จับตา “บริษัทในอาเซียน” จำนวนมาก จ่อเสนอขายหุ้น IPO ในสหรัฐ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บริษัทในอาเซียน หลายแห่งกำลังพิจารณาเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา โดยอาศัยความต้องการของนักลงทุนที่แข็งแกร่งสำหรับการเติบโตของตลาดเกิดใหม่ สิ่งนี้เกิดขึ้นนอกเหนือจากแผนการที่ประกาศเมื่อเร็วๆนี้ โดย VNG Corp บริษัทอินเทอร์เน็ตของเวียดนาม และ DoubleDragon Corp’s บริษัทอสังหาริมทรัพย์ของฟิลิปปินส์ที่จะเข้าจดทะเบียนในสหรัฐฯ เป็นการเติมเต็มช่องว่างที่บริษัทจีนซึ่งหยุดชั่วคราว หลังจากความตึงเครียดทางการเมืองกับสหรัฐทวีความรุนแรงขึ้น จีนได้เข้มงวดการตรวจสอบบริษัทในประเทศที่แสวงหาการเข้าจดทะเบียนในต่างประเทศอย่างเข้มงวด ขณะที่เศรษฐกิจจีนก็ชะลอตัวลง ทั้งนี้ บริษัทในอาเซียน ระดมทุนได้ประมาณ 101 ล้านดอลลาร์ผ่านการเสนอขายหุ้น IPO ในสหรัฐฯ ในปี 2566 ซึ่งต่ำกว่าปีที่แล้วมากที่ 919 ล้านดอลลาร์ แต่คาดว่าอัตราการระดมทุนจะเพิ่มขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ มองหาแหล่งเงินทุนใหม่

ที่มา : https://moneyandbanking.co.th/2023/62235/

‘เวียดนาม’ เปิด 3 scenarios การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2567 ขยายตัวสูงสุด 6.5%

กระทรวงการวางแผนและการลงทุน (MPI) ได้วางฉากทัศน์ (Scenarios) ของการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ 3 กรณีในปี 2567 โดยมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตสูงขึ้นที่ 6.5% ซึ่งการคาดการร์ดังกล่าวมาจากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ปี 2564-2568 รวมถึงการบรรลุเป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2566

ทั้งนี้ ในกรณีที่ 1 เศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตที่ 6% เป็นไปตามการฟื้นตัวของการค้าและการลงทุนโลกที่ยังคงเผชิญกับอุปสรรค ถึงแม้ว่าตลาดและบริการในประเทศจะมีทิศทางที่แข็งแกร่ง แต่การค้าต่างประเทศและภาคอุตสาหกรรมอาจไม่ฟื้นตัว

ขณะที่ในกรณีที่ 2 เศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตที่ 6.5% เป็นไปตามเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคที่ฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดไว้ สถานการณ์ครั้งนี้จะคำนึงถึงอุปสงค์ การค้าและการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น

และในกรณีที่ 3 เศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตที่ 6-6.5% สะท้อนจากความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในระดับโลกและในประเทศ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1593945/ministry-projects-three-economic-growth-scenarios-for-2024-highest-at-6-5-per-cent.html

‘เวิลด์แบงก์’ ชี้การลงทุน FDI ในเวียดนามยังคงทรงตัว ท่ามกลางความไม่แน่นอนทั่วโลก

ธนาคารโลก (WB) ได้ออกรายงาน Vietnam Macro Monitoring ประจำเดือน ส.ค. 2566 ระบุว่ากระแสการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และการเบิกจ่ายงบประมาณ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่จะมองหาโอกาสทางธุรกิจในตลาดเวียดนาม ทั้งนี้ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 2.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี เหตุจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมในประเทศและการส่งออก ในขณะที่ยอดค้าปลีก ปรับตัวดีขึ้น 7.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด อีกทั้ง การลงทุน FDI ยังคงอยู่ในระดับทรงตัว ท่ามกลางความไม่แน่นอนทั่วโลก ด้วยเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าไปยังเวียดนาม มีมูลค่ากว่า 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 32% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค.

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-fdi-performance-remains-steady-amid-global-uncertainties-wb-post1046850.vov

‘เมียนมา’ เผย 4 เดือนปี 66 ส่งออกไปยังภูมิภาค ทะลุ 1.77 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์ (MoC) รายงานว่าการส่งออกของเมียนมาไปยังกลุ่มประเทศในภูมิภาคในช่วงเดือน เม.ย.-ก.ค. มีมูลค่าเกินกว่า 1.77 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ของปีงบประมาณ 2566-2567 ขณะที่การค้าอาเซียน-เมียนมา ผ่านเส้นทางทะเลและชายแดนทางบก มีมูลค่ากว่า 4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเมียนมาในภูมิภาค โดยมีมูลค่ามากกว่า 2.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาสิงคโปร์ (1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) มาเลเซีย อินโดนีเซียและเวียดนาม อีกทั้ง สินค้าส่งออกสำคัญของเมียนมา ได้แก่ สินค้าการเกษตรและประมง แร่ธาตุ ในขณะเดียวกัน สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และสินค้าอุปโภคบริโภค

