กัมพูชาขาดดุล BOP แตะร้อยละ 3 ของ GDP ประเทศ

กัมพูชาขาดดุลการชำระเงิน (BOP) ที่ 996 พันล้านเรียล ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2023 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 3 ของ GDP ประเทศ ตามรายงานล่าสุดของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) สำหรับดุลการชำระเงินและดุลบัญชีเงินทุนอยู่ที่ 1,634 พันล้านเรียล ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 4.9 ของ GDP ในขณะเดียวกัน บัญชีการเงิน สำหรับไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 6.11 พันล้านเรียล ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 1.8 ของ GDP โดยจากข้อมูลของ NBC ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2023 BOP ของกัมพูชาเกินดุลที่ 1,366 พันล้านเรียล เมื่อเทียบกับการขาดดุล 322 พันล้านเรียล ในไตรมาสแรกของปี 2023 ด้านการส่งออกของกัมพูชาในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2023 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 18.59 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชา ได้แก่ เครื่องแต่งกาย รองเท้า สินค้าเพื่อการท่องเที่ยว จักรยาน และสินค้าเกษตร อย่าง ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง กล้วย และมะม่วง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501418108/kingdoms-bop-deficit-stood-at-3-percent-of-gdp-in-2023-q3/

General Science ประกาศขยายโรงงานในกัมพูชา ด้วยเม็ดเงินลงทุน 255 ล้านดอลลาร์

บริษัท Jiangsu General Science Technology Co., Ltd. วางแผนขยายกำลังการผลิต ภายใต้กรอบระยะเวลาก่อสร้างราว 18 เดือน เพื่อจะเพิ่มกำลังการผลิตยางรถยนต์ Radial Passenger Car แบบกึ่งเหล็กให้ได้ 3.5 ล้านเส้น ต่อปี และยางรถบรรทุกและรถบัสแบบ All-Steel 750,000 เส้น ต่อปี ณ โรงงานดังกล่าว ซึ่งเปิดดำเนินการในกัมพูชาเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว เป็นฐานการผลิตต่างประเทศแห่งที่สองของบริษัท ตั้งอยู่บนพื้นที่ 18 เฮกตาร์ ในจังหวัดพระสีหนุ มีพนักงานกว่า 1,600 คน โดยการขยายโรงงานครั้งนี้ ไม่เพียงเพิ่มกำลังการผลิตเท่านั้น แต่ยังสร้างโอกาสการจ้างงาน และส่งเสริมกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมของกัมพูชา โดยปัจจุบันบริษัทมีฐานการผลิตอยู่ 3 แห่ง ในจีน ไทย และกัมพูชา ซึ่งมีทีมการตลาดมืออาชีพและเครือข่ายการขายที่ครอบคลุมกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเน้นไปที่ สหรัฐฯ ยุโรป เอเชีย และแอฟริกา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501418887/general-science-announces-255-million-expansion-plan-in-cambodia/

กกร. จ่อถกประเมินศก. ปี’67 ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์เสี่ยงสูง

นายเกียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทยจะหารือประจำเดือนมกราคม 2567 ในวันที่ 10 ม.ค. โดยเบื้องต้นคงจะต้องมีการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 2567 อีกครั้งเพื่อให้สอดรับกับทิศทางต่างๆ ทั้งแนวโน้มการท่องเที่ยว การส่งออก การลงทุนทั้งรัฐและเอกชน ที่ยอมรับว่าปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังคงกดดันการเติบโตของทั้งเศรษฐกิจโลกและไทยอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามท่ามกลางเศรษฐกิจโลก ความข้ดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจไทยเองก็ยังคงเผชิญกับหนี้ครัวเรือนในระดับสูงจึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องเร่งรัดการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ควบคู่กับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมออกมาโดยเร็ว นอกจากนี้การที่รัฐบาลเร่งดูแลค่าครองชีพประชาชนนับเป็นแนวทางที่ดีโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าแต่จะยั่งยืนกว่าหากรัฐบาลปรับโครงสร้างให้เกิดความเป็นธรรมทุกฝ่ายโดยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ด้านพลังงานเพื่อระดมความเห็นทุกภาคส่วนเพื่อการปรับปรุงโครงสร้างพลังงานทั้งระบบที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน

ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9670000001844

ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ช่วยขับเคลื่อนตลาดแรงงานข้ามพรมแดนของลาว

เมื่อประชากรไทยมีอายุมากขึ้น แรงงานต่างด้าวก็มีโอกาสงานใหม่ๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการแรงงานข้ามชาติจากบริษัทต่างๆ ในไทยที่เพิ่มขึ้น ประเทศไทยได้ดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าประเทศ เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลไทยได้ขยายเวลาการอยู่ต่อให้กับแรงงานข้ามชาติจากเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม จนถึงวันที่ 20 มกราคม 2567 ในระหว่างที่แรงงานเหล่านี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการขอใบอนุญาตทำงาน สถานการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สำคัญ เมื่อลาวต้องต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อัตราเงินเฟ้อที่สูง และค่าเงินกีบที่อ่อนค่าลง ภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทายทำให้โอกาสในการทำงานในประเทศไทยเป็นที่สนใจมากขึ้นสำหรับแรงงานข้ามชาติชาวลาว

