“เวิลด์แบงก์” หั่นคาดการณ์ GDP เอเชียเหลือโต 5% จีน-ไทย-เวียดนาม หนี้ภาคธุรกิจพุ่งเร็ว

สำนักข่าว CNBC รายงานว่า ธนาคารโลก ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตสำหรับประเทศเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยระบุถึง จีนและดีมานด์ทั่วโลกที่ซบเซา ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับสูงและการค้าที่ซบเซา ทั้งนี้ เวิลด์แบงก์กล่าวว่าขณะนี้คาดว่าประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะเติบโต 5% ในปี 2566 ตามรายงานเดือนตุลาคม ซึ่งน้อยกว่าการคาดการณ์ 5.1% ในเดือนเมษายนเล็กน้อย ขณะเดียวกันเวิลด์แบงก์คงการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจจีนในปีนี้ ไว้ไม่เปลี่ยนแปลงที่ 5.1% แต่ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีหน้า ลงเหลือ 4.4% จาก 4.8% โดยระบุถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างในระยะยาว ระดับหนี้ที่สูงขึ้นในเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และความอ่อนแอในภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นเหตุผลในการปรับลดอันดับ

นอกจากนี้ยังเผชิญกับระดับหนี้ที่เพิ่มขึ้น ธนาคารโลกระบุว่า หนี้ภาครัฐทั่วไปเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับระดับหนี้ภาคธุรกิจที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในจีน ไทย และเวียดนาม โดยเตือนว่าระดับหนี้ภาครัฐที่สูงอาจจำกัดการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน หนี้ที่สูงขึ้นอาจนำไปสู่อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมสำหรับธุรกิจเอกชนเพิ่มขึ้น

ที่มา : https://moneyandbanking.co.th/2023/64731/

‘เวิลด์แบงก์’ ชี้การลงทุน FDI ในเวียดนามยังคงทรงตัว ท่ามกลางความไม่แน่นอนทั่วโลก

ธนาคารโลก (WB) ได้ออกรายงาน Vietnam Macro Monitoring ประจำเดือน ส.ค. 2566 ระบุว่ากระแสการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และการเบิกจ่ายงบประมาณ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่จะมองหาโอกาสทางธุรกิจในตลาดเวียดนาม ทั้งนี้ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 2.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี เหตุจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมในประเทศและการส่งออก ในขณะที่ยอดค้าปลีก ปรับตัวดีขึ้น 7.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด อีกทั้ง การลงทุน FDI ยังคงอยู่ในระดับทรงตัว ท่ามกลางความไม่แน่นอนทั่วโลก ด้วยเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าไปยังเวียดนาม มีมูลค่ากว่า 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 32% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค.

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-fdi-performance-remains-steady-amid-global-uncertainties-wb-post1046850.vov

“เวิลด์แบงก์” ชี้ ธ.กลาง จับตาตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด

นางแคโรลีน เติร์ก ผู้อำนวยการธนาคารโลก ประจำเวียดนาม กล่าวว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มมุ่งหน้าสู่ความปั่นป่วน ขณะที่เผชิญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อุปสงค์ลดลง เงินเฟ้อสูงขึ้นและการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด โดยเฉพาะด้านสินเชื่อ ของธนาคารกลางทั่วโลก ความคิดเห็นข้างต้นนั้นเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ที่ธนาคารสหรัฐฯ 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารซิลิคอน แวลลีย์ (ธนาคารใหญ่เป็นอันดับที่ 16 ของสหรัฐฯ) ตามมาด้วยธนาคารซิกเนเจอร์ และธนาคารซิลเวอร์เกตที่ร่วงลงมา ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินทั่วโลก ซึ่งผู้ที่มีอำนาจในการกำกับนโยบายควรให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ในครั้งนี้และเตรียมวางแผนที่จะเข้ามาแทรกแซง หากมีความจำเป็น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1498513/central-bank-must-keep-a-close-on-the-financial-market-wb.html

