‘ธุรกิจพลาสติกเวียดนาม’ ปั้นรายได้พุ่งจากความต้องการตลาดโลก

ผู้ให้บริการข้อมูลข่าวสารชั้นนำในตลาดเคมีภัณฑ์ระดับโลก ‘Independent Commodity Intelligence Services’ เปิดเผยผลการรายงาน คาดว่าความต้องการเม็ดพลาสติก (Plastic Resin) ของทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 4.4% ต่อปี ในปี 2566-2568 โดยประเทศจีน กลุ่มประเทศในเอเชียแปซิฟิกและยุโรป นับเป็นตลาดหลักของเม็ดพลาสติกระดับโลก

ทั้งนี้ ผู้ผลิตพลาสติกรายใหญ่ของเวียดนาม ‘An Thanh Bicsol’ เป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์เม็ดพลาสติกชั้นนำของประเทศและส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกไปยัง 70 ประเทศทั่วโลก รวมถึงมีกำลังการผลิตเฉลี่ย 35,000 ตันต่อเดือน ในขณะที่รายได้ส่วนใหญ่ของธุรกิจมาจากโพลีเอทิลีนเรซินและโพรพิลีน ซึ่งตลาดส่งออกสำคัญมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คิดเป็นสัดส่วน 37% ของการส่งออกทั้งหมด รองลงมาเอเชียใต้และตะวันออกกลาง 32% สหภาพยุโรป อเมริกา แอฟริกาและจีน ตามลำดับ

ที่มา : https://vir.com.vn/vietnamese-plastic-firms-to-cash-in-on-global-demand-110578.html

‘เวียดนาม’ เล็งนำเข้าไฟฟ้าจากสปป.ลาว 5,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2573

สำนักข่าวเวียดนาม (VNA) รายงานว่าเวียดนามตั้งเป้าที่จะนำเข้าไฟฟ้าจากสปป.ลาว ประมาณ 5,000 เมกะวัตต์ (MW) ภายในปี 2573 ตามแผนงานการดำเนินการตามแผนพัฒนาไฟฟ้าแห่งชาติปี 2564-2573 โดยสามารถนำเข้ากำลังการผลิตไฟฟ้าสูงถึง 8,000 เมกะวัตต์ ในกรณีที่สภาพเอื้ออำนวยและราคาสมเหตุสมผล ทั้งนี้ กำลังการผลิตรวมของพลังงานลมนอกชายฝั่ง พลังงานลมบนบก และพลังงานชีวมวลในเวียดนามในปี 2573 จะอยู่ที่ 6,000 MW, 21,880 MW และ 1,088 MW ตามลำดับ ในขณะที่พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากขยะ อยู่ที่ 1,182 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งอยู่บนหลังคา 2,600 เมกะวัตต์

ที่มา : https://english.news.cn/20240403/d1f7f69dabed4dc1928a2e5c403f88bf/c.html

กำลังการผลิตและยอดขายรถจักรยานยนต์เวียดนาม โตแซงไทย

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ตั้งเป้ายอดการผลิตรถจักรยานยนต์ในปีนี้ เกินเป้าที่คาดไว้ที่ 2.1 ล้านคัน เนื่องมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ทำให้ความต้องการรถจักรยานยนต์เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ปัญหาการขาดแคลนชิป หรือเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกเริ่มผ่อนคลายลง แสดงให้เห็นว่าผู้ผลิตชิปสามารถจัดหาชิ้นส่วนให้กับผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ได้จำนวนมาก ทั้งนี้ สมาคมผู้ผลิตรถจักรยานยนต์เวียดนาม (VAMM) รายงานว่าการผลิตรถจักรยานยนต์ในประเทศจะเกินกว่าที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2565 ที่ 3.32 ล้านคัน ขยายตัว 9.9% ต่อปี ในขณะที่การบริโภครถจักรยานยนต์ของเวียดนามในปี 2565 มากกว่า 3 ล้านคัน

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-surpasses-thailand-in-motorcycle-production-capacity-and-domestic-sales-post1044303.vov

‘นิ่งห์ถ่วน’ ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางพลังงานหมุนเวียนของประเทศ

