‘นายกฯ เวียดนาม’ เผยแผนงานการทูตเศรษฐกิจ ตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจ 8.3-8.5% ปี 68

นายฝั่ม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม เป็นประธานการประชุมกับหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูตต่างประเทศของเวียดนาม เพื่อเสริมสร้างการทูตเศรษฐกิจให้บรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงครึ่งปีหลัง และวางเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ที่สองหลัก โดยการประชุมครั้งนี้ มีสำนักงานใหญ่ของรัฐบาล คณะผู้แทนต่างประเทศ 94 แห่ง และคณะกรรมการประชาชนประจำจังหวัดและเทศบาล 34 แห่ง เข้าร่วม ทั้งนี้ จากการประชุมได้มีการชี้แจ้งถึงความสำเร็จในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ที่เวียดนามสามารถยกระดับความสัมพันธ์กับ 10 ประเทศ และลงนามข้อตกลงความร่วมมือ 253 ฉบับ เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าในปี 2567

นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตและหัวหน้าคณะผู้แทนเวียดนามในต่างประเทศ ให้คำมั่นว่าจะดำเนินการทางการทูตอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ประเทศปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการเติบโตและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ

ที่มา : https://vietnamlawmagazine.vn/economic-diplomacy-to-support-growth-target-of-83-85-percent-in-2025-pm-74743.html

‘นายกฯ เวียดนาม’ ตั้งเป้า GDP ปี 68 โต 8.3% – 8.5%

นายฝั่ม มิงห์ จิ๋งห์ (Pham Minh Chinh) นายกรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าวในที่ประชุมรัฐบาลว่าเวียดนามจะสร้างรากฐานที่มั่งคงสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวสองหลัก ในช่วงปี 2569-2573 โดยได้ตั้งเป้าหมายผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัว 8.3% – 8.5% ในปีนี้ ถึงแม้ว่าจะเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ ความตึงเครียดทางการค้า การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ นายกฯ กล่าวว่าเวียดนามจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม เช่น การบริโภคภายในประเทศ การส่งออก และการลงทุน ควบคู่ไปกับการนำปัจจัยขับเคลื่อนใหม่ๆ มาใช้ รวมถึงการเติบโตสีเขียวและเศรษฐกิจดิจิทัล

ที่มา : https://www.reuters.com/world/asia-pacific/vietnam-pm-says-targeting-83-85-gdp-growth-this-year-2025-07-16/

นายกฯ กัมพูชา เน้นย้ำ Human Capital คือหัวใจสำคัญของวิสัยทัศน์กัมพูชา 2050

นายกรัฐมนตรี Hun Manet แถลงเมื่อวันอังคารว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์มาโดยตลอด โดยตระหนักว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเป็นต่อการบริหารจัดการและเสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงการบรรลุวิสัยทัศน์ระยะยาวของประเทศในปี 2050 ซึ่งได้กล่าวในพิธีเปิดโรงเรียนแห่งใหม่ที่เมือง Oudong Mechey จังหวัด Kampong Speu ว่า การขยายและเสริมสร้าง Human Capital โดยเฉพาะในระดับจังหวัด เป็นสิ่งที่จำเป็นและเร่งด่วน เพื่อตอบสนองความต้องการในอนาคตและสอดรับกับแนวโน้มระดับภูมิภาคและระดับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงเน้นย้ำว่า Human Capital เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ดึงดูดการลงทุน และส่งเสริมนวัตกรรมและความสามารถในการแข่งขันของกัมพูชา โดยอนาคตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาต้องสร้างขึ้นบนรากฐานของ Human Capital ที่แข็งแกร่งและหลากหลาย ไม่ใช่แค่บุคคลไม่กี่คน แต่เป็นแรงงานที่มีทักษะจำนวนมากในทุกภาคส่วน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501714044/pm-says-human-capital-key-to-cambodias-vision-2050/

GDP เวียดนามไตรมาสที่ 2/2568 โตเร่งขึ้นที่ 7.96%YoY คาดครึ่งหลังของปีจะโตชะลอจากผลภาษี reciprocal 20%