“เวิลด์แบงก์” ประเมินเศรษฐกิจเวียดนาม ปี 2566 จะเติบโตอยู่ในระดับปานกลาง

ธนาคารโลก (WB) เปิดเผยรายงานแนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจโลก ‘Global Economic Prospects’ ฉบับล่าสุด เปิดเผยว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม (GDP) จะขยายตัว 6.3% ในปี 2566 โดยสะท้อนให้เห็นจากปัจจัยบวกในปีที่แล้ว หลังจากเวียดนามประกาศยกเลิกข้อจำกัดการเดินทาง และเวียดนามยังได้รับอนิสงค์จากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนและภาคการส่งออก อย่างไรก็ตาม การส่งออกของเวียดนามไปยังตลาดสำคัญมีทิศทางที่ชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยิดเยื้อและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงสูงขึ้น อาจส่งผลให้การดำเนินธุรกิจทั่วโลกและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคถดถอยลงไปอีก

ที่มา : https://vir.com.vn/world-bank-says-vietnams-gdp-growth-to-moderate-in-2023-99184.html

“เวิลด์แบงก์” ชี้ภาวะเศรษฐกิจสปป.ลาว ชะลอตัว

รายงานอัพเดทเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (East Asia and Pacific Country Economic Updates) ประจำเดือนต.ค.65 ของธนาคารโลก ระบุว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของสปป.ลาว มีแนวโน้มชะลอตัวกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเดือนเม.ย. สาเหตุสำคัญมาจากเผชิญกับสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอก โดยธนาคารโลกได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสปป.ลาว เหลือ 2.5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.8%

ทั้งนี้ ตามข้อมูลของธนาคารโลก เปิดเผยถึงผลการดำเนินทางด้านเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าได้รับแรงกดดันจากภาวะอุปสงค์ทั่วโลกที่ชะลอตัว หนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้นและการแก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจในระยะสั้น เพื่อรองรับกับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับราคาอาหารและเชื้อเพลิง

นอกจากนี้ สปป.ลาว ยังคงเผชิญกับอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง ทำให้เป็นส่วนหนึ่งที่เกิดภาวะเงินเฟ้อ กดดันต่อสถานะของครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten188_slower.php

“เวิลด์แบงก์” ปรับเพิ่มจีดีพีเวียดนามปี 65 ขยายตัว 7.2%

รายงานอัพเดทเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (East Asia and Pacific Country Economic Updates) ประจำเดือนตุลาคม 2565 ของธนาคารโลก คาดการณ์ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2565 ขยายตัว 7.2% เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่กำลังฟื้นตัว และการส่งออกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ธนาคารโลกชี้ว่าการฟื้นตัวของภาคส่งออกและความต้องการสะสมที่ถูกอั้นไว้ (pent-up demand) รวมถึงการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามในระยะกลาง-ระยะยาว สามารถบรรลุเป้าหมายของประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง อย่างไรก็ดีขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นนวัตกรรม

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnams-economy-to-expand-72-in-2022-wb-post118336.html

เวิลด์แบงก์ ชี้ ‘เวียดนาม’ ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจากข้อตกลง RCEP

ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยว่าเวียดนามทำรายได้มากที่สุดจากการค้ากับประเทศสมาชิกภายใต้ความตกลงการเป็นหุ้นส่วนระดับภูมิภาค (RCEP) โดยอัตราภาษีศุลกากรทางการค้าเฉลี่ยของเวียดนามปรับตังลดลงจาก 0.8% มาอยู่ที่ 0.2% ในขณะที่อัตราภาษีศุลกากรที่ประเทศจะลดลงจาก 0.6% มาอยู่ที่ 0.1% ปี 2543-2578 ทั้งนี้ ตามรายงานของ newswire Vietnam Briefing ชี้ว่าผลประโยชน์จากการค้าของเวียดนามกับสมาชิกประเทศ RCEP ส่งผลให้เวียดนามมีรายได้เพิ่มขึ้น 4.9% เมื่อเทียบกับระดับพื้นฐาน ซึ่งถือว่าสูงกว่าระดับของประเทศอื่นๆ ที่ทำรายได้เพิ่มขึ้นราว 2.5% อีกทั้ง เวียดนามและมาเลเซียเป็นประเทศสมาชิกที่คาดว่าจะได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากข้อตกลงฉบับนี้ “RCEP” จะช่วยให้เวียดนามเข้าถึงตลาดผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่กว่า 2 เท่าของความตกลง CPTPP อย่างไรก็ตามเวียดนามต้องยกระดับความสามารถ เพื่อที่จะตอบสนอบความต้องการที่สูงขึ้นและการแข่งขันที่รุนแรง

