จำนวนผู้โดยสารที่มาเยือนกัมพูชา ผ่านท่าอากาศยาน เสียมราฐ-อังกอร์ ขยายตัวต่อเนื่อง

ท่าอากาศยานนานาชาติ เสียมราฐ-อังกอร์ (SAI) ที่เพิ่งเปิดให้บริการต้อนรับผู้โดยสารทางอากาศ ขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ยสูงถึงประมาณ 2,600 คนต่อวัน ตามการระบุของสำนักงานเลขาธิการการบินพลเรือนแห่งรัฐ (SSCA) โดยท่าอากาศยานดังกล่าวสามารถรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้น 17 เที่ยวบิน เมื่อเทียบกับสนามบินนานาชาติเสียมราฐ (ก่อนปรับปรุง) ซึ่งคาดว่าจำนวนผู้โดยสารทางอากาศที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นผลมาจากปัจจุบันอยู่ในช่วงไฮซีซั่น เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมจนถึงช่วงสิ้นปี ปัจจุบันมีสายการบิน 7 สายการบิน ให้บริการ ณ สนามบินนานาชาติเสียมราฐ-อังกอร์ โดยเป็นสายการบินต่างประเทศ 6 สายการบิน และสายการบินท้องถิ่น 1 สายการบิน สำหรับท่าอากาศยานนานาชาติเสียมราฐ-อังกอร์ ตั้งอยู่ในชุมชน Tayek ห่างจากตัวเมืองเสียมราฐ 50 กิโลเมตร ซึ่งสนามบินดังกล่าวจัดอยู่ในระดับ 4E ที่สามารถรองรับเที่ยวบินระยะไกลจากทั่วโลกด้วยรันเวย์ระยะ 3,600 เมตร และมี 38 ท่าเทียบเรือ โดยสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 7 ล้านคนต่อปี และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 12 ล้านคน ภายในปี 2040 ในด้านการขนส่งสินค้า สนามบินสามารถรองรับการขนส่งสินค้าทางอากาศได้ 10,000 ตันต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเป็น 26,000 ตันต่อปีจากปี 2040

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501381542/siem-reap-angkor-intl-airport-records-high-of-daily-passengers/

รัฐสภาแห่งชาติ สปป.ลาว เปิดประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 6 หารือทางแนวทางแก้ไขปัญหาของประเทศ

สภานิติบัญญัติชุดที่ 9 ของรัฐสภาแห่งชาติ สปป.ลาว จะจัดการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 31 ต.ค. ถึง 21 พ.ย. 66 เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาของประเทศที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ โดยการประชุมสภาครั้งนี้ มีความพยายามในการหาแนวทางจัดการปัญหาเศรษฐกิจและการเงินที่ย่ำแย่ของประเทศ มีการเปิดอภิปรายกฎหมายใหม่ 2 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษและการสาธารณสุข โดยจะพิจารณาแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการปฏิบัติ การบัญชี การชำระหนี้ กระบวนการยุติธรรม การติดตามตรวจสอบของรัฐสภาและสภาประชาชนประจำจังหวัด นอกจากนี้ จะเปิดโอกาสให้สมาชิกสภาแห่งชาติฯ ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความคืบหน้าของรัฐบาลในดำเนินการตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม  งบประมาณ และการเงิน สำหรับปี 2564 ถึง 2568
ที่มา : https://english.news.cn/20231025/8c2c050359ee4bb1b102d9fecd0b9f5e/c.html

ธนาคารบริการทางการเงินที่ชำระด้วยสกุลเงินหยวน (RMB) เปิดทำการแล้วที่ สปป.ลาว

The ICBC Vientiane Branch ได้รับอนุญาตจากจีนในการเปิดให้บริการทางการเงินที่ชำระด้วยสกุลเงินหยวน (RMB) ใน สปป.ลาว โดยจะใช้เป็นช่องทางในการชำระหนี้ข้ามพรมแดนที่รวดเร็ว ปลอดภัย และประหยัดระหว่าง สปป.ลาว กับจีน โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือองค์กรและสถาบันทางการเงินในลาวให้สามารถทำธุรกรรมทางการเงินในรูปสกุลเงินหยวนของจีนได้สะดวกมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนอัตราแลกเปลี่ยน อำนวยความสะดวกการลงทุนและการค้าระหว่างสองประเทศ และรักษาเสถียรภาพทางการเงินของ สปป.ลาว และกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ รวมถึงส่งเสริมการค้าระหว่างสองประเทศ

