ไทยใช้ FTA ปี 2564 10 เดือน ส่งออกโต 31% ทะลุ 6 หมื่นล้าน

กรมการค้าต่างประเทศ เผย ตัวเลขการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง FTA เดือนมกราคม – ตุลาคม 2564 มูลค่า 63,104.43 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 31.67% โดยมูลค่าการใช้สิทธิฯ เพื่อส่งออกไปอาเซียนยังคงครองอันดับ 1 มีสัดส่วนการใช้สิทธิ สูงถึง 78.51% ซึ่งเป็นการใช้สิทธิเพิ่มขึ้นทุกตลาดและตลาดที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 อาเซียน (มูลค่า 21,539.08 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยตลาดส่งออกสำคัญของอาเซียนคือ เวียดนาม (มูลค่า 6,290.69 ล้านเหรียญสหรัฐ) อินโดนีเซีย (มูลค่า 4,805.12 ล้านเหรียญสหรัฐ) มาเลเซีย (มูลค่า 4,023.43 ล้านเหรียญสหรัฐ) และฟิลิปปินส์ (มูลค่า 3,806.20 ล้านเหรียญสหรัฐ) อันดับ 2 จีน (มูลค่า 21,372.57 ล้านเหรียญสหรัฐ) อันดับ 3 ออสเตรเลีย (มูลค่า 6,891.79 ล้านเหรียญสหรัฐ) อันดับ 4 ญี่ปุ่น (มูลค่า 5,784.20 ล้านเหรียญสหรัฐ) และอันดับ 5 อินเดีย (มูลค่า 3,990.80 ล้านเหรียญสหรัฐ) สำหรับความตกลงการค้าเสรีที่มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA สูงสุด ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ FTA กับมูลค่าการส่งออกของสินค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษในการลดภาษีภายใต้กรอบ FTA 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ไทย-เปรู (100%) อันดับ 2 อาเซียน-จีน (96.06%) อันดับ 3 ไทย-ชิลี (94.54%) อันดับ 4 ไทย-ญี่ปุ่น (78.59%) และอันดับ 5 อาเซียน-เกาหลี (70.32%)

ที่มา : https://www.prachachat.net/breaking-news/news-839857

ผู้เชี่ยวชาญ ชี้ 3 ปัจจัยที่ผลักดันให้เวียดนามได้รับกระแสไหลเข้า ‘FDI’

คุณ Michael Kokalari หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากองค์กร VinaCapital กล่าวว่าต้นทุนค่าจ้างแรงงานต่ำ ที่ตั้งภูมิศาสตร์ที่ดีและการขยายตัวของการลงทุนในต่างประเทศ เป็น 3 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เวียดนามดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ปัจจัยแรก ค่าจ้างแรงงานจากโรงงานในเวียดนามที่อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าจ้างแรงงานในจีน ประมาณ 2-3 เท่า แต่คุณภาพของแรงงานเทียบเท่าได้ ปัจจัยที่ 2 คือเวียดนามมีภูมิศาสตร์ที่ใกล้ชิดกับห่วงโซ่อุปทานโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

อีกทั้ง ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ส่งผลให้ทั้งสองประเทศต้องลงทุนในต่างประเทศและเวียดนามถือเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจที่สุดในภูมิภาค ปัจจัยที่ 3 บริษัทข้ามชาติวางแผนที่จะกระจายการผลิตออกจากประเทศจีน ถึงแม้ว่าปัจจัยทั้งหมดในข้างต้นจะอธิบายว่าสาเหตุที่มีเงินทุน FDI ไหลเข้ามายังเวียดนาม แต่เวียดนามยังต้องช่วยกันขับเคลื่อนปัจจัยดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://en.nhandan.vn/business/economy/item/11042402-expert-highlights-three-factors-helping-vietnam-secure-fdi-inflows.html

เงินต่างประเทศทะลักเข้า ‘เวียดนาม’ เหตุเฉลิมฉลองเทศกาลเต็ด

ในช่วงวันเฉลิมฉลองเทศกาลเต็ด (ปีใหม่เวียดนาม) ถือเป็นเทศกาลตามประเพณีที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม เม็ดเงินจะไหลเข้ามายังประเทศที่โอนเงินมาจากคนเวียดนามที่อยู่ในต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ กลุ่มธนาคาร อาทิ ACB, Sacombank และ Eximbank เป็นต้น จึงเปิดแพ็คเกจให้ลูกค้าที่ใช้บริการโอนเงินกลับเข้ามาในประเทศ ตั้งแต่ต้นปีนี้ ซึ่งแพ็คเกจดังกล่าวจะมอบรางวัล Lucky Draw ให้แก่ลูกค้าที่ทำธุรกรรม ตลอดจนดึงดูดให้มีการทำธุรกรรมครั้งนี้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ นายด่าวมีงตือ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติเวียดนาม (SBV) กล่าวว่า 28% โอนเงินที่ส่งผ่านบริษัทตัวกลางในการโอนเงินระหว่างประเทศ และ 70% ผ่านสถาบันการเงินและ 2% ผ่านทางไปรษณีย์ โดยนครโฮจิมินห์เป็นเมืองเดียวที่มีเม็ดเงินที่โอนเข้ามาด้วยมูลค่า 6.5-6.6 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2564

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/overseas-remittances-to-vietnam-increase-as-tet-approaches/220522.vnp

ราคาแตงโมเมียนมาในตลาดจีน ร่วงหนัก!

