กัมพูชาคาดจัดเก็บภาษีเกินกรอบแผนงบประมาณประจำปีที่ได้กำหนดไว้

กรมสรรพากรกัมพูชา (GDT) รายงานสถานการณ์การจัดเก็บภาษีในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ สูงถึงร้อยละ 64 ของแผนการจัดเก็บภาษีประจำปี 2023 ที่มูลค่า 2.3 พันล้านดอลลาร์ เกินกว่าเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งภายในปี 2023 กำหนดเป้าหมายในการจัดเก็บภาษีไว้ที่ 3.5 พันล้านดอลลาร์ โดยได้กล่าวไว้ในระหว่างการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นำโดย Kong Vibol ผู้อำนวยการ GDT ซึ่งได้กล่าวเสริมว่าการจัดเก็บภาษีจะเกินกว่าแผนในการจัดเก็บงบประมาณประจำปีที่ร้อยละ 20-25 แม้ว่าเศรษฐกิจโดยภาพรวมจะชะลอตัวลงในปัจจุบัน แต่ยังมีบางภาคส่วน เช่น อุตสาหรรมเครื่องดื่มและภาคการท่องเที่ยวที่ยังมีการขยายตัวและสามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น ช่วยให้ทางการจัดเก็บภาษีได้เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปี 2023 ซึ่งการขับเคลื่อนดังกล่าวยังได้รับความช่วยเหลือมาจากการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษี เช่น การเสริมสร้างธรรมาภิบาลและการจัดการผ่านระบบดิจิทัล การปรับปรุงกฎหมายภาษีให้ทันสมัย ขณะที่ในช่วงเวลาดังกล่าวการจัดเก็บภาษีในภาคอีคอมเมิร์ซมีมูลค่ารวมกว่า 46 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501359504/tax-collection-to-exceed-budget-plan-this-year/

ส่งออกนมไปคู่ค้า FTA โต 8.3% มูลค่ากว่า 357.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่ากรมได้ติดตามสถานการณ์การส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมของไทย พบว่า การส่งออกยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกเบอร์ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับ 7 ของโลก โดยในช่วง 7 เดือนของปี 2566 (มกราคม-กรกฎาคม) ไทยส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมไปตลาดโลก มูลค่า 380.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 8.2% เป็นการส่งออกไปตลาดคู่ FTA มูลค่า 357.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 8.3% คิดเป็นสัดส่วนถึง 94.1% ของการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมทั้งหมด ตลาดคู่ FTA ที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ อาเซียน เพิ่ม 6.9% จีน เพิ่ม 41.4% ฮ่องกง เพิ่ม 18.6% ออสเตรเลีย เพิ่ม 21.8% และอินเดีย เพิ่ม 137.6% สินค้าส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น นมพร้อมดื่มยูเอชทีนมเปรี้ยวและโยเกิร์ต นมถั่วเหลืองที่มีนมผสม เครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีนมผสม และหางนม (เวย์) เมื่อเจาะลึกลงไปในตลาด FTA ทั้งหมด ที่ไทยส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์ พบว่า ตลาดอาเซียนมีการขอใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ในการส่งออกสูงสุด เนื่องจากไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าทุกรายการแล้ว โดยในช่วง 7 เดือนไทยส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมไปอาเซียน คิดเป็นสัดส่วน 81% ของการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมทั้งหมด ตลาดที่ขยายตัวได้ดี เช่น สปป.ลาว เพิ่ม 14.2% ฟิลิปปินส์ เพิ่ม 13.3% และมาเลเซีย เพิ่ม 35.3% สินค้าที่ได้รับความนิยม เช่น นม UHT มูลค่า 86.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 16.7% นมเปรี้ยวและโยเกิร์ต มูลค่า 78.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 14.4% เครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีนมผสม มูลค่า 12.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 18.8% และหางนม (เวย์) มูลค่า 4.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 41.8% ปัจจุบัน ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ของไทยกับคู่ค้า 18 ประเทศ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้การส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคู่ค้า FTA 14 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และฮ่องกง ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมจากไทยทุกรายการแล้ว เหลือเพียง 4 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และเปรู ที่ลดภาษีนำเข้าสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมบางส่วนให้ไทย เช่น ญี่ปุ่น เก็บภาษีนำเข้านม อัตรา 21.3-25.5% โยเกิร์ต อัตรา 21.3-29% และชีส อัตรา 22.4-40% เกาหลีใต้ เก็บภาษีนำเข้านม อัตรา 26.8% โยเกิร์ต อัตรา 28.8% ชีส อัตรา 36% และอินเดีย ไม่เก็บภาษีนำเข้านมเปรี้ยวและโยเกิร์ตจากไทยแล้ว แต่ยังเก็บภาษีนำเข้านม อัตรา 20-60% นอกจากนี้ ความตกลงความ RCEP ญี่ปุ่น ตกลงจะทยอยลดภาษีนำเข้าเครื่องดื่มนมที่มีนมผสมลงจนเหลือ 0% ในปี 2580

