ชาวเวียดนามแห่กักตุนสินค้า ก่อนล็อกดาวน์เข้ม

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุขของเวียดนามรายงานสถิติผู้ป่วยโรคโควิด-19 สะสมในประเทศอย่างน้อย 348,059 คน เพิ่มขึ้น 11,346 คน นับเป็นวันที่ 4 ติดต่อกันแล้ว ซึ่งเวียดนามรายงานผู้ป่วยยืนยันมากกว่าวันละ 10,000 คน โดยชาวเวียดนามแตกตื่นกักตุนอาหารและของใช้ที่จำเป็น ก่อนที่นครโฮจิมินห์จะเข้าสู่มาตรการล็อกดาวน์ในวันวันจันทร์ ที่ 23 ส.ค 64 และมีประชาชนบางส่วนเร่งเดินทางออกจากเมือง โดยสถานีโทรทัศน์ VTV รายงานว่าประชาชนจำนวนมากต่อแถวเพื่อซื้อสินค้า ขณะที่ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งสินค้าหมดเกลี้ยง

ที่มา : https://www.naewna.com/inter/596875

‘เวียดนาม’ ตั้งเป้าปี 73 ก้าวเป็นศูนย์กลางอาหารทะเลแปรรูป

ภายในปี 2573 ตลาดอาหารทะเลแปรรูปของเวียดนาม จะมีมูลค่าสูงถึง 40-45 ล้านล้านดอง (1.75-1.97 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ส่งผลให้ยอดการส่งออกอาหารทะเลอยู่ที่ 14-16 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวมาจากแผนยุทธศาสตร์สำหรับอุตสาหกรรมอาหารทะเลปี 64-73 ตั้งเป้าที่จะส่งเสริมการผลิตที่มีความทันสมัยและยั่งยืน ตลอดจนตอบสนองกับความต้องการของตลาดต่างประเทศ อีกทั้ง เพื่อเป็นไปตามแผนดังกล่าว กำลังการผลิตอาหารทะเลแปรรูปจะขยายเฉลี่ย 6% ต่อปีในอีก 10 ปีข้างหน้า ขณะที่มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปจะมีสัดส่วนมากกว่า 40% ของทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกอาหารทะเลของเวียดนาม อยู่ที่ 4.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเป็นตลาดส่งออกหลักของเวียดนาม

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-aims-to-become-worlds-seafood-processing-hub-by-2030-318398.html

อุตสาหกรรมกาแฟเวียดนาม ก้าวสู่ระดับโลก

งานสัมมนา “International Business Forum 2021” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟเข้ามาแชร์แนวทางในการส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักในตลาดโลก ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าเวียดนามได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในผู้ผลิตและผู้ส่งออกกาแฟรายใหญ่ที่สุดของโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้แต่ช่วงก่อนและหลังการระบาดของโควิด-19 ผู้ประกอบการกาแฟเวียดนามส่วนใหญ่ทำการกระจายสินค้าตลาดส่งออก ปรับปรุงคุณภาพ ดึงเอาศักยภาพของเมล็ดกาแฟชนิดพิเศษและขยายช่องทางไปยังตลาดออนไลน์ ทั้งนี้ นาย Nguyen Van Minh รองประธานสมาคมฟาร์มและผู้ประกอบการเกษตรเวียดนาม กล่าวว่าอุตสาหกรรมกาแฟถือเป็นอุตสาหกรรมหลักและยังคงเป็นหลักสำคัญของธุรกิจระหว่างประเทศ

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เวียดนาม ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ

