Covid-19 ส่งผลต่อยอดขายของภาคธุรกิจในสปป.ลาว

ผู้ค้าปลีกในเวียงจันทน์กำลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งทำให้ยอดขายลดลงและยังส่งผลให้มีการเลื่อนงานแสดงสินค้าและนิทรรศการออกไปหลายงาน แม้ว่าห้างสรรพสินค้ากำลังดำเนินการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด แต่ก็ไม่ได้ช่วยเพิ่มจำนวนผู้มาเที่ยวห้าง โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมายอดขายของผู้ประกอบการลดลงร้อยละ 70 ในช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว ทำให้ต้องมีการปรับรูปแบบช่องทางการชายไปเน้นทางการขายออนไลน์มากขึ้น ในปีนี้ภาคธุรกิจต้องรับมือกับสถานการณ์ที่อาจมีผลต่อธุรกิจ ทั้งการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจทั่วโลกล้วนมีผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวและการจับจ่ายใช้สอยของคนในสปป.ลาว ภาครัฐควรมีนโยบายในการเข้ามาช่วยสนับสนุนธุรกิจในขณะนี้ทั้งนี้ในส่วนธุรกิจเองก็ควรมีการรับมือและปรับตัวให้สามารถผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้  

ที่มา  : http://annx.asianews.network/content/covid-19-vendors-unable-sell-wares-make-profit-115471

ข้อตกลงสร้างเขื่อนในกัมพูชามูลค่าโครงการ 800,000 เหรียญสหรัฐในการบำบัดน้ำ

บริษัทผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ Sinohydro Kamchay ของจีนวางแผนที่จะเริ่มก่อสร้างฝายน้ำล้นมูลค่า 800,000 เหรียญสหรัฐในจังหวัดกำปอต ซึ่งการประกาศดังกล่าวได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและหัตถกรรมกับบริษัทไฟฟ้าพลังน้ำ Sinohydro Kamchay โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและหัตถกรรมกล่าวว่าการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของมิตรภาพที่แข็งแกร่งระหว่างกัมพูชาและจีน ซึ่งโครงการจะสามารถกักเก็บน้ำได้ 1,770 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีจากเขื่อนใน Preak Kampong Bai และจะไหลผ่านเขื่อนพลังน้ำใน Kamchay และจะถูกนำไปผ่านกระบวนการบำบัดที่โรงงานบำบัดน้ำที่กัมปอตโดยให้น้ำที่ผ่านการบำบัด 22 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยเขื่อนแห่งใหม่จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาแหล่งน้ำสะอาดในกัมพูชาโดยเฉพาะในจังหวัดกำปอด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50700257/800k-dam-deal-inked-to-provide-clean-water

รัฐบาลกัมพูชาจัดตั้งกองทุนมูลค่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

รัฐบาลกัมพูชาประกาศเตรียมกองทุนสำรองฉุกเฉิน 800-2,000 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อช่วยเหลือการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจของกัมพูชาหลังจากการระบาดของ COVID-19 โดยในสถานการณ์แรกได้รับงบประมาณอยู่ที่ 800 ล้านเหรียญสหรัฐ หากการระบาดดำเนินการต่อเป็นระยะเวลาหกเดือน สำหรับสถานการณ์ที่สองหากการระบาดยังคงอยู่นานกว่าหนึ่งปีจะใช้เงินจากกองทุนช่วยเหลือ 2,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งรัฐบาลยังคงพยายามอย่างต่อเนื่องในการเปลี่ยนแปลงการชะลอตัวที่เกิดขึ้นในภาคส่วนต่างๆของประเทศอันเป็นผลมาจากไวรัส โดยกองทุนช่วยเหลือจะได้รับการอำนวยความสะดวกจาก รัฐบาล องค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) และ IMF ประกาศว่าพวกเขาพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ซึ่ง ADB กล่าวว่า COVID-19 จะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจกับประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย โดยในกรณีที่เลวร้ายที่สุดสำหรับกัมพูชา ABD ประมาณการว่ารายได้จากการท่องเที่ยวจะลดลงถึง 856.5 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 3.5%  ของ GDP

