ค้าเวียดนามปี 73 มีสัดส่วน 15% ของ GDP

ตามแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการค้าในประเทศภายในปี 64-73 มีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการค้าในประเทศมาอยู่ 15-15.5% อีก 10 ปีข้างหน้า ภายใต้แผนดังกล่าวนั้น การค้าในประเทศจะเติบโตเฉลี่ย 9-9.5% ต่อปี และรายได้ทั้งมาจากการค้าปลีกและจากการบริการผู้บริโภค 13-13.5% โดยแผนดังกล่าวจะมุ่งไปที่การสร้างแบรนด์สินค้าเวียดนาม ตลอดจนปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค ธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้ง ส่วนราชการยังได้กำหนดให้มีการส่งเสริมการลงทุนและปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางการลงทุน เพื่อปรับให้เข้ากับหลักการการค้าใหม่ รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้มีความทันสมัยและยั่งยืน โดยเฉพาะพื้นที่ชนบท

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/domestic-trade-to-make-up-15-of-gdp-by-2030-876968.vov

คลังเวียดนาม ทุ่มเงินเยียวยา 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ รับมือ ‘โควิด-19’

กระทรวงการคลังของเวียดนาม กำลังพิจารณามาตรการช่วยเหลือกิจการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 จำนวน 24 ล้านล้านดอง (1.04 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ในรูปแบบการยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียม โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดระลอกที่ 4 ทำให้บรรดาหัวเมืองและจังหวัดต่างๆ กำหนดมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข็มงวด ทั้งนี้ เมื่อเร็วๆนี้ รัฐบาลได้อนุมัติเงินช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด จำนวน 26 ล้านล้านดอง และเงินดังกล่าวถูกเบิกจ่ายไปแล้ว นอกจากนี้ นาย โฮ่ดึ๊ก ฟ้อก (Ho Duc Phoc) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรียกร้องให้รัฐบาลลดการใช้จ่ายประจำ 10% เพื่อนำทรัพยากรไปต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/economy/finance-ministry-working-on-1-bln-covid-support-for-businesses-4330556.html

“สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด” หั่นศก.เวียดนามลดลง

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจเวียดนาม ปี 64 โต 6.5% จากเดิมที่คาดว่าโต 6.7% สะท้อนจากภาคธุรกิจในประเทศได้รับผลกระทบอย่างหนัก หากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงทวีความรุนแรงต่อไป ตลอดจนการหดตัวของภาคการท่องเที่ยว การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและอุปสงค์ในต่างประเทศที่อ่อนแอลง แต่ว่าการส่งออกในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 28.4% และการนำเข้าเพิ่มขึ้น 36.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี ทั้งนี้ ธนาคารฯ คาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามในปีหน้า โต 7.3% และจะเร่งตัวขึ้นหลังจากสิ้นสุดโควิด-19 และธนาคารมองว่าเวียดนามจะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค รวมถึงเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่มีความทันสมัยและเลื่อนขึ้นเป็นประเทศรายได้สูง

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/standard-chartered-revises-forecast-for-vietnam-down/205062.vnp

เกาหลีใต้ครองตำแหน่งนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม

จากข้อมูลของกระทระทรวงวางแผนและการลงทุน ระบุว่าเวียดนามดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ รวมทั้งสิ้นเป็นมูลค่า 15.27 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจำนวนเงินดังกล่าวนั้น ส่วนหนึ่งมาจากเกาหลีใต้ 2.05 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 13.4% ของเงินทุนต่างชาติ รองลงมาญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ทั้งนี้ สมาคมการค้าระหว่างประเทศเกาหลีใต้ (KITA) ชี้ว่าเวียดนามสร้างฐานะตัวเองให้เป็นหนึ่งในตลาดการลงทุนที่น่าสนใจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอีกปัจจัยหนึ่ง คือช่วงหลายปีที่ผ่านมา สถิติการส่งออกและการลงทุนของเกาหลีใต้ไปยังเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นที่น่าจับตามองในสายตานักลงทุนชาวเกาหลีใต้ โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมการลงทุนของเวียดนามที่มีนโยบายการลงทุนที่น่าสนใจ ตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ

