NBC ขอบคุณ IMF หลังร่วมประเมินสถานการณ์หลังโควิด-19 ในกัมพูชา

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และกัมพูชาได้พบกันเพื่อหารือและประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจมหภาคของกัมพูชาหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงดำเนินอยู่ในปัจจุบัน โดยการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นผ่านการประชุมทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ระหว่างผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) และหัวหน้าทีม IMF ประจำประเทศกัมพูชา ซึ่งในระหว่างการประชุมผู้ว่าการได้แจ้งให้กับทีม IMF ทราบถึงความพยายามของรัฐบาลในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของไวรัส รวมถึงสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้มีการปรับปรุงนโยบายทางด้านการเงินภายในประเทศ รวมถึงการผ่อนคลายกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อเพิ่มการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการปรับโครงสร้างเงินกู้เพื่อช่วยผู้กู้ที่ประสบปัญหาทางการเงินที่เป็นผลมาจากโควิด-19 โดยผู้ว่าการได้กล่าวขอบคุณ IMF สำหรับการสนับสนุนการพัฒนาของกัมพูชาโดยเฉพาะในภาคธนาคารที่ผ่านมา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50815896/nbc-governor-thanks-imf-for-development-support/

ญี่ปุ่นช่วยฟื้นฟูชุมชนสปป.ลาวจากอุทกภัยทางธรรมชาติ

รัฐบาลญี่ปุ่นบริจาคเงิน 180 ล้านเยนญี่ปุ่น (ประมาณ 1.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วงสองปีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากฝนตกหนักและน้ำท่วมในแขวงสะหวันนะเขตและแขวงทางตอนใต้ของสปป.ลาว ภายใต้ข้อตกลงระหว่างปี 2564 ถึง 2565 กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมสถานทูตญี่ปุ่นประจำสปป. ลาวและโครงการอาหารโลก (WFP) จะแจกจ่ายข้าวให้กับประชาชนประมาณ 35,000 คน เพื่อสนับสนุนความพยายามในการฟื้นฟูด้านวามมั่นคงของอาหารนอกจากนี้ WFP รวมถึงการสนับสนุนการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร รวมถึงแผนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มั่นคงและมีประสิทธิภาพเพื่อเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Japan_36.php

เวียดนามมีความพร้อมทางด้านอีคอมเมิร์ซ

ตามรายงานการจัดอันดับดัชนีอีคอมเมิร์ซแบบธุรกิจ B2C เผยเวียดนามมีค่าดัชนี 61.6 คะแนน (เต็ม 100 คะแนน) อยู่ในระดับที่ดีกว่าอินโดนีเซีย (อันดับที่ 83) ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ (96), สปป.ลาว (101), กัมพูชา (117) และพม่า (130) การจัดอันดับดัชนีดังกล่าว พิจารณาตาม 4 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1) ความสัมพันธ์ของการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ที่อยู่ในระดับสูง 2) ความน่าเชื่อถือของการจัดส่งพัสดุ 3) จำนวนประชากรที่ใช้อินเทอร์เน็ต และ 4) จำนวนประชากรที่มีอายุมากกว่า 15 ปี ที่มีบัญชีกับสถาบันการเงินหรือผู้ให้บริการชำระเงินผ่านโทรศัพท์ ทั้งนี้ มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซของทั่วโลก คาดว่าประมาณ 4.4 ล้านล้านด่องในปี 2561 เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ตาม โควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์มากขึ้น นอกจากนี้ ตลาดอีคอมเมิร์ซของเวียดนาม ขยายตัว 18% ในปีที่แล้ว คิดเป็นมูลค่า 11.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ นับว่าเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีตัวเลขเติบโตในอัตราเลขสองหลักในภาคธุรกิจนี้ ท่ามกลางโควิด-19 ระบาด

  ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/vietnam-moves-up-in-e-commerce-readiness-28362.html

เวียดนามเผย ม.ค. ส่งออกแตะ 28 พันล้านเหรียญสหรัฐ

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ระบุว่าในเดือนมกราคม 2564 เวียดนามมีมูลค่าการส่งออกและนำเข้ารวมอยู่ที่ 55 พันล้านเหรียญสหรัฐ มาจากการส่งออก 28.55 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 55% เมื่อเทียบเป็นรายปี สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของเวียดนามยังเติบโตในเกณฑ์ที่ดี โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ (6.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 126 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว) รองลงมาคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (3.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ) และผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากไม้ (1.34 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เป็นต้น ในขณะที่สินค้าเกษตรและประมง ถือว่าเป็นสินค้าส่งออกสำคัญในเดือนมกราคมนี้ ทั้งนี้ นาย “Tran Thanh Hai” รองผู้อำนวยการฝ่ายนำเข้าและส่งออก ภายใต้กระทรวงอุตฯ กล่าวว่าสถานการณ์การส่งออกของเวียดนามในเดือนมกราคมไปในทิศทางบวก เนื่องจากได้รับประโยชน์ของข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) อย่างไรก็ตาม ภาวการณ์ส่งออกยังคงเผชิญกับความท้าทายที่เกิดมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในปีนี้ แต่เชื่อว่ายังมีทิศทางที่เป็นบวก สาเหตุสำคัญมาจากเวียดนามมีข้อตกลงการค้าเสรี ได้แก่ CPTPP และ EVFTA รวมไปถึงการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและห่วงโซ่อุปทาน

