สถาบันการเงินระหว่างประเทศ มองภาวะเงินเฟ้อของเวียดนาม 4% ปีนี้

องค์กรการเงินระหว่างประเทศรายใหญ่ อาทิ สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (AMRO), ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์สภาวะเงินเฟ้อของเวียดนามในปีนี้แตกต่างกันออกไป แต่คาดว่าตัวเลขเงินเฟ่อจะอยู่ที่ประมาณ 4% ทั้งนี้ ธนาคารพัฒนาเอเชียได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียแปซิฟิกเหลือ 4.6% ในปีนี้ ลดลง 0.6% เมื่อเทียบกับตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ในเดือนเม.ย. สำหรับกรณีเวียดนามนั้น ธนาคารคาดว่าเศรษฐกิจขยายตัว 6.5% ปีนี้และ 6.7% ในปีหน้า ในขณะที่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามจะขยายตัว 6% และเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.9% ปีนี้ เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้นและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ สานักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจของเวียดนามในปีนี้ 6.3% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 6.5% ในส่วนของตัวเลขเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 3.5% ปีนี้

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/foreign-financiers-believe-vietnam-likely-to-control-inflation-at-4-this-year-2042469.html

อัตราเงินเฟ้อกัมพูชา ณ เดือนพฤษภาคม พุ่งสูงสุดในรอบทศวรรษ

อัตราเงินเฟ้อในประเทศกัมพูชาปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7.2 ในช่วงเดือนพฤษภาคมปีนี้ ซึ่งสูงที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา โดยธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) กล่าวเสริมว่า ได้ออกมาตรการเพื่อควบคุมแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อและปกป้องกำลังซื้อของท้องถิ่น ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจาก สงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อและการคว่ำบาตรรัสเซียได้ผลักดันราคาน้ำมันและต้นทุนอาหารโลกพุ่งสูงขึ้น ควบคู่ไปกับราคาปุ๋ยและผลผลิตทางการเกษตรที่น้อยลง โดยกัมพูชาได้กำหนดกรอบนโยบายการเงินของธนาคารกลาง รวมถึงการดำเนินการทางด้านหลักประกันสภาพคล่อง (LPCO) ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินที่อนุญาตให้ NBC ปล่อยกู้ให้กับสถาบันการเงินในสกุลเงินท้องถิ่น และวงเงินสินเชื่อส่วนเพิ่ม (MLF) นอกเหนือจากเงินกู้ข้ามคืนที่เป็นสกุลเงินเรียล เพื่อตอบสนองต่อความต้องการทางด้านสภาพคล่องระยะสั้นของธนาคาร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501116556/may-records-decades-highest-inflation-in-cambodia/

“เวียดนาม” ชี้ปัจจัยเอื้อต่อภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น

นายเหวียน บามิง (Nguyen Ba Minh) ผู้อำนวยการสถาบันการเงินและเศรษฐกิจ มองว่าตัวเลขเงินเฟ้อในระยะสั้นจะออกมาค่อนข้างดี แต่ว่าด้วยสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียยังมีความไม่แน่นอน รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้าและผลักดันให้ราคาวัสดุเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามสถานการณ์น่าจะกลับมาดีขึ้น เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรมีแนวโน้มจะออกผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการในประเทศ ในขณะเดียวกัน ผลผลิตสินค้าเกษตรเป็นตัวชี้วัดตัวหนึ่งของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่มีน้ำหนักค่อนข้างมาก เกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ส่งผลต่อเสียรภาพด้านราคา นอกจากนี้ นาย Nguyen Manh Hung รองประธานสมาคมมาตรฐานผลิตภัณฑ์และคุ้มครองผู้บริโภค มีความกังวลว่าดัชนี CPI ที่ขยายตัว 2.44% ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ นั้นดีเกินจริง เนื่องจากความแตกต่างระหว่างการเติบโตของราคาจริงกับตัวเลขที่รายงานที่ 2.44% และพบว่าราคาอาหารสูงขึ้นในหลายพื้นที่ แต่รายงานกลับแสดงผลตรงกันข้าม

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1269936/inflation-in-check-due-to-favourable-factors.html