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50700267/government-pledges-2billion-fund-for-economy

AIS ขึ้นสัญญาณ 5G บนมือถือรายแรก ในอาเซียน

นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาด กลุ่มลูกค้าทั่วไป บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า หลังจากที่ GSMA สมาคมผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมที่มีสมาชิกมากกว่า 800 รายทั่วโลก ได้ประกาศรับรองให้ เอไอเอสเป็นผู้ให้บริการเครือข่าย 5G รายแรกและรายเดียวในประเทศไทย ที่พร้อมให้คนไทยได้ใช้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ อย่างเป็นทางการแล้ว และยังเป็นการนำชื่อเสียงประเทศไทยสู่แวดวงโทรคมนาคมโลก พร้อมปักหมุดไทยเป็นประเทศแรกที่ให้บริการ 5G บนมือถือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้สำเร็จ “จากเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา เอไอเอสได้เข้าชำระเงินค่าคลื่น 2600 MHz งวดแรก เรียบร้อยแล้ว และได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 2600 MHz เพื่อให้บริการ 5G อย่างเป็นทางการ เป็นรายแรกและรายเดียวในอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังร่วมกับภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม นำประโยชน์ของ 5G มาสนับสนุนการทำงาน อาทิ หุ่นยนต์ที่ช่วยภาคสาธารณสุขรับมือกับไวรัสโควิด-19, ทดสอบการใช้5G ในกิจการท่าเทียบเรือขนส่งสินค้า ควบคุมเครนยกตู้สินค้าได้จากระยะไกล รวมถึงเอไอเอสยังเป็นรายแรก ที่เริ่มเปิดให้บริการ 5G International Roaming เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าที่เดินทางไปต่างประเทศได้ใช้งาน 5G โดยเริ่มต้นกับ Swisscom ประเทศสวิตเซอร์แลนด์, Etisalat ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเร็วๆ นี้ กับ China Unicom สาธารณรัฐประชาชนจีน และ SK Telecom ประเทศเกาหลีใต้ อีกด้วย“ทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของเอไอเอสที่พร้อมนำ 5G มาพลิกโฉมและยกระดับประเทศไทยไปอีกขั้นผ่านการผลักดันนวัตกรรมสู่การบริหารจัดการสาธารณูปโภค, ภาคอุตสาหกรรมภาคการผลิตเพื่อเสริมขีดความสามารถอันจะนำมาซึ่งประโยชน์แก่คนไทยต่อไป”

ที่มา : https://www.posttoday.com/economy/news/617198

VN-Index ดิ่งสุดในรอบ 18 ปีที่ผ่านมา

ดัชนี VN-Index ในตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ (HOSE) ปิดที่ 835.49 จุด ณ วันที่ 9 มีนาคม ทำสถิติแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2545 โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่ามาจากผลกระทบเชิงลบของไวรัสโควิด-19 ในทั่วโลกและเวียดนาม ซึ่งในตลาดหุ้น HOSE นั้นมีเพียง 34 หุ้นที่สามารถเติบโต 386 หุ้นที่ลดลง และอีก 14 หุ้นยังคงทรงตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หุ้นทั้งหมดในดัชนี VN30 ประกอบไปด้วยหุ้นที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุดและมีสภาพคล่องในตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ ซึ่งขาดทุนในวันนี้ ขณะที่ ดัชนี HNX Index ปิดที่ 106.34 จุด สำหรับนักลงทุนต่างชาติได้ขายหุ้นด้วยมูลค่า 229.61 พันล้านด่ง (9.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์และมูลค่า 2 พันล้านด่งในตลาดหลักทรัพย์ฮานอย

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/vnindex-hits-rock-bottom-in-past-18-years-411121.vov

