จ่อชงครม.ไฟเขียวแผนนำเข้าอาหารสัตว์ ปลาป่น-กากถั่ว-ข้าวโพดปี64-66

พาณิชย์ เตรียมชง “ครม.” เคาะนโยบายอาหารปี 64-66 กำหนดนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้งกากถั่วเหลือง ปลาป่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เหมือนปี 61-63 โดยให้นำเข้าได้ทั้งจากสมาชิกดับเบิลยูทีโอ เอฟทีเอ และนอกเอฟทีเอ แต่ยังคงกำหนดให้ผู้นำเข้าข้าวสาลี ต้องซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศในสัดส่วนเดิมที่ 1 ต่อ 3 หวังไม่ให้ราคาข้าวโพดดิ่ง จากการนำเข้าข้าวสาลีที่มากขึ้น นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายอาหาร ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้เห็นชอบนโยบายอาหารสัตว์ปี 64-66 แล้ว โดยจะเปิดให้นำเข้ากากถั่วเหลือง ปลาป่น และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เหมือนกับปี 61-63   และจะเสนอให้ ครม. พิจารณาภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ทั้งนี้ กากถั่วเหลือง กำหนดการนำเข้าแบบไม่จำกัดปริมาณ ทั้งจากภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) มีภาษีนำเข้าในโควตา 2% และนอกโควตา 119%, กรอบความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อื่นๆ เช่น ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) ภาษี 0%, เอฟทีเออาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ภาษี 0% เป็นต้น และประเทศที่ไม่มีเอฟทีเอกับไทย ภาษีนำเข้า 6% และเสียค่าธรรมเนียมการนำเข้า โดยแหล่งนำเข้าใหญ่คือ บราซิล อาร์เจนตินา และสหรัฐ ส่วนปลาป่น กำหนดให้นำเข้าปลาป่นโปรตีน 60% แบบไม่จำกัดปริมาณ โดยการนำเข้าจากอาฟตา ภาษี 0%, ภายใต้เอฟทีเอต่างๆ เช่น อาเซียน-จีน ภาษีนำเข้า 0% เอฟทีเออาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ภาษี 0%, เอฟทีเอไทย-ชิลี ภาษี 0% และประเทศนอกเอฟทีเอ ภาษีนำเข้า 6% โดยแต่ละปีไทยนำเข้าจากชิลีเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กำหนดให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นผู้นำเข้าแต่เพียงผู้เดียว โดยนำเข้าภายใต้ดับเบิลยูทีโอ ปริมาณ 54,700 ตัน ภาษีในโควตา 20% นอกโควตา 73% และเสียค่าธรรมเนียมตันละ 180 บาท ส่วนภายใต้อาฟตา ภาษี 0% ไม่จำกัดปริมาณ แต่จำกัดช่วงเวลาการนำเข้าระหว่างวันที่ 1 ก.พ.-31 ส.ค.ของทุกปี เอฟทีเออื่นๆ เช่น ไทย-ออสเตรเลีย ภาษีในโควตา 4% นอกโควตา 65.70% เป็นต้น โดยปี 62 ไทยนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กว่า 1 ล้านตัน ส่วนใหญ่นำเข้าจากอาเซียน

