลค่า 981.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 23.4% และ 34.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามลำดับ โดยฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวจากเวียดนามประมาณ 9 แสนตันในไตรมาสแรกของปีนี้ และคาดว่าจะสั่งซื้อข้าวเพิ่มขึ้นในอนาคตข้างหน้า ทั้งนี้ ฟิทช์ โซลูชันส์ (Fitch Solutions) บริษัทวิจัยด้านการเงินการลงทุน ชี้ว่าปัญหาการขาดแคลนข้าวทั่วโลก เป็นวิกฤตที่รุนแรงที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่าปริมาณการขาดแคลนข้าวทั่วโลกจะอยู่ที่ 8.7 ล้านตันในปี 2565-2566 ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าตลาดข้าวจะอยู่ในทิศทางที่เป็นบวก โดยเฉพาะข้าวของเวียดนามที่ได้รับประโยชน์ เนื่องจากความต้องการอาหารสำรองที่เพิ่มสูงขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองโลก

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnams-rice-exports-surge-on-supply-crunch-post1016127.vov

‘ถอดบทเรียนเวียดนาม’ การเมืองนิ่ง เศรษฐกิจรุ่ง

ถ้าจะพูดถึงเพื่อนบ้านอาเซียนในฝั่งอินโดจีนเวียดนามถือว่ามีพัฒนาการมากที่สุด การเขียนถึงเวียดนามในวันนี้นับเป็นเวลาอันเหมาะสม ใกล้ถึงวันครบรอบ “ไซ่ง่อนแตก” 30 เม.ย.2518 ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์เวียดนามยุคใหม่  เมื่อแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติเวียดนามใต้หรือเวียดกงเข้ายึดกรุงไซ่ง่อนของเวียดนามใต้ สหรัฐผู้สนับสนุนแตกกระเจิงกลับประเทศ นำไปสู่การรวมชาติในนาม “สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม” ในวันที่ 2 ก.ค.2519

ช่วงรวมชาติได้ใหม่ๆ เวียดนามยังเป็นประเทศยากจนเพราะเพิ่งผ่านศึกสงคราม จากการที่เวียดนามมีสหภาพโซเวียตเป็นลูกพี่ใหญ่ แน่นอนว่าต้องเป็นศัตรูกับสหรัฐ (ก็เพิ่งไล่เขากลับประเทศไปหมาดๆ) ส่วนจีนที่เป็นเพื่อนบ้านก็ไม่ได้ญาติดีกัน กับเพื่อนบ้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมองหน้ากันได้ไม่สนิทนัก ตอนตั้งสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ก็เคยถูกเวียดนามวิจารณ์

แต่สถานการณ์เปลี่ยนเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามตัดสินใจปฏิรูปประเทศใช้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบตลาดทีละน้อยๆ ปี 2530 เวียดนามออกกฎหมายว่าด้วยกฎหมายการลงทุนของต่างชาติ ความเปลี่ยนแปลงในทางบวกค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างที่เราเห็นในวันนี้ นักลงทุนต่างชาติแห่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม ที่น่าสนใจคือธุรกิจค้าปลีกเพราะเป็นตัวชี้วัดว่าไลฟ์สไตล์คนเวียดนามเปลี่ยนไป ชนชั้นกลางเติบโตขึ้น รายได้มากขึ้น พร้อมจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการเพื่อความสะดวกสบายในชีวิตไปจนถึงเพิ่มความหรูหรา นอกจากนี้เวียดนามยังเป็นประเทศที่ประชากรหนุ่มสาวมาก พวกเขาสนใจในเทคโนโลยี ยังไม่เข้าสู่สังคมสูงวัยเหมือนไทย โอกาสที่เศรษฐกิจเติบโตจึงมีอีกมาก เรียกได้ว่า เข้าไปลงทุนทำอะไรในเวียดนามตอนนี้มีแต่ได้กับได้

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/politics/1064510

“แบงก์ชาติเวียดนาม” เตรียมปรับโครงสร้างหนี้ของธุรกิจที่ประสบปัญหา

ธนาคารกลางเวียดนาม (State Bank of Vietnam: SBV) เตรียมที่จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของธุรกิจที่ประสบปัญหา รวมถึงความสามารถในการชำระเงินกู้และอื่นๆ เป็นต้น นายฟาม มินห์ ชินห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้ขอให้ธนาคารกลางทำการร่างข้อมติเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของธุรกิจและขยายกรอบระยะเวลา โดยบริษัทเวียดนามหลายแห่งในปัจจุบันที่เป็นศูนย์กลางการผลิตระดับภูมิภาคกำลังเผชิญกับอุปสรรค ท่ามกลางอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแอและภาวะการส่งออกที่หดตัว 11.9% ตลอดจนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง 3.32% ในไตรมาสแรกของปีนี้

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ร้องขอให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน

ที่มา : https://www.investing.com/news/economy/vietnam-central-bank-plans-loan-restructuring-for-struggling-businesses-3062243