ที่มา : https://www.naewna.com/business/756491

‘ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์’ ดันสัดส่วนแตะ 18% ของอุตสาหกรรมเวียดนาม

อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีสัดส่วน 17.8% ของอุตสาหกรรมเวียดนาม ส่งผลให้เวียดนามเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ๋ที่สุด 15 อันดับแรกของโลก และจากรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) ระบุว่าในปีที่แล้ว เวียดนามทำรายได้จากการส่งออกผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อยู่ที่ 114 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบเป็นรายปี และคิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด อย่างไรก็ดี กลุ่มผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนในเวียดนามยังคงต้องพึ่งพาการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศอย่างมาก (FDI) จากการที่ใช้แรงงานเข้มข้นสูงและพึ่งพาแหล่งวัตถุดิบในท้องถิ่นต่ำ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/electronics-manufacturing-makes-up-nearly-18-of-vietnams-industry/267803.vnp

‘เวียดนาม’ พร้อมส่งออกทุเรียนไปยังอินเดีย

Nguyen Thi Thu Huong รองผู้อำนวยการกรมการอารักขาพืช กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท (MARD) กล่าวว่าหน่วยงานกำลังดำเนินการตามขั้นตอน เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งออกทุเรียนเวียดนามไปยังอินเดีย และจากรายงานของทางการ พบว่าทุเรียนสดของเวียดนามส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่างๆ จำนวน 24 แห่ง และผลไม้แช่แข็ง 23 แห่ง ขณะที่ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามส่งออกทุเรียนสดกว่า 3 แสนตัน ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงฯ พบว่ารายได้จากการส่งออกทุเรียน มีมูลค่าอยู่ที่ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 30% ของมูลค่าการซื้อขาย และเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า ของปีที่แล้ว (420 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnam-completing-procedures-to-export-durian-to-india-official-post129303.html

‘ค้าชายแดนจีน-เมียนมา’ 5 เดือน พุ่ง 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามข้อมูลสถิติของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าการค้าชายแดนเมียนมา-จีน ในช่วง 5 เดือนของปี 2566 (เม.ย.-ส.ค.) มีมูลค่าการค้าสูงถึง 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ของปีงบประมาณ 2566-2567 โดยตัวเลขการค้าดังกล่าว แสดงให้เห็นว่ายอดการค้าเพิ่มขึ้นราว 648.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทั้งนี้ เมียนมามีด่านการค้าชายแดนกับประเทศจีน ได้แก่ ด่านมูแซ (Muse), ด่านชีนฉวินหอ (Chinshwehaw), ด่านกัมปติ (Kampaiti) และด่านเชียงตุง (Kengtung) โดยเฉพาะด่านมูแซที่ทำรายได้จากการค้าชายแดนมากที่สุด อยู่ที่ 1.07 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของเมียนมา ได้แก่ ผลผลิตทางการเกษตร ปศุสัตว์และประมง ในขณะที่สินค้านำเข้า ได้แก่ สินค้าทุน สินค้าขั้นกลาง และสินค้าอุตสาหกรรม

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/sino-myanmar-border-trade-skyrockets-to-us1-7-bln-over-last-five-months/#article-title