จังหวัดนิ่งห์ถ่วน (Ninh Thuan) ตั้งเป้าผลักดันประเทศสู่ศูนย์กลางผลิตพลังงานหมุนเวียน โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน 26,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 และเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวนั้น ทางจังหวัดมุ่งพัฒนาโซลาร์ฟาร์มและฟาร์มกังหันลม รวมถึงส่งเสริมให้ประเทศมีส่วนร่วมด้านความมั่งคงทางพลังงาน ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2564-2573 ทางจังหวัดจะมุ่งพัฒนาพลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม ไฟฟ้าพลังน้ำ และก๊าซธรรมชาติเหลว ซึ่งกำลังการผลิตจากพลังงานหมุนเวียนดังกล่าว คาดว่าจะมีสัดส่วน 16% ของ GDP จังหวัด ในปี 2573

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/ninh-thuan-looks-to-become-renewable-energy-hub/

“เวียดนาม” แก้ไขปัญหาไฟดับ! ในภาคเหนือของประเทศ

ตั้งแต่วันที่ 10 มิ.ย. โรงไฟฟ้าพลังความร้อนท้ายบิ่ญ 2 (Thai Binh) ได้กลับมาดำเนินกิจการตามปกติแล้ว โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ย 8 ล้านกิโลวัตต์ต่อวัน และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงิเซิน (Nghi Son) คาดว่าจะเดินเครื่องด้วยกำลังการผลิตไฟฟ้า 13 ล้านกิโลวัตต์ต่อวัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย. ทั้งนี้ ตามข้อมูลของการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) เปิดเผยว่าระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำไฟฟ้าพลังน้ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ยังคงอยู่ในระดับวิกฤต เครื่องกำเนิดไฟฟ้าบางเครื่องกลับมาทำงานอีกครั้ง แม้ว่ากำลังการผลิตจะลดลงก็ตาม เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าในภาคเหนือของเวียดนาม ทางศูนย์สั่งการพลังงานแห่งชาติได้เพิ่มกำลังส่งระยะสั้น 2,600 MVA บนสายส่ง Nho Quan-Nghi Son 2-Ha Tinh ขนาด 500 กิโลวัตต์ เพื่ออำนวยความสะดวกจากภาคใต้สู่ภาคเหนือของประเทศในช่วงเวลาเร่งด่วน

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/electricity-shortage-in-northern-vietnam-eases/

ส่องแผน PDP 8 ของเวียดนาม อาจเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าไทย

โดย นพมาศ ฮวบเจริญ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

เมื่อกลางเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ทางการเวียดนามเพิ่งประกาศแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 8 (Power Development Plan VIII: PDP 8) แม้ว่าจะมีความล่าช้าไปกว่า 2 ปี แต่ก็ถือว่าเป็นแนวทางหลักของการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าภายในเวียดนาม รวมถึงแนวทางของส่วนผสมพลังงานเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า (Energy mixed)

5 ข้อสรุปสำคัญของ PDP 8 ได้แก่

  • กำลังการผลิตในปี 2030 เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปี 2020 ที่ 69 GW เป็น 150 GW ในปี 2030
  • ใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 1.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าราว 1.20 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และพัฒนาสายส่งอีก 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • แหล่งพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้าและมีการเติบโตสูง คือ ก๊าซธรรมชาติและพลังงานลม โดยปี 2030 มีสัดส่วนรวมกันอยู่ที่ 43% ของกำลังการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 14% ในปี 2020 ทั้งนี้ผลจากการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติที่มากขึ้น มีผลให้เวียดนามต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติมากขึ้น จากเดิมที่ใช้แต่ก๊าซธรรมชาติในประเทศ ในส่วนของการพึ่งพาพลังงานลม ถือว่าสอดคล้องไปกับศักยภาพของภูมิศาสตร์ของเวียดนามที่มีพื้นที่ชายฝั่งที่ยาวถึง 3,000 กิโลเมตร และมีกำลังลมเฉลี่ยสูงกว่า 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
  • การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีสัดส่วนลดลงจาก 24% ในปี 2020 เป็น 13% ในปี 2030 ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนระบบสายส่งที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับการผลิตจากพลังงานลม อย่างไรก็ตาม ทางการเวียดนามกลับมีแผนสนับสนุนให้ติดตั้ง Solar rooftop หรือ Solar farm เพื่อการใช้ด้วยตัวเอง (Self-consumption) ซึ่งมีเป้าหมายติดตั้งถึง 10 GW ภายในปี 2030 ด้วยการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 15.5 GWh
  • การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน แม้สัดส่วนต่อกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดลดลง (เหลือ 20% ในปี 2030 จาก 31% ในปี 2020) แต่กำลังการผลิตปี 2030 ยังคงเพิ่มสูงขึ้น 41% เทียบกับ 10 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม ภายในปี 2050 เวียดนามมีเป้าหมายยกเลิกการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า

