วิกฤติขาดแคลนข้าวสาลี เหตุจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ดันส่งออกข้าวเวียดนามดีขึ้น

ปัญหาการหยุดชะงักของอุปทานข้าวสาลีทั่วไปที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ผู้นำเข้าไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องแสวงหาวัตถุดิบหรือธัญพืชอื่นมาแทน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อข้าวเวียดนาม โดยข้าวเวียดนามปรับราคาสูงขึ้นอย่างมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาและสูงกว่าข้าวไทยอีกด้วย ข้าวคุณภาพสูงของเวียดนามในเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 10-15 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ปริมาณการส่งออกข้าว อยู่ที่ 2.77 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 6.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่วนใหญ่จะส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลักที่มีความต้องการอย่างมาก โดยเฉพาะตลาดแอฟริกา ฟิลิปปินส์และมาเลเซีย ความต้องการข้าวเวียดนามที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่เพียงแต่สามารถสังเกตได้ในตลาดดั้งเดิมเท่านั้น แต่ยังสามารถสังเกตได้ในตลาดระดับบนหรือตลาดไฮเอนด์ เช่น เยอรมนี สวีเดนและโปแลนด์ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่ายังเร็วเกินไปที่จะยินดีกับทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากผู้นำเข้าหลายรายเริ่มมองหาซัพพลาย เพื่อหาราคาข้าวที่ถูกกว่าท่ามกลางราคาข้าวเวียดนามที่เพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1266243/wheat-shortages-bode-well-for-vietnamese-rice.html

เลขาฯ UN วอนรวมอาหาร ปุ๋ยจากยูเครน รัสเซีย เข้าสู่ตลาดโลก

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เน้นย้ำถึงความสำคัญของการบูรณาการผลิตภัณฑ์อาหารและปุ๋ยจากยูเครนและรัสเซียเข้าสู่ตลาดโลก ต้นทุนหลักสำหรับเกษตรกรคือปุ๋ยและพลังงาน ราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่งในปีที่ผ่านมา และราคาพลังงานมากกว่าสองในสาม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้คนหลายพันล้านคนทั่วเอเชีย แอฟริกา และอเมริกา ปัญหาการเข้าถึงอาหารในปีนี้อาจกลายเป็นปัญหาการขาดแคลนอาหารทั่วโลกในปีหน้า ไม่มีประเทศใดจะรอดพ้นจากผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจากภัยพิบัติดังกล่าว วิกฤตการณ์ในปัจจุบันเป็นมากกว่าอาหาร และต้องใช้แนวทางพหุภาคีที่ประสานกันด้วยการแก้ปัญหาหลายมิติ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten121_UN_y22.php

ราคานำเข้าปุ๋ยเคมีของกัมพูชาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

ในขณะที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้ราคาพลังงานและปุ๋ยเคมีปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยทางด้านผู้เชี่ยวชาญแนะนำและเรียกร้องให้เกษตรกรเปลี่ยนไปใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตในท้องถิ่นแทน ซึ่งตามรายงานข่าวท้องถิ่น ราคาปุ๋ยนำเข้าเพิ่มขึ้นจาก 200% เป็น 300% หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,000 ดอลลาร์ต่อตัน ภายใต้การเพิ่มขึ้นของราคาปุ๋ย ส่งผลทำให้ภาคการเกษตรเกิดความท้าทายเป็นอย่างมากโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย ในขณะเดียวกันตัวแทนบริษัทผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ในกัมพูชา กล่าวว่า บริษัทได้เพิ่มการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เป็น 150 ถึง 160 ตันต่อเดือน และวางแผนที่จะเพิ่มการผลิตต่อไปเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นภายในประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501093182/imported-chemical-fertilizers-sees-hike-in-price-experts-call-for-switch-locally-produced-organic-fertilizers/

ส่งออกไปรัสเซีย เม.ย.ดิ่งหนัก “รถยนต์-ชิ้นส่วน” สูญหลังโดนนานาชาติคว่ำบาตร

นายกิตตินันท์ ยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซีย เปิดเผยถึงการส่งออกของไทยไปรัสเซียว่า ตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ.65 ที่รัสเซียเริ่มใช้ปฏิบัติการทางทหารกับยูเครน จนทำให้นานาชาติใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซียอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การส่งออกสินค้าไทยไปรัสเซียหดตัวอย่างรุนแรง โดยเดือน มี.ค.65 มูลค่าส่งออกอยู่ที่ 22.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ติดลบถึง 73.02% เมื่อเทียบเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.65 มีมูลค่า 207.80 ล้านเหรียญฯ ลดลง 6.56% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เดือน เม.ย.65 มูลค่าเหลือเพียง 16.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ติดลบหนักถึง 76.77% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และช่วง 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) ปี 65 มูลค่า 224.40 ล้านเหรียญฯ ติดลบเพิ่มขึ้นเป็น 23.64%

