‘เวียดนาม’ ยังคงปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของกระทรวงการคลังสหรัฐ ในฐานะประเทศไม่บิดเบือนค่าเงิน

ตามรายงานฟอเร็กซ์ (Forex) และนโยบายทางเศรษฐกิจมหภาคของสหรัฐฯ เปิดเผยว่ากระทรวงการคลังแจ้งว่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือน มิ.ย.64 ไม่มีประเทศคู่ค้าที่ดำเนินจัดการเรื่องของสกุลเงิน เพื่อที่จะได้เปรียบทางการค้าหรือเพื่อปรับดุลการชำระเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ เวียดนามและไต้หวัน มีคุณสมบัติตรงตาม 3 หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับดุลการค้า เกินดุลบัญชีเดินสะพัดและการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังยังคงร่วมทำงานกับเวียดนามและไต้หวัน เพื่อชี้แจงความกระจ่างให้กับสหรัฐฯ นอกจากนี้ เมื่อต้นเดือนเม.ย. กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศถอดชื่อเวียดนามพ้นจากบัญชีประเทศ “บิดเบือนค่าเงิน” เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสรุปว่าเกี่ยวข้องกับการจัดการเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนในกรอบของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ (The 1988 Act)

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1094059/viet-nam-continues-to-meet-us-treasury-criteria-for-not-being-labelled-a-currency-manipulator.html

 

‘เวียดนาม’ ถือเป็นหนึ่งในตลาดที่มีการขับเคลื่อนการเติบโตทางการค้าในอนาคต

รายงานที่เผยแพร่โดยธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ระบุว่าเวียดนามเป็นหนึ่งใน 13 ตลาดที่มีการขับเคลื่อนการเติบโตทางการค้าในอนาคต และด้วยการบูรณาการทางเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น เวียดนามจึงมีความได้เปรียบอย่างมากจากการส่งออก ทั้งนี้ ธนาคารได้ทำการสำรวจบริษัทระดับโลก พบว่าธุรกิจส่วนใหญ่ 41% ได้ดำเนินงานในเวียดนามแล้วหรือวางแผนที่จะลงทุนในเวียดนามอีก 10 ปีข้างหน้า โดยสหรัฐฯ และจีนยังคงเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ตามลำดับ คิดเป็นสัดส่วน 26% และ 19% ของการส่งออกรวมทั้งสิ้นในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2573 แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของการค้าระหว่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ เวียดนามจึงเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ โดยเฉพาะสินค้าส่งออก อาทิ เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม สินค้าการเกษตรและอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้ ตามรายงานของ Công thương (อุตสาหกรรมและการค้า) เผยว่าการที่เวียดนามมีจำนวนแรงงานที่มาก และความสัมพันธ์ห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ ตลอดจนนโยบายที่เปิดกว้างสำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ทำให้เวียดนามจะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตระดับโลกและเป็นแหล่งดึงดูดผู้ประกอบการต่างชาติ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-among-markets-driving-future-trade-growth/216466.vnp

 

ดัชนีความเชื่อมโยงระดับโลกของเวียดนาม เติบโตอย่างก้าวกระโดด

เวียดนามได้รับการจัดอันดับที่ 38 ในดัชนีความเชื่อมโยงระดับโลก (Global Connectedness Index: GCI) ปี 2563 จัดทำโดยบริษัท DHL ซึ่งอันดับดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และยังแสดงให้เห็นว่าเวียดนามถือเป็นประเทศดาวรุ่งพุ่งแรกสำหรับภาคการผลิตระดับโลก โดยเฉพาะเมื่อจีนประสบปัญหาจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ทำให้ตลาดเวียดนามยินดีที่จะเปิดรับผู้ผลิตจากการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีน ทั้งนี้ การปรับตัวของเวียดนามต่อการแพร่ระบาดของโรคในปีที่แล้ว ทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ด้วยอัตราการขยายตัว 2.9% ปีที่แล้ว และยอดการส่งออกเพิ่มขึ้น 28.4% ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นับว่าเป็นความสำเร็จของเวียดนามท่ามกลางการระบาดของเชื้อโรค นอกจากนี้ คุณ Bernardo Bautista กรรมการผู้จัดการบริษัท DHL Express Vietnam กล่าวว่าเวียดนามจะต้องมีกระแสการค้าระหว่างประเทศขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจในประเทศ และกระแสการค้าระหว่างประเทศจะกระจายไปยังทั่วโลก

