แนะรัฐให้ต่างชาติซื้อบ้านได้เฉพาะ กทม. อีอีซี ภูเก็ต ราคาเกิน 10 ล้านขึ้นไป

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า การขยายสิทธิให้ชาวต่างชาติเข้ามาถือครองชุดบ้านจัดสรรได้เพิ่มขึ้น ควรกำหนดให้ซื้อได้เฉพาะบ้าน หรือคอนโดฯ ระดับหรูที่มีราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อไม่ให้มาแย่งซื้อที่อยู่อาศัยจากคนชั้นกลาง หรือคนทำงาน ซึ่งนิยมซื้อบ้านราคาปานกลาง 3-8 ล้านบาท เพราะอาจทำให้ที่อยู่อาศัยราคาแพงขึ้น นอกจากนี้ ควรกำหนดโซนถือครองบางพื้นที่ เฉพาะในเขตเศรษฐกิจสำคัญ เช่น  กรุงเทพฯ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือภูเก็ต ไม่ควรเปิดให้เข้ามาถือครองได้อิสระ ส่วนการขยายกรรมสิทธิ์เกิน 30 ปี  ควรแบ่งเป็นช่วง ๆ ต่ออายุได้อีกครั้งละ 30 ปี อีก 2 ครั้ง รวมเป็น 90 ปี รวมถึงการถือครองคอนโดฯ แม้จะขยายสัดส่วนเข้าอยู่ได้เกิน 49% แต่ก็ควรจำกัดสิทธิการโหวตไม่เกินกึ่งหนึ่งเหมือนเดิม เพื่อให้คนไทยยังเป็นเสียงส่วนใหญ่อยู่

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/news/292995/

พัฒนาระบบรางไทยเชื่อมต่อ EEC กับแดนมังกร ผ่านรถไฟลาว-จีน

โดย ปุญญภพ ตันติปิฎก I Economic Intelligence Center I ธนาคารไทยพาณิชย์

ในวันที่ 2 ธันวาคม 2021 สปป. ลาว เตรียมเปิดให้บริการโครงการรถไฟลาว-จีน ในฝั่งลาวเชื่อมต่อนครหลวงเวียงจันทน์กับนครคุนหมิงของจีน หลังใช้เวลาก่อสร้างราว 5 ปี โครงการนี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผน Belt and Road Initiative ของจีน จะช่วยให้การขนส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างลาวกับจีนและภายในลาวเอง สะดวกรวดเร็ว ต้นทุนลดลง และดึงดูดการค้าการลงทุนเพิ่มขึ้น

การเปิดให้บริการโครงการนี้ เป็นโอกาสของไทยในการพัฒนาระบบรางฝั่งไทยให้เชื่อมต่อไปถึงจีนโดยเฉพาะเส้นทางขนส่งสินค้ากับ EEC ซึ่งเป็นฐานการค้าที่สำคัญระหว่างไทยกับจีน โดยเฉพาะในสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าเกษตรกรรม เช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด อีกทั้ง ยังสามารถรองรับการค้าผ่านแดนไทย-จีนที่กำลังขยายตัวสูง 60%YTD ในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 ปัจจุบัน การขนส่งสินค้าระหว่าง EEC กับจีนพึ่งพิงทางทะเลและถนนเป็นหลัก ขณะที่ทางรางยังมีการใช้งานจำกัด เนื่องจากเส้นทางส่วนใหญ่ยังเป็นรถไฟทางเดี่ยว อีกทั้ง การพัฒนารถไฟทางคู่ยังติดปัญหาก่อสร้างในช่วงคลองขนาดจิตร-จิระ อยู่ระหว่างศึกษากับเตรียมประมูลช่วงขอนแก่น-หนองคาย-เวียงจันทน์ และสรรหาเอกชนเดินรถช่วงแหลมฉบัง-หนองคาย ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2026 ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงยังอยู่ระหว่างก่อสร้างช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมาและอยู่ระหว่างศึกษากับออกแบบช่วงนครราชสีมา-หนองคาย-เวียงจันทน์ โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการตลอดเส้นทางได้ในช่วงปี 2029-2032 ทำให้ในช่วงนี้จำเป็นต้องเน้นเพิ่มการใช้งานระบบรางที่มีอยู่ก่อน