ที่มา : http://ven.vn/rok-becomes-largest-foreign-investor-in-vietnam-44733.html

ตลาดโฮจิมินห์ดิ่ง เผชิญลูกค้าน้อยราย เหตุกลัวโควิดระบาด

จากการสำรวจของสำนักข่าว VnExpress เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา พบว่าตลาดส่วนใหญ่มีผู้ซื้อหรือผู้บริโภคเพียงไม่กี่รายที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอย และตลาดดั้งเดิมอีก 40 แห่ง ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการได้บางส่วน โดยจำหน่ายเฉพาะอาหาร ทั้งนี้ ผู้บริหารตลาดรายหนึ่ง กล่าวว่าพ่อค้า/แม่ค้าหันมาขายของออนไลน์มากขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคกลัวที่จะเข้ามาตลาด เนื่องจากอยู่ในบริเวณที่ใกล้เคียงกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างไรก็ดี ร้านค้าหลายแห่งได้ปรับลดราคาผักผลไม้หลายชนิด นอกจากนี้ ผู้คนในเมืองโฮจิมินห์กว่า 13 ล้านคน เผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยมีมา ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุด มากกว่า 39,500 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 27 เม.ย. 2564)

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/economy/hcmc-traditional-markets-lack-patrons-on-covid-fears-4328158.html

“ไนกี้” หวั่นโควิด-19 ระบาด ปิดโรงงานผลิตรองเท้าในเวียดนาม

บริษัทวิจัยตลาด ส่งสัญญาเตือนการปิดโรงงานผลิตรองเท้า 2 รายในเวียดนาม เนื่องจากเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการผลิตรองเท้าไนกี้ (Nike) โดยเวียดนามมีสัดส่วน 49% ของปริมาณการนำเข้าผ่านการขนส่งทางทะเล และเชื่อมโยงกับสินค้าของไนกี้และอื่นๆ ของบริษัทในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ อีกทั้ง งบประมาณของบริษัท ไนกี้ ปี 2563 ได้ทำสัญญาจ้างในเวียดนาม เพื่อผลิตรองเท้าแบรนด์ราว 50% นอกจากนี้ ผู้ให้บริการ ‘S&P Global Market Intelligence’ ชี้ให้เห็นว่า ‘Changshin Vietnam’ โรงงานผลิตรองเท้าจากเกาหลี และ ‘Pou Chen Corp’ ของไต้หวัน ประกาศหยุดการดำเนินกิจการเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อาจทำให้ซัพพลายเชนเกิดหยุดชะงักลงที่บริษัททำธุรกิจด้วย

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/companies/nike-could-run-out-of-vietnamese-sneakers-4328007.html

กัมพูชาอาจได้รับผลกระทบเชิงบวก หลังเวียดนามโครงสร้างพื้นฐานดีขึ้น

แผนการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในจังหวัดลองอันของเวียดนาม อาจมีส่วนช่วยทำให้การค้าข้ามพรมแดนของกัมพูชาปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดลองอันกำลังจัดตั้งศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง 6 แห่ง เพื่อช่วยส่งเสริมการนำเข้าและส่งออก และปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันของชุมชนท้องถิ่น โดยศูนย์ทั้งหมดเชื่อมต่อกับถนน แม่น้ำ และทะเล ที่ถือเป็นข้อได้เปรียบสำหรับการจัดส่งและการกระจายสินค้า ซึ่งจังหวัดลองอันตั้งอยู่ติดกับตะวันออกเฉียงใต้ของกัมพูชาระหว่างนครโฮจิมินห์ทางตอนเหนือและสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง โดยทั้งกัมพูชาและเวียดนามได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะเพิ่มปริมาณการค้าทวิภาคีระหว่างกัน ซึ่งในปัจจุบันการค้าระหว่างเวียดนามและกัมพูชามีมูลค่าสูงถึง 5.3 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว โดยการส่งออกของกัมพูชาไปยังเวียดนามเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 443 ในไตรมาสแรกของปี 2021 สู่มูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ยางพารา และพืชผลทางการเกษตร ส่วนการส่งออกของเวียดนามมายังกัมพูชาเติบโตเกือบร้อยละ 16 คิดเป็นมูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์สินค้าสำคัญ ได้แก่ เหล็ก น้ำมันและก๊าซ รวมถึงเสื้อผ้าและรองเท้า เป็นต้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50898290/cambodia-may-gain-from-vietnam-investing-in-better-infrastructure/

