DCTS ดันส่งออกกัมพูชาไปยังสหภาราชอาณาจักรโตกว่า 25%

กัมพูชาส่งออกไปยังสหราชอาณาจักร (UK) เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 25.1 คิดเป็นมูลค่ากว่า 136 ล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับแรงหนุนจากโครงการ Developing Countries Trading Scheme (DCTS) ฉบับใหม่ของสหราชอาณาจักร ซึ่งอนุญาตให้ส่งออกสินค้าปลอดภาษีสำหรับสินค้าเกือบทั้งหมด (ร้อยละ 99 ของสินค้าทั้งหมด) โดยเฉพาะสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาอย่างสินค้าสิ่งทอ สินค้าเพื่อการเดินทาง และสินค้าที่ทำจากเครื่องหนัง ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ Cambodia Development Centre ได้รายงานไว้ ถึงการที่กัมพูชายังคงได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับการส่งออกไปยังสหราชอาณาจักรภายใต้ DCTS แม้ว่าจะพ้นจากสถานะประเทศด้อยพัฒนา (LDC) แล้วก็ตาม สำหรับโครงการพิเศษภายใต้ DCTS Enhanced Preferences สำหรับประเทศที่มีรายได้น้อยและประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางที่มีระบบเศรษฐกิจเปราะบาง ซึ่งมีการกำหนดภาษีเป็นศูนย์สำหรับสินค้ามากกว่าร้อยละ 85 หรือ DCTS Standard Preferences สำหรับประเทศรายได้น้อยและประเทศรายได้น้อยถึงปานกลาง ที่มีการยกเลิกหรือลดภาษีศุลกากรบางส่วนหรือทั้งหมดสำหรับสินค้ามากกว่าร้อยละ 80 จากสหราชอาณาจักร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501462930/dcts-boosts-cambodias-exports-to-uk-by-25/

โฆษกรัฐบาลเผย รัฐบาลส่งเสริมการใช้สิทธิภายใต้ FTA ส่งออก มกราคม-พฤศจิกายน 2566 รวม 75,842.65 ล้านดอลลาร์

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภาพรวมการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ FTA ช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา พบว่ามีมูลค่าส่งออกสินค้ารวม 75,842.65 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 82.66 ของการส่งออกสินค้าที่ไทยได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA โดยไทยได้ใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) สูงสุดเป็นอันดับ 1 คิดเป็นมูลค่า 27,584.19 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ยานยนต์สำหรับขนส่งของที่น้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน น้ำตาลจากอ้อย น้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันจากแร่บิทูมินัส รถยนต์สำหรับขนส่งบุคคล และเครื่องจักรอัตโนมัติ สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรีของไทย มากเป็นอันดับที่ 2 ได้แก่ ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ไทยได้ใช้สิทธิประโยชน์ คิดเป็นมูลค่า 22,059.90 ล้านดอลลาร์ โดยเน้นเป็นสินค้าจำพวกทุเรียนสด ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ มันสำปะหลัง สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง และโพลิเมอร์ของเอทิลีน นอกจากการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ FTA ข้างต้น ยังมีการใช้สิทธิประโยชน์ในความตกลงฉบับอื่น ๆ เช่น การใช้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) คิดเป็นมูลค่า 6,344.09 ล้านดอลลาร์ ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) คิดเป็นมูลค่า 5,802.56 ล้านดอลลาร์ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) คิดเป็นมูลค่า 4,987.16 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/78761

‘เมียนมา’ มอบสิทธิพิเศษให้กับผู้ส่งออก

กระทรวงพาณิชย์ และสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพเมียนมา (UMFCCI) เปิดเผยว่าได้วางแผนที่จะมอบสิทธิพิเศษให้กับผู้ส่งออกที่ได้รับเงินตราต่างประเทศเข้ามาในประเทศ และสภาหอการค้าฯ ได้ร่างโครงการสิทธิพิเศษ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออกที่ปฏิบัติตามกฎหมายและยังช่วยสนับสนุนการส่งออกให้กับประเทศ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของเมียนมา ได้แก่ ถั่วพัลส์ต่างๆ งา ข้าวโพด ยางพารา ข้าว สินค้าประมง ผลไม้และอื่นๆ เป็นต้น นอกจากนี้ การค้าระหว่างประเทศของเมียนมาในปีงบประมาณ 2565-2566 พบว่าการส่งออกของเมียนมา อยู่ที่ 16.62 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การนำเข้า 17.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/commerce-ministry-paving-way-for-exporters-with-special-privileges/#article-title

