มูลค่าการค้าชายแดนเมียวดี มีมูลค่ารวม 74.643 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนตุลาคม

เมียนมารายงาน มูลค่าการค้าชายแดน ระหว่างวันที่ 1-27 ตุลาคม 2566 ผ่านชายแดนเมียวดีกับไทยมีมูลค่ารวม 74.643 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประกอบด้วยการส่งออกมูลค่า 17.594 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้ามูลค่า 57.049 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสินค้าส่งออก ได้แก่ พริก กะหล่ำปลี หัวหอม ถั่วหมากแห้ง ถั่วดำ กรัมดำ มะยมแห้ง ปู กุ้ง ปลาสับ ปลาแอนโชวี่ ปลาฮิลซา และผลิตภัณฑ์ปลาอื่นๆ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ผลิตแบบ CMP วัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารเป็นที่ต้องการมากในตลาดของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมี อาหารสัตว์ จักรยาน เสื้อผ้า เครื่องเขียน ชิ้นส่วนรถยนต์ วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักร ชิ้นส่วนจักรยาน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง วัตถุดิบ CMP ยา รองเท้า ผลไม้ต่างๆ ของใช้ในครัวเรือน สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าอุตสาหกรรม เครื่องจักร และอุปกรณ์ที่ใช้ในการประมง เป็นต้น

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myawady-border-trade-value-totals-us74-643-mln-in-oct/

‘ประธานาธิบดีมองโกเลียเยือน สปป.ลาว’ กระชับสัมพันธ์สองประเทศ

นายคูเรลสุข อุคนนา ประธานาธิบดีมองโกเลีย พร้อมด้วยภริยา และคณะเจ้าหน้าที่ เดินทางถึงนครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อเดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติวัตไต ประธานาธิบดีมองโกเลียและคณะฯ ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากรัฐมนตรีและหัวหน้าสำนักงานประธานาธิบดีแห่ง สปป.ลาว พร้อมกับเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งมองโกเลียประจำ สปป.ลาว  เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มของ สปป.ลาว ประจำมองโกเลีย นายเพ็งสะหวัน แก้วประเสริฐ และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ทั้งนี้ ในระหว่างการเยือน สปป.ลาว ประธานาธิบดีมองโกเลีย และนายทองลุน สีสุลิด ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จะจัดการเจรจาอย่างเป็นทางการ และกำหนดให้เข้าพบประธานสมัชชาแห่งชาติของ สปป.ลาว นายไซสมพอน พรหมวิหาร และนายกรัฐมนตรี โสเนกชัย สีพันโดน เพื่อหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์และความร่วมมือทวิภาคี

ที่มา : https://montsame.mn/en/read/330592

สปป.ลาว มีแผนส่งเสริมการส่งออก ‘ผลิตภัณฑ์จากไม้’ ไปยังตลาดสหภาพยุโรป

กรมป่าไม้ของสปป.ลาว กำลังวางแผนที่จะส่งเสริมธุรกิจไม้แปรรูปเพื่อการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป (EU) และได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ไม้ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง โดยนำเสนอความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษีสำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ไปยังตลาดสหภาพยุโรป ทั้งคำสั่งและกฎระเบียบ ตลอดจนข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ไม้ที่มีศักยภาพสูงในด้านความต้องการและมูลค่า และครอบคลุมถึงขั้นตอนของสหภาพยุโรป เช่น ข้อกำหนดสำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายของศัตรูพืช และการจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป เป็นต้น ทั้งนี้ ตามรายงานของสำนักข่าวใน สปป.ลาว กล่าวถึงความต้องการผลิตภัณฑ์ไม้จากสหภาพยุโรปที่มีมากขึ้น จะทำให้ลาวมีโอกาสสำหรับการขยายธุรกิจของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

ที่มา : https://scandasia.com/laos-plans-to-boost-wood-export-to-eu-markets/

บริษัท Sailun ตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตยางรถยนต์ 6 ล้านเส้นต่อปี

