ผู้เชี่ยวชาญ UN ชี้กองทัพเมียนมานำเข้าอาวุธจากจีน-รัสเซีย 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่รัฐประหาร

กองทัพเมียนมานำเข้าอาวุธและยุทโธปกรณ์อื่นๆ อย่างน้อย 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในเดือน ก.พ. 2564 ผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติ (UN) กล่าวตามรายงานฉบับใหม่ที่เรียกร้องให้รัสเซียและจีนทำการช่วยเหลือฝ่ายต่อต้านที่เผชิญกับรัฐบาลทหารของเมียนมา ทั้งนี้ ทอม แอนดรูวส์ ผู้สื่อข่าวพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา เปิดเผยว่า เฮลิคอปเตอร์ Mi-35, เครื่องบินรบไอพ่น MiG-29 และเครื่องบินแบบเบา Yak-130 ที่ผลิตในรัสเซีย และเครื่องบินไอพ่น K-8 ของจีน ถูกนำมาใช้ในการโจมตีทางอากาศที่โรงเรียน สถานพยาบาลและสิ่งก่อสร้างของพลเรือนหลายแห่ง นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญของยูเอ็น ยังเปิดเผยข้อมูลการค้าว่ามีการถ่ายโอนของอาวุธกองทัพและสินค้าอื่นๆ รวมถึงวัตถุดิบที่กองทัพเมียนมาใช้ในการผลิต นับตั้งแต่มีการรัฐประหารพบว่ามีการถ่ายโอนอาวุธจากรัสเซียเป็นมูลค่ากว่า 406 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจากจีน 267 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://www.scmp.com/news/asia/southeast-asia/article/3220940/un-expert-says-myanmar-military-imported-us1-billion-weapons-china-russia-and-others-coup

ปี 64 เศรษฐกิจเมียนมาเจอมรสุมหนัก! คาด หดตัว 8.5%

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวดี เศรษฐกิจเมียนมากลับเผชิญมรสุมทางการเมืองอย่างหนัก ภาพลักษณ์ของเมียนมาในสายตาชาติตะวันตกกำลังมีบทบาทลดน้อยลง จากการที่สหรัฐฯ ประกาศระงับความตกลงการค้าและการลงทุนกับเมียนมาที่มีมาตั้งแต่ปี 2556 ทำให้มียนมาต้องสูญเสียสิทธิพิเศษทางภาษีเป็นการทั่วไป (GSP) ของสหรัฐฯ และมีความเสี่ยงที่สหภาพยุโรปจะตัดสิทธิพิเศษทางการค้า EBA รวมถึงนานาชาติจะเพิ่มแรงกดดันด้านต่าง ๆ อันเป็นอุปสรรค์ต่อการทำธุรกิจในอนาคต

ตั้งแต่กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ได้มีการแสดงอารยะขัดขืนเป็นวงกว้างและทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงักงัน เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกตัวชะลอตัวลงมากกว่าคาด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดเศรษฐกิจเมียนมาปี 2564 อาจจะหดตัวลึกขึ้นมาอยู่ที่ราว -8.5% (กรอบประมาณการ -9.8% ถึง -7.2%) หากการประท้วงไม่ขยายวงกว้างกว่านี้และทางการสามารถควบคุมสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองช่วงครึ่งปีหลังให้ดีขึ้นได้ เศรษฐกิจเมียนมาปี 2564 คาดว่าจะโน้มเอียงสู่กรอบบนประมาณการที่ -7.2% แต่หากความขัดแย้งรุนแรงลากยาวตลอดปี เศรษฐกิจอาจทรุดตัวเข้าใกล้กรอบล่างที่ -9.8%

การส่งออกผ่านชายแดนจากไทยไปเมียนมาเดือนก.พ. 2564 กลับมาหดตัวสูงที่ -21.4% ส่วนหนึ่งเพราะโควิด-19 ลุกลามอีกครั้ง และบางส่วนเพราะความไม่สงบในเมียนมาทำให้สินค้าส่วนใหญ่เริ่มหดตัวชัดเจน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าแม้ความไม่สงบในเมียนมาอาจส่งผลมายังช่องทางการค้าบริเวณพรมแดน แต่ไม่กระทบการขนส่งสินค้าข้ามแดนมากนักเพราะเมียนมาต้องพึ่งสินค้าไทยหลายชนิด ขณะเดียวกันความกังวลต่อความไม่สงบในช่วงแรกทำให้มีการเร่งกักตุนสินค้าจากไทยค่อนข้างมาก แต่ในช่วงที่เหลือของปีด้วยกำลังซื้อและภาวะเศรษฐกิจที่จะอ่อนแรงลงเรื่อยๆ คงฉุดให้การส่งออกชายแดนไทยไปเมียนมาปีนี้หดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ที่ -6.0% มูลค่าการส่งออก 81,890 ล้านบาท (กรอบประมาณการหดตัวที่ -8.0% หากเศรษฐกิจเมียนมาทรุดตัวตลอดปี ถึงหดตัวที่ -2.9% หากครึ่งปีหลังหลังสามารถควบคุมสถานการณ์ให้กลับมาดีขึ้นได้)​

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Myanmar-Eco-23-04-2021.aspx

กัมพูชา-เวียดนาม ตัวเลือกลงทุนแทนเมียนมา

ปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองที่ยืดเยื้อในเมียนมาขณะนี้ ทำให้บริษัทต่างชาติเริ่มคิดที่จะถอนการลงทุนออกจากประเทศนี้ ขณะที่มีบริษัทบางแห่งประกาศยุติความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัทท้องถิ่นที่มีสายสัมพันธ์กับกองทัพให้เห็นบ้างแล้ว และหันไปมองประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากกว่าอย่างกัมพูชาและเวียดนาม ข้อมูลจากสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน)ระบุว่า การลงทุนโดยตรงของต่างชาติ(เอฟดีไอ)ที่ไหลเข้าไปในกลุ่มประเทศ CLMV ขยายตัว 6.3% ในปี 2562 โดยเวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางอันดับ1 ในแง่ของมูลค่าการลงทุนที่ 16,100 ล้านดอลลาร์ และเมียนมา เคยเป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวของเอฟดีไอสูงสุดที่ 55.9% แต่เมื่อกองทัพเข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 1ก.พ.ที่ผ่านมา กระแสเอฟดีไอในเมียนมาก็ไม่เพิ่มขึ้นเลย

ทั้งนี้ ฟิลด์ พิคเกอริง หัวหน้าหน่วยงานด้านการลงทุนจากวัลเพส อินเวสต์เมนท์ แมเนจเมน กล่าวว่าความไม่สงบเรียบร้อยที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ทำให้บรรดาผู้ประกอบการเมียนมาอาจเลือกย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น และเข้าไปสร้างธุรกิจให้เติบโตในดินแดนอื่นภายในภูมิภาคอาเซียน เท่ากับว่าเป็นความสูญเสียของเมียนมาแต่เป็นการได้ประโยชน์ของประเทศอื่นๆในภูมิภาคแทน

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/925213