รายงานจากเว็บไซต์ newswire vendor.com เปิดเผยบทความว่าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เวียดนาม ยังคงเติบโตได้ดี แม้ว่าจะได้รับผลกระทบของโควิด-19 บทความดังกล่าวชี้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เวียดนามได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีกับประเทศอื่นๆ และนโยบายที่มีความยืดหยุ่น เพื่อจะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติและเปิดโอกาสแก่ผู้ประกอบการ เนื่องจากอุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเวียดนาม อีกทั้ง คาดว่าเวียดนามจะเป็นหนึ่งผู้ส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่อันดับที่ 12 ของโลก ประกอบกับยอดการส่งออกเติบโตอย่างต่อเนื่อง มูลค่าเฉลี่ย 12 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ขณะที่การนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นราว 2 เท่า ตั้งแต่ปี 2558-2562 นอกจากนี้ เวียดนามได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม ซึ่งจะสร้างโอกาสอันดีแก่ทั้งสองฝ่าย

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnams-electronics-industry-appeals-to-foreign-investors-entrepreneurcom-884404.vov

ธุรกิจในโฮจิมินห์ปิดตัวลง เหตุขาดแคลนแรงงาน

ธุรกิจหลายแห่งในเมืองโฮจิมินห์ถูกบีบให้ปิดกิจการ เนื่องจากขาดแคลนแรงงาน ตามข้อมูลของสมาคมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเวียดนาม (VITAS) รายงานว่าห่วงโซ่อุปทานการผลิตสิ่งทอของเวียดนาม มีกำลังการผลิตเพียง 10-15% “คนงานหลายพันคนหนีออกจากเมืองหลวง เป็นผลมาจากการระบาดอย่างหนัก ทำให้กิจการเผชิญกับปัญหาเกี่ยวกับการจัดหาคนงานให้กลับมาปฏิบัติงานอีกครั้ง ซึ่งคาดว่ากิจการอย่างน้อย 40% จะเผชิญกับการขาดแคลนแรงงาน” ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์กำลังคนและแรงงาน เปิดเผยว่าตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงสิ้นปี บริษัทในเมืองโฮจิมินห์ ต้องการแรงงานเพิ่มกว่า 150,000 ตำแหน่ง โดยภาคธุรกิจที่ยังมีความต้องการแรงงานไม่ลดลงในช่วงการระบาดนั้น ได้แก่ พาณิชย์ ไอที เวชภัณฑ์ สิ่งทอและรองเท้า เป็นต้น มีแนวโน้มว่าจะกลับมาฟื้นตัวและต้องการรับคนงานเพิ่มขึ้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1016894/hcm-city-firms-forced-to-close-down-due-to-lack-of-workers.html

‘เวียดนาม’ ชี้ธุรกิจเตรียมแผนปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

นาย Tô Hoài Nam รองประธานและเลขาธิการสมาคมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งเวียดนาม (VINASME) กล่าวว่าการระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจเวียดนามต้องปรับตัวหลายอย่างให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน บริษัทส่วนใหญ่จะมีการหมุนเวียนพนักงาน ลดค่าใช้จ่ายและควบคุมต้นทุน นอกจากนี้ ธุรกิจต่างๆ จัดทำแผนการใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นและปรับแผนการลงทุนให้เข้ากับสถานการณ์การระบาดของไวรัส ตลอดจนปรับตัวให้ทันต่อพฤติกรรมผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม นาย Trần Thoa รองผู้อำนวยการ บริษัท Thien Tâm Thảo ชี้ว่าการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำเนินธุรกิจของทุกองค์กร และธุรกิจจำเป็นที่จะต้องปรับกลยุทธ์มาช่องทางออนไลน์ที่ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ซึ่งจะช่วยให้กิจการสามารถรักษารายได้และกำไรต่อไปได้

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1015327/enterprises-diversify-plans-to-adapt-to-covid-19-pandemic.html

สหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้าพลาสติกรายใหญ่ของเวียดนาม ในครึ่งแรกของปีนี้

