EEC คึกคัก ธุรกิจฟื้น ดันคลังสินค้าอัจฉริยะไทย โต 10-15% รับเทรนด์ดิสรัปต์ซัพพลายเชน

จากข้อมูลของสมาคมการจัดการระบบคลังสินค้าไทย ระบุว่า ภาพรวมการลงทุนในอุตสาหกรรมคลังสินค้าอัจฉริยะ หรือ อินทราโลจิสติกส์ ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องตามสภาวะการลงทุนของประเทศไทย และการเพิ่มขึ้นของดีมานด์ในตลาด โดยคาดว่าในปีนี้จะขยายตัวราว 10-15% เทียบกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 8,000 ล้านบาท คาดเงินสะพัด 1,000-1,200 ล้านบาท ส่วนในปี 2565 ที่ผ่านมามีมูลค่าสูงถึง 6,000-8,000 ล้านบาท เติบโตจากปี 2564 ประมาณ 5-8% ด้วยแรงหนุนจากเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัว บวกกับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีความคืบหน้ามากขึ้น จึงมีการลงทุนทางด้านอินทราโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ระบบการจัดระบบคลังสินค้าอัตโนมัติ หรือ อินทราโลจิสติกส์ มีบทบาทสำคัญในการขนส่งวัสดุภายในโรงงาน ศูนย์กระจายสินค้า บริการพัสดุ โกดังสินค้า โดยระบบเหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ คุณภาพ ความยั่งยืน ลดต้นทุน และการดำเนินงานต่างๆ ของผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยธุรกิจ SMEs หรือกิจการขนาดเล็กและขนาดกลาง โดยมีสัดส่วนมากกว่าขนาดใหญ่ ดังนั้นเพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีการเติบโตขึ้น “คลังสินค้า” จึงถือเป็นหนึ่งในการพัฒนาที่จำเป็นในการยกระดับมาตรฐานธุรกิจให้เทียบเท่าระดับสากล ทั้งนี้ระบบอินทราโลจิสติกส์ไทย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของเทคโนโลยี ซึ่งไทยเป็นคน Import โดยระบบอินทราโลจิสติกส์ไทยอยู่ในอันดับ 30-35 ของโลก ขณะที่อันดับ 1 คือ สิงคโปร์ ตามมาด้วย อังกฤษ เยอรมัน ตามลำดับ ขณะเดียวกันในส่วนของงบการลงทุนของแต่ละธุรกิจในด้านอินทราโลจิสติกส์นั้นจะอยู่ราวๆ 10-15% ของงบการลงทุนทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 10-20 ล้านบาทต่อโครงการโดยเฉลี่ย

ที่มา : https://www.thairath.co.th/money/business_marketing/marketing/2732127

“ไทยเบฟ” วางแผนจัดตั้งโรงงานมูลค่ากว่า 7 พันล้าน ในกัมพูชา

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าการลงทุนจะเน้นวางรากฐานการเติบโต เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันเป็นหลัก โดยใช้เงินลงทุนกว่า 7,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้จะลงทุนตั้งโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ในกัมพูชาประมาณ 4,000 ล้านบาท เพื่อเป็นฐานขยายตลาดกัมพูชาและฐานการผลิตวิสกี้ซิงเกิ้ลมอลลต์ ขายในภูมิภาคอาเซียน ร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่น สำหรับการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของการบริโภคในประเทศ จากทั้งชาวไทยและต่างชาติ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อบริษัท แต่ถึงอย่างไรจำเป็นต้องประเมินถึงแรงกดดันจากภาะเงินเฟ้อ ต้นทุนด้านพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น ไปจนถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อาจยังคงส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค แต่เชื่อมั่นว่ารากฐานอันมั่นคงจะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตที่แข็งแกร่งของเราได้อย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทยังดำเนินมาตรการบริหารอัตรากำไรอย่างรอบคอบ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่างๆ รักษาผลกำไรสุทธิ ส่วนแบ่งตลาดและคำนึงถึงความรับผิดชอบ ความยั่งยืนเป็นสำคัญ สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี มีรายได้อยู่ที่ 216,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501371751/thaibev-plans-7-billion-baht-expansion-including-new-factory-in-cambodia/

“เวิลด์แบงก์” หั่นคาดการณ์ GDP เอเชียเหลือโต 5% จีน-ไทย-เวียดนาม หนี้ภาคธุรกิจพุ่งเร็ว