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch)

​เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาสที่ 2/2568 โตเร่งขึ้นที่ 7.96%YoY โดยมีปัจจัยหนุนจากการส่งออก การลงทุนภาครัฐ และการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม

  • การส่งออกเติบโตเร่งขึ้นมาที่ 18.0%YoY โดยหลัก ๆ คือ การเร่งส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ก่อนสิ้นสุดช่วงระงับภาษี 90 วัน และก่อนทราบผลว่าเวียดนามได้ดีลจะถูกสหรัฐฯ เก็บภาษี reciprocal 20% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 46% (รูปที่ 3)
  • การลงทุนภาครัฐขยายตัวที่ 20.1%YoY จากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อาทิ สนามบินนานาชาติ Long Thanh และทางหลวงเชื่อมเวียดนามเหนือ-ใต้ (North-South Expressway)
  • ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวที่ 10.3%YoY สะท้อนการเร่งการผลิตเพื่อตอบโจทย์การส่งออกและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยการผลิตที่เร่งตัวขึ้นอยู่ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมแปรรูปเหล็ก อุตสาหกรรมพลาสติก และอุตสาหกรรมการผลิตซีเมนต์.

ทั้งปี 2568 เศรษฐกิจเวียดนามคาดเติบโตที่ 6.7% โดยจะโตชะลอลงในครึ่งหลังของปีจากครึ่งแรกที่เติบโต 7.52%YoY ซึ่งมีปัจจัยฉุดดังนี้

  • การส่งออกชะลอตัวจากการที่สหรัฐฯ เริ่มบังคับใช้ภาษี reciprocal 20% โดยมองว่าการส่งออกเวียดนามจะชะลอตัวลงอย่างมากในครึ่งหลังของปี ส่วนการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ คาดหดตัวลง เนื่องจากผู้นำเข้าส่วนใหญ่ได้สต๊อกสินค้าเอาไว้แล้วในช่วงไตรมาสที่ 2 นอกจากนี้ ยังประเด็นเกี่ยวกับสินค้าที่ประเทศอื่นส่งออกผ่านเวียดนาม (transshipped goods) ที่จะถูกเก็บภาษีสูงถึง 40% ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนถึง 29% ของการส่งออกรวม
  • การเกินดุลการค้าลดลงจากการเปิดตลาดสินค้าให้กับสหรัฐฯ รวมทั้งการเซ็น MOU ซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ มูลค่า 2-3 พันล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ การเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เป็นปัจจัยหลักหนุนการเกินดุลการค้าของเวียดนามในภาพรวม

นอกจากนี้ เศรษฐกิจเวียดนามยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงอยู่หลายปัจจัย ได้แก่

  • ทิศทางการอ่อนค่าของเงินดอง หลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศบรรลุความตกลงกับเวียดนาม ค่าเงินดองก็อ่อนค่าเป็นประวัติการณ์มาที่ระดับ 26,195 ดองต่อดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ เป็นเพราะดีลนี้ทำให้เวียดนามมีแนวโน้มเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงจากการเกินดุลการค้าที่ลดลง นอกจากนี้ เวียดนามยังเผชิญกระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
  • ปัญหาเสียในระบบธนาคารยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูง โดยสัดส่วน NPL อยู่ที่ระดับ 78% ณ เดือน มี.ค. 2567 และยังไม่มีการประกาศข้อมูลสัดส่วน NPL ในปีนี้ ทั้งนี้ หนี้เสียในระบบธนาคารเวียดนามมีปัจจัยหลักมาจากปัญหาหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปลายปี 2565

อ่านต่อ : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Vietnam-Reciprocal-EBR4170-FB-07-07-2025.aspx

