‘เวียดนาม’ เผยโควิด-19 ทุบกิจการในเกิ่นเทอกว่า 95% หยุดกิจการชั่วคราว

จากรายงานของสำนักงานอุตสาหกรรมและการค้า เปิดเผยว่าจำนวนกิจการ 1,032 แห่งจากทั้งหมด 1,090 แห่ง หรือประมาณ 94.68% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมดในจังหวัดเกิ่นเทอ (Can Tho) ปิดกิจการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 16 สิ.ค. ที่ผ่านมา การปิดกิจการนั้น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และส่งผลกระทบต่อการผลิตและซัพพลายเชน ตลอดจนตลาดอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ ปัจจุบันมีจำนวนธุรกิจเพียง 20 แห่งที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเกิ่นเทอ ยังคงดำเนินกิจการต่อไปได้ ในขณะที่ธุรกิจ 41 แห่งที่ดำเนินกิจการอยู่นอกนิคมอุตสาหกรรมที่สามารถยังดำเนินการต่อไปได้ นอกจากนี้ จังหวัดเกิ่นเทอ มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 2,663 คน (ณ วันที่ 27 เม.ย –15 สิ.ค.)

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/covid19-forces-nearly-95-percent-of-can-tho-firms-to-halt-operations/206456.vnp

‘เวียดนาม’ ชี้ธุรกิจฟื้นตัว ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19

จากข้อมูลของกระทรวงวางแผนและการลงทุน เปิดเผยว่าถึงแม้เศรษฐกิจเวียดนามจะเผชิญกับอุปสรรคมากมาย เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ไปยังต่างจังหวัด โดยเฉพาะเมืองโฮจิมินห์ อย่างไรก็ดี การส่งออกและการนำเข้าในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ยังอยู่ในระดับสูง ด้วยมูลค่า 373.36 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 30.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ทั้งนี้ ประเด็นที่โดดเด่นที่สุดในเวียดนาม คือ ไม่ขาดแคลนสินค้าและไม่มีการปรับขึ้นราคาในช่วงมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญแสดงความกังวลว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ หากการระบาดยังทวีความรุนแรงมากขึ้น จะส่งผลให้กิจการหยุดดำเนินธุรกิจ กิจกรรมการผลิตปิดตัวลง ตลอดจนขาดแคลนอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจจำนวนมากจึงต้องปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ดังกล่าวและคงไว้กับการป้องกันการแพร่ระบาด

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/businesses-show-relisilience-amid-econmic-fallout-883020.vov

‘เวียดนาม’ ตั้งเป้าเกษตรกร 5 ล้านครัวเรือน เชื่อมโยงแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ

นาย Pham Anh Tuan รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสารของเวียดนาม กล่าวว่าเวียดนามพยายามจะเชื่อมโยงครัวเรือนเกษตรกรจำนวนกว่า 5 ล้านครัวเรือน ให้เข้าปรับมาใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในปีนี้ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและเป็นไฮไลท์ของแผนยุทธศาสตร์กระทรวงที่ได้อนุมัติเมื่อปลายเดือนก.ค. ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยฯ เรียกร้องให้หน่วยงานเกษตรและพัฒนาชนบท อุตสาหกรรมและการค้า เข้ามาร่วมมือกับบริษัทไปรษณีย์ 2 แห่ง ได้แก่ ‘Vietnam Post’ และ ‘Viettel Post’ เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงเกษตรกรกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-aims-to-connect-5-million-farming-households-to-ecommerce-platforms/206400.vnp

‘เวียดนาม’ ตั้งเป้าสัดส่วนมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล 20% ของ GDP