บริษัท Sailun (กัมพูชา) ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ Qilu ในจังหวัดสวายเรียง ซึ่งบริหารจัดการโดย Cart Tyre วางแผนลงทุนเพิ่มมูลค่ารวมกว่า 1.47 พันล้านหยวน (ประมาณ 170 ล้านปอนด์) เพื่อขยายกำลังการผลิตยางเรเดียลกึ่งเหล็กในประเทศกัมพูชา ให้มีกำลังการผลิตสูงถึง 6 ล้านเส้นต่อปี หวังตอบสนองความต้องการของลูกค้า รวมถึงยังมุ่งมั่นที่จะเพิ่มการส่งออกยางไปยังตลาดต่างประเทศอย่างในโซนพื้นที่อเมริกาเหนือ สำหรับบริษัทดังกล่าวถือเป็นผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ของจีนที่ได้ขยายการลงทุนมายังกัมพูชา โดยเริ่มดำเนินการในกัมพูชาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2021 สร้างการจ้างงานให้กับคนในท้องถิ่นกว่า 4,000 ตำแหน่ง รวมถึงยังทำการซื้อแผ่นยางดิบเพื่อเป็นวัตถุดิบการผลิตยางกว่า 150,000 ตันต่อปี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501385870/sailun-cambodia-plant-increases-tyre-production-capacity-by-6-million-units/

CDC อนุมัติการลงทุนให้แก่บริษัท 12 แห่ง มูลค่า 66.6 ล้านดอลลาร์

สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ได้อนุมัติโครงการลงทุน 12 โครงการ มูลค่ารวม 66.6 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าจะสร้างโอกาสในการจ้างงานมากกว่า 12,000 ตำแหน่ง ครอบคลุมกิจกรรมการผลิตอุปกรณ์กีฬา โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า รองเท้า โรงงานผลิตอาหารสัตว์ โรงงานผลิตโคมไฟ และโรงงานผลิตสี โดย CDC ได้รายงานเสริมว่านับตั้งแต่ต้นปี 2023 จนถึงเดือนกันยายน ได้อนุมัติโครงการการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) รวม 191 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับจำนวนโครงการในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีทุนจดทะเบียนรวมกว่า 45.8 พันล้านดอลลาร์ ณ ไตรมาสแรกของปี 2023 ด้านธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) รายงานเสริมว่าแหล่งเงินทุนหลักยังคงมาจากทางประเทศ จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย ไทย และสหราชอาณาจักร เป็นสำคัญ โดยการไหลเข้าของ FDI ครอบคลุมภาคส่วนสำคัญต่างๆ เช่น ภาคการเงิน การผลิต อสังหาริมทรัพย์ โรงแรมและรีสอร์ท ไปจนถึงเกษตรกรรม พลังงานทดแทน และการก่อสร้าง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501385590/cdc-nod-for-12-manufacturing-investments-worth-66-6m/

กรมการค้าต่างประเทศ ดัน 4 ยุทธศาสตร์ค้าชายแดน

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้เชิญหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง กับการค้าชายแดนและผ่านแดน มาประชุมเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การส่งเสริมการค้า การลงทุนชายแดนและผ่านแดน ปี 2567-2570 ใน 4 ยุทธศาสตร์ย่อย ได้แก่ 1.พัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของไทย 2.ยกระดับศักยภาพ อำนวยความสะดวกของด่านชายแดน 3.ส่งเสริมและใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงและกรอบความร่วมมือต่างๆ 4.ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ชายแดนและประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนเป็น 2 ล้านล้านบาท ในปี 2570

อย่างไรก็ดี มูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือน ก.ย. อยู่ที่ 148,564 ล้านบาท ลดลง 3.32% เป็นไทยส่งออก 87,480 ล้านบาท ลดลง 3.97% ไทยนำเข้า 61,084 ล้านบาท ลดลง 2.37% ได้ดุลการค้า 26,396 ล้านบาท ส่วน 9 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่า 1,311,372 ล้านบาท ลดลง 2.26% เป็นไทยส่งออก 755,206 ล้านบาท ลดลง 2.06% ไทยนำเข้า 556,167 ล้านบาท ลดลง 2.53% ได้ดุลการค้า 199,039 ล้านบาท

ที่มา : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ/2737374

‘เวียดนาม’ ตั้งเป้าดันส่งออกสินค้าเกษตรไปยังแอฟริกา

นายห่า กิม หงอก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม กล่าวในที่ประชุมเมื่อวันที่ 1 พ.ย. ว่าแอฟริกายังคงเป็นเส้นทางการค้าระหว่างเวียดนามและตลาดโลก ในขณะที่เจ้าหน้าของกระทรวงฯ ได้อธิบายถึงข้อมูลในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ พบว่าการค้าระหว่างทั้งสองประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.7% มูลค่า 4.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ว่าการค้าระหว่างเวียดนามและตลาดโลก หดตัว 11% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ทั้งนี้ จากจำนวนประชาชนแอฟริการาว 1 พันล้านคน และความพร้อมของเวียดนามที่ต้องการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังแอฟริกา ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการเวียดนามควรใช้มาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการส่งเสริมสินค้าเกษตรไปยังตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งด้านคุณภาพและราคาสินค้า

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-aims-to-promote-agricultural-exports-to-africa/270581.vnp

