ทางการกัมพูชาพร้อมเสนอนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาผ่าน ครม.

กระทรวงพาณิชย์พร้อมนำส่งร่างนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติประจำปี 2023-2028 เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการพิจารณา นำโดย Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ซึ่งได้เปิดเผยแผนดังกล่าวในระหว่างการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ (กนช.) เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา หากเมื่อนำนโยบายดังกล่าวมาใช้แล้วเชื่อว่าจะนำไปสู่การส่งเสริมและปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นการรักษาสิทธิของเจ้าของผลงาน ตราสินค้า และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของกัมพูชา รวมถึงยังเป็นการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาและนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัลของกัมพูชา นอกจากนี้รัฐมนตรีฯ ยังแนะนำให้ NCIPR รับรองร่างกฤษฎีกาย่อยที่ครอบคลุมสำหรับการดำเนินการตามนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมีประสิทธิภาพเมื่อนำมาใช้ต่อไปในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501317275/national-intellectual-property-policy-ready-for-council-of-ministers-review/

จีนพร้อมลงนาม MoU ร่วมกัมพูชา เพิ่มการส่งออกข้าว 5 แสนตัน

Lon Yeng เลขาธิการสมาพันธ์ข้าวกัมพูชา รายงานว่า กัมพูชาและจีนได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เกี่ยวกับการส่งออกข้าวของกัมพูชาไปยังตลาดจีนแล้ว 6 ฉบับ และพร้อมที่จะลงนามในบันทึกความเข้าใจฉบับที่ 7 รวมถึงฉบับอื่นๆ โดยก่อนหน้านี้ Pan Sosak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ได้ประกาศเกี่ยวกับการลงนามในบันทึกความเข้าใจฉบับที่ 7 ในการส่งออกข้าว 500,000 ตัน ไปยังตลาดจีนในช่วงปี 2023-2024 ซึ่งหวังว่าการส่งออกข้าวของกัมพูชาเพิ่มมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้กัมพูชาได้ส่งออกข้าวจำนวน 400,000 ตัน ไปยังตลาดจีนตาม MoU ฉบับที่ 6 แสดงถึงความต้องการข้าวสารของกัมพูชาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501317088/china-ready-to-sign-7th-mou-with-cambodia-on-increasing-rice-purchase-by-500000-tonnes/

“เวียดนาม” เผยเศรษฐกิจไตรมาส 2 ปี 66 โต 4.14% จากแรงหนุนภาคบริการ

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2566 ขยายตัว 4.14% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยได้แรงหนุนมาจากภาคบริการ ตัวเลขดังกล่าวนั้นนับว่าเป็นการขยายตัวอย่างมากเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจในไตรมาสแรกที่ขยายตัว 3.32% ทั้งนี้ ภาคบริการในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ขยายตัว 6.11% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ตามมาด้วยภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมการผลิต ขยายตัว 3.25% และ 2.50% ตามลำดับ นอกจากนี้ การส่งออกและการนำเข้าของเวียดนามในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ชะลอตัวลง 12.1% และ 18.2% จากปีที่แล้ว

ที่มา : https://www.thestar.com.my/business/business-news/2023/06/29/vietnam-q2-gdp-growth-accelerates-to-414-led-by-services

“เวียดนาม” เผยยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่ มิ.ย. พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

กระทรวงวางแผนและการลงทุน (MPI) เปิดเผยการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเดือนมิถุนายน 2566 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่จำนวน 13,904 ราย เพิ่มขึ้น 4.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) และมีธุรกิจที่กลับมาดำเนินกิจการจำนวน 7,098 ราย เพิ่มขึ้น 215%YoY ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ จากข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ พบว่ามีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่และธุรกิจที่กลับมาดำเนินกิจการ อยู่ที่ประมาณ 113,000 ราย แสดงว่าในแต่ละเดือน ทั้งธุรกิจที่จดทะเบียนใหม่และธุรกิจที่กลับมาดำเนินกิจการ เฉลี่ยอยู่ที่ราว 19,000 แห่ง อย่างไรก็ดี สำหรับทุนจดทะเบียนในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักมาจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1550426/number-of-new-businesses-hits-record-high-in-june.html