ที่มา: : https://www.dailynews.co.th/economic/792578

เผยตัวเลขการผลิตเพิ่มขึ้น 3 เดือนติด

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน ก.ค.อยู่ที่ระดับ 85.47 ขยายตัวจากเดือน มิ.ย. 3.12% เป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 แต่หดตัว 14.69% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว รวมถึงประเทศไทย ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 56.01% จากเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 55.07% ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และกำลังทยอยฟื้นตัวขึ้น สู่ระดับปกติในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ภายใต้เงื่อนไขว่าจะไม่มีการระบาดของโควิด-19 รอบที่ 2 กรณีดังกล่าว ได้ส่งผลให้เกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้นในบางอุตสาหกรรมที่สามารถตอบสนองต่อผู้บริโภคได้ เช่น อุตสาหกรรมอาหารและยารักษาโรค ที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศคู่ค้าที่สำคัญ และสงครามการค้าสหรัฐฯและจีน รวมถึงปัญหาน้ำท่วมจีน ได้ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกต้องชะงักลง และอุตสาหกรรมบางประเภทต้องขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต เกิดปัญหาด้านการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบจากฐานการผลิตในต่างประเทศ ได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายราย ต้องย้ายฐานการผลิตออกเพื่อกระจายความเสี่ยง นับเป็นโอกาสของประเทศไทย กรณีดังกล่าว จึงสอดรับกับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มุ่งพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้สามารถรองรับอุตสาหกรรมที่จะย้ายเข้ามาใหม่ได้ รวมถึงการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่มีการเตรียมความพร้อมในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติได้ทันที.

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/business/market-business/1918876

เวียดนามส่งออกสินค้าเกษตร ป่าไม้และประมง 26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 8 เดือนแรก

กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม (MARD) เปิดเผยว่าในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร ป่าไม้และประมง อยู่ที่ 26.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มูลค่ากว่า 6.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน (24.13% ของยอดส่งออกรวม) รองลงมาจีน (-10.1%YoY) สหภาพยุโรป (-2.2%YoY) ขณะที่ อาเซียนและญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 11.4 และ 1.8 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามลำดับ กลุ่มสินค้าส่งออกหลายอย่างลดลง แต่ยอดส่งออกข้าวยังคงเพิ่มขึ้น (10.4%, 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตามมาด้วยผัก (12.8%), มันสำปะหลัง (95%), กุ้ง (11.4%) และไม้ เฟอร์นิเจอร์ไม้ (9.6%) เป็นต้น นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท ได้เข้ามาประสานงานกับกระทรวงอื่นๆ, หน่วยงานท้องถิ่นและธุรกิจ เพื่อขจัดอุปสรรคและส่งเสริมการส่งออก ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด—19 รวมถึงอัพเดทกฎระเบียบใหม่ๆ และส่งเสริมการทำตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดจีน

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/agroforestryfisheries-exports-reach-over-26-billion-usd-in-first-eight-months/181984.vnp

เวียดนามเผย 8 เดือนแรกของปี 2563 ดึงดูดเม็ดเงิน FDI 19.54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงวางแผนและการลงทุน (MPI) เปิดเผยว่า ณ เดือนสิงหาคม เวียดนามดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) 19.54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 13.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สำหรับโครงการที่ได้รับการอนุญาตใหม่นั้น มีจำนวน 1,797 โครงการ ด้วยเงินทุนจดทะเบียน 9.73 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 25.3 ในแง่ของโครงการ แต่มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งการเพิ่มขึ้นดังกล่าว เป็นผลมาจากโครงการบากเลียว (ก๊าซธรรมชาติ) ในขณะเดียวกัน โครงการที่มีอยู่ในปัจจุบัน 718 โครงการ มีการปรับเพิ่มเงินลงทุนมากกว่า 4.87 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปยังคงดึงดูดเม็ดเงิน FDI สูงสุด ที่ 9.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (47.7% ของยอดลงทุนทั้งหมด) รองลงมาการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า, อสังหาริมทรัพย์และการค้าปลีกค้าส่ง ตามลำดับ นอกจากนี้ สิงคโปร์เป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ด้วยมูลค่า 6.54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (33.5% ของยอดลงทุนทั้งหมด) รองลงมาเกาหลีใต้ จีน, ญี่ปุ่น, ไทยและไต้หวัน ตามลำดับ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/eightmonth-fdi-attraction-hits-1954-billion-usd/181983.vnp