นายกฯ ฮุน เซน ประเมินการถอนสิทธิพิเศษ EBA ของ EU ไม่กระทบกัมพูชา

นายกรัฐมนตรีฮุน เซน กล่าวว่า ภาคการผลิตของกัมพูชาจะไม่ได้รับผลกระทบจากการถอนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร Everything But Arms (EBA) ของสหภาพยุโรป (EU) ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ โดยได้กล่าวไว้ในระหว่างการประชุมกับแรงงานกว่า 16,000 คน ในจังหวัดกำปงสปือเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (4 พ.ค.) ซึ่งก่อนหน้ากัมพูชาได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าวเนื่องจากประเทศถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) แต่ด้วยกัมพูชามีโครงสร้างรายได้ของประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงด้วยเหตุผลที่ว่ากัมพูชาไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขบางประการเกี่ยวกับการเมือง และสิทธิมนุษยชน จึงทำให้ในอนาคตอันใกล้กัมพูชาจะต้องเสียภาษีสำหรับการส่งออกโดยปราศจากสิทธิพิเศษ EBA ไปยังตลาดสหภาพยุโรป โดยในปี 2020 สหภาพยุโรปได้ถอนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรที่ร้อยละ 20 จากกลุ่มสมาชิก 27 ประเทศ รวมถึงกัมพูชา แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ข้อมูลการค้าที่เผยแพร่โดยกรมศุลกากรและสรรพสามิตของกัมพูชา (GDCE) กล่าวเสริมว่าในปี 2022 กัมพูชาส่งออกสินค้ากลุ่มรองเท้า เสื้อผ้า และสินค้าเผื่อการเดินทาง (GFT) ขยายตัวประมาณกว่าร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากมูลค่าการส่งออกรวม 10.99 พันล้านดอลลาร์ สู่มูลค่า 12.63 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งบ่งชี้ว่าการสูญเสียสิทธิพิเศษ EBA ไม่ได้ส่งผลต่อการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าว โดยชดเชยด้วยการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ อย่างสหรัฐฯ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501302667/eba-withdrawal-not-to-impact-cambodia-says-pm/

กรมเจรจาฯ ลงพื้นที่นราธิวาส ติวเข้ม ผปก. รุ่นใหม่-เกษตรกร เร่งใช้ประโยชน์ FTA

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ดำเนินโครงการ “การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่ตลาดการค้าเสรีอาเซียน” ณ จังหวัดนราธิวาส เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) กฎระเบียบทางการค้า และโอกาสในตลาดการค้าเสรี ให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ MOC Biz Club จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนราธิวาส ปัตตานี และยะลา รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์การค้าและการส่งออก พร้อมแนะนำให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรสามารถพัฒนาไปเป็นผู้ส่งออกที่มีประสิทธิภาพ ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมได้นำทีมสภาเกษตรกรแห่งชาติ และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนราธิวาส จัดสัมมนาให้ความรู้เรื่องการใช้ประโยชน์จาก FTA ที่ไทยจัดทำ 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ พร้อมทั้งเปิดเวทีวิเคราะห์สินค้าศักยภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิ ผ้าปาเต๊ะ ผ้าบาติก อาหารทะเลแปรรูป ผลไม้สดและแปรรูป และเครื่องดื่มจากรำข้าว โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศและนักการตลาดให้คำแนะนำเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การใช้นวัตกรรมสร้างความแตกต่างเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า กลยุทธ์การเจาะตลาดออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคในปัจจุบันที่เน้นสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐาน สินค้าสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ Future Food

ที่มา : https://www.opt-news.com/news/28952

กัมพูชาตั้งเป้าเน้นการส่งออกมากขึ้น

นายกรัฐมนตรีฮุน เซน กล่าวถึงการที่ทางการกัมพูชาได้ส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ทั้งเครื่องนุ่งห่มและไม่ใช่เครื่องนุ่งห่ม ไปจนถึงภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อรองรับและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยการส่งออกสินค้าในหมวดอุตสาหกรรมของกัมพูชาเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้วอยู่ที่ร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่ง ณ ตอนนี้ ภาคการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะได้รับการสนับสนุนให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ รวมถึงเริ่มมีคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ปีนี้การส่งออกของกัมพูชามีมูลค่ารวมอยู่ที่ 7,606 ล้านดอลลาร์ ใน 4 เดือน แรกของปี โดยได้ทำการส่งออกไปยังสหรัฐฯ มูลค่า 2,923 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 53.6 เมื่อเทียบเป็นรายปี ทำให้สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชาในปัจจุบัน ด้วยสิทธิพิเศษทางการค้า เช่น GSP, EBA และ FTA กับจีนและเกาหลีใต้ จะเป็นส่วนเสริมทำให้กัมพูชาส่งออกและได้รับการลงทุนใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501080718/cambodia-to-focus-more-on-growth-in-exports/