ที่มา: https://laotiantimes.com/2024/01/04/thailands-aging-population-drives-lao-labor-market-across-the-border/

สปป.ลาว-จีน หารือลดเวลาพิธีการศุลกากร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางรถไฟ

นายจินดาวงศ์ ไซยาสิน ที่ปรึกษาด้านการศึกษาและวัฒนธรรม สถานทูตลาวประจำประเทศจีน เปิดเผยในการสัมภาษณ์พิเศษกับไชนาเดลี่ว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศลาวเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อหาวิธีลดเวลาที่ใช้ในการผ่านพิธีการศุลกากรเมื่อเดินทางด้วยรถไฟ โดยมุ่งเน้นไปที่การลดเวลาการผ่านด่านชายแดนจาก 2 ชั่วโมง ให้ลดลงเหลือ 1 ลดระยะเวลาจาก 9 ชั่วโมง 26 นาที เหลือ 8 ชั่วโมง 26 นาที เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและฟื้นฟูการค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_04_Railway_y24.php

‘เวียดนาม’ เผย ปี 66 ยอดลงทุนไปต่างประเทศดิ่งลงฮวบ 21.2%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าในปี 2566 ยอดการลงทุนเวียดนามในต่างประเทศ มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้น 420.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 21.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จำแนกออกเป็นโครงการที่จดทะเบียนใหม่ 124 โครงการ ด้วยเงินทุนจดทะเบียนรวม 282.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ภาคการค้าส่งค้าปลีก คิดเป็นสัดส่วน 37.3% ของการลงทุนทั้งหมด รองลงมาภาคเทคโนโลยีและการสื่อสาร (28.7%) โดยแคนาดาเป็นแหล่งการลงทุนชั้นนำของเวียดนาม ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากเวียดนามอยู่ที่ 150.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยสิงคโปร์ (122.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และสปป.ลาว (116.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-2023-outbound-investments-dip-21-2-y-o-y/

‘เวียดนาม’ เผยแรงกดดันเงินเฟ้อผ่อนคลายลง ส่งสัญญาณชะลอตัว

จากการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ที่จัดขึ้นโดยสถาบันการเงินและเศรษฐกิจ นาย Nguyen Duc Do รองผู้อำนวยการสถาบัน อธิบายว่าถึงภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีนที่มีทิศทางชะลอตัวลงในปีนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกของเวียดนาม ในขณะที่ตลาดอสังหาฯ เผชิญกับความท้าทายและอุปสรรค นับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งประเทศและทำให้การเติบโตต่ำลงในปีนี้ นอกจากนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) อยู่ที่ราว 2.5% – 3.5% ทางด้านรองศาสตราจารย์ ดร. โง ตรี กล่าวเน้นย้ำว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่รัฐสภาอนุมัติไว้ที่ 4% – 4.5% น่าจะมีความเป็นไปได้ เนื่องจากความสามารถของรัฐบาลในการควบคุมราคาสินค้า รวมถึงกับอุปสงค์โดยรวมที่ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/inflationary-pressure-to-ease-in-2024-economists-2235656.html

การส่งออกประมงของเมียนมาร์มีมูลค่า 448 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากกว่า 290,000 ตัน

อู ยุนท์ วิน ผู้อำนวยการกรมประมงในกรุงเนปิดอว์ กล่าวว่า เมียนมาร์มีการส่งออกประมงมากกว่า 290,000 ตัน มูลค่า 448 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปยังต่างประเทศมากกว่า 40 ประเทศในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณปัจจุบัน พ.ศ. 2566-2567 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ทั้งนี้ สินค้าประมงดังกล่าวถูกส่งไปยังญี่ปุ่น ประเทศต่างๆ จากตะวันออกกลาง ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป มาเลเซีย จีนไทเป และออสเตรเลีย ซึ่งสหพันธ์ประมงเมียนมาร์และกรมประมงทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อสนับสนุนการส่งออกประมง อย่างไรก็ดี เมียนมาร์ให้ความสำคัญกับกระบวนการประมงตามหลักปฏิบัติที่ดีในการผลิต เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัยของอาหารทะเล และปฏิบัติตามกฎและระเบียบการนำเข้าของประเทศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนอกเหนือจากการส่งออกทางทะเลแล้ว เมียนมาร์ยังส่งการประมงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีนและไทย ผ่านจุดชายแดนเมียวดี มูเซ เกาะสอง ซิตเวย์ มะริด และหม่องตอ นอกจากนี้ กรมและผู้ส่งออก ได้ร่วมมือกันในการปฏิบัติตามข้อกำหนดของแต่ละประเทศที่นำเข้าประมงของเมียนมาร์ และพยายามร่วมกันไม่ลดปริมาณการส่งออก รวมทั้งปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นสำหรับการส่งออกอาหารทะเลที่กำหนดโดยประเทศต่างๆ เช่น จีน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmars-fisheries-exports-bag-us448-mln-from-over-290000-tonnes-in-apr-nov/