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/vietnams-export-turnover-reaches-over-28-bln-usd-in-january-28383.html

รัฐบาลเมียนมาทุ่มเงินหนุนการใช้ไฟฟ้าช่วงโควิด

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 64 กระทรวงไฟฟ้าและพลังงานประกาศว่ารัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนสำหรับการใช้ไฟฟ้าในประเทศจำนวน 150 หน่วยในเดือนนี้ ซึ่งออกมาตรการนี้ได้ถูกใช้ไปเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้วเพื่อช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายของประชากรในช่วงการระบาดของCOVID -19 จากนั้นเงินอุดหนุนจะขยายออกไปเป็นรายเดือนไป คาดว่าจะใช้วงเงินประมาณ 35,000 ล้านจัตต่อเดือน โดยถ้าใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยหรือเท่ากับ 11,550 จัตจะถูกเรียกเก็บเงินแบบก้าวหน้า ขณะที่มิเตอร์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประเภทอื่น ๆ จะไม่ถูกนำมารวมในมาตรการนี้

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/government-extends-subsidies-electricity-myanmar.html

เริ่มแล้ว ‘ม33เรารักกัน’ เปิดลงทะเบียนรับ 4,000 บาท ตั้งแต่วันนี้–7 มี.ค. 2564

วันที่ 21 ก.พ. 2564 กระทรวงแรงงาน ได้เปิดลงทะเบียนโครงการ ‘ม33เรารักกัน’ รับเงินเยียวยา 4,000 บาท เป็นวันแรก สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19  โดยสามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com และตรวจสอบการได้รับสิทธิ ตั้งแต่วันนี้ -7 มี.ค.64  โดยผู้ได้รับสิทธิ์สามารถตอบสอบคุณสมบัติ ลายละเอียด และลงทะเบียนได้ในเว็บไซต์ https://www.xn--33-nqia4jubqa0kcg0o.com/ ทั้งนี้คาดว่าจะมีผู้ประกันตน ม.33 เข้าข่ายมีสิทธิได้รับเงินเยียวยาในครั้งนี้ จำนวน 9.27 ล้านคน ใช้วงเงินทั้งสิ้นประมาณ 37,100 ล้านบาท

ที่มา: https://workpointtoday.com/m-33-we-love/

การค้าชายแดนปี’ 64 มีลุ้นเติบโต 4.3% จับตาการค้าข้ามแดนไปประเทศที่ 3

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch)

การค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยในปีที่ผ่านมาเผชิญความท้าทายอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทั่วโลกต้องประสบเป็นปีแรกไม่เพียงทำให้กำลังซื้อของคู่ค้าชะลอตัว ยังทำให้พรมแดนระหว่างประเทศจำเป็นต้องจำกัดจุดผ่านแดนเหลือเพียงเฉพาะช่องทางที่สำคัญเท่านั้น รวมทั้งเพิ่มมาตรการเข้มงวดในการตรวจปล่อยรถขนส่งสินค้า สิ่งเหล่านี้กดดันการส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทยในภาพรวมให้หดตัวร้อยละ 2.16 มีมูลค่า 766,314 ล้านบาท ในปี 2563

สำหรับปี 2564 เป็นอีกปีที่โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้นกว่าเดิม มีทั้งปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่เข้ามาช่วยเสริมให้ตัวเลขการค้าชายแดนพลิกฟื้นกลับมา ขณะที่โครงสร้างการส่งออกสินค้าของไทยที่พึ่งพาตลาดประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทยเกินกว่าครึ่ง (เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชาและมาเลเซีย) กลายเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ฉุดการส่งออกชายแดนในภาพรวมลดลงตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าในปี 2564 การส่งออกชายแดนไปตลาดเหล่านี้จะยังมีทิศทางเติบโตเชื่องช้าต่อไปขยายตัวเพียงร้อยละ 1.3 มีมูลค่าการส่งออก 454,005 ล้านบาท ดังนี้