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmars-exports-to-regional-countries-cross-us1-77-bln-in-4-months-moc-reports/

ราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือนใน สปป.ลาว

ด้วยสถานการณ์รายได้ภาคครัวเรือนส่วนใหญ่ของคน สปป.ลาว ไม่สามารถสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลทำให้ภาคครัวเรือนจำเป็นต้องลดการใช้จ่ายด้านอาหาร สุขภาพ และการศึกษา ตามการสำรวจครั้งล่าสุดของธนาคารโลก (World Bank) ซึ่งราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นผลมาจากความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ รวมถึงความไม่มั่นคงทางอาหารในประเทศ

สำหรับการสำรวจของธนาคารโลกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม พบว่ากว่าร้อยละ 87 ของครัวเรือน กล่าวว่า ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น และเพื่อเป็นการรับมือส่วนใหญ่ภาคครัวเรือนได้มีการเพาะปลูก รวมถึงเปลี่ยนไปกินอาหารราคาถูกลง หรือลดปริมาณในการบริโภคลง ไปจนถึงจำเป็นต้องขายทรัพย์สิน หรือกู้ยืมเงินมากขึ้น โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวใช้จ่ายด้านการศึกษาลดลง และมากกว่าร้อยละ 14 ของเด็กวัยเรียนจำเป็นต้องพักการเรียนลง จากผลกระทบดังกล่าว แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันจะเริ่มผ่อนคลายลงนับตั้งแต่ต้นปี 2023 แต่อัตราเงินเฟ้อก็ยังคงสูง ซึ่งเมื่อเทียบเป็นรายปีอยู่ที่ประมาณร้อยละ 36 และเพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ธนาคารโลกแนะนำให้เลิกใช้มาตรการลดหย่อนภาษี และการยกเว้นภาษี รวมถึงปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นร้อยละ 10 ปรับปรุงคุณภาพการลงทุนภาครัฐและสัมปทาน เสริมสร้างการกำกับดูแลของภาคธนาคาร ไปจนถึงทำการเจรจาหนี้ และสร้างกฎเกณฑ์สำหรับการลงทุนภาคเอกชนให้ง่ายขึ้น เพื่อหวังดึงอัตราเงินเฟ้อลง

ที่มา : https://www.worldbank.org/en/news/press-release/2023/09/19/food-prices-affect-families-in-lao-pdr-despite-easing-inflation

8 เดือนแรกของปี กัมพูชานำเข้า น้ำมันและก๊าซ มูลค่ารวมกว่า 2.28 พันล้านดอลลาร์

สำหรับในช่วงเดือน มกราคม-สิงหาคม ปีนี้ กัมพูชานำเข้าผลิตภัณฑ์น้ำมันและก๊าซมูลค่ารวมกว่า 2.28 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) โดยคาดว่าความต้องการในการใช้ผลิตภัณณ์ดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.8 ล้านตัน ภายในปี 2030 จากปริมาณ 2.8 ล้านตัน ในปี 2020 ซึ่งปัจจุบันกัมพูชานำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 100% ซึ่งมีแหล่งนำเข้าส่วนใหญ่มาจากไทย เวียดนาม และสิงคโปร์

ด้าน OPEC, สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ และสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ ล้วนคาดการณ์ถึงการขาดดุลของตลาดที่เพิ่มมากขึ้นในไตรมาสหน้า เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่ควบคุมอุปทานการผลิตและการส่งออกทั่วโลก โดยคาดว่าอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ส่งผลทำให้ราคาน้ำมันจ่อปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งราคาน้ำมันในกัมพูชาล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (18 ก.ย.) อยู่ที่ 1.12 ดอลลาร์ ต่อลิตร ขณะที่น้ำมันดีเซลราคาอยู่ที่ 1.15 ดอลลาร์ ต่อลิตร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501362703/cambodia-imports-oil-and-gas-products-worth-2-28-billion-in-the-first-eight-months-of-the-year/

AMRO ปรับการเติบโต GDP ของกัมพูชาเหลือ 5.3%

องค์กรวิจัยเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (AMRO) ได้ปรับลดอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) กัมพูชา ลงเหลือร้อยละ 5.3 สำหรับการประมาณการครั้งที่ 3 ภายในปี 2023 ด้วยการสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว รวมถึงภาคการผลิตโดยเฉพาะสินค้าที่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่ม และกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง ขณะที่ภาคการผลิตเครื่องนุ่งห่มซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของกัมพูชามีอัตราการเติบโตที่ช้าลง และภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา จึงทำให้ AMRO ปรับลดการเติบโตของ GDP ลงเหลือร้อยละ 5.3 จากร้อยละ 5.7 ที่ได้คาดการณ์ไว้ในเดือนกรกฎาคม และร้อยละ 5.9 ในเดือนเมษายนปีนี้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501362523/amro-revises-down-cambodias-gdp-growth-to-5-3-for-2023/