ระบบลงทะเบียนธุรกิจออนไลน์ของกัมพูชาได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี

ระบบ Single Portal หรือระบบลงทะเบียนธุรกิจออนไลน์ ดำเนินการโดยกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง (MEF) ของกัมพูชา ซึ่งกระทรวงได้รายงานถึงปริมาณการลงทะเบียนธุรกิจ (OBR) ที่มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 3.76 พันล้านดอลลาร์ในปี 2023 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 69 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในปีที่แล้วมีการลงทะเบียนธุรกิจผ่านระบบ Single Portal จำนวนทั้งสิ้น 23,454 แห่ง เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 467 เมื่อเทียบกับจำนวน 4,139 แห่ง ที่ลงทะเบียนในปี 2022 สำหรับมูลค่าการลงทุนตามประเภทธุรกิจ พบว่า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบริการที่พักอาศัยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 21.46 ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด รองลงมาคือ ธุรกิจที่ปรึกษาบริหารจัดการที่ร้อยละ 7.58 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ร้อยละ 7.55 ธุรกิจผลิตยางพาราร้อยละ 7.20 ธุรกิจผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปร้อยละ 6.01 และธุรกิจอื่นๆ ร้อยละ 50.20

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501462968/single-portal-registers-3-76-billion-investments/

พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อพ.ย. หดตัว 0.44% ต่ำสุดรอบ 33 เดือน คาดปี 67 อยู่ในกรอบ -0.3 ถึง 1.7%

กระทรวงพาณิชย์ เผย เงินเฟ้อทั่วไปเดือนพ.ย. หดตัว 0.44% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และ ต่ำสุดในรอบ 33 เดือน ส่งผลเฉลี่ย 11 เดือน ขยายตัว 1.41% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนพ.ย. ขยายตัว 0.58% ส่งผลเฉลี่ย 11 เดือน ขยายตัว 1.33% พร้อมคาดปี 67 เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ -0.3 ถึง 1.7% จากปีนี้อยู่ระหว่าง 1 – 1.7%

ที่มา : https://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?ref=A&id=SnhJaE5xVUFjU2M9

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชามุ่งมั่นส่งเสริมภาคการค้าระหว่างไทย

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชา (MoC) มุ่งมั่นที่จะปรับปรุงความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนในระดับทวิภาคีระหว่างไทย ด้วยการดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ เข้ามายังกัมพูชา หวังเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ โดยคำกล่าวนี้เกิดขึ้นระหว่างงานสัมนา ‘การจับคู่ธุรกิจกัมพูชา-ไทย’ ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้ประกอบการเยาวชนกัมพูชาเพื่อการพัฒนา (CYEAD) เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (28 ต.ค.) ณ กรุงพนมเปญ นำโดย Cham Nimul รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐบาลกัมพูชา เจ้าหน้าที่จากสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกัมพูชา และนักธุรกิจและนักลงทุนชาวไทยเข้าร่วมงาน สำหรับการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคมของปีนี้ มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 2.58 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 19.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา คิดเป็นการส่งออกของกัมพูชามูลค่า 646 ล้านดอลลาร์ไปยังไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ในขณะที่การนำเข้าสินค้าจากไทยลดลงร้อยละ 25.8 เหลือมูลค่า 1.93 พันล้านดอลลาร์ ภายในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังประเทศไทย ได้แก่ สิ่งทอ สินค้าเกษตร อัญมณี วัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป สำหรับสินค้านำเข้าของกัมพูชาจากประเทศไทย ได้แก่ ปลา เนื้อสัตว์ ผัก รถยนต์ ปุ๋ยอินทรีย์ อาหาร และวัสดุก่อสร้าง เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501383488/moc-committed-to-boosting-trade-ties-with-thailand/

‘เมียนมา’ โกยรายได้ส่งออกถั่วพัลส์ ครึ่งแรกปีนี้ ทะลุ 715 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากข้อมูลสถิติของกระทรวงพาณิชย์ รายงานว่าเมียนมาส่งออกถั่วพัลส์มากกว่า 860,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 715 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2566-2567 (เม.ย.-ก.ย.) โดยแบ่งออกเป็นผ่านการค้าทางทะเลและผ่านชายแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทำรายได้ราว 603.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 111.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกถั่วพัลส์ของเมียนมา ได้แก่ ถั่วเขียวผิวดำ ถั่วเขียวและถั่วแระ ในขณะที่ตลาดส่งออกหลักของถั่วพัลส์ ประกอบไปด้วยอินเดีย จีน และสหภาพยุโรป โดยเฉพาะอินเดียที่มีความต้องการถั่วเขียวผิวดำและถั่วแระจากเมียนมาจำนวนมาก

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmars-various-pulses-exports-bag-us715-mln-in-h1/#article-title

‘เมียนมา’ ส่งออก 6 เดือนแรกปีนี้ ทะลุ 7.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าเมียนมาทำรายได้จากการส่งออกในช่วง 6 เดือนของปีงบประมาณ 2566-2567 อยู่ที่ 7.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 22 ก.ย. พบว่าการส่งออกของเมียนมาจากภาครัฐฯ มีมูลค่ากว่า 2.23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ภาคเอกชนทำรายได้จากการส่งออกอยู่ที่ 5.06 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตัวเลขการค้าระหว่างประเทศดังกล่าว แสดงให้เห็นว่ายอดการส่งออกปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของเมียนมา ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร แร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้และสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ไปยังตลาดจีน ไทย บังกลาเทศและอินเดีย

ที่มา : https://borneobulletin.com.bn/myanmar-earns-over-usd7-3b-in-export-in-nearly-six-months/