‘เวียดนาม’ เผย GDP ไตรมาส 2 โตแรง รับอานิสงค์ส่งออกพุ่ง ปิดดีลเจรจาสหรัฐฯ

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม เปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่ 2 (เม.ย.-มิ.ย.) ของปี 2568 ขยายตัว 7.96% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขยายตัวดีขึ้นจาก 6.93% ในไตรมาสแรก ซึ่งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งเป้าไว้ทั้งปีที่ 8% โดยจากการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ มีทิศทางในเชิงบวกและอยู่ในระดับใกล้เคียงที่ตั้งเป้าไว้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจระดับโลกและระดับภูมิภาค

ทั้งนี้ ภาคการส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ โดยมีอัตราการขยายตัว 18% มูลค่ากว่า 116.93 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม และเมื่อเร็วๆ นี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าจะจัดเก็บภาษีสินค้าเวียดนามหลายรายการในอัตราภาษีที่ต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี

ที่มา : https://news.tuoitre.vn/vietnam-q2-gdp-growth-quickens-on-strong-exports-us-trade-deal-brightens-outlook-10325070510514147.htm

‘เวียดนาม’ ปลดล็อกกฎหมายขอสัญชาติ ถือ 2 สัญชาติได้ หวังดึงดูดแรงงานทักษะสูง

ตามรายงานของ Nikkei Asia เปิดเผยว่าเวียดนามอนุมัติเห็นชอบว่าด้วยการแก้ไขกฎหมายสัญชาติ โดยอนุญาตให้พลเมืองเวียดนามที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศและชาวต่างชาติที่อยู่ต่างประเทศสามารถถือ 2 สัญชาติได้ แสดงให้เห็นถึงความพยายามของเวียดนามที่ต้องการดึงดูดแรงงานที่มีทักษะเข้ามาในประเทศมากขึ้น โดยการเปลี่ยนข้อกฎหมายในครั้งนี้ ถือว่าเป็นความก้าวหน้าของเวียดนามที่กำลังปฏิรูปครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 40 ปี รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย โครงสร้างรัฐบาล และการผ่อนปรนกฎระเบียบการลงทุน เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ที่มา : https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/vietnam-approves-dual-citizenship-law-to-attract-skilled-foreign-workers

ฮุน เซน มั่นใจเศรษฐกิจกัมพูชาเติบโตร้อยละ 5.2

ประธานวุฒิสภาและประธานพรรค Cambodian People’s Party (CPP) ฮุน เซน แสดงความมั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจของกัมพูชาในช่วงครึ่งแรกของปี 2025 โดยเน้นย้ำถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคที่แข็งแกร่ง อัตราเงินเฟ้อต่ำ ค่าเงินเรียล (Riel) ที่มีเสถียรภาพ และทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ในโอกาสครบรอบ 74 ปีการก่อตั้งพรรค CPP (28 มิถุนายน 1951-2025) โดยได้กล่าวเสริมว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ การค้าระหว่างประเทศมีมูลค่าสูงถึง 2.55 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 โดยการส่งออกมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 1.20 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.98 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2024 ขณะที่ CDC ได้อนุมัติโครงการลงทุน 290 โครงการ ในช่วงเวลา 5 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 137 โครงการจากปีก่อน นำมาซึ่งเงินลงทุนประมาณ 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าจะสร้างงานได้ประมาณ 200,000 ตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม Chey Tech นักวิจัยทางเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจกัมพูชายังคงเติบโต แต่ก็อาจได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากสงครามที่ยืดเยื้อและความตึงเครียดในตะวันออกกลาง นอกจากนี้ การเติบโตของเศรษฐกิจกัมพูชาอาจถูกจำกัด หากการเจรจาเกี่ยวกับอัตราภาษีของสหรัฐฯ ไม่เป็นผลสำเร็จ ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจหดตัวลงเหลือประมาณร้อยละ 4 หรือลดลงอีกในอนาคต หากการเรียกเก็บภาษีมีผลบังคับใช้เต็มที่ แต่หากการเรียกเก็บภาษีถูกเลื่อนออกไปจนถึงสิ้นปี คาดว่าเศรษฐกิจกัมพูชาจะเติบโตประมาณร้อยละ 5.5 ในปี 2025

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501709052/hun-sen-projects-5-2-growth-as-economic-confidence-remains-strong/

‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ 5 เดือนแรกปี 68 ส่งสัญญาณเชิงบวก หนุนฟื้นตัวแข็งแกร่ง

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (NSO) ระบุว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมของเวียดนาม มีทิศทางขยายตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (IIP) ในเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 9.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี (YoY) โดยเฉพาะสาขาการผลิตและแปรรูปที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก 10.8% ในขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ปรับตัวดีขึ้น อยู่ที่ 49.8 ในเดือน พ.ค. จากระดับ 45.6 ในเดือน เม.ย. ส่งสัญญาณถึงระดับความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่กลับมาฟื้นตัว ตามมาด้วยตัวเลขค้าปลีกและบริการ เดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 10.2% นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนเวียดนาม จำนวน 9.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 21.3% และการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยทุนจดทะเบียนมีมูลค่าสูงสุดในรอบ 5 ปี อยู่ที่ 18.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 51% จากปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ามีสัญญาณเชิงบวกหลายประการ แต่ยังคงเผชิญกับความท้าทาย เช่น ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และรายได้ของประชากรต่ำ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-economy-sees-positive-signals-in-five-months-post320817.vnp

‘UOB’ คงคาดการณ์ GDP เวียดนามปี 68 โต 6% แม้เผชิญอุปสรรคการค้า

ธนาคารยูโอบี (UOB) ประเมินเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2568 โดยคงคาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 6% และปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามในปีหน้า จะขยายตัวที่ 6.3% ถึงแม้ว่าจะคงตัวเลขเศรษฐกิจ แต่ทางธนาคารประเมินว่าเศรษฐกิจจะยังคงเผชิญกับความเสี่ยงในหลายด้าน โดยเฉพาะความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศ สะท้อนจากเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสแรกของปีนี้ ชะลอตัวลงเหลือ 6.93% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งต่ำกว่าที่ธนาคารประมาณการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ขยายตัว 7.1% และ 7.55% โดยการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ มีสาเหตุบางส่วนมาจากวันหยุดตรุษจีน แต่ได้รับการบรรเทาการด้วยกิจกรรมการค้าและการลงทุนที่ยืดหยุ่น อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นของตลาดในเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีความกังวลอย่างมากต่อการขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้านำเข้าจากเวียดนามที่ได้รับอัตราภาษีสูงถึง 46% ส่งผลให้นักวิเคราะห์ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนาม แต่หลังจากที่สหรัฐฯ ชะลอการเจรจาเป็นระยะเวลา 90 วัน ทางการเวียดนามเดินหน้าเจรจาอย่างต่อเนื่องกับสหรัฐฯ รวมถึงเดินหน้าส่งเสริมการค้าในระยะสั้น

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/uob-maintains-vietnams-2025-gdp-growth-forecast-at-6-despite-trade-headwinds-post1205947.vov

‘เวียดนาม’ เผยภาคอุตสาหกรรม มีทิศทางขยายตัวต่อเนื่อง

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (IIP) ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) โดยสาขาการผลิตและแปรรูปยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคอุตสาหกรรมเวียดนาม เพิ่มขึ้น 10.8% และคิดเป็น 8.8% ของดัชนี IIP ตามมาด้วยสาขาการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า เพิ่มขึ้น 4.2% สาขาการประปาและบ้ำบัดน้ำเสีย เพิ่มขึ้น 10% ในขณะที่สาขาการขุดเหมืองแร่ ลดลง 3.4%

นอกจากนี้ เวียดนามตั้งเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศ และบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างน้อย 8% ในปีนี้ ด้วยเหตุนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) ดำเนินการตามภารกิจของรัฐบาลที่ลงมติไว้ว่าหน่วยงานของรัฐบาล กระทรวงและส่วนท้องถื่นต่างๆ หารือร่วมกันในการส่งเสริมภาคธุรกิจให้สามารถขยายการลงทุนและดึงดูดบริษัทข้ามชาติเข้าร่วมโครงการสำคัญ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1719227/industrial-production-shows-continued-upward-trend.html