สงครามยูเครน-เงินเฟ้อพุ่ง กับดักการเติบโตทางเศรษฐกิจอาเซียน+3

สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียน+3 (AMRO) องค์กรระหว่างประเทศที่ติดตามเศรษฐกิจของ 10 ประเทศสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ปรับลดคาดการณ์การเติบโตประจำปีของภูมิภาคลงเหลือ 4.3% จาก 4.7% ในเดือนเมษายน โดยการปรับลดล่าสุดสะท้อนให้เห็นถึงการชะลอตัวในช่วงครึ่งแรกของปีในประเทศจีนและฮ่องกง สำหรับจีนซึ่งกำหนดมาตรการล็อกดาวน์จากโควิด-19 เพื่อยับยั้งการระบาดของไวรัส AMRO ลดการคาดการณ์การเติบโตเป็น 4.8% จาก 5.2% ขณะที่แนวโน้มของฮ่องกงลดลงเหลือ 1.1% จาก 2.8% ด้าน AMRO ยังเพิ่มการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสำหรับภูมิภาคเป็น 5.2% เพิ่มขึ้น 1.7 จุดจากเดือนเมษายน สิ่งนี้เกิดขึ้นเมื่อความขัดแย้งในยูเครนทำให้การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกแย่ลง และราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นบีบผู้บริโภคทั่วเอเชีย สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียนเพียงอย่างเดียว AMRO ยังคงคาดการณ์การเติบโตโดยรวมไว้ที่ 5.1% ในปีนี้ โดยเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว อย่างในประเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม คาดว่าจะทำงานได้ดีขึ้นในปีนี้ ในขณะที่มองไปในอนาคต AMRO คาดว่าการเติบโตของกลุ่มอาเซียน+3 จะเพิ่มขึ้นเป็น 4.9% ในปี 2566 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะลดลงเหลือ 2.8%

ที่มา : https://moneyandbanking.co.th/article/news/ukraine-war-inflation-economic-asean3-060765

พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อมิ.ย.พุ่ง 7.66% เหตุน้ำมันแพง ส่วนทั้งปีคาด 4-5%

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาอยู่ที่ 7.66% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และสูงขึ้น 0.9% จากเดือนก่อนหน้า ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนมิ.ย. อยู่ที่ 2.51% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.24% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 2.28%

ทั้งนี้ สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 3/65 ยังมีแนวโน้มขยายตัวในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อปีนี้ ยังคงกรอบเดิมที่ 4-5% โดยมีค่ากลางที่ 4.5%

ที่มา : http://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?ref=A&id=enNGZ3FBSW1BTlU9

เงินเฟ้อ สปป.ลาว พุ่งแตะ 23.6% สูงสุดในรอบ 22 ปี

ในเดือนมิ.ย.2565 เงินเฟ้อในสปป.ลาว พุ่งแตะ 23.6% สูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน เนื่องจากราคาพลังงานและสินค้าอุปโภคบริโภคที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องสร้างความลำบากและซ้ำเติมการใช้ชีวิตของประชาชนในประเทศเป็นอย่างมาก ด้านสำนักงานสถิติของสปป.ลาว ชี้ว่า ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซ และสินค้านำเข้าอื่นๆ ที่พุ่งสูงขึ้น ประกอบกับค่าเงินกีบเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันเงินเฟ้อ ซึ่งเกินกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายที่รัฐบาลได้ตั้งไว้คือ 12% โดยในเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ราคาน้ำมัน ก๊าซ และทองคำพุ่งขึ้น 107.1 เปอร์เซ็นต์ 69.4% และ 68.7% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อน ประกอบกับสถานการณ์ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่รุนแรงขึ้นส่งผลให้ตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงทั่วโลกผันผวน ความหวาดกลัวว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก และวิกฤตด้านอาหารที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ส่วนราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเกิดจากการที่รัฐบาลพยายามจัดหาให้กับประชาชน ที่ผ่านมาเงืนเฟ้อในสสป.ลาว เคยพุ่งสูงสุดถึง 26.95% ในปี 2543 ทั้งนี้ จากดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนมิ.ย.2565 ที่พุ่งสูงขึ้นสูงสุด คือหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ที่พุ่งขึ้นถึง 55.5%

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten126_Inflation.php

เศรษฐกิจกัมพูชาอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว แต่กลับต้องเผชิญกับภาวะน้ำมันแพง

คาดเศรษฐกิจกัมพูชาเติบร้อยละ 4.5 ในปี 2022 จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและการส่งออกสินค้าเริ่มกลับมาฟื้นตัว ตามการคาดการณ์ของธนาคารโลก ในขณะเดียวกันยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น จากผลกระทบของสงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาวะเงินเฟ้อภายในประเทศ โดยธนาคารโลกยังได้รายงานเพิ่มเติมถึงภาคการส่งออกของกัมพูชาในช่วงไตรมาสแรกของปี 2022 ซึ่งการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่ากว่า 4.8 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ถึงแม้ว่าแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจภายในประเทศจะแข็งแกร่ง การฟื้นตัวกลับถูกชะลอโดยอุปสงค์ทั่วโลกที่ถดถอย ราคาพลังงานและอาหารทั่วโลกที่พุ่งสูงขึ้นเป็นปัจจัยหนุนให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น และในกัมพูชา มีภาคครัวเรือนที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีแนวโน้มที่จะแบกรับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อไว้ไม่ไหว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501105248/cambodias-economy-growing-but-must-weather-oil-price-shock/