“แบงก์ชาติเมียนมา” เตือนระวังกลโกงออนไลน์

ธนาคารกลางเมียนมาได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ว่าจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้หลอกหลวงและนักต้มตุ๋นออนไลน์ภายใต้ชื่อ “Gold T 6” บนเฟซบุ๊ค (Facebook) ที่มีการแอบอ้างหรือหลอกลวงให้นักลงทุนนำเงินเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่มีอยู่จริง ทั้งนี้ ตามกฎระเบียนของธนาคารกลางเมียนมาและกฎหมายสถาบันการเงิน ธนาคารกลางเมียนมา (CBM) มีการออกใบอนุญาตให้กับธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ธนาคารเอกชน 27 แห่ง และธนาคารต่างประเทศ 20 แห่ง โดยกิจการเหล่านี้ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในการให้บริการทางด้านธนาคาร อย่างไรก็ตาม มาตรการ 158 และ 163 ของกฎหมายสถาบันการเงินที่เกี่ยวกับบุคคลหรือองค์กรที่ละเมิดหลักเกณฑ์หรือกฎระเบียบ ในขณะเดียวกันไม่มีธนาคารแห่งใดที่สามารถเปิดดำเนินกิจการได้ หากไม่ได้รับใบอนุญาต แต่ว่านักต้มตุ๋นจะใช้กลวิธีในการหลอกลวงผู้คนให้เข้ามาลงทุนด้วยตัวเลขของอัตราดอกเบี้ยที่สูงและสินทรัพย์ที่ไม่มีอยู่จริง ทั้งอสังหาฯ ทองคำและเงินตราต่างประเทศ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/central-bank-of-myanmar-warns-of-online-scams/#article-title

คาดเขตพัฒนานครเวียงจันทน์หนุนการลงทุนภายใน สปป.ลาว

คาดเขตพัฒนาเวียงจันทน์สร้างโอกาสสำหรับการลงทุนภายในประเทศ ภายใต้แรงจูงใจ อาทิเช่น ลดหย่อนภาษี ไปจนถึงสิทธิพิเศษในการเข้าถึงตลาด โดยเขตพัฒนาดังกล่าวถือเป็นโครงการร่วมทุนระหว่าง สปป.ลาว-จีน ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองหลวงเวียงจันทน์ของ สปป.ลาว สำหรับผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิพิเศษด้วยการยกเว้นภาษีกำไรเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 5-10 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้าและการส่งออก และเมื่อระยะเวลายกเว้นภาษีสิ้นสุดลง จะมีการเสนอนโยบายการลดภาษีลงในรูปแบบขั้นบันได ด้าน Xiong Jun ผู้จัดการทั่วไปของ Lao-China Joint Venture Investment Co., Ltd. ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเขตเศรษฐกิจ กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ จะได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับกำไร ยังมีการยกเว้นภาษีสำหรับสิ่งก่อสร้างและวัตถุดิบนำเข้า ไปจนถึงการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้เป็นศูนย์ สำหรับพื้นที่เขตพัฒนาตั้งอยู่บนพื้นที่ 1,149 เฮกตาร์ ในเขตไขยเชษฐา โดยเริ่มก่อสร้างระยะที่ 1 นับตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปัจจุบันผู้พัฒนาได้ลงนามข้อตกลงกับ 127 บริษัท จากประเทศต่างๆ เช่น จีน ไทย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ สปป.ลาว สหรัฐอเมริกา และสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทำธุรกิจในโซนนี้ ในจำนวนนี้ บริษัท 64 แห่ง ได้เปิดสายการผลิตและดำเนินการแล้ว สร้างงานได้มากถึง 6,000 ตำแหน่ง ในจำนวนนี้เป็นแรงงานในท้องถิ่นกว่า 4,000 ตำแหน่ง

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten124_Vientiane_y23.php

ทางการกัมพูชาคาดภาคบริการจะกลายเป็นส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจกัมพูชา

นายกรัฐมนตรีฮุน เซน กล่าวว่า ภาคบริการจะกลายเป็นส่วนสำคัญต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของกัมพูชา แทนที่ภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมเดิม ซึ่งหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กัมพูชาได้รับผลกระทบอย่างหนักโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว อีกทั้งยังทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศหยุดชะงัก โดยมีสถานประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเกือบ 1,200 แห่ง ต้องปิดตัวลง ส่งผลให้แรงงานกว่า 22,000 คน ต้องตกลง ซึ่งในปีที่แล้ว ภาคอุตสาหกรรมถือเป็นส่วนสำคัญของ GDP หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38 รองลงมาคือภาคบริการและภาคเกษตรกรรมที่ร้อยละ 35 และ 21 ตามลำดับ และด้วยสถานการณ์การท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว ท้อนจากการให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 2.4 ล้านคน ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 530 ทำให้ทางการกัมพูชาคาดว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะขึ้นมาเป็นส่วนสำคัญที่สุดของระบบเศรษฐกิจกัมพูชา โดยในปี 2019 ก่อนเกิดการแพร่ระบาด กัมพูชาให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวมากถึง 6.6 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศรวม 4.92 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501315918/service-sector-to-become-cambodias-largest-by-gdp/

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังไทยขยายตัวร้อยละ 10 แตะ 480 ล้านดอลลาร์

ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกของกัมพูชาไปยังประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องที่มูลค่ารวมกว่า 480 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวกว่าร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาไปยังไทย ได้แก่ สิ่งทอ สินค้าเกษตร อัญมณี วัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูป ในขณะเดียวกันการส่งออกของไทยมายังกัมพูชากลับปรับตัวลดลงที่ร้อยละ 14 ที่มูลค่า 1,400 ล้านดอลลาร์ สินค้านำเข้าสำคัญจากไทย ได้แก่ ปลา เนื้อสัตว์ ผัก รถยนต์ ปุ๋ยอินทรีย์ อาหาร และวัสดุก่อสร้าง ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต ด้านนายจีรนันท์ วงษ์มงคล ประธานสภาธุรกิจไทยในกัมพูชา (TBCC) กล่าวเสริมว่า การส่งออกที่เพิ่มขึ้นบ่งชี้ถึงความต้องการในสินค้าของกัมพูชาในตลาดไทย ซึ่งภาคส่วนดังกล่าวถือเป็นส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่ Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ตั้งเป้าหมายปริมาณการค้าทวิภาคีกัมพูชา-ไทย มูลค่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2025 โดยหวังให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมมือดำเนินการเพื่อให้ถึงเป้าหมายการส่งออกระหว่างกัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501315920/kingdom-exports-to-thailand-surge-10-to-480-million/

นายกฯ คาดส่งออกข้าวปี 66 ทะลุ 8 ล้านตัน ดันไทยกลับเป็นที่ 2 ของโลก

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานความคืบหน้าการส่งออกข้าวของไทย และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้าวไทยตั้งแต่ปี 2563-2567 ผลักดันไทยเป็นผู้นำด้านการผลิตและการตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลก โดยนายกเชื่อมั่นว่าการส่งออกข้าวไทย ปี 2566 จะเป็นไปตามการคาดการณ์ ที่ยอดมากกว่า 8 ล้านตัน และไทยกลับมาเป็นอันดับที่ 2 ประเทศส่งออกข้าวของโลก ซึ่งยอดส่งออกข้าวในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 นี้ มีปริมาณสูงถึง 2.62 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.41 ด้านโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลผลักดันให้เกิดการกระชับสัมพันธ์คู่ค้าสำคัญ และการหากลุ่มลูกค้าใหม่ให้ครอบคลุมตลาดข้าวมากขึ้นมาโดยตลอด ซึ่งตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทย ได้แก่ อิรัก อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา และจีน ประกอบกับ ที่ผ่านมาไทยเพิ่มโอกาสทางการค้าด้วยการจัดคณะผู้แทนเดินทางไปกระชับความสัมพันธ์ เช่น ฮ่องกง จีน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และแอฟริกาใต้ และเพิ่มโอกาสด้วยการเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ เช่น งาน China–ASEAN Expo (จีน) งาน Fine Food (ออสเตรเลีย) และงาน ANUGA (เยอรมนี) เป็นต้น

ที่มา : https://www.naewna.com/business/740713