การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอในประเทศเมียนมาจำเป็นต้องลดการนำเข้า

เมื่อเช้าวานนี้ ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายบริการกลาโหม พล.อ.มิน ออง หล่าย ได้ให้คำแนะนำระหว่างการตรวจสอบโรงงานทอผ้าทัดมาดอว์ (เมติลา) ในเมืองเมติกติลา เขตมัณฑะเลย์ ว่า เมียนมาจะต้องพยายามอย่างต่อเนื่องในการผลิตสิ่งทอคุณภาพสูงโดยใช้สำลีหรือด้ายที่ผลิตในประเทศ โดยที่ห้องประชุมของโรงงาน ผู้จัดการโรงงาน อู นาย ลิน รายงานต่อนายพลอาวุโสเกี่ยวกับการดำเนินการตามคำแนะนำของนายพลอาวุโสในการทัศนศึกษาเมื่อเดือนกันยายน 2565 ซึ่งได้กล่าวรายงานถึงประวัติโดยย่อของโรงงาน การผลิตเส้นด้าย การดำเนินการด้านการเกษตร และงานเลี้ยงปศุสัตว์ เพื่อสวัสดิการของพนักงาน และการผลิตเส้นด้าย 2/80 เส้น โดยใช้สำลีท้องถิ่น อย่างไรก็ดี พลเอกอาวุโสเน้นย้ำว่าเนื่องจากมีการผลิตสิ่งทอต่างๆ รวมถึงมุ้ง ผ้าห่ม และผ้าปูที่นอนที่บ้าน จึงจำเป็นต้องตอบสนองความต้องการผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นเพื่อลดปริมาณการนำเข้า และยังได้ตั้งข้อสังเกตว่าหากด้ายและสิ่งทอสำหรับอุตสาหกรรม MSME ตอบสนองความต้องการในประเทศได้ ปริมาณการนำเข้าสิ่งทอจะลดลง นอกจากนี้ ยังได้มีการตรวจสอบคุณภาพสิ่งทอสำหรับเครื่องแต่งกายที่ผลิตที่โรงงาน และแนะนำถึงการรักษามาตรฐานตามความต้องการของตลาด รวมทั้งได้ตรวจสอบความคืบหน้าของการติดตั้งเครื่องจักรที่โรงงานปั่นเส้นด้ายและโรงงานย้อมผ้าสำหรับผลิตด้ายคุณภาพสูง ที่มีการประสานงานกับผู้จัดการโรงงานและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/home-production-of-textile-products-essential-to-cut-imports/

กัมพูชาส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT โต 20% ในช่วง 5 เดือนแรกของปี

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชาเปิดเผยรายงานเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (9 มิ.ย.) ว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2024 กัมพูชาสามารถส่งออกสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง (GFTs) มูลค่ารวมกว่า 4.969 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับมูลค่า 4,129 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สำหรับการส่งออกสินค้ากลุ่มเสื้อผ้าและสิ่งทอมีมูลค่าการส่งออกรวม 3.628 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 จาก 2.960 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่การส่งออกสินค้ากลุ่ม รองเท้า มีมูลค่าการส่งออกรวม 615 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 และ สินค้าเพื่อการเดินทางมูลค่าการส่งออกรวม 726 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.8 ด้านธนาคารโลก (WTO) ได้ระบุเสริมว่าภาคอุตสาหกรรม GFT ของกัมพูชาถือเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา โดยคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตร้อยละ 5.8 ในปีนี้ ซึ่งตอกย้ำถึงบทบาทสำคัญของภาคส่วนดังกล่าวต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501503300/cambodia-sees-20-pct-rise-in-export-of-garments-footwear-and-travel-goods-in-first-five-months/

‘Digital Transformation’ กุญแจดอกสำคัญของธุรกิจเสื้อผ้าเวียดนาม

จากงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม “SaigonTex and SaigonFabric 2024” จัดโดยสมาคมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเวียดนาม (VITAS) ทางด้านคุณ นาง เหงียน ถิ เตี๊ยก มาย รองเลขาธิการสมาคมฯ กล่าวระหว่างการประชุมว่ารัฐบาลอนุมัติแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในปี 2573 มีวิสัยทัศน์ถึงปี 2578 และจะมุ่งเน้นไปที่การยกระดับการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูง การปรับปรุงชีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดต่างประเทศและตอบสนองกับความต้องการของคนในประเทศ ในขณะเดียวกัน ตัวแทนของสมาคมฯ กล่าวว่าหนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนสำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล หรือ Digital Transformation สิ่งนี้จะทำให้ธุรกิจต้องปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจและเป็นการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาใช้