ADB เผยเศรษฐกิจเวียดนามลดลง 0.41% จากไวรัสโควิด-19

จากรายงานของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามลดลงร้อยละ 0.41 เนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งจากตัวรายงานฉบับนี้เผยแพร่ในหัวข้อ “ผลกระทบทางเศรษฐกิจของการระบาดของโควิด-19” ที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าความเสียหายของเวียดนามนั้นอยู่ในทิศทางที่ดีเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศเอเชีย ด้วยอยู่ในอันดับที่ 9 ตามมาด้วยไทเป (0.44%), สิงคโปร์ (0.57%), มองโกเลีย (0.74%), จีน (0.76%), ฮ่องกง (0.85%), ไทย (1.11), กัมพูชา (1.59%) และมัลดีฟส์ (2.05%) ขณะเดียวกัน การแพร่ระบาดของไวรัสนั้น จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเอเชียและโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริโภคในประเทศลดลง การชะลอตัวของการลงทุน การท่องเที่ยวทรุดและการหยุดชะงักด้านการผลิตสินค้า รวมถึงผลกระทบด้านสุขภาพ สำหรับกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ จะเป็นกลุ่มที่ทำการค้าและการผลิตกับจีน รวมถึงนักท่องเที่ยวจากจีนอีกด้วย นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกลดลงร้อยละ 0.2 ในช่วงปลายเดือนมกราคม คิดเป็นมูลค่าที่สูญเสียอยู่ที่ 156 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/adb-vietnam-to-lose-0-41-percent-of-gdp-due-to-covid-19/169850.vnp

ตลาดยาเมียนมาเข้าสู่ภาวะขาดแคลน

ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ยาให้ข้อมูลว่ายาบางชนิดที่นำเข้าจากอินเดียอาจขาดสต็อกในเมียนมาในไม่ช้า จากข้อมูลอุตสาหกรรมยาพบว่า 75% ของยาที่ขายในเมียนมานำเข้ามาจากอินเดียและปัจจุบันบริษัทยาอินเดียกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบสำหรับการผลิต การระบาดของโรค coronavirus ในประเทศจีนได้ทำลายห่วงโซ่อุปทานของส่วนผสมและสารเคมีที่ใช้ในการทำยา ทั้งนี้รัฐบาลอินเดียยังจำกัดการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์บางประเภทไปยังประเทศอื่น ๆ เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศ อย่างไรก็ตามการแข็งค่าของเงินจัตเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐนั้นก็ค่อนข้างที่จะส่งผลต่อการขาดแคลนและราคายาให้คงที่ได้เช่นกัน เมียนมานำเข้ายา 80% จากอินเดีย และประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ปากีสถาน บังกลาเทศ จีน เวียดนามฟิลิปปินส์ และยุโรป

ที่มา : https://www.mmtimes.com/news/market-conditions-tighten-indian-pharmaceuticals.html

เยอรมนีอนุมัติเงิน 7.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐสนับสนุนกองทุนเงินทุนเพื่อธุรกิจ

เยอรมนีอนุมัติเงินเพิ่ม 7.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับกองทุนการเข้าถึงการเงินสปป.ลาว (LAFF) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการเงินระยะยาวสำหรับครัวเรือนและองค์กรขนาดเล็กขนาดกลางและขนาดย่อม (MSMEs) ในพื้นที่ชนบท โดยกองทุนนี้จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของธนาคารสปป. ลาว และยังสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจลาวอย่างยั่งยืนโดยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจสำหรับ MSME โดยธนาคารและสถาบันการเงินรายย่อยสามารถให้สินเชื่อแก่ธุรกิจได้มากถึง 500 ล้านกีบต่อธุรกิจ  ตรงตามวัตถุประสงค์หลักของโครงการคือการสนับสนุนภาคการเงินเชิงพาณิชย์ของลาวในการให้บริการทางการเงินที่ยั่งยืนและตามความต้องการของ MSMEs ในพื้นที่ชนบท สิ่งนี้จะช่วยในการปรับปรุงประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนและสนับสนุนการสร้างงานและลดความยากจน

ที่มา : http://annx.asianews.network/content/germany-backs-access-finance-msmes-115374