การเชื่อมต่อระบบรางระหว่าง EEC กับจีนจะก่อให้เกิดประโยชน์และเพิ่มศักยภาพการค้าการลงทุนของไทยในหลายมิติ กล่าวคือ

1. ลดต้นทุนโลจิสติกส์ ทั้งนี้ รายงานของ World Bank ปี 2020 พบว่า การขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือแหลมฉบังถึงคุนหมิงผ่านรถไฟลาว-จีนเมื่อเทียบกับทางถนนทั้งเส้นทาง ลดต้นทุนขนส่งต่อตันได้ตั้งแต่ 32% ถึง มากกว่า 50% ขึ้นอยู่กับรูปแบบการขนส่งในฝั่งไทย โดยถ้าในฝั่งไทยขนส่งด้วยรถบรรทุกต้นทุนจะลดลง 32% ขณะที่รถไฟทางเดี่ยว-คู่จะลดลงมากกว่า 40% และรถไฟความเร็วสูงซึ่งเป็นรางขนาดเดียวกันจะลดลงมากกว่า 50% นอกจากนี้ การขนส่งทางรางยังใช้เวลาเพียง 0.5-1.5 วัน ซึ่งเร็วกว่าทางถนนที่ใช้เวลา 2-3 วัน และทางทะเลที่ใช้เวลา 5-7 วัน

2. เพิ่มทางเลือกรูปแบบการขนส่งสินค้าไปยังจีนและต่อเนื่องไปถึงยุโรปผ่านเส้นทางสายไหมใหม่จีน-ยุโรปที่กำลังขยายตัวสูงด้วยระยะเวลาขนส่งที่น้อยกว่าทางทะเลมากกว่าเท่าตัวเหลือเพียงราว 15 วัน โดยเวียดนามเริ่มให้บริการเส้นทางฮานอย-เบลเยี่ยมผ่านเส้นทางนี้แล้ว อีกทั้ง การขนส่งทางรางจะช่วยกระจายความเสี่ยงจากทางทะเลดังเช่นในปัจจุบันที่การแพร่ระบาด COVID-19 ส่งผลให้การขนส่งทางทะเลติดขัดล่าช้าและค่าขนส่งเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว

3. ดึงดูดให้เกิดการลงทุนใน EEC เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มศักยภาพการขนส่ง โดยเฉพาะจากเทรนด์การปรับตัวของ supply chain โลก ที่ทำให้นักลงทุนทั้งชาวจีนและชาวต่างชาติมีแนวโน้มกระจายความเสี่ยงการลงทุนออกจากจีนไปยังประเทศใกล้เคียงที่ขนส่งสินค้ากับจีนได้สะดวกรวดเร็วภายใต้ต้นทุนต่ำ

ดังนั้น ภาครัฐควรเร่งส่งเสริมให้เกิดการใช้งานระบบรางในไทยเชื่อมต่อรถไฟลาว-จีนมากขึ้น ควบคู่กับการเร่งพัฒนาโครงการรถไฟที่เกี่ยวข้องให้เปิดดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว โดยในระยะสั้น ควรสนับสนุนให้เกิดการใช้งานรถไฟทางเดี่ยว-คู่ภายใต้โครงข่ายปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพบริการ การพัฒนาระบบพิธีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ รวมถึงการแก้ไขปัญหาคอขวดด้วยการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ เช่น สะพานข้ามพรมแดน ท่าเรือบก ระบบขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิสำหรับผัก-ผลไม้ เป็นต้น ส่วนในระยะกลาง-ยาว ควรเร่งพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ควบคู่กับรถไฟความเร็วสูงให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดประสานกันภายใต้ขั้นตอนที่โปร่งใส่กับงบประมาณที่กำหนด การพัฒนาระบบรางนี้จะมีส่วนช่วยผลักดันให้ไทยกลายเป็นฮับโลจิสติกส์ของอาเซียนได้