สหรัฐ-เวียดนามบรรลุข้อตกลงด้านนโยบายค่าเงิน ยุติข้อพิพาทยุคทรัมป์

นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ และนายเหงียน ถิ หง ผู้ว่าการธนาคารกลางเวียดนาม กล่าวในแถลงการณ์ร่วมหลังจากการประชุมทางไกลเมื่อช่วงเช้าวานนี้ว่า กระทรวงการคลังสหรัฐและธนาคารกลางเวียดนามได้ “หารืออย่างสร้างสรรค์” ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ผ่านกระบวนการที่มีส่วนร่วมเพิ่มขึ้น และสามารถบรรลุข้อตกลงเพื่อแก้ไขความวิตกกังวลของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับแนวปฏิบัติด้านค่าเงินของเวียดนาม ทั้งนี้ นายหงกล่าวว่า ธนาคารกลางเวียดนามจะเดินหน้าจัดการนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนภายในกรอบนโยบายการเงินทั่วไป เพื่อปกป้องกลไกการทำงานของตลาดการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม พร้อมส่งเสริมเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค และควบคุมเงินเฟ้อ ไม่ใช่เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในการค้าระหว่างประเทศ

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2021/108257

เวียดนามเผยการส่งออกอาหารสัตว์ครึ่งแรกของปีนี้ ‘พุ่ง’

ตามข้อมูลของกรมศุลกากรเวียดนาม เผยว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกอาหารสัตว์ของเวียดนาม มีมูลค่า 523.88 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 52.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี จีนยังคงเป็นผู้นำเข้าอาหารสัตว์รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ด้วยมูลค่าการค้า 188.3 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาสหรัฐฯ และอินเดีย โดยเฉพาะการส่งออกของเวียดนามไปยังไทย มีมูลค่า 15.55 ล้านเหรียญสหรัฐ พุ่ง 100% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นอกจากนี้ เมื่อปีที่แล้ว การส่งออกอาหารสัตว์ของเวียดนามไปยังจีน มีมูลค่า 211.23 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะเดียวกัน ตัวเลขการส่งออกไปยังกัมพูชาและสหรัฐฯ แตะ 122.3 และ 114.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 23% และ 125% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามลำดับ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/animal-feed-exports-see-surge-in-h1/204933.vnp

“เอดีบี” ปรับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนามปี 64 โต 5.8%

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประกำลังพัฒนาในเอเชียอยู่ที่ 7.2% ในปีนี้ เทียบกับที่คาดการณ์ไว้ที่ 7.3% เมื่อเดือนเมษายน และจากการประเมินของ ADB การส่งออกทั่วโลกที่เริ่มฟื้นตัว ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ อยู่ที่ 5.6% จาก 1.8% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แม้ว่าจะเผชิญกับการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เริ่มต้นเมื่อปลายเดือนเมษายน โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนที่ค่อนข้างช้า รวมถึงการบังคับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมในพื้นที่เศรษฐกิจ ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการค้าและกิจกรรมทางเศรษฐกิจปีนี้ อย่างไรก็ดี ธนาคารพัฒนาเอเชียได้ปรับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามปีนี้ เหลือ 5.8% จากก่อนหน้าที่คาดการณ์ไว้ที่ 6.7% เมื่อเดือนเมษายน

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/adb-lowers-vietnamese-growth-forecast-for-2021-to-58-875361.vov