ตลาดอัญมณีโม่โกะกลับมาเปิดอีกครั้งหลังปิดนาน 2 เดือน

Mogok Htar Pwe ตลาดขนาดเล็กแบบดั้งเดิมที่ค้าขายอัญมณีของชาวโม่โกะ (Mogok) ได้กลับมาเปิดตามปกติตั้งแต่เดือนมิถุนายน 63 หลังจากถูกปิดเป็นเวลาสองเดือนเนื่องจากการระบาดของ Covid-19 ซึ่งได้รับการอนุญาตของเทศบาล โดยจะมีการวางสบู่ล้างมือ อ่างสำหรับล้างมือและตรวจสอบว่าผู้สวมหน้ากากอนามัยหรือไม่ ตลาดอัญมณีถูกระงับตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 63 และเปิดทำการอีกครั้งในวันที่ 1 มิถุนายน 63 จะเปิดทำการตั้งแต่เวลา 12.30-16.00 น. ชาวบ้านได้รับผลกระทบในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาเนื่องจากทั้งเมืองต้องพึ่งพาธุรกิจนี้ ซึ่งกฎหมายการขุดอัญมณีขนาดเล็กและการยังชีพซึ่งได้รับการอนุมัติที่รัฐบาลมัณฑะเลย์ในช่วงต้นเดือนนี้ยังมีความสำคัญสำหรับผู้ค้าอัญมณีจากโม่โกะและโอกาสในการทำงานสำหรับคนในท้องถิ่นซึ่งรัฐบาลภูมิภาคจะได้มีสิทธิ์ในการจัดการเอง

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/mogok-traditional-gem-markets-resume-normal-operation.html

อัตราการหางานเพิ่ม20% ในช่วง COVID-19 ระบาดในเมียนมา

ข้อมูลของ My Jobs.com.mm พบว่าอัตราการหางานเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 ในช่วงการระบาดของ COVD-19 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าและระบบการจัดหางานของนายจ้างก็เปลี่ยนไป ซึ่งธุรกิจบางแห่งลดเงินเดือนพนักงานและลดกำลังแรงงานตั้งแต่เดือนมีนาคม 63 จากนั้นการหางานผ่านทางออนไลน์ก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ในปลายเดือนพฤษภาคม 63 ในปัจจุบันอุตสาหกรรมกรรมท่องเที่ยวหยุดชะงักทำให้พนักงานถูกลดเงินเดือน เลิกจ้างและมีบางส่วนลาออกไปสมัครงานอื่น ๆ ซึ่งการขาดแคลนแรงงานจะเกิดขึ้นหากภาคการท่องเที่ยวกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/job-hunting-rate-creeps-20pc-during-covid-19-myanmar.html

อัตราเงินเฟ้อในสปป.ลาวยังคงเป็นอุปสรรคของสปป.ลาว

ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในสปป.ลาวลาวยังคงอยู่ในระดับสูงแม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการเพื่อควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมก็ตาม รายงานของสำนักงานสถิติสปป.ลาว เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคแตะระดับ 113.15 จุดในเดือนกรกฎาคม โดยอัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ลดลงในเดือนกรกฎาคมเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงหมวดหมู่ที่เกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ยาสูบ เสื้อผ้า รองเท้าและยาก็ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้อัตราเงินเฟ้อประจำปีอยู่ที่ร้อยละ 5.12 ปัจจัยหลักที่ผลักดันให้เกิดเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูงนั้นมาจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องนำเข้าสินค้าในราคาที่สูงขึ้นและสปป.ลาวยังคงนำเข้าอาหารจำนวนมากรวมถึงอาหารทะเลจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลักแทนการผลิตในประเทศ ไม่เพียงแค่ปัญหาด้านเงินเฟ้อที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสปป.ลาว ในสถานการร์ปัจจุบันสปป.ลาวเผชิญกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจสำคัญทั้งด้านการท่องเที่ยว การลงทุน การส่งออก และกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานซึ่งสาเหตุที่ทำให้ต้องนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเข้ามา แม้ว่ารัฐบาลจะผลักดันให้มีการผลิตทางการเกษตรในประเทศมากขึ้น

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Inflation167.php