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-to-benefit-most-from-rcep-wb-post937468.vov

“เวิลด์แบงก์” ประเมินเวียดนามได้รับผลประโยชน์ทางการค้าและรายได้มากที่สุดในสมาชิก RCEP

ตามรายงานของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยว่าได้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบจากการเข้าร่วมสมาชิกของเวียดนามจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยพิจารณาแบบจำลองจาก 4 ปัจจัยที่สะท้อนให้ทราบถึงสถานะของธุรกิจ 1) การปรับลดภาษีของกลุ่ม RCEP เพียงข้อตกลงการค้าฉบับเดียวเท่านั้น 2) ลดอัตราภาษีศุลกากรและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี อาทิ การลดภาษีสินค้าเกษตร 35%,  สินค้าอุตสาหกรรม 25% และบริการ 25% 3) ต้นทุนการค้าระหว่างสมาชิกลดลง 1% ในช่วงปี 2565-2578 4) ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการเปิดกว้างทางการค้าและต้นทุนการค้าที่ลดลง ดังนั้น ผลจากการวิเคราะห์ พบว่ารายได้และการค้าที่แท้จริงของเวียดนามขยายตัวได้ดี ตลอดจนได้รับผลประโยชน์สูงสุดในสมาชิก RCEP รายได้ที่ทแจริงเพิ่มขึ้น 4.9% เมื่อเทียบกับระดับพื้นฐาน

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-to-get-highest-trade-income-gains-among-rcep-members-wb-post926211.vov

‘เวิลด์แบงก์’ เผยเวียดนามคงเกินดุลการค้าในช่วงต้นปี 65

ตามรายงาน “Vietnam Macro Monitoring” ของธนาคารโลก (World Bank) เปิดเผยว่าภาวะการค้าของเวียดนามยังคงเกินดุลการค้า ถึงแม้ว่าการส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัว ในส่วนของภาคการผลิตอุตสาหกรรมนั้น ยังคงเติบโตเป็นบวก แม้ในอัตราการเติบโตจะชะลอตัว ในขณะที่ยอดค้าปลีกมีทิศทางที่เป็นบวกเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงปลายเดือน เม.ย.64 ในอีกด้านหนึ่ง การดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเดือน ม.ค. มีมูลค่า 2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.2%YoY โดยได้รับแรงสนับสนุนมาจากการเพิ่มเม็ดเงินลงทุนจำนวนมากไปยังโครงการปัจจุบันและผ่านการควบรวมกิจการ นอกจากนี้ ราคาพลังงานปรับตัวพุ่งสูงขึ้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ราคาอาหารยังคงอยู่ในระดับทรงตัวหรือไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากมีการควบคุมเงินเฟ้อ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-trade-balance-remains-in-surplus-in-early-2022-post924758.vov

 

เวิลด์แบงก์ เผยตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจเวียดนามอยู่ในระดับที่ดี

ตามรายงานของธนาคารโลก (World Bank) ประจำเดือนพฤษภาคม 2564 ระบุว่าตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของเวียดนามในเดือนเมษายนอยู่ในเกณฑ์ที่ดี อย่างไรก็ตาม ได้เตือนสัญญาถึงความเสี่ยงหลายด้านต่อเศรษฐกิจเวียดนาม เนื่องจากการระบาดครั้งล่าสุดของโควิด-19 ในช่วงปลายเดือนเมษายน ทั้งนี้ การผลิตของภาคอุตสาหกรรมยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง เพิ่มขึ้น 1.1% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม ขณะที่ การส่งออกมีอัตราการเติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก โดยเฉพาะสินค้าประเภทเครื่องจักรที่มีการเติบโตเร็วที่สุด นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังให้ความสำคัญกับความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเวียดนาม ด้วยจำนวนวัคซีน 506,000 โดสในเดือนเมษายน เทียบกับจำนวน 50,000 โดสในช่วงปลายเดือนมีนาคม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/wb-most-of-vietnams-economic-indicators-in-april-good/201631.vnp