ส.อ.ท. ร้องรัฐบาลสกัดเหล็กจากจีน
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า อุตสาหกรรมของประเทศไทยกำลังเผชิญกระแสสินค้าจากจีนเข้ามาแย่งตลาด โดยอุตสาหกรรมเหล็กเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรุนแรงสุดจากการทุ่มตลาดและการทะลักของชิ้นส่วนโครงสร้างเหล็กจากจีน จนการใช้กำลังการผลิตเหล็ก ในปี 2566 ตกต่ำเหลือเพียง 31% เท่านั้น และแนวโน้มยังแย่ลงอีกในปีนี้จนเป็นที่น่ากังวลยิ่งว่าหากภาครัฐยังดำเนินการต่างๆไม่ทันการณ์ โรงงานเหล็กไทยจะต้องปิดกิจการและเลิกจ้างแรงงานอีกจำนวนมาก ส.อ.ท.จึงได้นำเสนอแนวทางแก้ไขวิกฤติอุตสาหกรรมเหล็กต่อรัฐบาล ดังนี้ 1.กระทรวงอุตสาหกรรม ใช้มาตรการห้ามตั้ง ห้ามขยายโรงงานเหล็ก โดยมุ่งไปที่เหล็กที่มีกำลังการผลิตมากล้นเกินความต้องการ รวมทั้งบังคับใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ควบคุมคุณภาพส่วนประกอบของสินค้าโครงสร้างสำเร็จรูป 2.กระทรวงพาณิชย์ไต่สวนและบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (AC) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิผล และพิจารณาความจำเป็นในการใช้มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard : SG) โดยเก็บอากร SG สินค้าเหล็กทุกประเภทสูงถึง 25% 3.ปรับปรุง/แก้ไข พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ ให้มีการบังคับใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (AC) 4.ขยายผลใช้มาตรการใช้สินค้าเหล็กที่ผลิตภายในประเทศจากการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐไปยังการก่อสร้างประเภทอื่นๆ เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ด้านนายนาวา จันทนสุรคน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) และผู้แทนกลุ่ม 10 สมาคมเหล็ก เปิดเผยว่า สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเหล็กวิกฤติยิ่งขึ้น จากเหล็กจีนทะลักเข้ามาไทยทั้งการทุ่มตลาด การอุดหนุน และการหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า ทำให้ผู้ผลิตสินค้าเหล็กไทยซึ่งมีการจ้างงานทั้งระบบกว่า 330,000 คน ได้รับผลกระทบรุนแรงจนบางโรงงานต้องปิดกิจการและเลิกจ้าง 10 สมาคมเหล็กจึงได้เร่งประสานทำงานร่วมกับกระทรวงต่างๆ เพื่อให้มีการเร่งรัดแก้ไขปัญหาวิกฤติอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้วิจัยพบว่าการผลิตเหล็กในประเทศไทยที่หายไปทุกๆ 1 แสนตัน จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของไทย ลดลง 0.19% และอัตราการจ้างงานในอุตสาหกรรมเหล็กลดลง 1.2%
ภาพจาก : Thaipubilca
ที่มา : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ/2766803