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/digital-transformation-optimal-choice-for-vietnamese-garment-textile-firms/285158.vnp

‘เวียดนาม’ ตั้งเป้ายอดการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ปี 67 ทะลุ 44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สมาคมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเวียดนาม (VITAS) ตั้งเป้าหมายยอดการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ปี 2567 มีมูลค่า 44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากเห็นสัญญาณเชิงบวกในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ อย่างไรก็ดีถึงแม้เผชิญกับเศรษฐกิจโลกที่มืดมน ทั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และอุปสงค์โลกที่ลดลง แต่ความสำเร็จของการส่งออกสิ่งทอเวียดนาม เป็นผลมาจากความพยายามของภาคธุรกิจในประเทศ ซึ่งธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเวียดนามสามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้กว่า 104 ประเทศทั่วโลก นับเป็นจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ จากข้อมูลของสมาคมฯ แสดงให้เห็นว่าในเดือน ก.ย. สหรัฐฯ ยังคงเป็นผู้นำเข้าสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มีมูลค่าราว 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาญี่ปุ่น เกาหลีใต้และสหภาพยุโรป ตามลำดับ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-targets-44-billion-usd-in-textile-apparel-export-turnover-in-2024-vitas/271937.vnp

กัมพูชาส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT ในช่วง 7 เดือน แตะ 6.27 พันล้านดอลลาร์

กัมพูชาส่งออกสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง (GFT) มูลค่ารวม 6.27 พันล้านดอลลาร์ ลดลงอย่างมากจากมูลค่า 7.89 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการลดลงร้อยละ 20.44 ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ทำให้การส่งออกโดยรวมของกัมพูชาลดลงร้อยละ 1.8 ซึ่งได้รับผลกระทบจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ การไม่ต่ออายุระบบสิทธิพิเศษทางภาษีทั่วไป (GSP) ของสหรัฐฯ และการลดสิทธิประโยชน์ของ Everything But Arms (EBA) ของสหภาพยุโรป (EU) ส่งผลทำให้การส่งออกโดยภาพรวมชะลอตัวลง จากข้อมูลของ GDCE รายงานเสริมว่าการส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องแต่งกายแบบถักสร้างรายได้เข้าประเทศ 3.06 พันล้านดอลลาร์ ณ เดือน ก.ค. ลดลงร้อยละ 22.8 ขณะที่สินค้ากลุ่มเครื่องแต่งกายในรูปแบบไม่ถักสร้างรายได้เข้าประเทศ 1.40 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 14.7 สำหรับกลุ่มสินค้าเพื่อการท่องเที่ยวสร้างรายได้สุทธิเข้าประเทศ 1 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 18.3 และการส่งออกรองเท้ามูลค่าในช่วงเวลาเดียวกันอยู่ที่ 808.46 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 22.7

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501342930/cambodia-gft-exports-at-6-27-billion-in-7-months/

‘อุตฯ เมียนมา’ เผยเดือน เม.ย. ดึงดูดเม็ดเงินลงทุน 3.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและการบริหารจัดการของเมียนมา (DICA) เปิดเผยข้อมูลทางสถิติในเดือน เม.ย. 2566 ว่าภาคอุตสาหกรรมของเมียนมาดึงดูดเงินลงทุนกว่า 3.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงการปรับเพิ่มเงินลงทุนจากผู้ประกอบการในปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้ประกอบการจีนรายหนึ่งที่เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมของเมียนมา ด้วยมูลค่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เมียนมาดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) รวมทั้งสิ้น 1.64 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2565-2566 (เม.ย.-มี.ค.) การลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม คิดเป็นมูลค่า 271.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมกระจุกตัวอยู่ในสินค้าเสื้อผ้าและสิ่งทอ มีโรงงานผลิตกว่า 541 แห่งที่อยู่ภายใต้สมาคมผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มเมียนมา

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-manufacturing-sector-attracts-3-7-mln-in-april/#article-title

“เวียดนาม” เผยภาคเครื่องนุ่งห่ม จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุน FDI เหตุบรรลุเป้าส่งออก

ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในชุมชน มีความต้องการเม็ดเงินทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ไหลเข้าสู่กระบวนการผลิตผ้า เส้นด้ายและวัตถุดิบอื่นๆ เนื่องจากธุรกิจต้องการได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านการส่งออกจากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) โดยจากข้อมูลของกระทรวงวางแผนและการลงทุน เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีจำนวนโครงการ FDI ทั้งสิ้น 2,787 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 31.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ณ 18 พ.ค.) ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจเครื่องนุ่งห่ม กล่าวว่าโครงการ FDI มีส่วนร่วมในการเพิ่มกำลังการผลิตและขนาดการส่งออกของอุตสาหกรรมนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออก จะพบว่าเพิ่มขึ้นจาก 36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 มาอยู่ที่ 40.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 คิดเป็นสัดส่วนราว 60% ของมูลค่าการส่งออกรวม

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/garment-sector-requires-greater-fdi-for-export-target-fulfilment-post965641.vov

กัมพูชาตั้งเป้าเน้นการส่งออกมากขึ้น

นายกรัฐมนตรีฮุน เซน กล่าวถึงการที่ทางการกัมพูชาได้ส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ทั้งเครื่องนุ่งห่มและไม่ใช่เครื่องนุ่งห่ม ไปจนถึงภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อรองรับและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยการส่งออกสินค้าในหมวดอุตสาหกรรมของกัมพูชาเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้วอยู่ที่ร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่ง ณ ตอนนี้ ภาคการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะได้รับการสนับสนุนให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ รวมถึงเริ่มมีคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ปีนี้การส่งออกของกัมพูชามีมูลค่ารวมอยู่ที่ 7,606 ล้านดอลลาร์ ใน 4 เดือน แรกของปี โดยได้ทำการส่งออกไปยังสหรัฐฯ มูลค่า 2,923 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 53.6 เมื่อเทียบเป็นรายปี ทำให้สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชาในปัจจุบัน ด้วยสิทธิพิเศษทางการค้า เช่น GSP, EBA และ FTA กับจีนและเกาหลีใต้ จะเป็นส่วนเสริมทำให้กัมพูชาส่งออกและได้รับการลงทุนใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501080718/cambodia-to-focus-more-on-growth-in-exports/

EuroCham Cambodia และ GMAC ลงนาม MoU สนับสนุนกัมพูชา

EuroCham Cambodia และ GMAC ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนบริษัทตัดเย็บเสื้อผ้าของยุโรปและแบรนด์แฟชั่นที่ได้ดำเนินการอยู่ในกัมพูชา ผ่านความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างสองสมาคมและกลุ่มสมาชิก สู่การเพิ่มมูลค่าการส่งออกระหว่างสหภาพยุโรป โดยมูลค่าการส่งออกของกัมพูชาในหมวดสินค้าเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า อยู่ที่ 11.38 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021 ซึ่งส่วนใหญ่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป แต่ในขณะเดียวกันส่วนแบ่งการตลาดของกัมพูชาในตลาดส่งออกสำคัญอย่างสหรัฐฯ กลับปรับตัวลดลง โดยเฉพาะในปี 2021 ที่มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 4.87 จากในปี 2020 ที่กัมพูชามีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 13.30 ตามข้อมูลการนำเข้าจากสำนักงานสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแห่งสหรัฐฯ (OTEXA)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501045339/eurocham-cambodia-and-gmac-ink-agreement-to-better-support-european-brands-sourcing-from-cambodia/

กัมพูชาเตรียมเปิดตัวยุทธศาสตร์พัฒนาภาคเครื่องนุ่งห่ม และกระเป๋า

รัฐบาลกัมพูชาวางแผนเปิดตัวกลยุทธ์พัฒนาภาคสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รวมถึงกระเป๋า และรองเท้า เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่การเติบโตและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันระดับภูมิภาค โดย Phan Phalla รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ได้กล่าวไว้ในการประชุมสาธารณะล่าสุด เกี่ยวกับการจัดการด้านเศรษฐกิจมหภาค และกรอบงบประมาณประจำปี 2022 ซึ่งในปี 2021 กัมพูชาทำการส่งออกเสื้อผ้ามีมูลค่ามากกว่า 11,389 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 เมื่อเทียบกับปี 2020 ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501033259/cambodia-plans-to-launch-strategy-to-develop-garment-bag-and-footwear-sector/