มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาแตะ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ในช่วง 9 เดือน

กรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา (GDCE) รายงานถึงสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของกัมพูชา ซึ่งมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 35,160 ล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยนับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกันยายนกัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศมูลค่ารวม 1.69 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้าลดลงร้อยละ 5.9 เหลือมูลค่า 1.82 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งคู่ค้าสำคัญของกัมพูชา ได้แก่ สหรัฐฯ จีน เวียดนาม ญี่ปุ่น จีน เยอรมนี แคนาดา และสหราชอาณาจักร สำหรับสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชา ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์รองเท้า เครื่องหนัง ธัญพืช เฟอร์นิเจอร์ ยาง ผลไม้ และสิ่งทอ ขณะในปี 2022 กัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่ารวม 2.24 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.4 และการนำเข้าสินค้ามูลค่า 2.99 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501374641/cambodias-international-trade-reaches-35-billion-in-nine-months/

EEC คึกคัก ธุรกิจฟื้น ดันคลังสินค้าอัจฉริยะไทย โต 10-15% รับเทรนด์ดิสรัปต์ซัพพลายเชน

จากข้อมูลของสมาคมการจัดการระบบคลังสินค้าไทย ระบุว่า ภาพรวมการลงทุนในอุตสาหกรรมคลังสินค้าอัจฉริยะ หรือ อินทราโลจิสติกส์ ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องตามสภาวะการลงทุนของประเทศไทย และการเพิ่มขึ้นของดีมานด์ในตลาด โดยคาดว่าในปีนี้จะขยายตัวราว 10-15% เทียบกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 8,000 ล้านบาท คาดเงินสะพัด 1,000-1,200 ล้านบาท ส่วนในปี 2565 ที่ผ่านมามีมูลค่าสูงถึง 6,000-8,000 ล้านบาท เติบโตจากปี 2564 ประมาณ 5-8% ด้วยแรงหนุนจากเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัว บวกกับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีความคืบหน้ามากขึ้น จึงมีการลงทุนทางด้านอินทราโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ระบบการจัดระบบคลังสินค้าอัตโนมัติ หรือ อินทราโลจิสติกส์ มีบทบาทสำคัญในการขนส่งวัสดุภายในโรงงาน ศูนย์กระจายสินค้า บริการพัสดุ โกดังสินค้า โดยระบบเหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ คุณภาพ ความยั่งยืน ลดต้นทุน และการดำเนินงานต่างๆ ของผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยธุรกิจ SMEs หรือกิจการขนาดเล็กและขนาดกลาง โดยมีสัดส่วนมากกว่าขนาดใหญ่ ดังนั้นเพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีการเติบโตขึ้น “คลังสินค้า” จึงถือเป็นหนึ่งในการพัฒนาที่จำเป็นในการยกระดับมาตรฐานธุรกิจให้เทียบเท่าระดับสากล ทั้งนี้ระบบอินทราโลจิสติกส์ไทย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของเทคโนโลยี ซึ่งไทยเป็นคน Import โดยระบบอินทราโลจิสติกส์ไทยอยู่ในอันดับ 30-35 ของโลก ขณะที่อันดับ 1 คือ สิงคโปร์ ตามมาด้วย อังกฤษ เยอรมัน ตามลำดับ ขณะเดียวกันในส่วนของงบการลงทุนของแต่ละธุรกิจในด้านอินทราโลจิสติกส์นั้นจะอยู่ราวๆ 10-15% ของงบการลงทุนทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 10-20 ล้านบาทต่อโครงการโดยเฉลี่ย

ที่มา : https://www.thairath.co.th/money/business_marketing/marketing/2732127

‘ตลาดรถยนต์เวียดนาม’ ร่วงมาอยู่อันดับ 5 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สมาพันธ์อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอาเซียน (AAF) รายงานว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ อินโดนีเซียเป็นผู้นำตลาดที่มียอดขายรถยนต์ 505,000 คัน เพิ่มขึ้น 6.3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ตามมาด้วยไทย มียอดขายรถยนต์ 406,000 คัน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และเวียดนาม ตามลำดับ ทั้งนี้ จากข้อมูลของคนในอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าปัจจัยภายนอก ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และอัตราเงินเฟ้อทั่วโลก ได้ส่งผลกระทบต่อการบริโภครถยนต์ในเวียดนาม รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและกำลังซื้อที่มีผลต่อยอดขายรถยนต์ลดลง นอกจากนี้ เมื่อพิจารณายอดขายรถยนต์ในเดือน ส.ค. พบว่าปริมาณการขาย 22,540 คัน ลดลง 27% เมื่อเทียบเป็นรายปี เป็นผลมาจากผู้บริโภคยังคงเข็มงวดในการจับจ่ายใช้สอย ท่ามกลางปัญหาทางเศรษฐกิจ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-automobile-market-slides-to-fifth-in-southeast-asia/269345.vnp

‘เวียดนาม’ ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ท่ามกลางความไม่แน่นอนทั่วโลก