รัฐบาลกัมพูชาออกมาตรการควบคุมราคาอาหารหลังพุ่งสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชาได้ออกมาตรการและติดตามราคาอาหารอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการขึ้นราคาและหลีกเลี่ยงแรงกดดันต่อผู้บริโภคภายในประเทศ ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากอัตราเงินเฟ้อโดยทั่วไปพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก เนื่องจากผลกระทบของราคาน้ำมันที่เป็นผลมาจากสงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ทางด้าน Pen Sovicheat โฆษกกระทรวงฯ กล่าวว่า มีการติดตามราคาสินค้าในตลาดมากกว่า 50 รายการ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคประจำวัน เช่น เนื้อหมู ปลา ไก่ ไข่ ผัก และข้าว เพื่อให้แน่ใจว่าราคาจะไม่สูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันระดับเงินเฟ้อของกัมพูชาในกลุ่มอาหารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแต่ยังคงต่ำกว่าร้อยละ 10 ของระดับความเสี่ยง ในขณะเดียวกันรัฐบาลกัมพูชาคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตมากกว่าร้อยละ 5 ในปี 2022

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501101472/measures-to-keep-price-rise-under-control-ministry/

“เอชเอสบีซี” ปรับอัตราเงินเฟ้อ ของเวียดนามลดลงเหลือ 3.5%

ธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) ระบุว่าได้ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของเวียดนามในปี 2565 อยู่ที่ 3.5% จากคาดการณ์ก่อนหน้าไว้ที่ 3.7% เนื่องจากราคาอาหารในประเทศมีเสถียรภาพ และธนาคารยังรายงานว่าความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อต้นปี ทำให้เงินเฟ้อพื้นฐานและเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่โควิด-19 ระบาด อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจะมีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะประเทศสิงคโปร์ ไทยและฟิลิปปินส์ที่ได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศอื่น ในขณะที่เวียดนาม มาเลเซียและอินโดนีเซีย เงินเฟ้ออยู่ภายใต้การควบคุม ทั้งนี้ เวียดนาม จะเผชิญกับราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน ราคาค่าขนส่งพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนราคาอาหารเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเงินเฟ้อทั่วไปของเวียดนาม ถึงแม้ว่าราคาพลังงานจะสูงขึ้น แต่เงินเฟ้อทางด้านอาหารยังคงอยู่ในระดับปานกลาง

ที่มา: https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-ranks-89th-in-cost-of-living-index-rankings-post950321.vov

รัฐบาลขอให้รัฐสภา ตั้งเป้าตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญอีกครั้ง

รัฐบาลได้ขอให้รัฐสภาพิจารณาและอนุมัติเป้าหมายเศรษฐกิจมหภาคที่สำคัญบางส่วนซึ่งได้รับการแก้ไขในปี 2565 ท่ามกลางความกลัวว่าเศรษฐกิจจะตกต่ำ นาย Sonexay Sitphaxay ผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป. ลาว นำเสนอรายงานในการประชุมสภาแห่งชาติที่กำลังดำเนินอยู่ โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับเป้าหมายที่แก้ไขแล้วซึ่งรัฐบาลจะต้องดำเนินการให้สำเร็จภายในสิ้นปีนี้ ภายใต้ข้อเสนอนี้ ความยืดหยุ่นของอัตราแลกเปลี่ยน kip/us dollar ซึ่งขณะนี้ได้รับอนุญาตให้ผันผวนภายในช่วงบวกหรือลบร้อยละ 5 ต่อปี จะได้รับการแก้ไขให้อยู่ในระดับที่ไม่สร้างแรงกดดันด้านเงินเฟ้อให้กับรัฐบาล รัฐบาลยังได้ขอให้เพิ่มจำนวนเงินในระบบ จากร้อยละ 22 เป็นร้อยละ 28 อันเนื่องมาจากค่าเงิน kip ที่อ่อนค่า ทั้งนี้รัฐบาลตั้งเป้าที่จะบรรลุเป้าหมายการเติบโตของ GDP ที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 4.5 ในปีนี้ แม้จะมีความไม่แน่นอนของปัจจัยภายในและภายนอก

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten113_Govtasks.php