‘คลัง’ จี้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย หลังกำลังซื้อร่วง ฉุดจัดเก็บรายได้รัฐ

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาล สุทธิในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.2566-ม.ค.2567) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิจำนวน 824,115 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 8,836 ล้านบาท และเป็นการจัดเก็บรายได้ลดลง 1.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ผลการจัดเก็บบรายได้ของภาครัฐที่ต่ำกว่าเป้าหมาย เป็นสัญญาณที่สะท้อนว่าเศรษฐกิจกำลังอยู่ในสภาวะชะลอตัว โดยส่วนหนึ่งมาจากความสามารถในการซื้อที่ลดลง เนื่องจากการดำเนินนโยบายคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน โดยเฉพาะการตัดสินใจซื้อรถยนต์ และที่อยู่อาศัย ที่แม้จะยังมีดีมานด์อยู่แต่ประชาชนขาดความสามารถในการผ่อนชำระ เมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงจึงทำให้ยอดผ่อนชำระสูงขึ้นด้วย ยอดโอนรถยนต์หรืออสังหาริมทรัพย์ที่ลดลงจึงทำให้การจัดเก็บภาษีซึ่งเป็นรายได้ของรัฐบาลลงตามไปด้วย ทั้งนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยในวันนี้อาจจะไม่ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจในทันที แต่อาจต้องใช้เวลามากกว่า 6 เดือน จึงไม่กังวลประเด็นที่ว่าจะกระทบกับอัตราเงินเฟ้อในประเทศ รวมทั้งประเด็นที่ว่าจะทำให้เงินไหลออกนอกประเทศ เนื่องจากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของไทยก็มีความต่างจากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐมากอยู่แล้วหากธปท. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาระดับหนึ่งก็จะไม่กระทบกับอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ตามนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าการจัดเก็บรายได้ที่ลดลงส่วนหนึ่งเป็นการจัดเก็บรายได้ที่ลดลงโดยกรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากมีการปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน ขณะที่หน่วยงานที่จัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ รัฐวิสาหกิจ เนื่องจากรัฐวิสาหกิจบางแห่งมีการนำส่งรายได้เหลื่อมมาจากปีก่อนหน้า และกรมสรรพากร โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้ หากไม่รวมรายได้พิเศษรวม 36,666 ล้านบาท จากฐานการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้รัฐบาลสุทธิจะสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.7%

ที่มาภาพ : ประชาชาติธุรกิจ

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1118713

‘แบงก์ชาติเมียนมา’ เล็งปรับดอกเบี้ย หวังพยุงเศรษฐกิจ

ดร.ติน ลิน ออง รองผู้ว่าการธนาคารกลางเมียนมา (CBM) กล่าวที่ในประชุมสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ครั้งที่ 22 ว่าธนาคารกลางจะปรับอัตราดอกเบี้ย เพื่อจัดการภาวะเศรษฐกิจมหภาค ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา เตรียมการรับมืออัตราดอกเบี้ย เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2565 โดยดัชนีราคาผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นผลมาจากค่าเงินจั๊ตที่อ่อนค่าลงในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ รวมไปถึงการนำเข้าที่สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดการขาดดุลการค้าขยายไปวงกว้างขึ้น ด้วยเหตุนี้ แนวโน้มของการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลในเชิงลบต่อเศรษฐกิจของประเทศ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/cbm-to-adjust-interest-rate-on-macroeconomics/#article-title

NPLs ภายในกัมพูชายังคงสามารถจัดการได้ ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

ธนาคารและสถาบันการเงินรายย่อย (MFIs) ในประเทศกัมพูชา ยังคงรับมือกับสถานการณ์หนี้เสีย (NPLs) ภายในประเทศได้ ตามรายงานของ NBC ภายใต้สถานการณ์อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ในอุตสาหกรรมธนาคารและการเงินรายย่อยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.1 และร้อยละ 2.5 ในปี 2022 จากร้อยละ 2 และ 2.4 ตามลำดับในปีที่แล้ว ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของธนาคารทั้งในแบบสกุลเงินเรียลและดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 12.2 และร้อยละ 10 ต่อปี ในปี 2022 จากร้อยละ 11.4 และร้อยละ 9.7 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากทั้งในสกุลเงินเรียลและดอลลาร์ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันเป็นร้อยละ 6.8 และ 5.4 จากร้อยละ 6.2 และ 4.7 ตามลำดับ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501298784/cambodias-npls-manageable-amid-rising-interest-rates/