กรมศุลกากรของเวียดนาม (GDC) รายงานว่าสหรัฐอเมริกาเป็นจุดหมายปลางทางของผลิตภัณฑ์พลาสติกของเวียดนามในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ คิดเป็นสัดส่วน 36.5% ของปริมาณการขนส่งสินค้าทั้งหมด เวียดนามมีมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก ประมาณ 2.33 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 41.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี รองจากสหรัฐแล้วนั้น ญี่ปุ่นเป็นผู้นำเข้าพลาสติกรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของกลุ่มสินค้าดังกล่าว คิดเป็น 14.3% ของทั้งหมด ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เผยว่าบริษัท FDI เป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกหลักของประเทศ ขณะที่ธุรกิจในประเทศส่วนใหญ่จะจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติก ชิ้นส่วนและส่วนประกอบที่มีมูลค่าน้อยให้กับพาร์ทเนอร์ต่างชาติ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/foreign-investment-poured-in-vietnam-despite-covid-19-883511.vov

ผู้บริโภคชาวเวียดนามปลื้มมะม่วงกัมพูชา

กัมพูชาส่งออกมะม่วงสดไปยังเวียดนามในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ปริมาณกว่า 140,000 ตัน คิดเป็นสัดส่วน 86.8% ของปริมาณการส่งออกผลไม้ทั้งหมด สำนักงานการค้าเวียดนาม อ้างข้อมูลจากกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมงของกัมพูชา เปิดเผยว่าตั้งแต่เดือนม.ค.-ก.ค. เวียดนามส่งออกมะม่วง 161,228 ตัน พุ่ง 248% เมื่อเทียบเป็นรายปี นอกจากมะม่วงสดแล้ว กัมพูชายังได้ส่งแยมมะม่วงราว 13,525 ตัน ตลอดจน 77 ตันไปยังเวียดนาม, 1,000 ตันไปยังไทย และ 11,000 ตันไปยังจีนในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ นอกจากนี้ ปัจจุบันกัมพูชา มีพื้นที่เพาะปลูกมะม่วง 126,668 เฮกตาร์ และทำการส่งออก 845,274 ตัน เป็นมูลค่ากว่า 473.2 ล้านเหรียญสหรัฐในปีที่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ส่งออกไปยังเวียดนาม ไทย จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ รัสเซียและฝรั่งเศส

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/industries/vietnam-biggest-buyer-of-cambodia-s-mangoes-4342351.html

ต่างชาติแห่ลงทุนในเวียดนาม แม้เผชิญการระบาดของโควิด-19

เว็บไซต์ DigiTimes รายงานว่าแม้จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่เวียดนามยังคงดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยจากข้อมูลของ Fitch Solutions ชี้ว่าท่ามกลางการระบาดโควิด-19 เวียดนามยังคงได้รับเลือกให้เป็นประเทศที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติจำนวนมาก ซึ่งผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ต่างชาติส่วนใหญ่ 65% ได้ตั้งฐานการผลิตในภาคเหนือของเวียดนาม ขณะที่ประมาณ 30% สร้างโรงงานในภาคใต้และอีก 2-3 แห่งในภาคกลาง ทั้งนี้ ตามรายงานของบริษัทวิจัยเทคโนโลยีและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีระดับโลก “Technavio” เผยว่าตลาดเซมิคอนดักเตอร์กในเวียดนาม มีแนวโน้มเติบโตราว 19% ในปี 2020-2024 เป็นมูลค่ากว่า 6.16 พันล้านดอง

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/foreign-investment-poured-in-vietnam-despite-covid-19-883511.vov

‘เวียดนาม’ คงเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำถึงสิ้นปี 64

นาย Le Minh Khai รองนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการบริหารเมืองฮานอย รายงานที่ประชุมว่าเวียดนามดำเนินการรักษาการเติบโตของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 1% ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เพื่อคงเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 4% ต่อปี โดยคณะกรรมการมองว่าเพื่อให้ตัวเลขเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่กำหนดไว้ เวียดนามจะต้องดำเนินการ 2 เป้าหมายสำคัญ คือ สามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ ควบคู่กันไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ดัชนี CPI เผชิญกับอุปสรรค เนื่องจากตลาดมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาของความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นในช่วงสิ้นปีนี้ นอกจากนี้แล้ว ดัชนี CPI ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 1.64% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.89%

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1013386/vn-to-keep-cpi-growth-low-by-end-of-2021.html