Foxconn ย้ายฐานผลิตชิ้นส่วน iPad และ MacBook มา ‘เวียดนาม’ หวังเลี่ยงผลกระทบสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า รัฐบาลเวียดนามได้อนุมัติใบอนุญาตให้หน่วยงานหนึ่งของบริษัท Foxconn Technology ผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และชิปคอมพิวเตอร์ ตลอดจนชิ้นส่วนสมาร์ทโฟนสัญชาติไต้หวัน ดำเนินการสร้างโรงงานผลิตแล็ปท็อปและแท็บเล็ตมูลค่า 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แถลงการณ์ของรัฐบาลเวียดนาม ซึ่งเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ระบุว่า โรงงานแห่งใหม่นี้จะอยู่ภายใต้การพัฒนาของ Fukang Technology ในสังกัด Foxconn และตั้งอยู่ในจังหวัดบั๊กซาง ทางตอนเหนือของประเทศ โดยโรงงานแห่งนี้จะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 8 ล้านเครื่องต่อปี ทั้งนี้ ในช่วงปีที่ผ่านมา ทาง Foxconn ได้ย้ายโรงงานผลิตชิ้นส่วนของ iPad และ MacBook จากจีนมายังเวียดนาม ตามข้อเรียกร้องของ Apple Inc. ที่ต้องการกระจายโรงงานผลิตชิ้นส่วนของตน เพื่อลดผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

ที่มา : https://thestandard.co/vietnam-gives-foxconn-unit-licence-for-270-million-plant-to-produce-laptops-tablets/

เงินบาทไทยแข็งค่ารั้งอันดับ 2 รองจากรูเปียห์อินโดนีเซีย

ค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ เคลื่อนไหวที่ระดับ 31.70-32.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เกาะติดปัญหาความขัดแย้งสหรัฐฯ-จีน การประชุมอีซีบี ระบุเดือนพ.ค.บาทไทยแข็งค่ารั้งอันดับ 2 ในภูมิภาค  ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้าคาดว่าเคลื่อนไหวที่ระดับ 31.70-32.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยแนวโน้มแข็งค่า เนื่องจากธนาคารกลางยุโรปจะออกมาตรการการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม  หลังจากเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโควิดทำให้ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นและมีแรงเทขายดอลลาร์สหรัฐกดดันให้ดอลลาร์ฯอ่อนค่าลง ด้านการเคลื่อนไหวของค่าเงินในภูมิภาค.พบว่า รูเปียห์-อินโดนีเซียแข็ง 1.86 % บาท-ไทยแข็งค่า 1.72% เยน-ญี่ปุ่นทรงตัว 0%  ส่วนสกุลอื่นอ่อนค่า เช่น  ดอลลาร์-สิงคโปร์ 0.1 % เปโซ-ฟิลิปปินส์  0.37% รูปี-อินเดีย 0.68%  ริงกิต-มาเลเซีย 0.96 % หยวน-จีน 1.07 % วอน -เกาหลีใต้1.6%  อย่างไรก็ตาม ทิศทางค่าเงินบาทผันผวนจากปัจจัยภายนอกประเทศและในประเทศ ดังนั้นผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกควรป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการค้าขาย

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/777448

จับสัญญาณเศรษฐกิจไทยปี’63 ระวังปัจจัยเสี่ยงการเมืองภายใน

สัญญาณสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐมีทิศทางดีขึ้น ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจ การค้าโลก และตลาดการเงินโดยรวม คาดทำให้จีดีพีโลก ค้าโลกขยายตัวเพิ่มในปีหน้า การลงทุนในตลาดการเงินโลกคึกคักมาก ส่งผลดีต่อเนื่องกับเศรษฐกิจไทย ภาคส่งออก และภาคการท่องเที่ยวทั้งระบบ ขณะที่การเจรจาเรื่อง Brexit มีความชัดเจนขึ้นเช่นเดียวกัน หลังทราบผลการเลือกตั้งในประเทศอังกฤษ ลดความไม่แน่นอนจากผลกระทบเรื่อง Brexit ได้ในระดับหนึ่ง ขณะที่การลดภาษีนำเข้าจากจีนของสหรัฐจะทำให้ไทยได้ประโยชน์ลดลงจากการเบี่ยงเบนทางการค้า (trade diversion) เนื่องจากสินค้าจีนจะกลับเข้าไปในตลาดสหรัฐมากขึ้น ส่วนกลุ่มสินค้าส่งออกไทยที่ทดแทนสินค้าจีนได้ดีในช่วงที่ผ่านมาจากการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ได้แก่ สินค้าเกษตรกรรม อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป เคมีภัณฑ์และเม็ดพลาสติก เหล็กและอะลูมิเนียม และของใช้ในบ้านและสำนักงาน คงได้รับผลกระทบบ้าง แต่การขยายตัวของส่งออกไปทั่วโลกจะดีขึ้น และภาพรวมของการส่งออกไปสหรัฐ และจีนจะเพิ่มขึ้นจากการเติบโตที่สูงขึ้นในปีหน้า ส่วนการเจรจาเรื่อง Brexit ที่มีความชัดเจนขึ้นหลังทราบผลการเลือกตั้ง ช่วยลดความไม่แน่นอนจากผลกระทบ ซึ่งไทยควรเตรียมการในการเจรจาเชิงรุกเพื่อจัดทำเอฟทีเอกับสหราชอาณาจักร พร้อมกับการเจรจาทำเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป แนวโน้มปีหน้า ปัจจัยภายนอกจะเป็นบวกมากขึ้น แต่ปัจจัยภายในโดยเฉพาะความเสี่ยงทางการเมือง ผลกระทบเชิงลบเหล่านี้จะหักล้างปัจจัยบวกจากสัญญาณการฟื้นตัวของการค้าโลก และทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสจากการกระเตื้องขึ้นของเศรษฐกิจโลกได้ นอกจากนี้ การย้ายฐานการลงทุนบางส่วนมายังอาเซียนจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนอาจมีการทบทวนใหม่ ซึ่งจะสัมพันธ์กับ สงครามทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาจะยืดเยื้อหรือไม่และออกมาในรูปแบบใด หลังการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา จะมีส่วนสำคัญความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ แต่ภูมิภาคอาเซียนโดยรวมนั้นยังคงเป็นภูมิภาคที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจอยู่ เนื่องจากมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยสูงกว่าภูมิภาคอื่น อยู่ในระดับที่แข่งขันได้ โดยเฉพาะมาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย แม้ไทยนั้นจะมีปัญหาเรื่อง rule of law และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม เพราะประเด็นนี้จะเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติมากที่สุด