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-leaps-up-in-global-connectedness-index-908948.vov

 

‘เวียดนาม’ เผยอุตสาหกรรมฟื้นตัวช้าลง เหตุจากผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น

ตามข้อมูลของ ไอเอชเอส มาร์กิต รายงานว่า เดือน พ.ย. สถานการณ์ธุรกิจของภาคอุตสาหกรรมในภาพรวม ปรับตัวดีขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 แต่ยังคงมีความกังวลต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ และปัญหาการขาดแคลนแรงงาน นายแอนดรูว์ ฮาร์เกอร์ ผู้อำนวยการของบริษัท กล่าวว่าปัจจุบัน ภาคการผลิตของเวียดนามยังอยู่ในทิศทางที่เป็นบวกในเดือน พ.ย. อย่างไรก็ดี การกลับมาของโควิด-19 คุกคามการฟื้นตัวในระยะสั้นของธุรกิจต่างๆ ทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือน พ.ย. ของเวียดนาม อยู่ที่ระดับ 52.2 จากระดับ 52.1 ในเดือน ต.ค. ซึ่งส่งสัญญาว่าสภาพธุรกิจดีขึ้นเล็กน้อยติดต่อกันเป็นเดือรที่ 2 หลังจากเวียดนามเริ่มการระบาดระลอกที่ 4 ตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย.

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/rising-covid-case-numbers-threaten-manufacturing-recovery/

‘เวียดนาม’ ดันการค้าระหว่างประเทศ พุ่ง 22.3% ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าการค้าระหว่างประเทศในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 599.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตัวเลขข้างต้นนั้น เมื่อพิจารณาในเดือน พ.ย. พบว่ามูลค่าอยู่ที่ 29.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 18.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี ทำให้ยอดการส่งออกในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 299.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ สินค้าอุตสาหกรรมผลิตทำรายได้จากการส่งออกมากที่สุด มีมูลค่า 266.75 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 89% ของการส่งออกทั้งหมด นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังคงเป็นผู้นำเข้าสินค้าจากเวียดนามรายใหญ่ที่สุด ด้วยมูลค่า 84.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองงมาจีน สหภาพยุโรป อาเซียน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เวียดนามเกินดุลการค้า 225 ล้านเหรียญสหรัฐ ตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ย.

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnam-sees-40-rise-in-intl-tourist-arrivals-in-nov/

‘เวียดนาม’ เผยดัชนีราคาผู้บริโภคในช่วง 11 เดือนแรกของปี 64 เพิ่มขึ้น 1.84%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) รายงานว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้น 1.84% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2559 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนี CPI เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ทั้งนี้เงินเฟ้อในเดือน พ.ย. เพิ่มขึ้น 0.11% จากเดือนก่อน ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีเพิ่มขึ้น 0.85% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นับว่าเป็นตัวเลขเงินเฟ้อต่ำสุดตั้งแต่ปี 2554

อย่างไรก็ตาม นาย Nguyen Bich Lam อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม กล่าวว่าทั้งราคาน้ำมัน ข้าวและอาหาร มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงสิ้นสุดเทศกาลวันตรุษญวน รวมถึงมีความต้องการวัสดุก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น ดัชนี CPI ปีนี้ อาจอยู่ที่ระดับ 2% ซึ่งต่ำกว่าที่ตั้งเป้าไว้ที่ 4%

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1088337/cpi-increases-by-just-184-per-cent-in-11-months.html

‘เวียดนาม’ เผยยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติ พ.ย. พุ่ง 40%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าในเดือน พ.ย. ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเวียดนาม มีจำนวนมากกว่า 15,000 คน เพิ่มขึ้น 42.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน หลังจากเปิดโครงการนำร่อง โดยภายใต้โครงการนำร่องดังกล่าว รัฐบาลอนุญาติเปิดรับ 5 จังหวัด ได้แก่ เกาะฟู้โกว๊ก, คั้ญฮหว่า, กว๋างนาม, ดานังและกว๋างนิญ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบแพ็คเกจทัวร์ที่เดินทางโดยเที่ยวบินเช่าเหมาและเที่ยวบินเชิงพาณิชย์

ทั้งนี้ ในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ย. มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเวียดนามอยู่ที่ 140,100 คน ลดลง 96% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส นอกจากนี้ สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งชาติเวียดนาม (VNAT) ชี้ว่าการจัดงานอีเวนท์ข้างต้นที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นกลุ่มแรกเข้ามาเวียดนาม ถือเป็นก้าวครั้งสำคัญของเวียดนามในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและปูทางไปสู่การเปิดประเทศอีกครั้ง ภายใต้รูปแบบการใช้ชีวิตแบบ “New Normal”