 

เวียดนามยังคงมุ่งเป้าไปที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

แม้ก๊าซธรรมชาติจะเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าสำคัญในช่วงทศวรรษที่จะเกิดขึ้น แต่เวียดนามยังคงมุ่งเป้าไปที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน (Renewable Energy : RE) โดยตั้งเป้าว่าการผลิตไฟฟ้าจาก RE จะมีสูงถึง 30.9-39.2% ภายในปี 2030 และ 67.5-71.5% ในปี 2050 โดยการพึ่งพิงพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ เป็นเพียงแหล่งพลังงานที่ใช้ทดแทนถ่านหินในช่วงเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงาน (Energy transition) เพราะในท้ายที่สุดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติก็จะลดบทบาทลงเหลือเพียง 7-8% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2050 นอกจากนี้ ในการผลิตไฟฟ้าจาก RE เวียดนามถือว่าเป็นตลาดสำคัญของ ASEAN ด้วยสัดส่วนมากถึงราว 50% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าจาก RE ที่มีใน ASEAN ทั้งหมด

 

นัยของแผน PDP 8 ต่อไทย

เม็ดเงินลงทุนกว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ทางการเวียดนามมองว่า ต้องอาศัยเงินลงทุนจากต่างชาติด้วย ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสของธุรกิจโรงไฟฟ้าของไทยที่จะขยายการลงทุนในเวียดนาม โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีการลงทุนในตลาดเวียดนามอยู่แล้ว เพื่อเข้าไปรับประโยชน์จากแผนการขยายกำลังการผลิตในช่วง 10 ปีที่จะเกิดขึ้นนี้ ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจโรงไฟฟ้าของไทยส่วนใหญ่เข้าไปลงทุนในกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นสำคัญ แต่จากแผนใหม่ที่เกิดขึ้น ที่ลดความสำคัญของการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ลง ทำให้กลุ่มทุนไทยอาจจะต้องหันมาพิจารณาโรงไฟฟ้าจากพลังงานลมมากขึ้น เนื่องจากทางการเวียดนามให้การสนับสนุนและกำลังการผลิตมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด (จากกำลังการผลิตที่ 1 GW ในปี 2020 เป็น 28 GW ในปี 2030)

ในส่วนของโรงไฟฟ้าจาก Fossil fuel อาจจะเหมาะสมกับกลุ่มทุนที่มีความได้เปรียบในเชิง Scale ที่ใหญ่เพียงพอ เพื่อสร้างความได้เปรียบได้การจัดหาแหล่งวัตถุดิบในราคาต่ำ ทั้งนี้กลุ่มก๊าซธรรมชาติ ที่แม้ความต้องการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้ายังสูงในช่วง 10 ปี แต่การพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ทำให้อาจเป็นข้อจำกัดในการจัดหา LNG ในราคาที่เหมาะสม ขณะที่กลุ่มถ่านหิน หากพิจารณาที่ปริมาณกำลังการผลิตที่เวียดนามต้องการยังคงมีมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เติบโตตามเศรษฐกิจ แต่แนวโน้มตลาดที่โตต่ำเมื่อเทียบกับพลังงานกลุ่มอื่น ๆ อาจทำให้ความน่าสนใจมีน้อยลง

