‘IMF’ เผยการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ดันโอกาสเศรษฐกิจเวียดนาม

นายกฤษณะ ศรีนิวาสัน ผู้อำนวยการแผนกเอเชียและแปซิฟิกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกว่าเศรษฐกิจของเวียดนามมีทิศทางที่จะขยายตัว 6.5% จากปัจจัยหนุนทั้งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ จากการประเมินเศรษฐกิจในภูมิภาค คาดว่าจะขยายตัว 4.5% ปี 2567

อย่างไรก็ดี ผลการประเมินเศรษฐกิจดังกล่าวขึ้นอยู่กับพื้นฐานเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจอินเดียในช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้วที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ความท้าทายของการดำเนินนโยบายการเงิน รัฐบาลควรให้ความสำคัญในเรื่องหนี้สาธารณะและการปรับกันชนทางการคลังให้ดีขึ้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1654252/viet-nam-to-have-many-opportunities-from-digitalisation-green-transformation-imf.html

การค้าชายแดนเมียนมา-จีนพุ่งขึ้นเป็น 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2566-2567

สถิติของกระทรวงพาณิชย์เมียนมาเผยว่า มูลค่าการค้าชายแดนระหว่างเมียนมาและจีนมีมูลค่าทะลุ 3.279 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2566-2567 ที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐที่บันทึกไว้ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนถึงการเพิ่มขึ้นอย่างน่าทึ่งที่ 178.25 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2565-2566 อย่างไรก็ดี เมียนมาดำเนินการค้าขายข้ามพรมแดนกับจีนเพื่อนบ้านผ่านทาง มูเซ, แลวแจ, ชีงชเวห่อ, กัมปติ และ เชียงตุง โดยด่านมูเซบันทึกตัวเลขการค้าสูงสุดที่ 2.055 พันล้านดอลลาร์ รองลงมาคือด่านชีงชเวห่อมูลค่าการค้าอยู่ที่กว่า 703 ล้านดอลลาร์, ด่านกัมปติ มูลค่าการค้ากว่า 208 ล้านดอลลาร์, ด่านแลวแจมูลค่าการค้าอยู่ที่ 158.568 ล้านดอลลาร์ และด่านเชียงตุง 154.239 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-china-border-trade-surges-to-us3-2b-in-fy2023-2024/#article-title

เศรษฐกิจ CLMV เร่งตัวปี 2567 แต่ยังโตช้ากว่าช่วงก่อนโควิด-19

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)

เศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นในปี 2024

SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นในปี 2024 ตามการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งจะสนับสนุนให้อุปสงค์ในประเทศปรับดีขึ้นผ่านการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน ในระยะปานกลางเศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มได้อานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตของธุรกิจข้ามชาติออกไปลงทุนในประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ “China +1” เพื่อลดความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในระยะต่อไป ในปีนี้ SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัวต่อเนื่อง 6.0% (จาก 5.6% ในปี 2023) สปป.ลาว 4.7% (จาก 4.5%) เมียนมา 3.0% (จาก 2.5%) และเวียดนาม 6.3% (จาก 5.1%)

อัตราการขยายตัวของแต่ละประเทศใน CLMV ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วงก่อน COVID-19 จากปัจจัยกดดันต่าง ๆ  อาทิ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเศรษฐกิจภูมิภาค CLMV มีความสัมพันธ์สูงทั้งด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงการท่องเที่ยวและภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะเดียวกัน บางประเทศ เช่น กัมพูชาและเวียดนามมีอัตราส่วนหนี้เสีย (Non-performing loans ratio) สูงขึ้นหลังมาตรการช่วยเหลือในช่วง COVID-19 สิ้นสุดลง ประกอบกับภาวะการเงินในประเทศที่ตึงตัวขึ้น อาจกระทบการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินและการเข้าถึงสภาพคล่องของธุรกิจได้ นอกจากนี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นปัจจัยที่ต้องจับตาต่อเนื่อง ในระยะสั้นการค้าโลกอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาการขนส่งบริเวณทะเลแดงและคลองปานามาที่แห้งแล้งและอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งสินค้าส่งออกของภูมิภาค CLMV ได้ ในระยะยาวเศรษฐกิจ CLMV จะต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับโลกที่มีแนวโน้มจะกีดกันการค้าและตั้งกำแพงภาษีมากขึ้น

ความเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV แตกต่างกัน

ความเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV แตกต่างกัน ขึ้นกับปัจจัยเฉพาะประเทศ โดยเฉพาะในสปป.ลาวที่เผชิญความเสี่ยงจากระดับหนี้สาธารณะซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปสกุลเงินต่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงเทียบกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ ท่ามกลางภาวะการเงินโลกตึงตัว ทำให้เงินกีบอ่อนค่ารวดเร็ว ซ้ำเติมภาระการชำระหนี้ต่างประเทศ และทำให้เงินเฟ้อในประเทศพุ่งสูงขึ้นมากและปรับตัวลดลงได้ช้าในปีนี้ ปัจจัยเหล่านี้กดดันศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะปานกลาง โดยสปป.ลาวกำลังดำเนินการรัดเข็มขัดทางการคลัง ควบคู่กับการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้และการหาแหล่งระดมทุนใหม่เพื่อรักษาเสถียรภาพการคลังไว้ ขณะที่เมียนมาเป็นอีกประเทศที่กำลังเผชิญปัจจัยกดดันเชิงโครงสร้าง ซึ่งได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมืองตั้งแต่ปี 2021 และทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงปลายปี 2023 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศซบเซา ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกมีส่วนทำให้อุปสงค์ต่างประเทศอ่อนแอลงมาก ประกอบกับปัญหาอื่น ๆ เช่น การขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เงินจัตอ่อนค่าและเงินเฟ้อเร่งตัว ตลอดจนปัญหาระบบขนส่งและโครงข่ายไฟฟ้าหยุดชะงัก การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ยังดูเป็นไปได้ยากในระยะสั้น เนื่องจากจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ

ค่าเงินของกลุ่มประเทศ CLMV จะเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าลดลง

ธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่กลางปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับเข้าประเทศกำลังพัฒนา รวมถึง CLMV มากขึ้น และจะกระตุ้นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศตามต้นทุนการระดมทุนที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเฉพาะประเทศยังคงเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อแนวโน้มค่าเงิน ส่งผลให้ค่าเงินบางประเทศอาจยังอ่อนค่าต่อ

การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับ CLMV

การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับ CLMV มีแนวโน้มดีขึ้นในปีนี้ หลังจากค่อนข้างซบเซาในปี 2023 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการค้าโลกที่ปรับดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคการผลิต และเศรษฐกิจประเทศในภูมิภาคที่ฟื้นตัว นอกจากนี้ ภาวะการเงินโลกและไทยที่คาดว่าจะผ่อนคลายลงบ้างในปีนี้จะเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนให้บริษัทไทยลงทุนใน CLMV ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามเสถียรภาพเศรษฐกิจของ CLMV บางประเทศที่ยังไม่เอื้อต่อการลงทุนมากนัก ทั้งนี้ในระยะยาว SCB EIC ยังมีมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจ CLMV และคาดว่าจะเป็นหนึ่งในภูมิภาคของโลกที่เติบโตสูง และยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนไทยและต่างชาติ จากปัจจัยประชากรที่มีอายุเฉลี่ยน้อย การมีข้อตกลงสนธิสัญญาการค้าเสรีต่าง ๆ และแหล่งที่ตั้งที่มีความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ ติดตลาดใหญ่ เช่น จีนและอินเดีย

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/clmv-outlook-mar24?utm_source=Twitter&utm_medium=Link&utm_campaign=CLMV_OUTLOOK_MAR_2024

 

‘แบงก์ชาติเวียดนาม’ เผยสินเชื่ออสังหาฯ พุ่งต่อเนื่อง ปี 2558-2566

ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ยื่นส่งรายงานให้กับคณะผู้แทนสมัชชาแห่งชาติในเรื่องการจัดการตลาดอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย ตั้งแต่ปี 2558-2566 จากเอกสารรายงานระบุว่ายอดสินเชื่อคงค้างของภาคอสังหาฯ มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้น 2.88 พันล้านล้านด่อง และได้มีการจัดสรรเงินไปยังกองทุนอสังหาฯ ประมาณ 1.09 พันล้านล้านด่อง และใช้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยอีกราว 1.79 พันล้านล้านด่อง ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าสินเชื่อคงค้างอสังหาฯ ตั้งแต่ปี 2558-2566 คิดเป็นสัดส่วนราว 18-21% ของสินเชื่อคงค้างทั้งหมดของเศรษฐกิจเวียดนาม และจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทางธนาคารกลางจำเป็นที่จะต้องควบคุมกระแสเงินสดเข้าสู่ภาคอสังหาฯ และดำเนินการออกหนังสือเวียดนามเลขที่ 36, 22 และ 41 ซึ่งกำหนดว่าเงินกู้ระยะปานกลางและระยะยาวจะอยู่ในอัตรา 24-34%

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/real-estate-loans-increased-in-2015-2023-period-report-2271387.html