ก่อนวันที่ 8 ม.ค.65 ราคาแตงโมคุณภาพคุณภาพดี อยู่ที่ 7 หยวนต่อกิโลกรัม แต่ปัจจุบันลดฮวบต่ำกว่า 5 หยวนต่อกิโลกรัม  ศูนย์การค้าผลไม้ชายแดนมูเซได้ขอให้เกษตรกรรอการจัดส่งในวันที่ 10 ม.ค.65 อย่างไรก็ตาม ราคายังคงทรงตัวที่ 5 ถึง 7 หยวนต่อกิโลกรัม ความล่าช้าของรถบรรทุกทำให้เกิดผลเสียต่อคุณภาพของแตงโม ปัจจุบันใช้เวลาประมาณ 20 วัน จากสวนสู่ตลาดจี นอกจากมาตรการจัดการการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 แล้ว กฎระเบียบศุลกากรของจีนยังส่งผลให้เกิดความล่าช้าและด่านชายแดนจีนจะเก็บภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น ซึ่งการค้าจะกลับสู่ภาวะปกติหลังจากที่จีนผ่อนคลายกฎเกณฑ์และมาตรการจำกัดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้จีนจำเป็นต้องปิดด่านชายแดนมูแซเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาด นอกจากนี้ ด่านชายแดน Kyinsankyawt ระหว่างเมียนมาและจีน ได้ปิดตัวลงไปแล้วตั้งแต่ 8 ก.ค.64 และได้เปิดทำการค้าขายชั่วคราวอีกครั้งในวันที่ 26 พ.ย.64 ที่ผ่านมา

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/watermelon-prices-fall-again-in-chinese-market/

กระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง ลงนามข้อตกลงโครงการน้ำระยะที่ 3

กรมประปาของกระทรวงโยธาธิการและการขนส่งและมูลนิธิ East Meets West ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อดำเนินการระยะที่สามของโครงการ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก Charity: Water มูลค่า 1.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  เป้าหมายคือการผลิตน้ำ 7,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน 37,379 คน จาก 6,712 ครัวเรือนใน 36 หมู่บ้าน โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลโดยดูแลให้หมู่บ้านขนาดใหญ่และอำเภอเล็กๆ สามารถเข้าถึงน้ำและสุขอนามัยที่ยั่งยืนและเท่าเทียมกัน นางวิไลคำ โภศาลา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงโยธาธิการและคมนาคมกล่าวเพิ่มเติมว่า “โครงการนี้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 ของรัฐบาล ประจำปี พ.ศ. 2564-2568 ซึ่งมุ่งสร้างเงื่อนไขที่จูงใจให้เอกชนเข้ามาลงทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของลาว ในปี 2564 มีโรงงานประปาจำนวน 174 แห่ง มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 681,322 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ตั้งอยู่ที่ 111 แห่ง ใน 1,480 หมู่บ้าน 117 อำเภอ ผู้คนมากกว่า 1.8 ล้านคนได้รับประโยชน์จากแหล่งน้ำ คิดเป็นร้อยละ 77.4 ของผู้อยู่อาศัยในเขตเมือง หรือประมาณ 26.35 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด” ทั้งนี้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ระบุว่าร้อยละ 90 ของผู้อยู่อาศัยในเมืองหลวงของจังหวัดและเขตเมืองหลักควรสามารถเข้าถึงน้ำที่มีการบริหารจัดการอย่างปลอดภัย กระจายอย่างกว้างขวาง เชื่อถือได้ และราคาสมเหตุสมผลภายในปี 2573

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Ministry_07_22.php

เวียดนามนำเข้าสินค้าเกษตรจากกัมพูชาแตะร้อยละ 80 ของสินค้าเกษตรทั้งหมด

เวียดนามนำเข้าสินค้าเกษตรจากกัมพูชาในสัดส่วนสูงถึงเกือบร้อยละ 80 ของการส่งออกสินค้าเกษตรกัมพูชา มูลค่ารวมถึง 5 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงปีที่แล้ว โดยบริษัทผู้นำเข้าเวียดนามทำการนำเข้าเม็ดมะม่วงหิมพานต์ พริกไทย และถั่วเขียวจากกัมพูชาสูงถึงร้อยละ 96-99 ตามรายงานของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของกัมพูชา ซึ่งการส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ของกัมพูชาไปยังเวียดนามขยายตัวถึง 4.6 เท่าจากปี 2020 รวมถึงการส่งออกพริกไทยและถั่วเขียวก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันถึง 4 เท่า โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปีที่แล้ว มูลค่าการค้าระหว่างเวียดนามและกัมพูชาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 84 เมื่อเทียบเป็นรายปี มูลค่ารวมกว่า 8.6 พันล้านดอลลาร์ ตามการระบุของกรมศุลกากรเวียดนาม

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501004581/vietnam-buys-80-pct-of-cambodias-agriculture-exports/