‘เวียดนาม’ กระตุ้นการบริโภคในประเทศ พร้อมกับกระจายตลาดส่งออก

นาย Nguyen Anh Duc ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกเวียดนาม (AVR) ได้อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแหงชาติว่ายอดขายปลีกในประเทศและรายได้จากการบริการผู้บริโภคในไตรมาสแรกของปี 2568 มีมูลค่ามากกว่า 1.7 พันล้านล้านดอง หรือประมาณ 65 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) โดยการบริโภคอาหาร มีสัดส่วนมากที่สุด 37% ทั้งนี้ ประธานสมาคมฯ มองว่าการมุ่งไปที่ตลาดในประเทศที่มีประชากรมากกว่า 100 ล้านคน มีความสำคัญอย่างมากต่อภาคธุรกิจ และยังช่วยชดเชยในภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากยอดคำสั่งส่งออกที่ลดลงได้ ในขณะเดียวกัน ได้ตั้งเป้าที่จะกระจายตลาดส่งออกใหม่ๆ เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดจากแนวโน้มโลกที่มีการกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-stimulates-domestic-consumption-diversifies-export-markets-post318319.vnp

Vietnam Economic Factsheet : 2567

อ่านเอกสารสรุปข้อมูลเศรษฐกิจเวียดนาม ประจำปี 2567 ในรูปแบบ PDF File ได้ที่ – FACTSHEET VIETNAM ปี 2567

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนาม ปี 2567 ขยายตัว 7.09% และสูงกว่า 5.05% ในปี 2566 โดยเศรษฐกิจได้แรงหนุนมาจากภาคการส่งออกที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง และกระแสการไหลเข้าของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)

โครงสร้างทางเศรษฐกิจ ปี 2567  พบว่าภาคเกษตร ป่าไม้และประมง คิดเป็นสัดส่วน 11.86% ของ GDP ตามมาด้วยภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง มีสัดส่วน 37.64% ของ GDP, ภาคบริการ 42.36% ของ GDP และภาษีเงินอุดหนุนอื่นๆ ของการผลิต 8.14% ของ GDP

ด้านการใช้จ่าย ปี 2567  พบว่าการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้าย ขยายตัว 6.57% เมื่อเทียบกับปี 2566 ตามมาด้วยการสะสมทุนถาวร (การลงทุน) ขยายตัว 7.20%, การส่งออกสินค้าและบริการ ขยายตัว 15.45% และการนำเข้าสินค้าและบริการ ขยายตัว 16.10%

‘ธนาคารโลก’ หั่น GDP เวียดนามปี 68 โตลดลง 5.8%

ธนาคารโลก (WB) ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของเวียดนามในปี 2568 เหลือโต 5.8% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 6.8% เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจดังกล่าวจะยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกที่ขยายตัว 4% ก็ตาม

ทั้งนี้ จากรายงาน East Asia and Pacific Economic Update ระบุว่าเศรษฐกิจเวียดนามฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง หลังจากเศรษฐกิจในปี 2566 อยู่ในภาวะซบเซา และกลับมาฟื้นตัวขึ้นในปี 2567 จากแรงหนุนทางด้านอุปสงค์ภายนอกที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การส่งออกสินค้าและบริการ ขยายตัว 15.5% รวมถึงภาคอสังหาฯ ที่ส่งสัญญาณการฟื้นตัว อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจเวียดนามจะยังคงเผชิญกับความเสี่ยงในด้านต่างๆ เช่น ความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบลงทุน ความผันผวนของการค้าโลก เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และความไม่แน่นอนของนโยบาย เป็นต้น ซึ่งมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/wb-revises-down-vietnams-2025-gdp-forecast-to-5-8/

‘เวียดนาม’ เผยผลสำรวจชี้ธุรกิจอุตสาหกรรม มองผลการดำเนินงานไตรมาส 2 มีมุมมองเชิงบวก

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (NSO) เปิดเผยผลการสำรวจแนวโน้มทางธุรกิจของธุรกิจที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม พบว่าธุรกิจส่วนใหญ่มองว่าผลประกอบการจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว ในขณะที่ 39.2% มองว่าทรงตัว และมีเพียง 15% มองว่าหดตัวลง ทั้งนี้ บริษัทลงทุนจากต่างชาติ (FDI) มองผลการดำเนินงานไปในทิศทางที่เป็นบวกมากที่สุด โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 87% คาดว่าผลประกอบการจะฟื้นตัวดีขึ้น หรืออยู่ในระดับมีเสถียรภาพ ตามมาด้วยรัฐวิสาหกิจ 84.7% และบริษัทที่ไม่ใช่ของรัฐฯ ที่ 84.1%

ที่มา : https://en.vneconomy.vn/manufacturing-firms-optimistic-about-q2-growth-survey.htm