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่าเวียดนามเร่งตัวให้ทันตามเศรษฐกิจดิจิทัลโลกและอีคอมเมิร์ซ ขณะที่เว็บไซต์ของรัฐบาล อ้างจากร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สัดส่วนของเศรษฐกิจดิจิทัล คิดเป็น 20% GDP ภายในปี 2568 อีกทั้ง สมัชชาแห่งชาติได้กำหนดเป้าหมายภาคดิจิทัลไว้ที่ 30% ของ GDP ปี 2573 นับว่าเป็นการตั้งเป้าหมายไว้สูงมาก เนื่องจากเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศในปัจจุบัน มีสัดส่วนเพียง 8.2% ของ GDP นอกจากนี้ Euromonitor International ยังได้ประมาณการว่าอีคอมเมิร์ซ มีสัดส่วนเพียง 3% ของตลาดค้าปลีกเวียดนามในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นมูลค่าที่น้อยที่สุดในบรรดาเศรษฐกิจหลักของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/economy/vietnam-aims-digital-economy-to-represent-20-pct-of-gdp-4340822.html

‘เวียดนาม’ เป็นผู้บริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อันดับ 3 ของโลก

สมาคมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโลก  (WINA) รายงานว่าในปีที่แล้วผู้บริโภคชาวเวียดนามบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ประมาณ 7.03 พันล้านห่อ รองจากฮ่องกงและอินโดนีเซีย ขณะที่ ตามตัวเลขสถิติของสมาคมฯ ชี้ให้เห็นว่าตลาดเอเชียเป็นผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมากที่สุดในโลก ด้วยสัดส่วน 56.45% ของปริมาณการบริโภคทั่วโลกในปีที่แล้ว โดยเฉพาะจีน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ทั้งนี้ ผลการสำรวจของบริษัท Nielsen Vietnam แสดงให้เห็นว่าอัตราการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศ เพิ่มขึ้น 67% ซึ่งปัจจุบันจีนเป็นผู้บริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากที่สุดในโลก แต่อัตราการบริโภคไม่สูงเมื่อเทียบกับเวียดนาม อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ทำให้ความต้องการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปริมาณการบริโภคเพิ่มขึ้น 14.79% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ปี 2563

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/vietnam-remains-a-top-three-instant-noodles-consumers-34865.html

‘เวียดนาม’ ส่งออกโทรศัพท์และชิ้นส่วนพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ระบุว่าในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ยอดการส่งออกโทรศัพท์และชิ้นส่วน 29.35 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยโทรศัพท์และชิ้นส่วนยังคงเป็นสินค้าส่งออกชั้นนำของเวียดนาม ด้วยสัดส่วน 15.8% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศ ตั้งแต่เดือนม.ค.-ก.ค. รองลงมาสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบที่มีมูลค่า 27.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ตลาดส่งออกรายใหญ่ของเวียดนาม ได้แก่ จีน สหรัฐฯ ยุโรป อาเซียน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ อีกทั้ง เวียดนามจำเป็นต้องแสวงหาตลาดส่งออกไปยังตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ อาทิ แอฟริกา ละตินอเมริกา ตะวันออกกลางและอินเดีย เป็นต้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-exports-of-phones-components-continue-to-surge/206250.vnp

‘พาณิชย์เวียดนาม’ เดินหน้าร้องขอคลังสินค้า เหตุช่วยลดต้นทุนธุรกิจจากโควิด-19

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เรียกร้องให้ธุรกิจโลจิสติกส์และธุรกิจขนส่งทางทะเล ช่วยลดค่าธรรมเนียมสำหรับค่าภาระฝากตู้สินค้าและคลังสินค้าแก่บริษัทต่างๆ ที่ลดการดำเนินงานลง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เมื่อวันที่ 10 สิ.ค. นาย Tran Quoc Khanh รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ได้ยื่นส่งคำสั่งไปยังสมาคมธุรกิจโลจิสติกส์เวียดนามและสมาคมท่าเรือเวียดนาม ซึ่งมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและการควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสนั้น ทำให้ธุรกิจลดการดำเนินงานและหยุดกิจการชั่วคราว ตลอดจนประสบปัญหาการรับสินค้าจากท่าเรือ ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ ทางกระทรวงฯ จึงเรียกร้องให้ลดค่าใช้จ่ายแก่ธุรกิจดังกล่าว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/trade-ministry-wants-storage-warehousing-costs-cut-for-struggling-businesses/206261.vnp

