‘เวียดนาม-มาเลเซีย’ จับมือส่งเสริมเทคโนโลยีใหม่ ดันโอกาสครั้งใหญ่

คุณ Lê Phú Cường ที่ปรึกษาการค้าประจำประเทศมาเลเซีย กล่าวในที่ประชุมฟอรั่มเศรษฐกิจ ปี 2567 ณ กรุงกัลป์ลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ว่าเวียดนามมีข้อได้เปรียบอย่างมากทั้งด้านทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสูง ในขณะที่มาเลเซียมีความแข็งแกร่งทางด้านการผลิตไฟฟ้าและการผลิตแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ แต่มีปัญหาการขาดแคลนบุคลากร เนื่องจากโครงสร้างประชากรที่มีจำนวนจำกัด หากเวียดนามร่วมมือกับมาเลเซียจะสามารถช่วยลดต้นทุนการวิจัยและได้รับประสบการณ์ที่มีค่าจากการร่วมมือในครั้งนี้ ซึ่งในปัจจุบันมีความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานการผลิตไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1655360/big-opportunities-remain-for-vietnam-and-malaysia-to-partner-in-new-technology-areas-official.html

รมว.แรงงานกัมพูชา วอน JICA สนับสนุนการฝึกอาชีพ หวังดัน GDP โต 7%

Heng Sour รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและการฝึกอบรมวิชาชีพ ได้ร้องขอให้หน่วยงานความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ในกัมพูชา ดำเนินการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในการฝึกอบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาต่อไป เพื่อเพิ่มแรงผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาเป็นถึงร้อยละ 7 โดยคำร้องขอดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการประชุมกับ Sanui Kazumasa ประธาน JICA ณ กระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าการเสริมสร้างการฝึกอบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาเป็นกุญแจสำคัญในการดึงดูดการลงทุนมายังกัมพูชามากขึ้น โดยเฉพาะจากนักลงทุนชาวญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญสำหรับกัมพูชาในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ถึงประมาณน้อยละ 7 ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือต่อไป เพื่อเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในขณะที่รัฐบาลกัมพูชาและรัฐบาลญี่ปุ่นยังได้ยกระดับความสัมพันธ์เป็น “หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม” ภายในปี 2023

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501361304/labour-minister-asks-jica-to-continue-vocational-technical-training-to-boost-cambodias-economic-growth-to-7/

ธนาคารโลก แนะกัมพูชากระจายความเสี่ยงด้านผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว

ธนาคารโลกคาดการณ์เศรษฐกิจกัมพูชากำลังฟื้นตัว แนะกัมพูชาควรกระจายความเสี่ยงไปยังอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อเสริมความมั่นคงทางระบบเศรษฐกิจ โดยคาดการณ์ว่าการเติบโตจะเร่งตัวขึ้นเป็นร้อยละ 5.5 ในปี 2023 นำโดยการส่งออกและภาคการผลิตภายในประเทศ แต่ถึงอย่างไรการชะลอตัวที่เพิ่มขึ้นของอุปสงค์ภายนอก อาจทำให้ภาคการผลิตที่เน้นการส่งออกของกัมพูชาชะลอตัวลง ในขณะที่ภาคการเงินทั่วโลกตึงตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในระยะกลางธนาคารโลกคาดว่าการเติบโตของกัมพูชาจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6 ซึ่งได้แรงหนุนจากการส่งออกสินค้าและบริการที่แข็งแกร่ง และการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน สำหรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น ท่าเรือและถนน เพื่อเอื้อต่อการเชื่อมต่อการขนส่งในภูมิภาค รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความสามารถมากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการเพิ่มเสถียรภาพทางการเงินภายในประเทศ และการส่งเสริมการส่งออกที่หลากหลายในการเสริมความยืดหยุ่นและความสามารถในการแข่งขันของระบบเศรษฐกิจกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501293706/world-bank-says-cambodia-needs-to-diversify-its-tourism-products-and-improve-its-trade-competitiveness/