“ผู้ออกกฎหมายเวียดนาม” เรียกร้องให้ลดดอกเบี้ย หนุนศก.เติบโต

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่าผู้ออกกฎหมาย หรือสมาชิกสภานิติบัญญัติของเวียดนาม มีการเรียกร้องให้ธนาคารกลางพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อพยุงเศรษฐกิจและช่วยให้บรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในช่วงปลายปี 2565 ชะลอตัวจาก 5.92% ลงมาอยู่ที่ 3.32% ในไตรมาสแรกของปีนี้ ส่งผลให้ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นจำนวน 2 ครั้งในปีนี้ โดยเวียดนามตั้งเป้าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่ 6.5% ในปี 2566 อย่างไรก็ดี เวียดนามยังคงเผชิญกับความท้าทายหรืออุปสรรคอีกหลายประการที่จะกดดันเศรษฐกิจและเป้าหมายของการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้

ที่มา : https://www.reuters.com/markets/asia/vietnam-lawmakers-call-further-rate-cut-prop-up-growth-2023-05-09/

NBC กำหนดนโยบายทางการเงิน หวังลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์ในระบบ

ภาคธนาคารถือเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกัมพูชา จากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 โดยธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ได้ดำเนินนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายและรอบคอบเพื่อตอบสนองความต้องการของระบบเศรษฐกิจ ซึ่ง NBC ยังได้พยายามเป็นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่าน เพื่อที่จะลดระดับความสำคัญของสกุลเงินดอลลาร์ในระบบเศรษฐกิจ โดยการส่งเสริมการใช้สกุลเงินเรียล (KHR) ที่เป็นสกุลเงินท้องถิ่น หลังจากการทบทวนเสถียรภาพทางการเงินปี 2021 ของ NBC ซึ่งปัจจุบันระบบเศรษฐกิจของกัมพูชามีการใช้เงินดอลลาร์มากกว่าร้อยละ 80 จนส่งผลทำให้เกิดข้อจำกัดต่อบทบาทของ NBC ในการควบคุมปริมาณเงินและอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศ ขณะที่ปัจจุบัน NBC ได้กำหนดกฎระเบียบที่มุ่งส่งเสริมทางด้านสินเชื่อโดยอ้างอิงสกุลเงินเรียล เพื่อผลักดันการใช้สกุลเงินท้องถิ่น ด้วยการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ภายในประเทศปล่อยสินเชื่อด้วยสกุลเงินเรียลอย่างน้อยร้อยละ 10 ของการปล่อยสินเชื่อทั้งหมด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501263299/riel-based-deposits-and-lending-help-nbcs-de-dollarisation-efforts-2/

ทุนสำรองเงินฯ ของเวียดนาม มูลค่าเติบโตสูงขึ้นในปี 2566

ตามรายงานของบริษัทหลักทรัพย์ VNDirect Securities Corporation ระบุว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้และปรับเพิ่มทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของเวียดนาม ซึ่งจะช่วยลดค่าเงินดองของเวียดนาม ทั้งนี้ บริษัท VNDirect ยังคาดว่าบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลการค้า 0.4% ของ GDP ในปีนี้ จากที่คาดการณ์ว่าจะขาดดุล 1.3% ของ GDP ในปีที่แล้ว ด้วยเหตุนี้ ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของเวียดนามจะฟื้นตัวสู่ระดับการนำเข้าได้มากกว่า 3 เดือน และแตะระดับ 102 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในสิ้นปีนี้ จากระดับปัจจุบันที่ 89 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1451472/viet-nam-s-foreign-exchange-reserves-to-grow-this-year.html