  • การส่งออกชายแดนของไทยเริ่มมีปัญหามีมูลค่าการค้าลดลงเรื่อยมา ด้วยข้อจำกัดด้านกำลังซื้อและจำนวนประชากรของคู่ค้า จึงทำให้ทิศทางการส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้เติบโตได้อย่างจำกัด โดยเฉพาะประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทยอย่าง สปป.ลาว และกัมพูชา
  • โครงสร้างการส่งออกสินค้าแบบเดิมของไทยตอบโจทย์ตลาดคู่ค้าได้น้อยลง

จะเห็นได้ว่าโครงสร้างการส่งออกของไทยไม่เอื้อต่อการส่งออกไปยังตลาดชายแดนหลักของไทยดังเช่นในอดีต ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดดาวรุ่งที่จะมาสนับสนุนการค้าชายแดนของไทยอยู่ที่การส่งสินค้าผ่านแดนไปประเทศที่ 3 (สิงคโปร์ จีน เวียดนาม และประเทศอื่นๆ) ซึ่งเริ่มมีสัญญาณเติบโตมาระยะหนึ่ง โดยสัดส่วนการส่งออกไปตลาดนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 43 ของการส่งออกชายแดนและผ่านแดน (จากที่เคยมีสัดส่วนร้อยละ 37 ในปี 2561) อีกทั้งสินค้าไทยที่ไปตลาดนี้มีศักยภาพโดดเด่นจึงน่าจะเติบโตได้ดีกว่าตลาดอื่นๆ โดยคาดว่าปี 2564 จะเติบโตที่ร้อยละ 8.5 มีมูลค่าส่งออกราว 345,191 ล้านบาท

โดยสรุป ด้วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน ซึ่งได้ผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 มาได้อีกปีหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าหลายประเทศยังต้องพึ่งพาการบริโภคสินค้าจากไทย รวมถึงสินค้าในกลุ่ม IT มีสัญญาณเร่งตัวตามกระแสโลกอย่างต่อเนื่องยิ่งผลักดันการส่งออกสินค้าผ่านแดนไปประเทศที่ 3 ให้มีบทบาทสำคัญ ด้วยแรงขับเคลื่อนดังกล่าว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทยปี 2564 จะพลิกกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 มีมูลค่าการส่งออก 799,195 ล้านบาท (กรอบประมาณการเติบโตที่ร้อยละ 3.3-5.5 มีมูลค่าการส่งออก 791,602-808,461 ล้านบาท) โดยขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าในการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ได้ดีเพียงใด การส่งออกไปตลาดส่วนใหญ่กลับมาขยายตัวยกเว้นบางประเทศที่หดตัวจากปัจจัยเฉพาะ อาทิ เมียนมาที่มีปัญหาการเมืองในประเทศฉุดเศรษฐกิจ และโรคระบาดในสุกรที่กัมพูชาทำให้ฐานปีก่อนสูงผิดปกติอย่างมาก

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องจับตาในระยะต่อไป ต้องยอมรับว่าโครงสร้างการผลิตและส่งออกของไทยในปัจจุบันไม่เอื้อให้ค้าชายแดนไทยเติบโตได้อย่างมั่งคงนัก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสินค้ามีมูลค่าเพิ่มน้อยในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม ขนาดตลาดมีจำกัดจึงไม่สามารถผลักดันค้าชายแดนให้เร่งตัวได้มาก ทำได้เพียงแค่ประคองการเติบโตไปตามภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้าเป็นหลัก ขณะที่สินค้าที่ใช้วัตถุดิบในไทยอย่างยางพารากับผลไม้เมืองร้อน ซึ่งมีศักยภาพโดดเด่นในตัวเองมีส่วนช่วยขับเคลื่อนค้าชายแดนไทยไปยังประเทศจีนและเวียดนามได้อย่างต่อเนื่องและยังคงมีช่องทางอันสดใส แต่สินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงในกลุ่มยานยนต์ เทคโนโลยีโดยเฉพาะสินค้า IT ที่อยู่ในกระแสความต้องการของตลาดโลกยังมีโอกาสเติบโตได้อย่างไม่หยุดยั้ง นับว่ามีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการค้าชายแดนของไทยนับจากนี้ไป แต่สินค้าเหล่านี้จะยังคงเป็นแรงส่งให้แก่ไทยได้อีกนานแค่ไหนนั้นคงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจลงทุนของต่างชาติว่าจะเลือกลงทุนในไทยหรือย้ายไปตั้งฐานการผลิตที่อื่น ดังนั้น การกระตุ้นการค้าชายแดนซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการค้าในภาพรวมของไทยก็คงต้องเริ่มจาการแก้ปัญหาโครงสร้างการผลิตของไทยให้ยกระดับไปอีกขั้น จนสินค้าไทยเกิดความโดดเด่นเป็นที่ต้องการของคู่ค้าเหนือคู่แข่งชาติอื่นๆ

ที่มา :

/1 https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/business/Pages/Border-Trade-z3191.aspx

/2 https://www.moneyandbanking.co.th/article/news/kresearch-frontier-19022021