คาดสะพานมิตรภาพ เมียนมา-สปป.ลาว ส่งเสริมการค้าชายแดนระหว่างประเทศ

นับตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม การค้าชายแดนระหว่างเมียนมา และ สปป.ลาว เพิ่มขึ้น ภายหลังจากการเปิดให้ใช้สะพานมิตรภาพ เมียนมา-สปป.ลาว สร้างมูลค่าการค้าข้ามชายแดนมากกว่า 900,000 ดอลลาร์ ตามการรายงานของกรมการค้าภายใต้กระทรวงพาณิชย์ ขณะที่ปัจจุบัน สปป.ลาว นำเข้ายาสูบจากเมียนมาเป็นสินค้านำเข้าสำคัญ โดยหลังจากเปิดให้ใช้บริการสะพานข้ามแดนดังกล่าวส่งผลทำให้ส่งเมียนมาส่งออกยาสูบได้ในปริมาณกว่า 22 ตัน ไปยัง สปป.ลาว ผ่านสถานี Kenglatborder ในสัปดาห์แรกของเดือนกันยายน สร้างมูลค่าการค้ากว่า 35,000 ดอลลาร์ ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและผลิตผลทางการเกษตรจากเมียนมาไปยัง สปป.ลาว มากขึ้น โดยในช่วงเดือนเมษายนถึงกรกฎาคมของปีงบประมาณ 2023-2024 สร้างรายได้มากกว่า 900,000 ดอลลาร์ จากการส่งออกกุ้ง, รวมถึงสร้างรายได้จากการส่งออกข้าว 14,000 ดอลลาร์ และส่งออกยาสูบมูลค่ารวม 35,000 ดอลลาร์ รวมเป็นมูลค่ากว่า 997,000 ดอลลาร์ ที่ได้มีการส่งออกสินค้าผ่านชายแดนดังกล่าว

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-laos-friendship-bridge-promotes-border-trade/

ในช่วง 8 เดือนแรกของปี กัมพูชาให้การต้อนรับผู้โดยสารทางอากาศโต 180%

สำนักงานเลขาธิการการบินพลเรือนกัมพูชา ได้รายงานว่ากัมพูชาให้การต้อนรับผู้โดยสารทางอากาศจำนวนกว่า 3.4 ล้านคน ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2023 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 180 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในรายงานระบุว่าสายการบินระหว่างประเทศและในประเทศได้ให้บริการเที่ยวบินทั้งหมด 33,146 เที่ยวบิน ไปยังสนามบินนานาชาติ 3 แห่ง ของกัมพูชา ด้าน Sinn Chanserey Vutha เลขาธิการแห่งรัฐของปลัดกระทรวงการบินพลเรือนและโฆษกได้กล่าวเสริมว่า กัมพูชาคาดว่าจะดึงดูดผู้โดยสารทางอากาศได้ประมาณ 4.6 ล้านคนในปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 2.38 ล้านคนในปีที่แล้ว เป็นผลมาจากจีนเปิดประเทศอีกครั้งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งได้กระตุ้นให้อุตสาหกรรมการบินและภาคการท่องเที่ยวกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ตรงกันข้ามกับการเพิ่มขึ้นของผู้โดยสารทางอากาศ พบว่าปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศปรับตัวลดลงร้อยละ 10 เหลือปริมาณเพียง 34,881 ตัน ในช่วงเวลาดังกล่าว ด้านกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชาตั้งเป้าที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ถึง 6.4 ล้านคน ในปี 2025 และถึง 7 ล้านคน ภายในปี 2026

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501358488/cambodia-records-180-percent-rise-in-air-passengers-in-first-eight-months/

การส่งออกโดยภาพรวมของกัมพูชาขยายตัวเล็กน้อย

การส่งออกของกัมพูชาในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2023 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 15.69 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) โดยสหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชาสำหรับในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคมของปีนี้ ที่มูลค่าการส่งออก 6.11 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 4.8 จากมูลค่า 6.24 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ขณะที่ประเทศส่งออกหลักอื่นๆ ได้แก่ เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น และไทย โดยการส่งออกไปยังเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.1 คิดเป็นมูลค่า 1.85 พันล้านดอลลาร์ จากมูลค่า 1.46 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่การส่งออกไปยังจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 เป็น 939 ล้านดอลลาร์ จาก 804 ล้านดอลลาร์ สำหรับการส่งออกไปยังญี่ปุ่นและไทยอยู่ที่มูลค่า 770 ล้านดอลลาร์ และ 646 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ แม้ว่าการส่งออกในปีนี้จะชะลอตัวลงเล็กน้อย แต่การเติบโตของการค้าของกัมพูชาคาดว่าจะเพิ่มขึ้นภายในสิ้นปีนี้ เนื่องจากกัมพูชามีข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ข้อตกลงการค้าเสรีกับจีนและเกาหลี ซึ่งข้อตกลงการค้าต่างๆ ถือเป็นความได้เปรียบสำคัญในการส่งเสริมภาคการส่งออกของกัมพูชา และมีส่วนสำคัญในการดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ จากต่างประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501358565/cambodias-total-exports-marginally-up/