กัมพูชาเร่งส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีระหว่างอินเดีย

กัมพูชาและอินเดียยังคงเดินหน้าในการเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกัน โดยได้ตกลงในร่างการเจรจาความตกลงการให้สิทธิพิเศษทางการค้า (PTA) ซึ่งการส่งออกของอินเดียในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. ไปยังกัมพูชาสูงถึง 60 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 71.7 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยการส่งออกของกัมพูชาไปยังอินเดียมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 12.7 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 นับจากไตรมาสแรกของปีที่แล้ว ซึ่งทั้งสองประเทศเห็นพ้องต้องกันในหลักการที่จะจัดทำข้อตกลงการค้าพิเศษระหว่างกัน เพื่อเป็นการสนับสนุนภาคการค้าของทั้งสองประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50883358/india-and-kingdoms-trade-talks-heat-up/

กัมพูชากำหนดแผนล่วงหน้า หากต้องสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้า

รัฐบาลกัมพูชากำลังเร่งกำหนดกลยุทธ์และนโยบายเพื่อรับมือกับความท้าทายหลังจากการเข้าถึงสิทธิพิเศษสำหรับการส่งออกที่อาจจะลดลงในอนาคต ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้กล่าวถึงเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าภายในประเทศ โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดขึ้นโดย WTO, UN DESA, UNCTAD และ ITC ซึ่งในการสัมมนารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชาได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา นอกจากนี้เขายังเน้นย้ำถึงผลกระทบจากการที่กัมพูชาจะถูกปรับเปลี่ยนสถานะจากประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด สู่ประเทศที่กำลังพัฒนา อาจมีผลต่อสิทธิพิเศษทางการค้า การดึงดูดการลงทุน และความสามารถในการแข่งขันของกัมพูชาในหลายภาคส่วน โดยทางรัฐบาลกัมพูชาเพื่อเป็นการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้กระทรวงได้เตรียมนโยบายและยุทธศาสตร์สำหรับกัมพูชาเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการเน้นการกระจายความหลากหลายของตลาดส่งออก ผ่านข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีและพหุภาคี ตลอดจนการกำหนดนโยบายและกลยุทธ์ทางการค้า

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50854075/cambodia-formulates-way-forward-if-trade-privileges-are-lost/

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและสหภาพยุโรปในปี 2020

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและสหภาพยุโรปมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 3.863 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2020 ซึ่งลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับตัวเลขที่ได้ถูกบันทึกไว้ในปี 2019 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการระบาดของโควิด-19 และ Brexit ซึ่งกัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป 3.203 พันล้านดอลลาร์ และได้ทำการนำเข้าสินค้าจากสหภาพยุโรปจำนวน 659 ล้านดอลลาร์ ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 คณะกรรมาธิการยุโรปแนะนำให้สหภาพยุโรปถอดถอนสิทธิพิเศษทางการค้า (EBA) ที่ให้แก่กัมพูชาร้อยละ 20 ของข้อตกลงการค้าภายใต้สิทธิพิเศษ โดยอ้างว่ากัมพูชาละเมิดสิทธิมนุษยชนและแรงงาน รวมถึงเรื่องของประชาธิปไตยภายในกัมพูชาเป็นหลัก ซึ่งทางสหภาพยุโรปได้ถอดถอนสัตยาบันไปแล้วเมื่อวันที่ 12 สิงหาคมปีที่แล้ว โดยสหภาพยุโรปได้รับการจัดอันดับให้เป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสองของกัมพูชาในปี 2019 โดยคิดเป็นร้อยละ 11.9 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50819696/trade-with-eu-valued-at-3-8-billion-in-2020/

สหภาพยุโรปถอดถอนสิทธิพิเศษทางการค้าระหว่างกัมพูชาบางส่วนแล้ว

ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมูลค่าราว 7 พันล้านดอลลาร์ต่อปีของกัมพูชากำลังจะถูกถอดถอนสิทธิพิเศษทางการค้า (EBA) บางส่วนที่สนับสนุนโดยสหภาพยุโรป (EU) โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นไปตามการตัดสินใจของสหภาพยุโรปตั้งแต่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ แม้ว่ารัฐบาลและภาคเอกชนจะพยายามเจรจาต่อรองให้ EU ไม่ดำเนินการหรืออย่างน้อยก็ชะลอการถอดถอนออกไปก่อน เนื่องจากผลกระทบของ COVID-19 ต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งสหภาพยุโรปเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกัมพูชาและในเดือนกุมภาพันธ์คณะกรรมการบริหารซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการยุโรปได้แนะนำให้ถอดถอนบางส่วนของโครงการ EBA ตั้งแต่เดือนสิงหาคมโดยอ้างถึงการละเมิดหลักการของกัมพูชาอย่างร้ายแรงในด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงานภายในประเทศที่ยังไม่ถูกแก้ปัญหา โดยการระงับดังกล่าวส่งผลกระทบต่อหนึ่งในห้า (1.08 พันล้านดอลลาร์) ของการส่งออกประจำปีของกัมพูชาที่ทำการส่งออกสินค้าไปยัง 27 ประเทศ ของกลุ่มสหภาพยุโรป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50753939/the-eus-tax-free-status-partially-withdrawn/