ที่มา: https://www.prachachat.net/columns/news-403998

อุตสาหกรรมสิ่งทอเวียดนามได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน

จากรายงานของกระทรวงการลงทุนและวางแผนเวียดนาม เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอเวียดนามประสบภาวะเดือดร้อนอย่างหนักจากสงครามการค้า ทั้งจากการส่งออกและการผลิตที่ลดลง เนื่องมาจากความรุนแรงของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และผู้ซื้อ/ผู้นำเข้าแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามการค้า ทำให้ยอดคำสั่งซื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน บริษัทผู้ผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม (VINATEXT) ได้รับผลกระทบอย่างมากจากสงครามการค้า โดยอุตสาหกรรมเส้นด้ายทั่วโลกนั้น มีแนวโน้มลดลง เป็นผลมาจากสงครามการค้า และการแข่งขันจากคู่แข่งที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน ไทย และเวียดนาม นอกจากนี้ จากตัวเลขสถิติการค้าระหว่างประเทศของสำนักงานศุลกากร ระบุว่าในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ มูลค่าการส่งออกสิ่งทอของเวียดนามอยู่ที่ 29.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/textile-industry-hit-by-ongoing-trade-war/162084.vnp

ไทยถูกหวยสงครามการค้า 26 รายการขี่ม้าขาวดันส่งออกโค้งสุดท้ายปีนี้

“พาณิชย์” เผยผลวิเคราะห์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนต่อการค้าไทยในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ และรอบใหม่ที่เริ่ม 1 ก.ย.ที่ผ่านมา พบไทยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นทั้ง 2 ตลาด ซึ่งสินค้าที่ส่งออกได้ดี ทดแทนสินค้าจีนในสหรัฐฯ และทดแทนสินค้าสหรัฐฯในจีน มีกว่า 26 รายการ แนะไทยเร่งส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ให้ได้เพิ่มมากขึ้น เพิ่มยอดส่งออกโค้งสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งผลกระทบจากสงครามการค้า ทำให้สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนลดลงจากสัดส่วน 20.51% ใน 6 เดือนของปีที่ผ่านมาเหลือ 18.02% ในช่วงเดียวกันของปีนี้ โดยสินค้าของไทยที่มีศักยภาพในการส่งออกทดแทนในตลาดสหรัฐฯและจีน ภายใต้มาตรการตอบโต้ที่สหรัฐฯขึ้นภาษีจีน 250,000 ล้านเหรียญ และจีนตอบโต้สหรัฐฯ มูลค่า 110,000 ล้านเหรียญ ที่มีผลบังคับใช้แล้ว พบว่าสินค้าไทยที่ส่งออกไปทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯเพิ่มขึ้น เช่น ปลานิลแช่แข็ง กุ้งและปลาหมึกแช่แข็ง เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (ที่ไม่ใช่น้ำผักและผลไม้) และสินค้าที่ไทยส่งออกไปทดแทนสินค้าสหรัฐฯ ในตลาดจีน เช่น น้ำแอปเปิ้ล น้ำผึ้ง แป้ง ผงที่ทำจากพืช กระดาษแข็ง เครื่องแก้วสำหรับใช้ในครัวเรือนหรือรวมทั้งสองตลาดกว่า 26 รายการ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/business/market-business/1679366

เวียดนามเผยการส่งออกผักและผลไม้ไปจีนลดลง ในช่วงกรกฎาคม

จากรายงานของกรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่าในช่วงเดือนกรกฎาคมของปีนี้ เวียดนามส่งออกผักและผลไม้ไปยังจีนอยู่ที่ 144.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 44.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ถือว่าเป็นการลดลงอย่างมาก โดยจีนยังคงเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดผักและผลไม้ของเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ของการส่งออกของเวียดนาม ในขณะที่ ตลาดนำเข้าอย่างไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็ลดลงเช่นเดียวกัน แต่สหรัฐอเมริกายังคงเป็นผู้นำเข้าผักและผลไม้รายใหญ่อันดับที่สองของเวียดนามที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 ตามมาด้วยเกาหลีใต้ (13%) และญี่ปุ่น (25.9%) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตามลำดับ ทั้งนี้ สมาคมผักและผลไม้เวียดนาม (VinaFruit) ระบุว่าสถานการณ์การส่งออกผักและผลไม้ต้องเผชิญกับอุปสรรคหลายด้าน ได้แก่ สถานการณ์ของสงครามการค้าที่ไม่แน่นอน และกฎระเบียบที่เข็มงวดของจีน เป็นต้น

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/industries/fruit-and-vegetable-exports-to-china-plummet-in-july-3970376.html