‘ราคาส่งออกข้าวเวียดนาม’ พุ่งแซงไทย

จากข้อมูลของสมาคมอาหารเวียดนาม (VFA) เปิดเผยว่าราคาส่งออกข้าวของเวียดนามยังคงแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ 117 เหรียญสหรัฐต่อตัน แซงหน้าข้าวไทย และจากข้อมูลเมื่อวันที่ 31 ต.ค. พบว่าราคาส่งออกข้าวเวียดนามปรับตัวเพิ่มขึ้น 5-10 เหรียญสหรัฐต่อตัน โดยเฉพาะราคาข้าวหัก 5% ที่เพิ่มสูงขึ้น 10 เหรียญสหรัฐต่อตัน อยู่ที่ 653 เหรียญสหรัฐ แซงหน้าข้าวไทยที่ 92 เหรียญสหรัฐต่อตัน

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ทางการอินเดียห้ามการส่งออกข้าวเมื่อปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาข้าวเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแตะระดับสูงสุดใหม่ในรอบกว่า 15 ปี

นอกจากนี้ กรมศุลกากรเวียดนาม ระบุว่าในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามส่งออกข้าวมากกว่า 7.1 ล้านตัน มูลค่าราว 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 17% และ 35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามลำดับ

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnams-seaport-throughput-rebounds-in-10-months-post130835.html

ราคาถั่วลิสงเมียนมามีแนวโน้มลดลงท่ามกลางความต้องการจากต่างประเทศ

ตามข้อมูลของตลาดค้าส่งมัณฑะเลย์ เมียนมามีการส่งออกเมล็ดพันธุ์น้ำมัน ได้แก่ เมล็ดงา และถั่วลิสง ไปยังต่างประเทศ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2023 ที่ผ่านมา ราคาถั่วลิสงแตะระดับสูงสุดอยู่ที่ 7,550-11,000 จ๊าดต่อ viss เนื่องจากมีอุปสงค์จากต่างประเทศและในประเทศที่แข็งแกร่ง ณ ปัจจุบัน ราคาลดลงอยู่ในช่วงระหว่าง 5,500 จ๊าดต่อ viss ถึง 6,100 จ๊าดต่อ viss ในตลาดภายในประเทศซึ่งขึ้นอยู่กับพันธุ์ของถั่ว ทั้งนี้ หากไม่มีอุปสงค์จากต่างประเทศ ราคาถั่วลิสงจะยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีถั่วลิสงที่เพิ่งเก็บเกี่ยวใกล้พื้นที่มัณฑะเลย์ และได้เข้าสู่ศูนย์ค้าส่งมัณฑะเลย์แล้ว ในขณะเดียวกันอุปสงค์ของผู้ซื้อรายใหญ่จากจีนก็ค่อนข้างจะชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี แม้ว่าราคาถั่วลิสงจะลดลง แต่ราคาน้ำมันถั่วลิสงก็ไม่ได้ลดลงตามไปด้วย และยังคงมีราคาสูงกว่า 15,000 จ๊าดต่อ viss

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/peanut-prices-on-downward-trend-amid-lack-of-foreign-demand/#article-title

‘สมาชิกสภาแห่งชาติลาว’ ขอรัฐบาลเพิ่มความเข้มงวดในการจัดการเงินตราต่างประเทศ

สมาชิกสภาแห่งชาติลาว กล่าวในการประชุมสามัญครั้งที่ 6 ขอให้รัฐบาล สปป.ลาว เพิ่มความเข้มงวดในการจัดการสกุลเงินต่างประเทศ เพื่อลดอัตราเงินเฟ้อ ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ไม่เอื้ออำนวย โดยขอให้รัฐบาลดำเนินการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น ควรทำผ่านการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดและการตรวจสอบการใช้สกุลเงินต่างประเทศโดยผู้นำเข้าและผู้ส่งออก การชำระค่าสินค้านำเข้าควรดำเนินการผ่านระบบธนาคาร และควรเก็บบันทึกรายรับที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศและการโอนไปยังประเทศอื่น อีกทั้งยังเสนอแนะว่าควรมีการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศนอกระบบธนาคารให้เข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากร้านแลกเงินเอกชนบางแห่งยังคงเปิดดำเนินการผ่านระบบออนไลน์อยู่ รวมถึงยังขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดเก็บรายได้ ควบคุมการใช้จ่ายในโครงการพัฒนาและการชำระหนี้ ตลอดจนเพิ่มผลผลิตในประเทศเพื่อทดแทนสินค้านำเข้า

ที่มา : https://english.news.cn/20231102/03a14c21757f49faac6caa12a1d0f976/c.html