‘นายกฯ ญี่ปุ่น’ เดินทางเยือนเวียดนามและฟิลิปปินส์ รับมือกำแพงภาษี

ชิเงรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น มีกำหนดการเดินทางเยือนเวียดนามและฟิลิปปินส์ เป็นระยะเวลา 4 วัน เพื่อหารือเกี่ยวกับภาษีศุลกากรและเสริมสร้างความสัมพันธ์ในภูมิภาค โดยการเดินทางในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ของจีน เดินทางมาเยือนกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สะท้อนให้เห็นว่าจีนกำลังวางตำแหน่งตัวเองให้เป็นทางเลือกที่มีความมั่งคง แทนที่สหรัฐฯ

ทั้งนี้ นายกฯ ญี่ปุ่น กล่าวว่ากลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความสำคัญที่กลายมาเป็นศูนย์กลางการเติบโตของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี เวียดนามและฟิลิปปินส์เผชิญกับผลกระทบครั้งใหญ่จากมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ที่สร้างผลกระทบอย่างรุนแรง รวมไปถึงผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่ดำเนินกิจการอยู่ในภูมิภาคนี้

ที่มา : https://www.bssnews.net/international/267231

‘เวียดนาม’ เดินหน้าสร้างเขตการค้าเสรี และท่าเรือปลอดภาษี

นายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ (Pham Minh Chinh) นายกรัฐมนตรีเวียดนาม เรียกร้องให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรี (FTZs) ในภูมิภาคเศรษฐกิจ และทำการศึกษาท่าเรือปลอดภาษี ซึ่งการดำเนินงานในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ และดึงดูดการลงทุน พร้อมกับตั้งเป้าให้เวียดนามกลายเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ชั้นนำในยุคดิจิทัล ในขณะเดียวกันยังช่วยให้เวียดนามยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันในระดับโลก โดยเฉพาะด้านการค้าและโลจิสติกส์

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-strives-to-build-free-trade-zones-and-duty-free-ports-post318133.vnp

เวียดนามเริ่มต้นเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ พร้อมดีลซื้อเครื่องบิน

นายเหงียน ฮ่อง เดียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าเวียดนาม หารือกับนายเจมีสัน กรีเออร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ว่าเวียดนามพร้อมที่จะแก้ไขข้อกังวลทางด้านการค้า โดยจะยึดตามผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ ซึ่งการพูดคุยในครั้งนี้ นับเป็นการพูดคุยที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดจนถึงขณะนี้ ทั้งนี้ ปีที่แล้ว เวียดนามเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีนและเม็กซิโก โดยเวียดนามให้คำมั่นว่าจะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น เช่น ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และเครื่องบิน โดยเฉพาะมีแนวโน้มที่จะซื้อเครื่องบินรบ F-16 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงการค้า เพื่อลดช่องว่างทางการค้า 123.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมทั้งเสนอที่จะยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ทั้งหมด

นอกจากนี้ เวียดนามยังได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการฉ้อโกงว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า เนื่องจากข้อกังวลสำคัญของสหรัฐฯ ที่มาจากสินค้าจีนที่ถูกส่งผ่านเวียดนาม เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร

ที่มา : https://www.businesstimes.com.sg/international/asean/vietnam-kicks-trade-talks-us-plane-deal-takes-shape

‘VinFast’ เตรียมเปิดโรงงานในอินเดีย เริ่ม 30 มิ.ย. และอินโดนีเซีย ต.ค.

นายฝ่าม เหญิต เหวื่อ (Pham Nhat Vuong) ผู้ก่อตั้งบริษัทวินฟาสต์ (VinFast) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของเวียดนาม เดินหน้าขยายกิจการไปยังตลาดเอเชีย แทนที่จะเป็นตลาดในภูมิภาคอเมริกาเหนือและยุโรป และไม่มีแผนที่จะกระตุ้นยอดขายในตลาดอเมริกาเหนือและยุโรป เนื่องจากค่าธรรมเนียมด้านโลจิสติกส์ที่สูงขึ้น โดยทางบริษัทจะมุ่งเน้นไปที่ตลาดอินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ รวมถึงตลาดเวียดนาม ทั้งนี้ วินฟาสต์ คาดว่าจะเปิดโรงงานผลิตในอินเดียภายในวันที่ 30 มิถุนายน ตามมาด้วยโรงงานในอินโดนีเซียในเดือนตุลาคม ซึ่งการเปลี่ยนกลยุทธ์ในครั้งนี้ เป็นผลมาจากโรงงานในนอร์ทแคโรไลนา (North Carolina) ถูกเลื่อนการเปิดออกไป 3 ปี ในปี 2571

ที่มา : https://www.businesstimes.com.sg/international/asean/vietnams-vinfast-open-india-factory-june-30-indonesia-plant-october