‘เมียนมา’ เผย 4 เดือนปี 66 ส่งออกไปยังภูมิภาค ทะลุ 1.77 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์ (MoC) รายงานว่าการส่งออกของเมียนมาไปยังกลุ่มประเทศในภูมิภาคในช่วงเดือน เม.ย.-ก.ค. มีมูลค่าเกินกว่า 1.77 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ของปีงบประมาณ 2566-2567 ขณะที่การค้าอาเซียน-เมียนมา ผ่านเส้นทางทะเลและชายแดนทางบก มีมูลค่ากว่า 4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเมียนมาในภูมิภาค โดยมีมูลค่ามากกว่า 2.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาสิงคโปร์ (1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) มาเลเซีย อินโดนีเซียและเวียดนาม อีกทั้ง สินค้าส่งออกสำคัญของเมียนมา ได้แก่ สินค้าการเกษตรและประมง แร่ธาตุ ในขณะเดียวกัน สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และสินค้าอุปโภคบริโภค

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmars-exports-to-regional-countries-cross-us1-77-bln-in-4-months-moc-reports/

สหพันธ์ข้าวกัมพูชา ตั้งเป้าส่งออกข้าวสารแตะ 1 ล้านตัน ภายในปี 2025

สหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) ตั้งเป้าส่งออกข้าวทะลุ 1 ล้านตัน ภายในปี 2025 โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกข้าวสารกว่า 400,000 ตัน ไปยัง 56 ประเทศทั่วโลก สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าที่สำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตข้าวของกัมพูชา ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์กัมพูชาได้แจ้งว่าอินโดนีเซียวางแผนที่จะนำเข้าข้าวจากกัมพูชาจำนวน 250,000 ตันต่อปี ซึ่งเหตุดังกล่าวนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ปริมาณการส่งออกข้าวของกัมพูชาถึงเป้าหมายเร็วขึ้น โดยอินโดนีเซียจะเริ่มนำเข้าข้าวจากกัมพูชาภายในปี 2024 ภายใต้ข้อตกลงที่ได้ลงนามไว้ระหว่าง 2 รัฐบาล นอกจากนี้ ประเทศอื่นๆ อย่างเช่น ฟิลิปปินส์ ยังแสดงความสนใจที่จะนำเข้าข้าวจากกัมพูชาเพิ่มเติมอีกด้วย สำหรับภาครัฐและภาคเอกชนพร้อมที่จะทำการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงการลงทุนในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรให้ทันสมัย และการใช้มาตรการควบคุมคุณภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตข้าวให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501361211/cambodian-rice-federation-reports-record-rice-exports-on-track-to-reach-1-million-tonnes-by-2025/

‘เมียนมา’ ชี้ช่วง 5 เดือนปี 66 ยอดการค้าต่างประเทศ พุ่ง 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เปิดเผยว่าการค้าต่างประเทศในช่วง 5 เดือนของปี 2566 (เม.ย.-ส.ค.) ของปีงบประมาณ 2566-2567 มีมูลค่ากว่า 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกของเมียนมามีอยู่ที่ 6.48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 7.21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี หากพิจารณาตัวเลขการค้าในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา พบว่าตัวเลขการค้าปรับตัวลดลงราว 690.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของเมียนมา ได้แก่ ผลผลิตทางการเกษตร ปศุสัตว์และป่าไม้ ผลิตภัณฑ์จากเหมืองแร่และสินค้าอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกัน สินค้านำเข้าหลักของเมียนมา ได้แก่ สินค้าทุน สินค้าขั้นกลาง วัตถุดิบที่นำเข้าจากบริษัท CMP และสินค้าอุปโภคบริโภค

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmars-foreign-trade-soars-past-us13-bln-in-last-five-months/#article-title

‘เมียนมา’ เผย 5 เดือนปี 66 ส่งออกถั่วพัลส์ 580 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าเมียนมาส่งออกถั่วพัลส์ ปริมาณมากกว่า 720,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 580 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 (เม.ย..-ส.ค.) ของปีงบประมาณ 2566-2567 ทั้งนี้ การส่งออกถั่วพัลส์ทางทะเล มีมูลค่า 488.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 607,129 ตัน ในขณะที่ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน มีมูลค่า 97.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ เมียนมายังส่งออกถั่วเขียวผิวดำ ถั่วเขียวผิวมันและถั่วแระ ไปยังตลาดต่างประเทศ อาทิเช่น อินเดีย จีนและสหภาพยุโรป

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-pulses-exports-earn-over-us580-mln-in-past-five-months/#article-title

7 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังตลาดกลุ่ม RCEP กว่า 4.6 พันล้านดอลลาร์

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังประเทศในกลุ่มความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มูลค่ารวมกว่า 4.59 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามคำแถลงของกระทรวงพาณิชย์ โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของกลุ่มประเทศ RCEP คิดเป็นร้อยละ 30 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั่วโลก (GDP) รวมถึงคิดเป็นร้อยละ 28 ของมูลค่าการค้าโลก และมีเม็ดเงินลงทุนร้อยละ 32.5 ของมูลค่าการลงทุนทั่วโลก ซึ่งข้อตกลงนี้คาดว่าจะมีบทบาทสำคัญในการรวมกลุ่มอาเซียนเข้ากับเศรษฐกิจโลก ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และป้องกันแนวโน้มต่อต้านโลกาภิวัตน์ รวมถึงฝ่าวิกฤตการกีดกันทางการค้าระดับโลก ด้านกัมพูชาคาดว่าจะมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพด้านการแข่งขันในตลาดและพัฒนาฐานการผลิตในอาเซียน ไปจนถึงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้อาเซียนเป็นตัวแปรหลักบนห่วงโซ่อุปทานในระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501346750/cambodias-exports-4-6b-to-rcep-markets-in-first-7-months/