ที่มา : https://english.news.cn/20231025/a6c4ec1bf93e4cf2a17b97ed390e71ac/c.html

ต้นทุนการผลิตน้ำมันลดลงเนื่องจากราคาถั่วลิสงลดลง

ผู้ผลิตน้ำมันกล่าวกับ The Global New Light of Myanmar (GNLM) ว่า ราคาถั่วลิสงที่ลดลง ช่วยลดต้นทุนการผลิตน้ำมันถั่วลิสง นอกจากนี้ อุปสงค์ของถั่วพัลส์ที่ลดลงของจีนทำให้ราคาลดลงเหลือ 5,500 จ๊าดต่อ viss จากเดิม 7,500 จ๊าดต่อ viss ในเดือนตุลาคม ราคาของถั่วลิสงป่นก็ลดลงเหลือ 2,500 จ๊าดต่อ viss จากเดิม 3,300 จ๊าดต่อ viss  ผู้ผลิตน้ำมันกล่าวอีกว่า ต้นทุนการผลิตน้ำมันถั่วลิสงลดลงอย่างมากเนื่องจากราคาถั่วลิสงที่ลดลง ขึ้นอยู่กับคุณภาพ และปริมาณการผลิตน้ำมันด้วย ซึ่งต้นทุนการผลิตน้ำมันต่อเที่ยวอยู่ที่ 10,000 – 11,500 จ๊าดต่อ viss ซึ่งหากรวมต้นทุนอื่นๆด้วย จะอยู่ที่ 14,000 – 15,000 จ๊าดต่อ viss เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ที่ผ่านมา ราคาขายส่งน้ำมันถั่วลิสงปรับตัวอยู่ในช่วงระหว่าง 12,500 – 16,000 จ๊าดต่อ viss ขึ้นอยู่กับภูมิภาค ในขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มอยู่ที่ 4,500-5,500 จ๊าดต่อ viss ทั้งนี้ การผลิตน้ำมันถั่วลิสง น้ำมันงา และน้ำมันดอกทานตะวันยังไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้นจึงยังคงมีการนำเข้าน้ำมันปาล์มอยู่ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา ราคาถั่วลิสง งาขาว และน้ำมันปาล์ม อยู่ที่ 1,627.28 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน 2,104.17 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และ 815 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ได้ตรวจพบการเจือปนของน้ำมันปาล์มกับน้ำมันถั่วลิสงในท้องตลาด ผู้ผลิตบางรายจึงประสบปัญหาจากราคาถั่วลิสงในตลาดลดลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันถั่วลิสงลดลงตาม และทำให้ความต้องการน้ำมันถั่วลิสงและน้ำมันงาบริสุทธิ์เพิ่มขึ้น

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/oil-production-cost-declines-as-peanut-price-drops/

เมียนมานำเข้าปูนซีเมนต์กว่า 16,400 ตัน เป็นมูลค่า 1.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนกันยายน

ตามการรายงานของกระทรวงพาณิชย์ในเดือนกันยายน ที่ผ่านมา เมียนมามีการนำเข้าปูนซีเมนต์ทั้งหมดกว่า 16,400 ตัน โดยผ่านช่องทางหลัก ได้แก่ การนำเข้าทางเรือประมาณ 400 ตัน แบ่งเป็น 250 ตันจากมาเลเซีย และกว่า 150 ตันจากจีน คิดเป็นมูลค่ารวม 0.075 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และการนำเข้าผ่านทางชายแดนกว่า 16,000 ตัน จากประเทศไทย คิดเป็นมูลค่ารวม 1.365 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เมียนมามีการนำเข้าปูนซีเมนต์ทางเรือมากกว่า 3,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 0.302 ล้านเหรียญสหรัฐ  และนำเข้าปูนซีเมนต์ผ่านทางชายแดน ประมาณ 20,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.585 ล้านเหรียญสหรัฐ  รวม 23,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.887 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ จากการนำเข้าปูนซีเมนต์ที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น คาดว่าธุรกิจก่อสร้างมีแนวโน้มจะเติบโตได้ดี

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-imports-over-16400-tonnes-of-cement-worth-us1-44-mln-in-sept/

บริษัทสัญชาติกัมพูชาลงนาม MoU ร่วมกับบริษัทอินโดนีเซีย พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร

บริษัท V-Consolidated Co., Ltd. ของกัมพูชาได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ร่วมกับ บริษัท PT Niramas Utama ซึ่งปัจจุบันบริษัทถือเป็นผู้ผลิตภัณฑ์อาหารรายใหญ่ของอินโดนีเซีย หวังดันการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารภายใต้แบรนด์ดัง ‘Inaco’ สำหรับบันทึกความเข้าใจดังกล่าวได้รับการลงนามนอกรอบในงาน Trade Expo Indonesia (TEI) ครั้งที่ 38 ประจำปี 2023 ซึ่งจัดขึ้น ณ ICE BSD City ในทังเกอรัง ตั้งแต่วันที่ 18 – 22 ตุลาคม และทางออนไลน์ระหว่างวันที่ 18 ตุลาคม – 18 ธันวาคม 2023 ผ่านทางเว็บไซต์ www.tradexpoindonesia.com ด้าน Sovann Heng กรรมการผู้จัดการของ V-Consolidated และสมาชิกของคณะผู้แทนกัมพูชา กล่าวเสริมว่า บันทึกความเข้าใจดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงข้อตกลงในการนำเข้าและจัดจำหน่ายเท่านั้น แต่ยังเป็นความร่วมมือทางธุรกิจที่เป็นก้าวที่สำคัญ ซึ่งมีส่วนในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในระดับทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและอินโดนีเซีย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501380749/cambodian-firm-signs-mou-with-indonesian-food-products-major/

ACFTA ดันการค้าทวิภาคี กัมพูชา-จีน แตะ 11.69 พันล้านดอลลาร์

ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ได้ส่งเสริมการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและจีนนับตั้งแต่ปี 2010 โดยปัจจุบันทางการจีนพยามยามผลักดันการเจรจา FTA เป็นเวอร์ชัน 3.0 ซึ่งข้อตกลง ACFTA ได้เริ่มมีผลบังคับใช้มาแล้ว 13 ปี ส่งผลทำให้การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและจีนเติบโตถึง 10 เท่า นับตั้งแต่ปี 2010 จากมูลค่า 1.25 พันล้านดอลลาร์ สู่ 11.69 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2022 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 21.37 กล่าวโดย Tat Puthsodary รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ในระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการ ณ กรุงพนมเปญ ขณะที่ Academy for International Business Officials (AIBO) หน่วยงายร่วมของกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำกัมพูชา ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ 4 วัน โดยมุ่งสร้างขีดความสามารถให้กับเจ้าหน้าที่กัมพูชาในเรื่องกฎแห่งถิ่นกำเนิดสินค้า ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าของกัมพูชา สำหรับการค้าระหว่างทั้งสองประเทศมีมูลค่าเกือบ 980 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2022 มากกว่าปี 2013 ถึง 1.2 เท่า ที่มูลค่าประมาณ 440 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501380743/acfta-boosts-cambodia-china-bilateral-trade-to-11-69-billion/

‘ปานปรีย์’ เตรียมเยือนเวียดนาม สัปดาห์นี้

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การต่างประเทศของไทย ได้เตรียมเดินทางมาเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการที่มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 ต.ค.66 ตามคำเชิญของนายบุ่ย แทงห์ เซิน รมว.การต่างประเทศของเวียดนาม โดยการเยือนในครั้งนี้เป็นครั้งแรกของนายปานปรีย์ พหิทธานุกร นับตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งจากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรมว.การต่างประเทศของไทยในเดือน ก.ย. ปีนี้

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายรักษาการแลกเปลี่ยนและการติดต่อระหว่างผู้นำระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ ประสานงานอย่างใกล้ชิด และสนับสนุนซึ่งกันและกันในเวทีระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ โดยเฉพาะกลไกอนุภูมิภาคอาเซียนและลุ่มน้ำโขง ซึ่งมีส่วนในการเสริมสร้างสันติภาพ เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในอาเซียน

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/thai-deputy-prime-minister-and-foreign-minister-to-visit-viet-nam-this-week-2206126.html

‘แบงก์ชาติเวียดนาม’ เผยหนี้เสียในระบบ พุ่ง 3.56%

จากข้อมูลของธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) เปิดเผยว่าอัตราส่วนหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์ เพิ่มขึ้นจาก 2% เมื่อต้นปีนี้ ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 3.56% หรือมากกว่า 440 ล้านล้านด่อง ณ สิ้นเดือนก.ค.66 รวมไปถึงหนี้เสียที่ธนาคารพาณิชย์ขายให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ (VAMC) และยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้เสียในระบบได้ ส่งผลให้อัตราหนี้เสียเพิ่มขึ้น 6.16% ทั้งนี้ นาง เหงียน ถิ ห่ง ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติเวียดนาม เปิดเผยข้อมูลเมื่อวันที่ 21 ก.ย.66 พบว่ายอดสินเชื่อคงค้างในระบบ มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นมากกว่า 12.62 พันล้านล้านด่อง เพิ่มขึ้น 5.91% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยเฉพาะหนี้เสียในภาคอสังหาริมทรัพย์

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1605583/bad-debt-ratio-of-banking-system-surges-to-3-56-per-cent.html