กำลังคนคุณภาพสูง หนุนให้เวียดนามดึงดูด FDI

สภาหอการค้าสหภาพยุโรป (EuroCham) รายงานว่าเพื่อการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เพิ่มขึ้น เวียดนามจำเป็นต้องส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นบุคลากรที่มีศักยภาพสูง และชี้ว่าผู้ประกอบการในยุโรปเล็งเห็นศักยภาพที่จะขยายการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน อุตสาหกรรมไฮเทค การสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) ในปีหน้า อีกทั้ง ตามรายงานของบริษัทซาวิลาส์ ประเทศเวียดนาม ได้เน้นย้ำถึงความน่าลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูงในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเวียดนาม ซึ่งหากเทียบกับประเทศจีน อินเดียและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยแล้ว เวียดนามยังเป็นตลาดที่น่าลงทุนและมีความเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นแรงดึงดูดให้เม็ดเงินทุนไหลเข้าไปยังบริษัทเทคฯ หลายแห่ง และกิจการสหรัฐฯ ที่ทำธุรกิจในเวียดนาม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/highquality-human-resources-to-help-vietnam-draw-more-fdi/246578.vnp

“สปป.ลาว-ไทย” ร่วมประชุมเส้นทางรถไฟสายหนองคาย-เวียงจันทน์

นายเวียงสะหวัด สีพันดอน รมว.โยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว หารือกับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และคณะผู้แทนที่ได้นำเรื่องมาแจ้งความคืบหน้าของโครงการ ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยเกี่ยวกับเส้นทางรถไฟขนส่งผู้โดยสารและสินค้า รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ของการใช้สะพานรถไฟเก่าและการติดตั้งแผงควบคุมเดียวกันที่สถานีท่านาแล้ง กรุงเวียงจันทร์ หนองคายและสถานีรถไฟนาทาในประเทศไทย โดยที่ประชุมยังพิจารณาการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ทางคณะผู้แทนลาวและไทยหารือเกี่ยวกับการออกแบบสะพานและทางรถไฟแห่งใหม่ ตลอดจนขอบเขตของโครงการดังกล่าว นอกจากนี้ ยังได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อีกด้วย

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten197_Laothai.php

“ธนาคารโลก” ชี้เวียดนามต้องการแรงงานมีทักษะ ขับเคลื่อนศก.รายได้ปานกลาง-สูง ปี 2578

ตามรายงานของธนาคารโลก (World Bank) เปิดเผยว่าเวียดนามต้องการแรงงานที่มีทักษะในศตวรรษที่ 21 ในขณะที่ปัจจุบันเศรษฐกิจขับเคลื่อนจากแรงงานที่มีทักษะต่ำและค่าแรงงานที่ต่ำทั้งด้านการผลิตและบริการ ไปสู่นวัตกรรมมากขึ้น ซึ่งสร้างขึ้นมาจากอุตสาหกรรมและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม แรงงานของเวียดนามจะต้องได้รับทักษะในระดับที่สูงขึ้นและมีทักษะที่หลากหลาย โดยยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของรัฐบาลเวียดนาม ปี 2564-2573 มีเป้าหมายที่จะนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล รวมถึงส่งเสริมทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนหลักทางด้านผลผลิตและการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต อย่างไรก็ดีเวียดนามจำเป็นต้องปฏิรูประบบการศึกษาและเพิ่มทักษะที่จำเป็นแก่ประชาชน

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-business-news-august-9-2047767.html

ญี่ปุ่นมอบเงิน 3 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

รัฐบาลญี่ปุ่นตกลงที่จะให้เงินช่วยเหลือจำนวน 313 ล้านเยน (ประมาณ 3 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสปป.ลาว เงินทุนดังกล่าวจะถูกเบิกจ่ายภายใต้โครงการทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมอบทุนการศึกษาสำหรับข้าราชการระดับกลางและระดับท้องถิ่นเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น โครงการนี้จะช่วยให้ข้าราชการรุ่นเยาว์ของสปป.ลาวได้ขยายความรู้และทักษะเพื่อตอบสนองความต้องการในการพัฒนาของลาว ญี่ปุ่นถือเป็นผู้บริจาคเงินช่วยเหลืออันดับต้นๆ ให้กับสปป.ลาวและมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือระหว่างประเทศ                      ในปี 2560 ญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศรายใหญ่อันดับที่ 6 ในสปป.ลาว นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังได้ช่วยสปป.ลาวในการรับมือกับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 รวมถึงการฟื้นตัวจากปัญหาเศรษฐกิจท้ายที่สุดนายทาเควากาตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่น กล่าวเพิ่มเติมว่าเขาเชื่อว่าโครงการทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในสปป.ลาวและกระชับความสัมพันธ์และมิตรภาพระหว่างสปป.ลาวและญี่ปุ่น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Japan137.php

