เจาะเคล็ดลับส่งเครื่องปรุงรสไทยตะลุยตลาด CLMV

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

 

ไทยมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกอาหารสดกับอาหารแปรรูปไปต่างประเทศอยู่แล้ว ขณะที่การส่งออกเครื่องปรุงรสก็เป็นอีกสินค้าที่สามารถสร้างรายได้ให้ไทยปีละเกือบ 800 ล้านดอลลาร์ฯ แม้จะมีสัดส่วนการส่งออกค่อนข้างน้อยเพียง 0.4% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก ขณะที่ในแง่ของศักยภาพการส่งออกเครื่องปรุงรสของไทยติดอันดับ 6 ของโลก (อันดับหนึ่งคือสหรัฐฯ ตามมาด้วยจีน อิตาลี เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และไทยตามลำดับ) คิดเป็นสัดส่วน 5.8% ของมูลค่าการส่งออกเครื่องปรุงรสทั่วโลก (มีมูลค่าราว 13,600 ล้านดอลลาร์ฯ) นอกจากนี้ ไทยยังเป็นผู้ส่งออกเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย โดยเป็นรองเพียงจีนเท่านั้น ด้วยความที่เครื่องปรุงรสของไทยมีจุดแข็งตรงที่สามารถตอบโจทย์วัฒนธรรมการรับประทานอาหารของชาวเอเชียที่มักจะต้องมีเครื่องปรุงรสประกอบในแต่ละมื้อได้ค่อนข้างดี

 

ทั้งนี้ ในปัจจุบันเครื่องปรุงรสที่ไทยส่งออกมากที่สุดอยู่ในกลุ่มเครื่องปรุงแบบเอเชียที่เป็นจุดแข็งของไทย อาทิผงปรุงรส 24% ตามมาด้วยซอสพริก/ซอสถั่วเหลือง 18% เครื่องแกงสำเร็จรูป 9% น้ำปลา 9% และวัตถุดิบอื่นๆ 41% (อาทิ กะปิ) ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นคนละประเภทกับเครื่องปรุงรสแบบตะวันตกที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มซอสมะเขือเทศ มัสตาร์ด ขณะที่จีนแม้จะมีกำลังผลิตขนาดใหญ่และเป็นผู้ส่งออกหลักในฝั่งเอเชีย แต่ความเชี่ยวชาญของจีนจะอยู่ในกลุ่มซอสถั่วเหลืองเป็นหลัก นอกจากนี้ ด้วยความเชี่ยวชาญดังกล่าวทำให้สินค้าเครื่องปรุงรสของไทยส่วนใหญ่มีปลายทางอยู่ที่ตลาดอาเซียนถึง 31% ของการส่งออกเครื่องปรุงรสทั้งหมดของไทย และครึ่งหนึ่งของจำนวนดังกล่าวล้วนส่งไปประเทศเพื่อนบ้านประกอบด้วยกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) สำหรับตลาดอื่นๆ ก็จะมีสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ 21.5% และ 12.3% ตามลำดับ

.

ธุรกิจเครื่องปรุงรสของ SME ไทยมีโอกาสทำตลาดใน CLMV ได้อีกมากโดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องปรุงรสแบบเอเชียที่ไทยมีศักยภาพ ประกอบกับพฤติกรรมการบริโภคที่ใกล้เคียงกับไทย และเครื่องปรุงรสของไทยได้รับการตอบรับที่ดีในประเทศ CLMV อาทิ ผงปรุงรส ซอสพริก น้ำปลา ซอสถั่วเหลือง กะปิ เครื่องแกง ดังจะเห็นได้จากปริมาณการนำเข้าเครื่องปรุงของ CLMV มีมูลค่าราว 144 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2562 ในจำนวนดังกล่าวไทยครองส่วนแบ่งตลาดเกือบครึ่งหนึ่งมีมูลค่าประมาณ 71 ล้านดอลลาร์ฯ อีกทั้ง ไทยยังเป็นแหล่งนำเข้าหลักอันดับ 1 ในผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสด้วยสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 70% ทั้งของการนำเข้าในประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา สำหรับตลาดเวียดนามแม้สินค้าไทยจะได้รับความนิยมครองส่วนแบ่งตลาดการนำเข้าอันดับหนึ่ง 1 แต่มีสัดส่วนเพียง 27% เท่านั้น

 