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7795

ดึงโมเดล EEC ปั้นเขตเศรษฐกิจใหม่ ดูดลงทุนหลังโควิด 4 แสนล้าน

คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือเลขาฯอีอีซี) เผย ในช่วงที่ทั้งโลกต้องเผชิญกับกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็นจังหวะดีที่ไทยจะใช้เวลานี้เพื่อเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและเตรียมพื้นที่เพื่อรอการลงทุนที่จะกลับมาหลังสถานการณ์ปกติ โดยการเพิ่มเขตเศรษฐกิจพิเศษ 21 เขต 9 กลุ่มทั่วไทยและใช้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นต้นแบบ พร้อมเสริมสิทธิประโยชน์อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ศักยภาพสูงในแต่ละพื้นที่ โดยแผนนี้จะถูกผลักดันเข้าไปเป็นหนึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับ 13 (ปี 2566-2570) หวังดึงเงินลงทุนโดยตรง (FDI) กว่า 4 แสนล้านบาท ดัน GDP โตได้ถึง 4-5%

ที่มา: https://www.prachachat.net/economy/news-679526

พิษโควิดฉุดอสังหาฯ เขตอีอีซี ค้างสต๊อก 2.2 แสนล้าน

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เผย แนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ในปี 64 มีทิศทางชะลอตัวลงชัดเจนจากผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด ทำให้ยอดขายหดตัวลงทั้งจำนวนและมูลค่า จนคาดว่าจะมีที่อยู่อาศัยเหลือค้างสต๊อกมากถึง 68,170 หน่วย มูลค่า 2.21 แสนล้านบาท

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/845527

ยันไทยชาติแรกในอาเซียนมี 5G เชิงพาณิชย์ ครอบคลุม EEC เกือบทั้งหมดแล้ว

รองนายกฯ พล.อ.ประวิตร ย้ำประเทศไทยก้าวสู่ยุค 4.0 ปลื้มเป็นประเทศแรกในอาเซียนใช้ 5G เชิงพาณิชย์ ยันรัฐบาลจริงจังลุยแผนพัฒนาดิจิทัลฯ หนุนพัฒนาประเทศในทุกมิติ โดยเมื่อวันที่ 11 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เปิดงานสัมมนา “Powering Digital Thailand 2021” จัดโดยความร่วมมือระหว่าง บริษัท หัวเว่ยเทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท บางกอกโพสต์ จำกัด (มหาชน) ในระหว่างวันที่ 11-14 พ.ย. 2563 ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศอาเซียนพัฒนาเทคโนโลยี 5G มาใช้ในเชิงพาณิชย์ ขณะนี้ครอบคลุมพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก หรือ EEC เกือบทั้งหมดแล้ว ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลโดยเฉพาะระบบ 5G ระบบคลาวด์และเอไอจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลภูมิภาค จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคต นำไปสู่การต่อยอดนวัตกรรมแบบไม่มีที่สิ้นสุด