มูลค่าการค้าลาว-เวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.5

แม้จะมีการระบาดใหญ่ของโควิด-19 แต่มูลค่าการค้าระหว่างสปป.ลาวและเวียดนามก็สูงถึง 671 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงหกเดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 36.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ด้านมูลค่าสินค้าที่ลาวนำเข้าจากเวียดนามมีมูลค่า 329 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 นอกจากนี้เวียดนามเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับสามในสปป.ลาวรองจากจีนและไทย ปัจจุบันธุรกิจเวียดนามมีการลงทุนในโครงการ 414 ในประเทศลาว มูลค่าประมาณ 4.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรม ไฟฟ้า และเหมืองแร่ ข้อมูลทั้งหมดได้เปิดเผยในที่ประชุมระหว่างรัฐบาลเวียดนามและรัฐบาลสปป.ลาว นอกจากการเปิดเผยข้อมูลแล้วทั้งสองฝ่ายได้ผลักดันให้ข้อตกลงการค้าไฟฟ้าบรรลุผลตามแผนซึ่งเรียกร้องให้มีความคืบหน้าในโครงการอื่นๆ ที่ตกลงกันต่อไป เช่น การก่อสร้างทางด่วนเวียงจันทน์-ฮานอย รถไฟลาว-เวียดนาม และสนามบินหนองค้างในจังหวัดหัวพัน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Laoviet_trade_155.php

เวียดนามวางแผนเพิ่มปริมาณการค้ากับจังหวัดชายแดนกัมพูชา

เวียดนามวางแผนเพิ่มปริมาณการค้ากับกัมพูชาผ่านโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อกิจกรรมการค้าและการแลกเปลี่ยนสินค้าผ่านชายแดนระหว่างจังหวัดยาลายของเวียดนาม ซึ่งมีชายแดนติดกับประเทศกัมพูชา โดยเวียดนามจัดตั้งโครงการเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมชายแดนระหว่างประเทศในช่วงปี 2025-2030 ซึ่งนอกจากจะคาดหวังปริมาณการค้าระหว่างกันที่เพิ่มขึ้นแล้ว ทั้งสองประเทศยังคาดหวังถึงการดึงดูดนักลงทุนและการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนในการก่อสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระหว่างชายแดน ที่นอกเหนือจากงบประมาณของทางภาครัฐจัดสรรให้ โดยคาดว่าในอีกไม่นานจะเกิดการสนับสนุน การแลกเปลี่ยนและเกิดการหมุนเวียนของสินค้าระหว่างกัน รวมถึงข้อตกลงความร่วมมืออื่น ๆ ระหว่างพื้นที่ชายแดนของจังหวัดยาลาย (เวียดนาม) และจังหวัดรัตนคีรี (กัมพูชา) ในระยะถัดไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50912806/gia-lai-province-in-vietnam-to-boost-trade-links-with-cambodias-border-provinces/

‘เวียดนาม’ ยังคงเป็นแหล่งดึงดูดของบริษัทผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลก

ข้อมูลจากศูนย์วิจัย Fitch Solutions เปิดเผยว่าถึงแม้เวียดนามเผชิญกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่เวียดนามยังเป็นที่น่าสนใจในสายตาของนักลงทุนต่างชาติจำนวนมากให้เป็นฐานการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจากการสำรวจชี้ว่าผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ต่างชาติส่วนใหญ่ 65% ได้ตั้งฐานการผลิตในภาคเหนือของเวียดนาม ขณะที่ 30% สร้างโรงงานในภาคใต้และอีกไม่กี่แห่งในภาคกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจของกลุ่มซัมซุงของเกาหลีใต้ที่เข้ามาลงทุนไปแล้วกว่า 17.5 พันล้านเหรียญสหรัฐในเวียดนาม และมีสัดส่วนมากกว่า 20% ของยอดการส่งออกทั้งหมดของเวียดนามผ่านสินค้าไฮเอนด์ ‘โทรศัพท์’ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่าปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ต่างชาติเข้ามาเวียดนาม คือ เขตอุตสาหกรรม (IP) โดยได้ตั้งข้อสังเกตว่าเขตอุตสาหกรรมส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ที่สะดวกต่อการขนส่งและมีระบบโลจิสติกส์

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-remains-attractive-to-multinational-electronics-companies/206095.vnp