สำนักข่าว CNBC รายงานว่า ธนาคารโลก ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตสำหรับประเทศเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยระบุถึง จีนและดีมานด์ทั่วโลกที่ซบเซา ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับสูงและการค้าที่ซบเซา ทั้งนี้ เวิลด์แบงก์กล่าวว่าขณะนี้คาดว่าประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะเติบโต 5% ในปี 2566 ตามรายงานเดือนตุลาคม ซึ่งน้อยกว่าการคาดการณ์ 5.1% ในเดือนเมษายนเล็กน้อย ขณะเดียวกันเวิลด์แบงก์คงการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจจีนในปีนี้ ไว้ไม่เปลี่ยนแปลงที่ 5.1% แต่ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีหน้า ลงเหลือ 4.4% จาก 4.8% โดยระบุถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างในระยะยาว ระดับหนี้ที่สูงขึ้นในเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และความอ่อนแอในภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นเหตุผลในการปรับลดอันดับ

นอกจากนี้ยังเผชิญกับระดับหนี้ที่เพิ่มขึ้น ธนาคารโลกระบุว่า หนี้ภาครัฐทั่วไปเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับระดับหนี้ภาคธุรกิจที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในจีน ไทย และเวียดนาม โดยเตือนว่าระดับหนี้ภาครัฐที่สูงอาจจำกัดการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน หนี้ที่สูงขึ้นอาจนำไปสู่อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมสำหรับธุรกิจเอกชนเพิ่มขึ้น

ที่มา : https://moneyandbanking.co.th/2023/64731/

‘รมว.ต่างประเทศญี่ปุ่น’ เตรียมเยือน 4 ชาติอาเซียน รวมไทย เริ่ม 8 ต.ค.นี้

แหล่งข่าวของรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ (30 ก.ย.) ว่า โยโกะ คามิกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่นกำลังวางแผนที่จะเดินทางเยือนบรูไน เวียดนาม ลาว และไทยตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค.นี้ ในขณะที่ญี่ปุ่นเตรียมจัดการประชุมสุดยอดกับผู้นำอาเซียนในปลายปีนี้ เมื่อพิจารณาถึงความอหังการของจีนที่เพิ่มมากขึ้นในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออกนั้น คามิกาวะได้รับการคาดหวังให้ยืนยันกับรมว.ต่างประเทศของ 4 ชาติอาเซียนถึงความสำคัญของการรับรองความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศบนพื้นฐานของหลักนิติธรรม และการตระหนักถึงภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ทั้งนี้ สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า บรรดาผู้นำจากญี่ปุ่นและสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) มีกำหนดพบปะกันในวันที่ 16-18 ธ.ค.ปีนี้ที่กรุงโตเกียว เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีแห่งมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างกัน

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2023/339138

การค้าทวิภาคี “กัมพูชา-ไทย” แตะ 2.58 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี

สำหรับในช่วงเดือน มกราคม-สิงหาคม ของปีนี้ การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 2,585 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 19.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) โดยคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาไปยังไทยที่มูลค่า 646 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ในขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากไทยลดลงกว่าร้อยละ 25.8 เหลือมูลค่า 1,938 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังไทย ได้แก่ สิ่งทอ สินค้าเกษตร อัญมณี วัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป ด้านสินค้านำเข้าจากไทยส่วนใหญ่ ได้แก่ เป็นปลา เนื้อสัตว์ ผัก รถยนต์ ปุ๋ยอินทรีย์ อาหาร และวัสดุก่อสร้าง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501368622/cambodia-thailand-bilateral-trade-tops-2-58-billion-in-first-eight-months/

