อินโดนีเซียเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของเมียนมาในปีงบประมาณ 2024-2025

ตามข้อมูลของสหพันธ์ข้าวเมียนมา (MRF) ในปีงบประมาณ 2024-2025 (ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนถึง 31 มีนาคม) อินโดนีเซียเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของเมียนมา โดยมีปริมาณมากกว่า 605,000 ตัน รองลงมาคือ จีน เป็นผู้นำเข้าข้าวของเมียนมารายใหญ่เป็นอันดับสอง โดยนำเข้ากว่า 516,000 ตัน รองลงมาคือเบลเยียม 355,000 ตัน ฟิลิปปินส์ 134,000 ตัน บังกลาเทศ 105,000 ตัน เซเนกัล 96,600 ตัน โกตดิวัวร์ 60,800 ตัน โปแลนด์ 57,200 ตัน สเปน 48,600 ตัน โมซัมบิก 44,200 ตัน แคเมอรูน 27,100 ตัน อังกฤษ 22,800 ตัน เนเธอร์แลนด์ 20,000 ตัน โตโก 17,000 ตัน และอิตาลี 16,100 ตัน ตามลำดับ อย่างไรก็ดี สถิติของสหพันธ์ข้าวเมียนมา (MRF) ระบุว่าการส่งออกข้าวและข้าวหักของเมียนมาพุ่งสูงถึง 2.48 ล้านตันในปีงบประมาณ 2024-2025 ที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าประมาณ 1.129 พันล้านดอลลาร์ จากเป้าหมายของสหพันธ์ที่จะส่งออกข้าวให้ได้ 2.5 ล้านตันในปีงบประมาณ 2024-2025 นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์กำลังทำงานร่วมกับสหพันธ์ต่างๆ หอการค้าและอุตสาหกรรมเมียนมา เพื่อบรรลุเป้าหมายการส่งออกรายเดือนและอำนวยความสะดวกในการส่งออก

ที่มา : http://• https://www.gnlm.com.mm/indonesia-tops-myanmars-rice-import-chart-for-fy2024-25/#article-title

ทางด่วนย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์กำลังซ่อมแซมหลังได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงก่อสร้าง U Myo Thant ได้ตรวจสอบงานซ่อมแซมที่ดำเนินการไปตามทางด่วนสายเนปิดอว์-ย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์ ซึ่งได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวเมื่อเร็วๆ นี้ การตรวจสอบดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้แน่ใจว่าถนนและสะพานมีความปลอดภัย และเพื่อให้การคมนาคมขนส่งเป็นไปอย่างราบรื่น ที่สะพาน Swa Creek ใกล้หลักไมล์ 165/1 บนทางด่วน ทั้งนี้ รัฐมนตรีกระทรวงก่อสร้างได้ประเมินรายงานของเจ้าหน้าที่จากกรมสะพานเกี่ยวกับความเสียหายของสะพาน Swa Creek สองแห่ง บนช่องทางเดินรถขาขึ้นและขาลงอันเนื่องมาจากแผ่นดินไหว รวมถึงเสาค้ำที่ลดระดับลง เสาค้ำที่เอียง และรอยแตกร้าวที่ฐานสะพาน นอกจากนี้ รัฐมนตรีกระทรวงก่อสร้าง ยังให้ดำเนินการเสริมความแข็งแรงโดยใช้โครงเหล็กรองใต้สะพานเพื่อรักษาเสถียรภาพของโครงสร้าง รวมทั้งตรวจสอบพื้นสะพานที่พังถล่ม และสะพาน Bailey ชั่วคราวที่ปัจจุบันอนุญาตให้รถสัญจรได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบเสาค้ำที่จมและเอียงอย่างใกล้ชิด รวมถึงรอยแตกร้าวที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเส้นทางน้ำจากเขื่อน Swachaung ซึ่งส่งผลให้เกิดการกัดเซาะที่ฐานสะพาน ถนนทางเข้ายังมีร่องรอยของการแตกร้าวและทรุดตัว รัฐมนตรีสหภาพสั่งการให้เจ้าหน้าที่แก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วยการดำเนินการที่จำเป็น

ที่มา : http://• https://www.gnlm.com.mm/yangon-mandalay-expressway-under-repair-after-earthquake-damage/

‘ผลผลิตสินค้าเกษตรสหรัฐ’ ดันเข้าสู่ตลาดเวียดนาม หลังลดภาษีนำเข้า

รัฐบาลเวียดนามได้ออกพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 73/2025/ND-CP เพื่อลดภาษีนำเข้าสินค้าจำเป็นต่างๆ โดยสินค้าส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ยานยนต์ และวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ในขณะที่กระทรวงการคลังยืนยันว่าการปรับลดอัตราภาษีนำเข้า เป็นกลยุทธ์ในการส่งเสริมการเปิดเสรีทางการค้ากับพันธมิตรหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ รวมถึงสนับสนุนการบริโภคในประเทศ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการลดภาษีนำเข้าสินค้าหลายรายการ ได้แก่  น่องไก่แช่แข็ง (20-15%) ตามมาด้วยพิสตาชิโอที่ยังไม่ได้แกะเปลือก อัลมอนด์ แอปเปิลสด เชอร์รี และลูกเกด (8-12%) เป็นต้น ซึ่งการปรับลดภาษีนำเข้าในครั้งนี้ จะช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้านำเข้าได้มากขึ้น และลดต้นทุนปัจจัยการผลิตสำหรับภาคส่วนต่างๆ เช่น การทำปศุสัตว์ที่พึ่งพาการนำเข้าข้าวโพดและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองเป็นหลัก