แม้ว่า PDP 8 ที่เพิ่งออกมา จะสร้างโอกาสในการลงทุนของโรงไฟฟ้าไทย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากธุรกิจโรงไฟฟ้าในเวียดนาม ยังคงขึ้นอยู่กับนโยบายของทางการเป็นสำคัญ ทำให้ต้องติดตามรายละเอียดของการเปิดการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนที่จะเกิดขึ้นจากแผน PDP 8 รวมถึงประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และพยายามปิดความเสี่ยง เพื่อจะได้รับประโยชน์จากโอกาสในตลาดโรงไฟฟ้าของเวียดนามที่เติบโต เช่น กรณีที่เคยเกิดขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาด COVID-19 ส่งผลให้การก่อสร้างล่าช้าไม่เสร็จทันตามสัญญา ทำให้เมื่อก่อสร้างเสร็จ ยังไม่สามารถดำเนินการขายไฟฟ้าให้กับทางการเวียดนามได้ เนื่องจากติดปัญหาการกำหนด FiT ใหม่ ดังนั้น สำหรับในโครงการใหม่ที่จะเข้าไปลงทุน อาจต้องมีแผนสำรองในความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าวลง เป็นต้น

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/PDP8-Vietnam-120623

กัมพูชาอนุมัติโครงการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน 5 โครงการ

รัฐบาลกัมพูชาอนุมัติโครงการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน 5 โครงการ ซึ่งคาดว่าจะมีกำลังการผลิตรวม 520 เมกะวัตต์ หวังช่วยเพิ่มกำลังการผลิตให้กับกริดไฟฟ้าของประเทศ และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากข้อมูลของ Phay Siphan รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า 1 ใน 5 โครงการ เป็นการจัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Stung Russey Chrum Kandal ขนาดกำลังการผลิต 70 เมกะวัตต์ และโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ Stung Veay Thmar Kambot ขนาดกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ ในจังหวัดเกาะกง ขณะที่อีก 4 โครงการ เป็นโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยโครงการขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ที่ 150 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในจังหวัดโพธิสัตว์ โครงการถัดมา 2 โครงการ มีขนาดกำลังการผลิตที่ 60 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในจังหวัดกำปงชนังและในจังหวัดสวายเรียง และโครงการสุดท้ายมีขนาดกำลังการผลิตอยู่ที่ 80 เมกะวัตต์ ในจังหวัดไพรแวง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501265922/five-renewable-energy-investment-projects-with-installed-power-generating-capacity-of-520-mw-approved/

“Foxconn” ขยายการดำเนินกิจการในเวียดนาม

ตามรายงานของสื่อดัง “South China Morning Post (SCMP)” เปิดเผยว่าบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ผู้รับเหมาการผลิตรายใหญ่ที่สุดของ Apple ประกาศลงทุนในเวียดนามกว่า 62.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยลงนามในสัญญาเช่าที่ดินในจังหวัดบั๊กซาง (Bac Giang) ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 45 เฮกตาร์ เพื่อขยายการดำเนินธุรกิจและขยายกำลังการผลิตในเวียดนาม ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในสวนอุตสาหกรรม Quang Chau ที่จังหวัดบั๊กซาง ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ Apple จำนวนมากผลิตในเวียดนาม ได้แก่ AirPods, Apple Watch และ iPad บางรุ่น นอกจากนี้ Apple ยังวางแผนที่จะย้ายสายการผลิต MacBook Pro บางรุ่นไปยังเวียดนามในช่วงกลางปี ​​2566

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/foxconn-expands-operation-in-vietnam-post1002084.vov

“เวียดนาม” เผยภาคเครื่องนุ่งห่ม จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุน FDI เหตุบรรลุเป้าส่งออก

ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในชุมชน มีความต้องการเม็ดเงินทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ไหลเข้าสู่กระบวนการผลิตผ้า เส้นด้ายและวัตถุดิบอื่นๆ เนื่องจากธุรกิจต้องการได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านการส่งออกจากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) โดยจากข้อมูลของกระทรวงวางแผนและการลงทุน เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีจำนวนโครงการ FDI ทั้งสิ้น 2,787 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 31.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ณ 18 พ.ค.) ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจเครื่องนุ่งห่ม กล่าวว่าโครงการ FDI มีส่วนร่วมในการเพิ่มกำลังการผลิตและขนาดการส่งออกของอุตสาหกรรมนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออก จะพบว่าเพิ่มขึ้นจาก 36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 มาอยู่ที่ 40.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 คิดเป็นสัดส่วนราว 60% ของมูลค่าการส่งออกรวม

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/garment-sector-requires-greater-fdi-for-export-target-fulfilment-post965641.vov