“ศุภชัย” ฟันธง ปี 67 ส่งออกโตเด่น อานิสงค์เศรษฐกิจจีนพ้นปากเหว

ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) และอดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงการส่งออกไทยว่า ปี 2567 เป็นปีที่การส่งออกจะดีกว่าปี 2566 ขณะที่การส่งออกปีนี้ต้องยอมรับว่าไม่น่าจะดีขึ้น สาเหตุหลักที่การส่งออกไทยปี 2567 จะดีขึ้นมาจากปัจจัยเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะฟื้นตัวเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจจีนปี 2566 ถือว่าแย่มากเพราะการส่งออกของจีนไม่ดี เช่นเดียวกันการนำเข้าที่จีนไม่ซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจะส่งผลดีต่อการส่งออกไทยในปี 2567 แม้ว่าปีนี้ถือว่าไม่น่าดีขึ้นได้แต่อย่างไรก็ตาม ในภาพใหญ่ไทยควรทำการค้าขายในอาเซียนด้วยกันเองให้มากขึ้นและลดการพึ่งพาประเทศมหาอำนาจ นอกจากนี้ ประเด็นข้อตกลงการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ เป็นเรื่องที่ต้องตกลงกันในรายละเอียดให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่ายเป็นเรื่องของการเจรจาต่อรอง และเมื่อได้เอฟทีเอแล้วก็ควรบริหารจัดการโดยให้กลุ่มที่ได้ประโยชน์จ่ายคืนส่วนต่างในรูปแบบภาษี หรือรูปแบบอื่นๆ ที่เหมาะสมเพื่อนำไปดูแลกลุ่มที่เสียประโยชน์ สำหรับในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 ตัวเลขการส่งออกของจีนปรับตัวลดลงร้อยละ 5.6 จากผลกระทบการค้ากับประเทศคู่ค้ารายใหญ่อย่างสหรัฐ และสหภาพยุโรป (อียู) ที่ปรับตัวลงหนัก และยังฉุดให้ตัวเลขนำเข้าของจีนลดลงถึงร้อยละ 7.6 นำโดยสินค้าในกลุ่มจอแอลซีดีและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ดิ่งลงหนักถึงร้อยละ 27 อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปอาเซียนที่ขยายตัวขึ้นสามารถช่วยบรรเทาภาวะดังกล่าวลง โดยอาเซียนหันมานำเข้าสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรจากจีนมากขึ้น แทนที่สินค้าจากญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1091052

รัฐบาล ปัดฝุ่น FTA ไทย-อินเดีย เปิดตลาดยา เวชภัณฑ์ ยุทโธปกรณ์

นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้หารือกับนายนาเคศ สิงห์ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินเดียประจำประเทศไทย โดยอินเดียพร้อมฟื้นฟูความตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) ไทย-อินเดีย อีกครั้ง และพร้อมแก้ไขปัญหาอุปสรรคร่วมกันอย่างเข้มแข็งและรวดเร็วที่สุด ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยและอินเดียได้ทำความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA โดยได้เปิดตลาดสินค้าส่วนแรก (Early Harvest Scheme) จำนวน 83 รายการ ครอบคลุมทั้งสินค้าผลไม้สด ธัญพืช อาหารปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์แร่ เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยได้ยกเลิกภาษีตั้งแต่ปี 2549 ทำให้การค้าทั้ง 2 ฝ่ายขยายตัว และไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า แต่ได้หยุดชะงักไปเมื่อปี 2559 เนื่องจากอินเดียได้หันมาผลักดันการเจรจา FTA ระหว่างอาเซียน-อินเดียแทน เพื่อขยายตลาดมายังกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ ทั้งนี้ในการหารือทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันว่า ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ หรือ BIMSTEC จะเป็นเวทีที่จะช่วยขจัดอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้ความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเป็นไปอย่างราบรื่น โดยนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ตั้งใจอย่างมากที่จะมาร่วมการประชุมระดับผู้นำ BIMSTEC ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้ จากข้อมูลรายงานการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจำปี 2565 ของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า อินเดีย ขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 7 จากอันดับที่ 10 ในปีก่อน โดยขยายตัวถึง 22.5% โดย การค้าระหว่างไทยและอินเดีย มีมูลค่า 17,702.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 18.06% โดยไทยส่งออกไปอินเดีย มูลค่า 10,524.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากอินเดีย มูลค่า 7,178.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ เม็ดพลาสติก ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เคมีภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญของอินเดีย อาทิ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะ เคมีภัณฑ์ และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช

ที่มา : https://www.thansettakij.com/business/economy/577107

‘เมียนมา’ ชี้ค้าชายแดนท่าขี้เหล็ก จีน-ไทย โกยเงิน 77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามข้อมูลทางสถิติของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา เปิดเผยว่าการค้าชายแดนระหว่างไทย-เมียนมา ผ่านชายแดนท่าขี้เหล็ก มีมูลค่าการค้ารวม 77.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ในช่วง 5 เดือนแรกและช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2566-2567 ขณะที่ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-19 ก.ย. ด่านการค้าชายแดน มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 30.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 47.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ กระเทียม ตะกั่วซัลไฟด์และเศษพลาสติกอัดก้อน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/tachilek-border-trade-with-china-and-thailand-valued-at-us77-698-mln/#article-title

ไทยเข้าเกียร์เดินหน้าทำเอฟทีเอหวังแซงเวียดนามขึ้นเบอร์ 1 อาเซียน

“เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ณ กรุงนิวยอร์ก สหรัฐฯ โดยประเด็นหนึ่งที่ให้สัมภาษณ์คือ แผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ รัฐบาลที่แล้วไม่ได้ให้ความสนใจในการลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรีมากนัก ทำให้ไทยยังตามหลังเวียดนาม ซึ่งต้องเร่งเดินหน้าเจรจากรอบความตกลงการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ (FTA) เพื่อเปิดตลาดการค้าใหม่ ซึ่งการทำเอฟทีเอเป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลประกาศไว้ต่อรัฐสภา โดยในประเทศกลุ่มอาเซียน ประเทศเวียดนามถือเป็นเบอร์ 1 ของอาเซียนที่ทำเอฟทีเอมากที่สุด โดยเวียดนามมีเอฟทีเอ รวม 15 ฉบับ คลอบคลุม  53  ประเทศ (ทั้งระดับพหุภาคีและทวิภาคี) ได้แก่ 1.ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน  2. อาเซียน-จีน  3.อาเซียน-เกาหลีใต้  4. เวียดนาม-ญี่ปุ่น  5.เวียดนาม-เกาหลีใต้  6.อาเซียน-อินเดีย 7.อาเซียน- ออสเตรเลีย –นิวซีแลนด์ 8.เวียดนาม-ชิลี  9.เวียดนาม-เกาหลีใต้ ขณะที่ไทยมีเอฟทีเอเพียง 14 ฉบับ 18 ประเทศ ซึ่งน้อยทั้งจำนวนน้อยกว่าประเทศอื่นประเทศเพื่อนบ้านทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย  เวียดนาม ทั้งจำนวนฉบับและประเทศที่คลอบคลุม

โดยเอฟทีเอไทย 14 ฉบับประกอบด้วย  1.อาเซียน 9 ประเทศ 2. อาเซียน-จีน 3. อาเซียน-ญี่ปุ่น 4.อาเซียน-เกาหลีใต้ 5.อาเซียน-ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ 6.อาเซียน- อินเดีย 7.อาเซียน-ฮ่องกง 8.ไทย-ออสเตรเลีย 9..ไทย-นิวซีแลนด์ 10.ไทย-ญี่ปุ่น 11.ไทย- เปรู 12.ไทย-ชิลี 13.ไทย-อินเดีย และ14.ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)  ซึ่งเป็นเอฟทีเอเป็นฉบับล่าสุดของไทย

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1089953

‘เวียดนาม’ หนึ่งในซัพพลายเออร์ยางพารารายใหญ่ของเกาหลีใต้

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) เปิดเผยว่าในปัจจุบัน เวียดนามเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่อันดับ 4 ของเกาหลีใต้ รองจากไทย อินโดนีเซียและจีน โดยการส่งออกยางพาราของเวียดนามไปยังเกาหลีใต้ มีมูลค่า 18.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 15% และปริมาณ 12,470 ตัน เพิ่มขึ้น 5.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่ราคาส่งออกยางพาราของตลาดเกาหลีใต้ อยู่ที่ 1,517 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ปรับตัวลดลง 19.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทั้งนี้ กรมศุลกากรเกาหลีใต้ ระบุว่าไทย อินโดนีเซีย จีน เวียดนามและญี่ปุ่นเป็นซัพพลายเออร์ยางพารารายใหญ่อันดับ 5 ของตลาดเกาหลีใต้ อย่างไรก็ดี เกาหลีใต้มีการเพิ่มสัดส่วนการนำเข้ายางพาราจากอินโดนีเซียและจีนมากขึ้น แต่ลดการนำเข้าจากไทย เวียดนามและญี่ปุ่น เมื่อเทียบกับปี 2565

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnam-among-largest-rubber-suppliers-to-rok-post125709.html