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1716199/us-farm-produce-to-viet-nam-will-rise-with-import-tariff-cut.html

‘เวียดนาม’ ตั้งเป้าเศรษฐกิจโต 8% แม้หวั่นภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ

รัฐบาลเวียดนามยังคงตั้งเป้าหมายการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขยายตัวที่ 8% ในปี 2568 ซึ่งการตัดสินใจในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าไม่เพียงแต่มองเศรษฐกิจในเชิงบวก แต่เวียดนามมีความพร้อมในการรับมือจากปัจจัยภายนอกผ่านการประสานนโยบายและนโยบายการทำงานแบบยืดหยุ่น ทั้งนี้ จากสถานการณ์ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เพิ่มขึ้น ข้อพิพาททางการค้า การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และเวียดนามยังคงต้องเผชิญกับสภาพอากาศสุดขั้ว รวมถึงภาวะเงินเฟ้อ และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะแรงกดดันภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ที่เรียกเก็บภาษีสูงถึง 46% ด้วยเหตุนี้ ทางรัฐบาลได้เรียกร้องให้กระทรวง ภาคธุรกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมรับมือกับความท้าทายอย่างตรงไปตรงมา และคว้าโอกาสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-stays-on-course-for-8-growth-despite-tariff-risks-post317714.vnp

อุตสาหกรรมรองเท้าของเมียนมามุ่งมั่นครองตลาดในประเทศ

ผู้ผลิตในประเทศกำลังเตรียมรับมือกับความท้าทายและพยายามแข่งขันกับแบรนด์ต่างประเทศและสินค้านำเข้าที่ครองตลาด โดยพวกเขาจะพยายามคว้าส่วนแบ่งการตลาดในประเทศให้มั่นคง ทั้งนี้ ตามข้อมูลของสหพันธ์ผู้ผลิตรองเท้าเมียนมา สหพันธ์จะพยายามคว้าส่วนแบ่งการตลาดจากแบรนด์ต่างประเทศที่ครองส่วนแบ่งในตลาดในประเทศประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ดี U Kan Nyunt ประธานสหพันธ์กล่าวว่า รองเท้าบางรุ่นมีแบรนด์ของตัวเอง ผู้ผลิตต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพและการรับประกันเพื่อรักษาชื่อเสียงของแบรนด์ที่แข็งแกร่งและได้รับความชื่นชมจากลูกค้า พวกเขาต้องให้ความสำคัญกับความทนทาน คุณภาพ และความสบายของรองเท้าที่เหมาะสม หากแบรนด์ไม่สามารถรับประกันความทนทานได้ ชื่อเสียงของแบรนด์ก็จะลดลงอย่างแน่นอน ผู้ผลิตต้องให้การรับประกันรองเท้าอย่างน้อย 2 เดือนและครอบคลุมข้อบกพร่องในการผลิต ถือเป็นการส่งเสริมตลาดอย่างหนึ่ง ในปัจจุบัน ตลาดสามารถเข้าถึงกาวติดรองเท้าแบบน้ำที่ผลิตในประเทศได้แทนที่จะนำเข้า โดยบริษัทจัดหาวัตถุดิบในประเทศร้อยละ 85 และจากต่างประเทศเพียงร้อยละ 15 เท่านั้น และมีแผนที่จะจัดจำหน่ายรองเท้าภายใต้โลโก้ Made in Myanmar

ที่มา : http://• https://www.gnlm.com.mm/myanmar-footwear-industry-striving-to-dominate-domestic-market/

ท่าเรือย่างกุ้งรองรับเรือคอนเทนเนอร์ 173 ลำในไตรมาสแรก

การท่าเรือเมียนมาประกาศว่า เรือขนส่งสินค้า 62 ลำมีกำหนดเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือย่างกุ้งในเดือนเมษายน ทำให้ไตรมาสแรกของปี 2568 (เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม) มีเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์รวม 173 ลำมาถึงท่าเรือย่างกุ้ง อย่างไรก็ดี ในปี 2024 ท่าเรือย่างกุ้งรองรับเรือขนส่งสินค้าทั้งหมด 633 ลำ และ 629 ลำในปี 2023 ตามลำดับ นอกจากนี้ คำแถลงของสำนักงานท่าเรือเมียนมา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2022 เรือเดินทะเลระหว่างประเทศสามารถเข้าถึงท่าเรือด้านในได้ หลังจากพบช่องทางเดินเรือใหม่ (Kings Bank Channel) ที่เข้าถึงแม่น้ำย่างกุ้งด้านในแล้ว ทำให้ท่าเรือสามารถรองรับเรือขนาดใหญ่ขึ้นได้ โดยเรือขนส่งสินค้า MV SITC Zhaoming (LOA 185.99 เมตร, คาน 35.25 เมตร, 29,232 GRT และ 2,698 TEU) ของบริษัท SITC Shipping Line ซึ่งมีฐานอยู่ในฮ่องกง ได้เข้าเทียบท่าที่ท่าเรือ Asia World เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ซึ่งถือเป็นเรือลำใหญ่ที่สุดที่ท่าเรือ AWPT เคยเข้าเทียบท่า

ที่มา : http://• https://www.gnlm.com.mm/yangon-port-handles-173-container-vessels-in-q1/