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/business/1974383

เอกชนลุ้นกำลังซื้อฟื้น-ขายรถพุ่ง นักลงทุนจีนชี้อีอีซียังมีความหวัง

นายายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดผลิตรถยนต์เดือน ก.ย.ที่ผ่านมาอยู่ที่ 150,345 คัน สูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนมากกว่า 100,000 คันเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน โดยยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 9 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) ลดลง 40.13% อยู่ที่ 453,643 คัน ส่วนยอดผลิตเพื่อส่งออกลดลง 25.41% อยู่ที่ 67,964 คัน 9 เดือนลดลง 37.49% อยู่ที่ 509,423 คัน รวมยอดผลิตรถยนต์ 9 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 963,066 คัน ซึ่งแม้จะลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 38.76% ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า หากพิจารณายอดขายรถยนต์ในประเทศเดือนต่อเดือน จะเห็นว่าตลาดรถยนต์มีแนวโน้มที่ดี เห็นได้จากยอดขายในประเทศเดือน ก.ย.อยู่ที่ 77,433 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 12.41% เนื่องจากรัฐบาลผ่อนคลายล็อกดาวน์มากขึ้น การแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ และการจัดงานมอเตอร์โชว์ ยังมีโอกาสที่ยอดผลิตรถยนต์ปีนี้จะทะลุเป้าหมาย 1.4 ล้านคันได้ แม้จะลดลง 4.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน และยอดขาย 9 เดือนอยู่ที่ 534,219 คัน ลดลง 22.1% แต่มีสัญญาณดีขึ้น จึงเป็นไปได้ที่ยอดขายในประเทศจะทะลุ 700,000 คันในเงื่อนไขต้องไม่มีการระบาดของโควิด-19 รอบสองขณะที่ การส่งออกคงเป้าเดิมที่ 700,000 คัน” ด้านนายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานหอการค้าไทย-จีนกล่าวว่า นักธุรกิจจีนยังมีความพร้อมมาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยมีทุนใหญ่ 2 รายซื้อที่ดินไว้เตรียมลงทุนสมาร์ทซิตี้ ที่ จ.ฉะเชิงเทรา 2,000-3,000 ไร่ และที่เมืองพัทยา 700 ไร่ แต่ยังรอการเปิดประเทศของไทย โดยการเข้ามาจำเป็นต้องเข้ามาผ่านระบบกักตัว 14 วัน ซึ่งได้เดินทางเข้ามาแล้วนับร้อยคน และยังมีรอเตรียมเข้ามาอีกนับพันคน.

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/business/market-business/1957021

คาดกัมพูชาจะได้รับประโยชน์จาก 3 โครงการใหม่ ภายใต้โครงการ EEC ของไทย

คณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้อนุมัติการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการพัฒนาใหม่ 3 โครงการ มูลค่ารวม 1.18 ล้านล้านบาท เพื่อเชื่อมโยงระหว่าง EEC และอุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียน โดยโครงการใหม่ทั้ง 3 โครงการคือท่าเรือบก 3 แห่ง มูลค่ารวม 24 พันล้านบาท ในขอนแก่น นครราชสีมา และฉะเชิงเทรา ซึ่งท่าเรือบกทั้ง 3 แห่งจะได้รับการพัฒนาเพื่อเชื่อมโยง EEC กับกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และจีน ซึ่งคณะกรรมการคาดว่ากลยุทธ์การเชื่อมโยงจะมีส่วนเพิ่มปริมาณการไหลเวียนของตู้คอนเทนเนอร์อีกกว่า 2 ล้านตู้ ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง โดยคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตั้งเป้าที่จะศึกษาท่าเรือบก ณ ฉะเชิงเทรามูลค่าประมาณ 8 พันล้านบาทภายในปี 2021 โดยใช้เวลาก่อสร้างอีก 2 ปี และศึกษาท่าเรือบกอีก 2 แห่ง ในขอนแก่นและนครราชสีมามูลค่ารวม 16 พันล้านบาท มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2022

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50770836/cambodia-stands-to-benefit-from-thai-eec-panels-approval-for-feasibility-studies-on-three-new-projects/

นายกฯ เตรียมประชุมเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ

นายกรัฐมนตรี นำนักลงทุนเข้าพื้นที่ EEC ติดตามความคืบหน้าเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ พร้อมรับรถไฟฟ้าโมโนเรลขบวนแรก โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง 1 ต.ค. 63 โดยนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันที่ 1 ต.ค. นายกรัฐมนตรี พร้อมนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รวมถึงหน่วยงานร่วม จะเดินทางไปตรวจราชการจังหวัดชลบุรี เพื่อติดตามความก้าวหน้าการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ พร้อมสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน EEC ในยุค New Normal ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานในพิธีรับขบวนรถไฟฟ้าโมโนเรล ขบวนแรก โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ซึ่งเป็นโครงการภายใต้นโยบาย PPP Fast Track ของรัฐบาลที่มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมระบบรางของไทย โดยมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค (กลุ่มประเทศ CLMV) นักลงทุนไทยและต่างประเทศเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในการลงทุน

ที่มา : https://tna.mcot.net/politics-551037

ยอดยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการในนิคมฯ 3 ไตรมาสมูลค่ากว่า 7 หมื่นล้าน

กระทรวงอุตสาหกรรมเผยตัวเลขการยื่นคำขอใบอนุญาตประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม 3 ไตรมาส ของปีงบประมาณ 63 มีผู้ประกอบการยื่นขอแจ้งเริ่มประกอบกิจการเพิ่ม 163 ราย ก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่ม 14,698 ราย มูลค่าการลงทุนรวม 7.43 หมื่นล้านบาท โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในช่วง 3 ไตรมาสของปีงบประมาณ 2563 (ต.ค.62-มิ.ย.63) มีนักลงทุนที่ยื่นคำขอใบอนุญาตแจ้งเริ่มประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศที่เปิดดำเนินการแล้ว 33 แห่ง โดยพบว่าจำนวนผู้ประกอบการแจ้งเริ่มประกอบกิจการ รวมทั้งสิ้น 163 ราย แบ่งออกเป็นการขออนุญาตประกอบกิจการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จำนวน 104 ราย และนิคมอุตสาหกรรมนอกพื้นที่ EEC จำนวน 59 ราย มีผู้ยื่นคำขอใบอนุญาต เพิ่มขึ้น 41 ราย

ที่มา : https://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/445286

สมาร์ทคอนกรีตโตรับอีอีซี คาดปี 63 ก่อสร้างขยายตัว

นายรังสี ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท สมาร์ทคอนกรีต จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตอิฐมวลเบาด้วยระบบอบไอน้ำภายใต้ความดันสูง เปิดเผยว่า ทิศทางธุรกิจปี 2563 คาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดี จากนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ผลักดันให้เกิดการลงทุนก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม คลังสินค้า โครงการเมกะโปรเจค งานโครงการก่อสร้างภาครัฐ และผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทยอยลงทุนในโครงการใหม่ ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ความต้องการสินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้าง-อิฐมวลเบาปรับตัวดีขึ้น สำหรับกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนธุรกิจ บริษัทมีแผนเดินหน้าทำการตลาดเชิงรุก แนะนำสินค้าให้เป็นที่รู้จัก ผลักดันสินค้าผ่านช่องทางการจำหน่ายให้หลากหลายมากขึ้น อีกทั้งมุ่งเน้นการทำตลาดผลิตภัณฑ์ใหม่ ควบคู่กับการใช้กลยุทธ์ O2O (Online to Offline ) เพื่อกระตุ้นยอดขาย และสร้างการรับรู้กับลูกค้าในวงกว้าง ผ่านสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดีย ส่วนการขยายตลาดกลุ่มประเทศ CLMV บริษัทมีการส่งสินค้าไปจำหน่ายในประเทศกัมพูชาและสปป.ลาว เพื่อใช้ในงานก่อสร้างและงานโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยมีกระแสตอบรับที่ดี นอกจากนี้ บริษัทยังคงเดินหน้าเจรจาหาพันธมิตรเป็นตัวแทนจำหน่าย เพื่อขยายตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV อย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้ 490 ล้านบาท หรือเติบโตไม่ต่ำกว่า 5% นอกจากนี้ ด้านผลประกอบการงวดไตรมาส 4/2562 มีรายได้รวม 124.08 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.90 ล้านบาท หรือ 25.11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 99.18 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 20.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีขาดทุนสุทธิ 2.73 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 867.53% โดยผลประกอบการปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากปริมาณการใช้งานวัสดุอิฐมวลเบาของโครงการเมกะโปรเจคภาครัฐ และโครงการก่อสร้างภาคเอกชน

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/866674?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=economic