ญี่ปุ่นสนับสนุนเงินในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จำนวน 2.9 ล้านเหรียญสหรัฐ

รัฐบาลญี่ปุ่นให้เงินทุนสนับสนุนโครงการการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (JDS)  2.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แก่สปป.ลาววัตถุประสงค์หลักของโครงการนี้คือการยกระดับความรู้ของเจ้าหน้าที่รัฐ ผ่านทุนการศึกษามูลค่ากว่า 2.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยโครงการจะดำเนินการตั้งแต่เดือนนี้จนถึงเมษายน 2567 มีทุนการศึกษากว่า 20 ทุนต่อปีในการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่สถาบันและมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น โครงการจะดำเนินการโดย สถาบันJICA และกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา โดยโครงการ JDS เปิดดำเนินการในสปป.ลาวตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน ได้ส่งเจ้าหน้าที่กว่า 420 คนไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น ตามวัตถุประสงค์โครงการที่ต้องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของสปป.ลาว โครงการ JDS ยังได้ตั้งเป้าหมายเยาวชนที่มีความสามารถสูง (ส่วนใหญ่ทำงานส่วนภาครัฐ) ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในฐานะผู้นำในอนาคตจะเป็นส่วนสนับสนุนให้การเติบโตของเศรษฐกิจสปป.ลาวขยายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา:http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Investment141.php

นายกรัฐมนตรีร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 รับรองปฏิญญาพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 เช้านี้ 26 มิ.ย. และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพ เพื่อขับเคลื่อนให้ประชาคมอาเซียนมีความเข้มแข็ง และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการรับมือกับโรคโควิด-19 และเตรียมการฟื้นฟูอาเซียนหลังสถานการณ์คลี่คลาย โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ผ่านระบบการประชุมทางไกลจากทำเนียบรัฐบาลด้วย สำหรับเอกสารผลลัพธ์ที่สำคัญจากการประชุม ซึ่งผู้นำอาเซียนจะรับรองมี 2 ฉบับ คือ 1. วิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยอาเซียนที่แน่นแฟ้นและตอบสนอง : ก้าวข้ามความท้าทายและเสริมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ที่เน้นความแน่นแฟ้นของอาเซียนในทุกมิติ เสริมสร้างขีดความสามารถของกลไกต่าง ๆ ที่มีอยู่ เพื่อรับมือกับความท้าทายและโอกาส เช่น ภัยคุกคามความมั่นคงรูปแบบใหม่ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และผลกระทบจากโรคโควิด-19 เป็นต้น 2. ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปของงาน เป็นเอกสารที่แสดงเจตจำนงทางการเมืองของประเทศสมาชิกอาเซียนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพและสามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับโลก เช่น สนับสนุนให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน พัฒนาฐานข้อมูลด้านตลาดแรงงาน การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการพัฒนาทักษะแรงงาน เป็นต้น

ที่มา:https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/886773?utm_source=category&utm_medium=internal_referral

สปป.ลาวสนับสนุนแผนอาเซียนด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ศ.ดร. Kikeo Khaykhamphithoune รัฐมนตรีกระทรวงสารสนเทศวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สนับสนุนการพัฒนาแรงงานของสปป.ลาว ในการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) ครั้งที่ 23 เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา แผนการพัฒนาดังกล่าวว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อการเปลี่ยนแปลงตามโลกในปัจจุบันรวมถึงโอกาสที่มากขึ้นสำหรับประเทศอาเซียนในการแบ่งปันผลประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างประเทศสมาชิก นอกจากนี้ในที่ประชุมยังได้มีการหารือถึงแนวทางปฎิบัติในการดำรงชีวิตในแบบวิถีใหม่ (New Normal) รวมถึงการเรียกร้องให้มีการร่วมมือกันในการวิจัยและพัฒนาด้านไวรัสวิทยาควบคู่ไปกับการผลิตยาต้านไวรัสและวัคซีนรวมถึงการเข้าถึงวัคซีนและเวชภัณฑ์ที่เท่าเทียมกันและต้องมีราคาย่อมเยาในที่ประชุมยังเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียนทำงานร่วมกันในแผนฟื้นฟูหลังเกิดโรคระบาดเพื่อบรรเทาผลกระทบของ Covid-19 ต่อการดำรงชีวิตของผู้คนและเศรษฐกิจของภูมิภาคอีกด้วย

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Laos120.php