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2411480

สงครามรัสเซีย-ยูเครน สะเทือนเศรษฐกิจเวียดนาม

ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการจัดหาเชื้อเพลิงและวัตถุดิบของเวียดนามและยังผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่ห่วงโซ่อุปทานของภาคการผลิตหยุดชะงัก จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกยังไม่ได้สิ้นสุด กิจการของเวียดนามต้องเผชิญกับอุปสรรคทางด้านเชื้อเพลิงและวัตถุดิบสำหรับการผลิต เหตุจากสงครามดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเวียดนามประสบปัญหาในการนำเข้าสินค้าบางรายการจากประเทศรัสเซียและส่งออกสินค้าไปยังรัสเซียและยูเครน ในขณะเดียวกันเผิชญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากการสั่งซื้อวัตถุดิบจากตลาดอื่นๆ โดยวิกฤติดังกล่าว เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกสูงขึ้น ผลผลิตและส่วนแบ่งการตลาดด้านการส่งออกเชื้อเพลิงและวัตถุดิบเพื่อการผลิตและบริโภค อาทิ ปิโตรเลียม ข้าวสาลี เป็นต้น ของรัสเซียและยูเครนมีขนาดใหญ่มาก

ที่มา : https://english.news.cn/europe/20220507/8d424defc5704109be27085d1e3cae91/c.html

 

ทิศทางการส่งออกไทยในปี 2022 ท่ามกลางความเสี่ยงจากภาวะสงคราม

โดย วิชาญ กุลาตี I ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

ตัวเลขการส่งออกสินค้าของไทยในช่วงสองเดือนแรกของปี 2022 สะท้อนถึงโมเมนตัมการขยายตัวที่ดีต่อเนื่อง จากการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้าโลก ตามความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคของนานาประเทศ รวมถึงการผลิตเพื่อส่งออกกลับมาได้อย่างเป็นปกติมากยิ่งขึ้น หลังจากที่โรงงานบางส่วนต้องหยุดการผลิตลงชั่วคราวเพื่อควบคุมโรคในช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลตา

 

อย่างไรก็ตาม สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ปะทุขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม และคาดว่าผลกระทบทั้งทางตรงจากการส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครน และทางอ้อมจากสถานการณ์สงครามที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอลงนั้น จะรุนแรงมากยิ่งขึ้นในระยะถัดไป แต่ EIC มองว่าความเสี่ยงดังกล่าวก็ยังสร้างโอกาสต่อธุรกิจส่งออกไทยในบางด้านด้วยเช่นกัน

 

ผลกระทบทางตรงมีอยู่จำกัด

การส่งออกไปรัสเซียและยูเครนหดตัวมากถึง 73% และ 77.8% ในเดือนมีนาคมเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า และอาจรุนแรงขึ้นในระยะข้างหน้าตามช่องทางการค้า การชำระเงิน และการขนส่งที่ถูกปิดกั้นมากขึ้น

แต่ผลกระทบทางตรงต่อเศรษฐกิจไทยจากการส่งออกยังมีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากไทยส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครนเป็นสัดส่วนน้อยและไม่ได้มีสินค้าส่งออกสำคัญใดที่พึ่งพาตลาดรัสเซียและยูเครนมากเป็นพิเศษ โดยในปี 2021 มูลค่าการส่งออกสินค้าจากไทยไปรัสเซียและยูเครนอยู่ที่ราว 1,028 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 135 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นเพียง 0.38% และ 0.05% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทย ตามลำดับ

 

แต่ผลกระทบทางอ้อมรุนแรงกว่า

แม้ผลกระทบทางตรงจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนจะมีอยู่อย่างจำกัดจากที่ได้กล่าวมา แต่อาจสร้างผลกระทบทางอ้อมต่อการส่งออกสินค้าของไทยได้ โดยมี 2 ช่องทางที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และปัญหาคอขวดอุปทาน

ช่องทางแรก ภาวะสงครามจะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจยุโรปที่อยู่ประชิดด่านหน้าของความขัดแย้ง โดย EIC คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกและยุโรปจะขยายตัวได้เพียง 3.4% และ 2.7% ตามลำดับ ต่ำกว่าประมาณการเดิมในช่วงก่อนสงคราม

ช่องทางที่สอง ปัญหาอุปทานคอขวดอาจรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในภาคส่งออกหลักของไทยที่พึ่งพาเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) เป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์

สงครามในยูเครนและการคว่ำบาตรรัสเซียส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่มีอยู่เดิมจากวิกฤติโควิดมีแนวโน้มคลี่คลายช้าลงกว่าที่คาด เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกแร่ธาตุ โลหะอุตสาหกรรม และโภคภัณฑ์หลักของโลก โดยเฉพาะวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์อย่างก๊าซนีออนและแพลเลเดียม