มูดี้ส์ชี้จีดีพีไทยปีนี้ขยายตัว 3%

คุณจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า “มูดี้ส์” หรือ Moody’s Investors Service บริษัทจัดอันดับเครดิตยักษ์ใหญ่ชื่อดังระดับโลกจากสหรัฐฯ ได้ประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ Baa1 หรือเทียบเท่า BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในระดับมีเสถียรภาพ เนื่องจากข้อแรก ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และมีความหลากหลาย มีนโยบายมหภาคที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิผล มูดี้ส์คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตจาก 1.9% ในปี 2566 เป็นประมาณ 3% ในปี 2567-2568 จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการลงทุนของภาครัฐจะเพิ่มขึ้น หลังจากที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีมีผลบังคับใช้

ในขณะที่ข้อที่สอง ภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) ของไทยยังมีความเข้มแข็ง แม้รัฐบาลจะดำเนินนโยบายขาดดุลทางการคลัง อย่างต่อเนื่อง ในระยะปานกลางรัฐบาลจะสามารถบริหารจัดการภาระหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ และจะกลับเข้าสู่การดำเนินนโยบาย ทางการคลังอย่างระมัดระวังได้ (Conservative Fiscal Policymaking)

ที่มา : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ/2778901

สปป.ลาว แจ้งปรับราคาน้ำมันวันนี้ เบนซินปรับขึ้น ดีเซลปรับลดลง

ทางการ สปป.ลาว แจ้งปรับราคาขายปลีกน้ำมันมีผล 06.00 น. วันที่ 18 เมษายน 2567 โดยราคาน้ำมันเบนซิน 95 ปรับขึ้น 550 กีบต่อลิตร มาอยู่ที่ 33.200 กีบต่อลิตร เบนซิน 91 ปรับขึ้น 440 กีบต่อลิตร มาอยู่ที่ 25.250 กีบต่อลิตร ส่วนน้ำมันดีเซล ปรับลดลง 160 กีบต่อลิตร มาอยู่ที่ 21.120 กีบต่อลิตร ซึ่งเป็นราคาสำหรับขายปลีกในแขวงเวียงจันทน์ อย่างไรก็ตาม ราคาที่ปรับขึ้นเป็นไปตามราคาตลาดโลกและน้ำมันสำเร็จรูปนำเข้า และจะเปลี่ยนแปลงราคาในช่วงทุกๆ 7 วัน

ที่มา : https://www.vientianetimeslao.la/%e0%bb%81%e0%ba%88%e0%bb%89%e0%ba%87%e0%ba%9b%e0%ba%b1%e0%ba%9a%e0%ba%a5%e0%ba%b2%e0%ba%84%e0%ba%b2%e0%ba%99%e0%bb%89%e0%ba%b3%e0%ba%a1%e0%ba%b1%e0%ba%99-%e0%bb%81%e0%ba%ad%e0%ba%b1%e0%ba%94%e0%ba%8a/

นักท่องเที่ยวและขาวบ้านเมืองหลวงพระบาง ร่วมงานเทศกาลปีใหม่ลาว 2567

ชาวหลวงพระบางและนักท่องเที่ยวเข้าร่วมขบวนอัญเชิญพระบาง เพื่อนำไปประดิษฐานชั่วคราวที่วัดใหม่สุวรรณภูมิมาราม สำหรับให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวได้พรมน้ำหอมและสรงน้ำพระบาง ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เนื่องในโอกาสปีใหม่ลาว โดยจะจัดงานจนถึงวันที่ 20 เมษายน 2567 นอกจากนี้ ยังมีการแสดงทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม รวมทั้งการแสดงของโรงละครพระลักษณ์พระราม ซึ่งจะจัดขึ้นในตอนกลางคืนเพื่อความบันเทิงแก่ผู้คนและส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศ

ที่มา : https://kpl.gov.la/EN/detail.aspx?id=81963

‘เวียดนาม-กัมพูชา’ ยอดการค้า พุ่ง 25%

จากข้อมูลของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) รายงานว่าเวียดนามเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของกัมพูชา รองจากประเทศจีน โดยปริมาณการค้าของทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ มูลค่าที่ 2.32 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 24.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และเวียดนามยังคงเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่อันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของกัมพูชาไปยังตลาดเวียดนาม คือ สินค้าการเกษตร อาทิเช่น เม็ดมะม่วงหิมพานต์ มะพร้าวและยางพารา เป็นต้น ในขณะเดียวกัน กัมพูชานำเข้าผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียมและเหล็กเส้นดิบจากเวียดนาม

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501474739/cambodias-trade-with-vietnam-rises-nearly-25/