จากข้อมูลล่าสุดของธนาคารโลก (WB) ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าเศรษฐกิจเวียดนามมีเม็ดเงินทุนไหลเข้าประเทศและการเบิกจ่ายเงินทุนจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าเวียดนามยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติในการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจในเวียดนาม ถึงแม้ว่าเผชิญกับความไม่แน่นอนทั่วโลก โดยเฉพาะนักลงทุนรุ่นเก่า ได้แก่ สิงคโปร์ จีนและญี่ปุ่น มีความไว้วางจและความมุ่งมั่นที่จะขยายธุรกิจในเวียดนามมากขึ้น ทั้งนี้ นาย ดอนแลม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท VinaCapital Group กล่าวว่าจากการสำรวจเบื้องต้น พบว่านักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจกับการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการยกระดับศักยภาพของภาคการบริโภคในเวียดนาม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ นับเป็นโอกาสที่ดีของเวียดนามในการดึงดูดเงินทุนไหลเข้าประเทศในระยะยาวมากขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-attractive-to-foreign-investors-despite-global-uncertainties-post1051514.vov

‘เมียนมา’ มอบสิทธิพิเศษให้กับผู้ส่งออก

กระทรวงพาณิชย์ และสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพเมียนมา (UMFCCI) เปิดเผยว่าได้วางแผนที่จะมอบสิทธิพิเศษให้กับผู้ส่งออกที่ได้รับเงินตราต่างประเทศเข้ามาในประเทศ และสภาหอการค้าฯ ได้ร่างโครงการสิทธิพิเศษ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออกที่ปฏิบัติตามกฎหมายและยังช่วยสนับสนุนการส่งออกให้กับประเทศ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของเมียนมา ได้แก่ ถั่วพัลส์ต่างๆ งา ข้าวโพด ยางพารา ข้าว สินค้าประมง ผลไม้และอื่นๆ เป็นต้น นอกจากนี้ การค้าระหว่างประเทศของเมียนมาในปีงบประมาณ 2565-2566 พบว่าการส่งออกของเมียนมา อยู่ที่ 16.62 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การนำเข้า 17.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/commerce-ministry-paving-way-for-exporters-with-special-privileges/#article-title

อัตราเงินเฟ้อ สปป.ลาว ยังคงอยู่ในระดับสูง แม้รัฐบาลมีความพยายามควบคุมราคาสินค้า

อัตราเงินเฟ้อใน สปป.ลาว ลดลงเล็กน้อยในช่วงเดือนกันยายนมาอยู่ที่ร้อยละ 25.69 ลดลงจากร้อยละ 25.88 ซึ่งได้รายงานไว้ในช่วงเดือนสิงหาคมตามรายงานของสำนักงานสถิติ สปป.ลาว อย่างไรก็ตามอัตราดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับสูง โดยได้รับแรงหนุนจากปัจจัยหลัก 3 ประการ ได้แก่ ผลผลิตภายในประเทศที่อ่อนแอและการที่ประเทศพึ่งพาการนำเข้าในสัดส่วนที่สูง ค่าเงินกีบที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง และราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น สำหรับในช่วงเดือนกันยายนค่าเงินกีบอ่อนค่าลงร้อยละ 5.8 และอ่อนค่าร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับเงินสกุลเงินดอลลาร์และบาทไทย ตามลำดับ เมื่อเทียบกับตัวเลขในเดือนสิงหาคม นอกจากนี้ราคาสินค้านำเข้า โดยเฉพาะเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลทำให้การ สปป.ลาว ขาดดุลทางการค้าสะสมเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ 444 ล้านดอลลาร์ ด้านรัฐบาลได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการมาตรการเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อที่สูง รวมถึงรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา และจัดการกับหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_197_Inflation_y23.php

กัมพูชาพร้อมดึงนักท่องเที่ยวจีนมายังประเทศมากขึ้น

Top Sopheak โฆษกกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชา รายงานว่าในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคมปีนี้ กัมพูชาให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีนกว่า 364,844 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 611 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.4 ของปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จำนวน 3.5 ล้านคน ที่ได้เดินทางมามายังกัมพูชา โดยทางการยังวางแผนที่จะดึงนักท่องเที่ยวชาวจีนมายังกัมพูชามากขึ้น ซึ่งคาดการณ์ว่าปีนี้นักท่องเที่ยวชาวจีนอย่างน้อย 600,000 คน ด้วยการส่งเสริมความสะดวกในการเดินทางอย่างการเพิ่มเที่ยวบินตรงระหว่างประเทศ รวมถึงเดินทางมายังชายแดน ภายใต้ความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยว อีกทั้งทางการกัมพูชายังพร้อมที่จะสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเชิงนิเวศ ซึ่งเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวทั่วโลกอันเนื่องมาจากสถานที่ได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ในสิ่งมหัศจรรย์ของโลก สำหรับภาคการท่องเที่ยวในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิดกัมพูชาได้ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนกว่า 6.61 ล้านคน ภายในปี 2019 สร้างรายได้เข้าประเทศรวมกว่า 4.92 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501373964/cambodia-is-eager-to-invite-more-chinese-tourists/

กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรไปยังต่างประเทศมูลค่ารวมกว่า 3.2 ล้านดอลลาร์

ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรปริมาณรวมกว่า 5.5 ล้านตัน สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 3.2 พันล้านดอลลาร์ ตามรายงานของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง (MAFF) แต่ด้วยสถานการณ์การส่งออกโดยรวมที่ชะลอตัวลง ส่งผลทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชา ได้แก่ ข้าว กล้วย มะม่วง มันสำปะหลัง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ข้าวโพด น้ำมันปาล์ม พริกไทย และยาสูบ เป็นสำคัญ โดยเฉพาะการส่งออกข้าวสารที่มูลค่า 395 ล้านดอลลาร์ และข้าวเปลือกมูลค่ารวมกว่า 658 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรัฐบาลมีความพยายามเป็นอย่างมากในการขยายตลาดส่งออก สำหรับภาคเกษตรกรรมถือเป็นหนึ่งใน 4 เสาหลัก ที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจของกัมพูชาเกิดการเติบโต คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 24.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เมื่อเทียบกับปี 2021

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501373714/agri-product-exports-earn-3-2b/

สงครามอิสราเอล-กราดยิงพารากอน ททท. ชี้ 2 ความเสี่ยงท่องเที่ยวไทยปลายปี 66

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันนัก ท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย (ณ ต้นเดือนตุลาคม ปี 2566) แตะ 20 ล้านคน คาดการณ์ว่าเป้าหมายที่วางไว้ 25-28 ล้านคน มีความเป็นไปได้ เนื่องจาก เดือนตุลาคม-ธันวาคม ปี 2566 แนวโน้มนักท่องเที่ยวทั้งกลุ่มตลาดระยะไกล หรือลองฮอลล์ (จากยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง แอฟริกา) ที่ยังมีบุ๊กกิ้งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงตลาดระยะใกล้ หรือ ช็อตฮอลล์ ซึ่งเป็นตลาดเป้าหมายของไทยก็เติบโต ทั้งเกาหลีใต้ มาเลเซีย อินเดีย รัสเซีย ทำให้เป้าหมายที่วางไว้ 25 ล้านคน น่าจะเป็นไปได้ อย่างไรก็ดี ช่วงไฮซีซั่นภาคการท่องเที่ยว คือ ช่วงปลายปี 2566 ทว่าไทยพบความเสี่ยง 2 ประการ ได้แก่ กราดยิงสยามพารากอน และซ้ำเติมด้วยปัญหาสงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ซึ่งเบื้องต้นเหตุการณ์กราดยิงที่สยามพารากอนคาดว่าจะกระทบไทยในระยะสั้น โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน สะท้อนจากตัวเลขการจองไฟลท์บินจากจีนมาไทยลดลง ขณะที่สงครามอิสราเอล-ฮามาส ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นค่อนข้างรุนแรงในแง่ความรู้สึกของนักท่องเที่ยว จนทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความลังเลในการเดินทาง เพื่อรอดูสถานการณ์ แต่ยังเร็วไปที่จะประเมินผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวไทย ซึ่งนักท่องเที่ยวอิสราเอลปัจจุบันเดินทางเข้าไทยประมาณ 170,000-180,000 คน โดยประเมินว่าสิ้นปี 2566 จะเข้ามาเยือนถึง 200,000 คน เนื่องจากเที่ยวบินระหว่างกรุงเทลอาวีฟ ไปภูเก็ตและกรุงเทพ ยังไม่มีการยกเลิก

ที่มา : https://moneyandbanking.co.th/2023/66705/

นภินทร เร่งแก้ส่งออกกระจุกตัว ดันเอสเอ็มอีค้าชายแดน 1.2 ล้านล้าน

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการมอบนโยบายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา และสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้สั่งการให้ทุกกรมฯ ช่วยกันแก้ปัญหาการกระจุกตัวด้านการส่งออกที่ส่วนใหญ่จะอยู่เฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ พร้อมกับส่งเสริมให้ธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถส่งออก หรือค้าชายแดน และค้าผ่านแดนให้มากขึ้น ดังนั้น เราอยากผลักดัน ให้รายได้ส่งออกจากเอสเอ็มอีมีเพิ่มขึ้น ให้มีสัดส่วนให้ได้ 35% ของภาพรวมการส่งออก ทั้งนี้ ทุกกรมฯที่เกี่ยวข้องกำลังจัดทำแผนงานบุรณณาการร่วมกันอยู่ และจะเริ่มโปรโมตทำมหกรรมการค้าด่านใหญ่ๆ ในจังหวัดที่ติดชายแดนก่อน ซึ่งจะกระตุ้นให้การค้าชายแดนเติบโตได้ โดยตั้งเป้าหมายว่าในปี 67 ยอดการค้าชายแดนจะเติบโต 20% เพิ่มจากประมาณ 1 ล้านล้านบาท เป็น 1.2 ล้านล้านบาท

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/news/2791239/