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnam-sees-40-rise-in-intl-tourist-arrivals-in-nov/

‘เวียดนาม’ เผยเด็กจบใหม่ อยากได้เงินเดือน 435-650 เหรียญสหรัฐ

กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ เวียดนาม (Adecco) เอเจนซี่จัดหางานแบบครบวงจร เผยผลสำรวจพบว่าผู้จบการศึกษาใหม่ส่วนใหญ่ 44% อยากได้เงินเดือนมากกว่า 10 ล้านดอง (435-650 เหรียญสหรัฐ) และ 31% ต้องการเงินเดือนราว 6-10 ล้านดอง แต่นายจ้างส่วนใหญ่ 51% เต็มใจที่จะจ่ายเงินเดือนต่ำกว่า 10 ล้านดอง และ 27.5% จ่ายเงินเดือนมากกว่า 10 ล้านดอง ทั้งนี้ พนักงานใหม่ส่วนใหญ่ 88.5% ให้ความสำคัญในเรื่องของเงินเดือนและค่าตอบแทนมากที่สุด รองลงมาโอกาสในการฝึกอบรม (87.7%) และโอกาสที่จะเลื่อนตำแหน่ง (73.8%) นอกจากนี้ ผู้ว่าจ้างแสดงความกังวลต่อเด็กเวียดนามจบใหม่ทั้งเรื่องยังขาดทักษะการปฏิสัมพันธ์ การแก้ไขปัญหา (Soft Skills), ตั้งหวังไว้สูงเกินความเป็นจริงและความไม่มั่งคง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจราว 39% รับสมัครงานลดลง โดยประมาณ 19% ลดลงมากกว่า 50%

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/data-speaks/new-graduates-want-monthly-salary-of-435-650-4395281.html

‘เวียดนาม’ เรียกร้องให้มีการปรับปรุงนโยบาย เหตุดึงประสิทธิภาพของข้อตกลง EVFTA

นาย Giorgio Aliberti เอกอัครราชทูต หัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำเวียดนาม กล่าวว่าการปรับปรุงระบบนโยบายและกรอบกฎหมายให้เป็นไปตามหลักสากล ถือเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เวียดนามสามารถบูรณาการเข้ากับห่วงโซ่มูลค่าโลกได้มากยิ่งขึ้น ตลอดจนดึงดูดเม็ดเงินทุนจากสหภาพยุโรปและเกิดการแข่งขันของธุรกิจในประเทศและต่างประเทศ เวียดนามมีศักยภาพที่ดีในการดึงดูดการลงทุนจากอียู โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง ทั้งนี้ เมื่อต้นปี 2564 ธุรกิจยุโรปทำการสำรวจดัชนีบรรยากาศทางธุรกิจของเวียดนาม (BCI) อยู่ที่ระดับ 73.9 จุด ในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งอยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 4 ส่งผลกระทบต่อหลายๆ จังหวัดและหัวเมือง ทำให้ดัชนี BCI ปรับตัวลดลง 30 จุด ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ มาอยู่ที่ระดับ 45.8 จุด

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-urged-to-improve-policies-for-effective-implementation-of-evfta/216259.vnp

‘เวียดนาม’ ได้เปรียบต่อการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ

นาย Nguyen Bich Lam อดีต ผอ.สนง.สถิติแห่งชาติเวียดนาม ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเวียดนาม กล่าวว่าเวียดนามมีพื้นที่เพียงพอต่อการเข้ามาลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เทียบกับคู่แข่งรายใหญ่ที่มีการเปลี่ยนแปลงการผลิตทั่วโลกในปัจจุบัน ซึ่งในปี 2563 เวียดนามดึงดูดเม็ดเงินลงทุน FDI กว่า 16 พันล้านเหรียญสหรัฐ ถึงแม้จะเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ เม็ดเงินลงทุน FDI มีมูลค่า 23.74 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภาคการผลิตและการแปรรูปยังคงเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติมากที่สุด แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มองเวียดนามว่าอยู่ในฐานะส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก นอกจากนี้ เวียดนามยังเป็นสมาชิกของข้อตกลงการค้าหลายฉบับ ได้แก่ CPTPP, EVFTA และการค้าทวีภาคีหลายฉบับของเวียดนามกับสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักร

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-boats-advantages-in-foreign-investment-attraction/216208.vnp