เวียดนามเป็นตลาดเครื่องปรุงรสที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่ม CLMV มีวัฒนธรรมการรับประทานอาหารที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีนและฝรั่งเศส อาหารท้องถิ่นของเวียดนามจึงต่างจากไทยทำให้การบริโภคเครื่องปรุงรสของเวียดนามก็แตกต่างกับประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา โดยเครื่องปรุงของเวียดนามจะเป็นพริกซอยดองในน้ำส้มสายชู ซอสพริกในรูปแบบเวียดนาม น้ำจิ้มอาหารทะเลที่ใช้ทำจากเกลือ ผสมพริกไทย ผงชูรส และน้ำมะนาว นอกจากนี้ เศรษฐกิจที่น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้หลังโควิด-19 ในปี 2564 กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ด้วยจำนวนประชากรกว่า 97.3 ล้านคน การเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงนักท่องเที่ยวปีละไม่ต่ำกว่า 18 ล้านคน (ในปี 2562) ทำให้เวียดนามเป็นอีกตลาดที่น่าจะมีความต้องการเครื่องปรุงรสตอบโจทย์วัฒนธรรมการรับประทานอาหารนานาชาติทั้งจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น จึงเป็นโอกาสให้ SME ไทยในการเจาะตลาดเครื่องปรุงรสแบบเอเชียที่ทำได้ดีอยู่แล้วและเครื่องปรุงรสในกลุ่มอาหารนานาชาติที่น่าจะเป็นโอกาสสำคัญ อย่างไรก็ดี ธุรกิจเครื่องปรุงรสของ SME ไทยที่จะขยายตลาดในกลุ่มอาหารนานาชาติคงต้องแข่งกับแบรนด์เครื่องปรุงรสของจีนและเกาหลีใต้ที่ทำตลาดอยู่ก่อนแล้วโดยมีส่วนแบ่งตลาดการนำเข้าที่ 13% และ 12% ตามลำดับ

 

ดังนั้น ปัจจัยที่จะทำให้ผู้ประกอบการ SME ในธุรกิจเครื่องปรุงรสประสบความสำเร็จต่อเนื่องในตลาด CLMV ได้คือความเข้าใจวัฒนธรรมการรับประทานอาหาร การผสมผสานรสชาติการรับประทานอาหารแบบตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน โดยพัฒนาเครื่องปรุงรสให้ตอบโจทย์ความต้องการครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้ โดยเฉพาะเครื่องปรุงรสในแบบเอเชียที่ไทยทำได้ดีอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นผงปรุงรส ซอสพริก น้ำปลา ซอสถั่วเหลือง กะปิ เครื่องแกง ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs ไทยควรเน้นไปที่ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ในแง่ของความสะดวกในการรับประทานที่น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสทำตลาดได้ครอบคลุมผู้บริโภคทุกกลุ่ม อาทิ บรรจุภัณฑ์สำหรับรับประทานในครัวเรือน บรรจุภัณฑ์แบบซองที่พร้อมรับประทานเป็นมื้อสำหรับจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อบรรจุภัณฑ์แบบซองสำหรับให้ร้านอาหารนำไปใช้จำหน่ายแบบซื้อกลับไปรับประทานที่บ้าน นอกจากนี้เครื่องปรุงรสในกลุ่มที่ตอบโจทย์อาหารนานาชาติก็น่าจะเป็นอีกกลุ่มที่ช่วยขยายโอกาสให้แก่ SME ไทย ทั้งในตลาด CLM ที่ก็น่าจะมีพื้นที่ตลาดให้สินค้าไทยทำตลาดต่อยอดได้มากขึ้นอีก รวมทั้งตลาดเวียดนามที่มีความต้องการบริโภคอีกมาก ให้สินค้าไทยรุกเข้าทำตลาด ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้ผู้ประกอบการก็อาจใช้กลยุทธ์เพิ่มความหลากหลายในบรรจุภัณฑ์เช่นเดียวกับสินค้ากลุ่มข้างต้น

ที่มา : https://kasikornbank.com/th/business/sme/KSMEKnowledge/article/KSMEAnalysis/Pages/SMEseasoning_SME.aspx