 

การส่งออกของไทยบางส่วนได้รับอานิสงส์จากสงคราม

ท่ามกลางผลกระทบจากภาวะสงคราม ส่งออกไทยได้รับอานิสงส์สนับสนุนการขยายตัวของส่งออกในปี 2022 อย่างน้อยจาก 3 ปัจจัย ซึ่งอาจสามารถชดเชยผลกระทบในทางลบได้ โดยเฉพาะจากปัจจัยทางด้านราคาสินค้าส่งออก

ปัจจัยแรก ราคาสินค้าส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นและสามารถชดเชยการชะลอตัวในด้านปริมาณ ภาวะสงครามและมาตรการคว่ำบาตรทำให้รัสเซียและยูเครนไม่สามารถส่งออกพลังงานและโภคภัณฑ์ทางการเกษตรหลายชนิด เช่น ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด น้ำมันทานตะวัน ปุ๋ยยูเรีย ปุ๋ยโพแทสเซียม ที่ตนเองเป็นผู้ส่งออกหลักของโลก ส่งผลให้ระดับราคาสินค้าต่าง ๆ ในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น สินค้าส่งออกของไทยโดยเฉพาะในกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน รวมถึงผลผลิตทางการเกษตร จึงมีแนวโน้มจะเติบโตดีในด้านราคาส่งออกเป็นสำคัญ

ปัจจัยที่ที่สอง สินค้าส่งออกไทยบางประเภทสามารถขยายส่วนแบ่งตลาดได้ จากการทดแทนสินค้าส่งออกของรัสเซียและยูเครนในตลาดโลก โดยเฉพาะในยุโรปที่สินค้าส่งออกไทยหลายประเภทมีส่วนแบ่งตลาดในยุโรปในระดับที่ดีและแข่งขันได้ เช่น ยางสังเคราะห์ ไม้อัด ปลาแช่แข็ง ฟอสฟิเนต รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับคาร์โบไฮเดรตที่อาจนำมาทดแทนข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และข้าวโพดของรัสเซียและยูเครน เป็นต้น

ปัจจัยสุดท้าย เงินบาทที่อ่อนค่าสนับสนุนรายได้ของผู้ส่งออกไทยและอาจช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน นับตั้งแต่เกิดสงครามค่าเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าสกุลอื่นในภูมิภาค โดย EIC คาดเงินบาทในระยะสั้นจะเผชิญแรงกดดันจากความต้องการถือสินทรัพย์เสี่ยงที่ลดลง ดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มขาดดุลมากขึ้น และการขึ้นดอกเบี้ยของหลายประเทศสำคัญทั่วโลก ก่อนจะกลับมาแข็งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ภาคส่งออกไทยจึงจะได้รับประโยชน์จากความสามารถในการแข่งขันด้านราคาเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาด ซึ่งจะแปรเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจส่งออกไทย

 

ในภาพรวม EIC ยังคงคาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2022 ยังขยายตัวได้ดีที่ 6.1% แต่การขยายตัวเป็นผลจากปัจจัยด้านราคาที่สูงขึ้นตามต้นทุน โดยเฉพาะในหมวดพลังงานเป็นหลักและมากกว่าการเพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณ อย่างไรก็ตาม มูลค่าการนำเข้าสินค้าจะขยายตัวในอัตราที่เร่งตัวกว่ามากที่ 13.2%

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/8248

‘สงครามรัสเซีย-ยูเครน’ บีบให้เวียดนามค้นหาซัพพลายเออร์ปุ๋ยรายอื่นทดแทน

ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้เวียดนามต้องค้นหาซัพพลายเออร์ปุ๋ยรายอื่น เพื่อรองรับกับปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและราคาที่สูงขึ้น กระทรวงเกษตรและพัฒนาบท (MARD) เปิดเผยว่าความขัดแย้งดังกล่าว ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดปุ๋ยในประเทศ ซึ่งประสบปัญหากับการขาดแคลนทางด้านอุปทานและราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น เหตุจากการได้รับผลกระทบของเชื้อไวรัสโควิด-19 และการหยุดชะงักห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้ รัสเซียเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกปุ๋ยที่มีต้นทุนต่ำที่สุดรายใหญ่ของโลก โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงอุตฯ ของรัสเซียประกาศให้ผู้ผลิตปุ๋ยของประเทศทำการหยุดการส่งออกชั่วคราว ด้วยเหตุนี้ ราคาปุ๋ยทำสถิติสูงสุดในรอบ 50 ปี ราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ประกอบกับราคาน้ำมันและก๊าซที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของต้นทุนการผลิต ทำให้ผลักดันราคาปุ๋ยให้สูงขึ้นเช่นเดียวกัน

ที่มา : https://vir.com.vn/russia-ukraine-conflict-forces-vietnam-to-look-for-alternative-fertiliser-suppliers-91979.html