“แบงก์ชาติเวียดนาม” คุมเข้มสภาพคล่อง

ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ทำการดึงปริมาณเงินออกจากในระบบ 57.6 ล้านล้านดองผ่านการดำเนินการในตลาดเปิด (OMO) และช่องทางในการขายเงินสกุลต่างประเทศ เพื่อรักษาสภาพคล่องในระบบของธนาคารให้อยู่ในระดับเหมาะสม หลังจากทำการลดปริมาณเงินแล้ว อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมระหว่างธนาคารในช่วงข้ามคืน (Overnight) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวเพิ่มขึ้น 40 จุด อยู่ที่ 4.9% และในส่วนของอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงแบบ 1 สัปดาห์และ 1 เดือน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.2% และ 5.6% ตามลำดับ ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่าธนาคารกลางจะรักษาสภาพคล่องของระบบธนาคารเวียดนามให้ไม่มากจนเกินไป เพื่อคงอัตราดอกเบี้ยให้กู้ยืมระหว่างธนาคาร อยู่ที่ระดับ 5.0-5.5% ซึ่งเป็นระดับที่สมเหตุสมผลกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และจะลดแรงกดดันต่ออัตราแลกเปลี่ยน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1339007/central-bank-acts-to-tighten-dong-liquidity.html

ฉุดต้นทุนพุ่งธุรกิจทรุด! กกร.ห่วง “ค่าไฟ-ค่าแรง-ดอกเบี้ย” ขึ้น

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.กังวลใจเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจ จากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจาก 4 บาทต่อหน่วย เป็น 4.72 บาทต่อหน่วย ในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 เพราะจะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน และต้นทุนการประกอบการ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม จะมีต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 20-30% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด และภาคบริการ เช่น ธุรกิจโรงแรมจะมีต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเกือบ 30% ของต้นทุนทั้งหมด นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีต้นทุนด้านแรงงานจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ 8-22 บาทต่อวัน ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค.นี้ รวมถึงการขาดแคลนแรงงานที่เป็นปัญหาสำคัญของภาคธุรกิจ และการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมเก็บเงิน สถาบันการเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งแต่เดือน ม.ค.66 ที่จะส่งผ่านไปยังดอกเบี้ยเงินกู้ให้สูงขึ้น ภายใต้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้ กกร.ต้องติดตามภาวะของเศรษฐกิจโลกที่เผชิญความเสี่ยงจะชะลอตัวกว่าที่คาดอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังมองแนวโน้มดอกเบี้ยของไทย คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% ต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้ที่ระดับ 1.25% และมีโอกาสขยับขึ้นไปสู่ระดับ 1.5% ในช่วงเดือน มี.ค.66

ที่มา : https://www.thairath.co.th/business/economics/2494521

“เฟด” ขึ้นดอกเบี้ย แบงก์ชาติเวียดนามส่งสัญญาอัตราแลกเปลี่ยน

เมื่อตั้งแต่ต้นปี 2565 ตลาดการเงินระหว่างประเทศเผชิญกับความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่งผลกระทบเชิงลบต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก ตลอดจนราคาเชื้อเพลิง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก ในขณะที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เป็นผลมาจากธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 28 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ คุณ Pham Chi Quang รองผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารกลางเวียดนาม กล่าวว่าธนาคารกลางจะปฏิบัติตามนโยบายที่ยืดหยุ่น เพื่อให้สอดคล้องกับตลาดโลกและลดผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนและดูแลเสียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน อีกทั้ง เมื่อต้นปี 2565 ธนาคารกลางได้ขายสกุลเงินต่างประเทศ เพื่อแทรกแซงตลาดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเพิ่มอุปทาน ในขณะเดียวกันก็รักษาสภาพคล่องของเงินดองเวียดนาม ซึ่งจะช่วยให้สกุลเงินดองมีเสถียรภาพ

 

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/us-fed-raises-interest-rates-sbv-gives-message-about-exchange-rate-2032548.html

‘ธนาคารกลางเวียดนาม’ ยืนยันไม่ลดดอกเบี้ยในปีนี้

ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) คงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เปลี่ยนแปลงจนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าระบบของธนาคารมีสภาพคล่องและรักษาผลประโยชน์ของผู้ฝากเงิน โดยธนาคารกลางไม่ได้เตรียมที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้และเฝ้าติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะใช้มาตรการที่เหมาะสมในการจัดการ ทั้งนี้ นายด่าวมีงตือ (Dao Minh Tu) รองผู้ว่าการธนาคารชาติกล่าวถึงประเด็นสินเชื่อ พบว่า ณ วันที่ 7 ต.ค. สินเชื่อของธนาคารเพิ่มขึ้น 7.42% ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/sbv-says-no-to-more-rate-cuts-this-year/