FTA ดันส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมไปตลาดโลกโต 5%

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศภายใต้กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า เอฟทีเอหนุนส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมของไทย 11 เดือน ปี 2563 ขยายตัว 5% มูลค่าส่งออกกว่า 516 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย 94% เป็นการส่งออกไปประเทศคู่          เอฟทีเอ พบว่านมและผลิตภัณฑ์นมซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าดาวรุ่งของไทยมีการพัฒนาและยังปรับตัวได้ดีท่ามกลางกระแสการค้าโลกที่มีความท้าทายสูง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมของไทยไปตลาดโลกเพิ่มขึ้น      คืออุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์นมของไทยมีศักยภาพในการผลิตและมีคุณภาพที่ได้รับการยอมรับว่าดีที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน สินค้านมและผลิตภัณฑ์นมของไทยจึงเป็นที่นิยมและมีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมนมในอาเซียน ทั้งนีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันซึ่งภายใต้ความตกลงการค้าเสรีของไทยสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมทุกรายการที่ส่งออกจากไทยได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าแล้วจาก 14 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และฮ่องกง ส่วนอีก 4 ประเทศ ได้ลดภาษีนำเข้าสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมให้ไทยบางส่วนแต่ยังเก็บภาษีนำเข้าในบางสินค้า เพื่อสร้างโอกาสขยายการส่งออกและขยายตลาดให้กับสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมของไทยได้เพิ่มขึ้น กระทรวงพาณิชย์มีแผนจะจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (Online Business Matching) ระหว่างผู้ประกอบการโคนมแปรรูปของไทยกับผู้นำเข้า ผู้กระจายสินค้า ผู้แทนห้างค้าส่ง/ค้าปลีก ในตลาดจีนเพื่อขยายมูลค่าการค้าของผลิตภัณฑ์นมให้สูงขึ้น

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/beco/3189424

เวียดนามประสบความสำเร็จอย่างสูงจากการส่งออกข้าว แม้มีการหยุดชะงัก

เมื่อวันที่ 6 ม.ค. กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าแถลงการณ์ว่าในปี 2563 เวียดนามส่งออกข้าวประมาณ 6.15 ล้านตัน หรือเป็นมูลค่า 3.07 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้ว่าปริมาณการส่งออกข้าวจะลดลงราว 3.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากด้านความมั่งคงทางอาหารของประเทศ แต่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 9.3% อีกทั้ง ราคาส่งออกข้าวเฉลี่ยทั้งปี อยู่ที่ประมาณ 499 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น 13.3% เมื่อเทียบกับปี 2562 ข้อมูลข้างต้น ชี้ให้เห็นว่าเป็นราคาเฉลี่ยทั้งปีที่สูงที่สุดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลประโยชน์แก่ชาวเกษตรกรเวียดนาม อย่างไรก็ตาม โครงสร้างการส่งออกข้าวของเวียดนาม ยังคงใช้ข้าวที่มีคุณภาพสูง ด้วยราคาขายและมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ตามรายงานของสมาคมอาหารเวียดนาม (VFA) ระบุว่าในปี 2563 เป็นปีที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงจากการส่งออกข้าวของเวียดนาม เหตุจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในหลายๆประเทศ และความสามารถทางการแข่งขันของเวียดนามที่ดีขึ้นในตลาดโลก ถึงแม้ว่าโควิด-19 ระบาดไปยังทั่วโลก แต่ผู้ส่งออกข้าวได้ทำการปรับเปลี่ยนกิจกรรมและแสดงหาตลาดใหม่ รวมถึงนำข้อได้เปรียบจากการที่ลงนามข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ใช้ออกมาอย่างเต็มที่

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/vietnams-rice-exports-win-big-despite-one-month-interuption-27137.html

เศรษฐกิจเวียดนามสดใส ปี 63 แม้เผชิญโควิด-19

เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสดใส ด้วยอัตราการขยายตัว 2.91% ในปี 2563 เนื่องมาจากการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปีนี้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจ (CEBR) กล่าวว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะก้าวขึ้นไปอยู่อันดับที่ 19 ของโลกภายในปี 2578 และคาดว่าการเติบโตของ GDP เฉลี่ยจะอยู่ที่ 7% ในช่วงปี 2564-2568 และในอีก 10 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจเวียดนามจะโตเฉลี่ย 6.6% ในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวบีบีซีอังกฤษรายงานด้วยว่าเวียดนามได้รับความเสียหายจากโควิด-19 น้อยที่สุด และเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการเติบโตในเชิงบวกในปี 2563

  ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-economic-bright-spot-in-2020-829244.vov