สหภาพยุโรปมอบเงินสนับสนุนงบประมาณชาติให้แก่ สปป.ลาว 18.4 ล้านยูโร

สหภาพยุโรป (EU) อนุมัติเงินช่วยเหลือจำนวน 18.4 ล้านยูโร แก่รัฐบาล สปป.ลาว ซึ่งในอดีตได้รับการสนับสนุนมาแล้วสองโครงการ ได้แก่ โครงการสนับสนุนภาคการศึกษาภายใต้กรอบระยะเวลาประจำปี 2018-2021 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายในแผนพัฒนาภาคการศึกษาให้สำเร็จตามเป้าหมาย โดยเฉพาะความพยายามในการให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นอย่างน้อย ด้วยการปรับปรุงคุณภาพการศึกษาและการจัดการภาครัฐในภาคส่วนดังกล่าว และโครงการถัดมาเน้นการสนับสนุนทางโภชนาการนับตั้งแต่ปี 2019-2022 เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารในประเทศ สำหรับในปี 2023 สหภาพยุโรปกำลังพิจารณาอนุมัติงบประมาณมูลค่ารวม 4.4 ล้านยูโร เพื่อสนับสนุนงบประมาณชาติ โดยมุ่งเน้นไปที่ภาคส่วนสำคัญดังเดิมไม่ว่าจะเป็นภาคการศึกษาและสุขภาพในประเทศ เพื่อหวังปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ รวมถึงบรรเทาความยากจนให้หมดไป

ที่มา : http://vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_172_EU_y23.php

อินโดนีเซียจ่อนำเข้าข้าวสารจากกัมพูชาแตะ 2.5 แสนตันต่อปี

อินโดนีเซียได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกัมพูชาสำหรับการจัดหาข้าวสารปริมาณกว่า 250,000 ตันต่อปี กล่าวโดย โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (4 ก.ย.) โดยความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากอินเดียประกาศยุติการส่งออกข้าวไปยังอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายความมั่นคงด้านอาหารแห่งชาติของอินเดีย หลังมีแนวโน้มที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญ่ ด้านประธานาธิบดีอินโดนีเซียกล่าวเสริมด้วยว่าเพื่อเป็นการตอบแทนต่อกัมพูชา อินโดนีเซียพร้อมที่จะสนับสนุนโครงการความมั่นคงด้านอาหารให้แก่กัมพูชาด้วยการจัดหาปุ๋ยรองรับการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรของกัมพูชา

โดยในช่วงก่อนหน้าอินโดนีเซียวางแผนที่จะนำเข้าข้าวสารจากอินเดียมากกว่า 1 ล้านตัน แต่คำขอดังกล่าวถูกปฏิเสธ ส่งผลทำให้อินโดนีเซียจำเป็นต้องหาแหล่งในการนำเข้าข้าวสารจากแหล่งอื่นๆ เพื่อทดแทนกับโควต้าที่ถูกปฏิเสธ ตามที่รัฐมนตรีการค้า Zulkifli Hasan ได้กล่าวไว้

ขณะที่ข้อมูลของรัฐบาลอินโดนีเซียได้ระบุว่า สต๊อกข้าวในโกดังของ Bulog หน่วยงานโลจิสติกส์ของรัฐ รายงานว่าปัจจุบันมีจำนวนเกือบ 1.6 ล้านตัน อีกทั้งรัฐบาลกำลังดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อเพิ่มปริมาณอาหารสำรองเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งส่งผลโดยตรงไปยังภาคการเกษตร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501354908/indonesia-to-import-250000-tons-of-rice-from-cambodia/

คาดอัตราการว่างงานกัมพูชาลดลงเหลือร้อยละ 0.3 ภายในปี 2023

คาดอัตราการว่างงานของกัมพูชาจะลดลงเหลือร้อยละ 0.3 ภายในปี 2023 จากร้อยละ 0.4 ในปีที่แล้ว ตามตัวเลขล่าสุดที่เผยแพร่โดยกระทรวงแรงงาน ซึ่งอ้างอิงจากข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ของหน่วยงานสหประชาชาติ (UN) โดยตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าอัตราการว่างงานของกัมพูชาต่ำที่สุดในบรรดาประเทศที่มีระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกันและต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค อย่างเช่น ไทย เวียดนาม และ สปป.ลาว ในขณะที่อัตราการว่างงานโดยเฉลี่ยของกลุ่มประเทศอาเซียนคาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.4 ในปี 2023 จากร้อยละ 2.6 ในปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501354673/unemployment-rate-to-fall-to-0-3-percent-in-2023/

‘การบินพลเรือนเวียดนาม’ คาดเที่ยวบินในประเทศพุ่ง เหตุช่วงวันชาติ

สำนักงานการบินพลเรือนเวียดนาม (CAAV) รายงานว่าเที่ยวบินภายในประเทศมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ส่งให้อัตราการจองที่นั่งเที่ยวบิน (Occupancy Rate) สูงถึง 70% เนื่องจากวันชาติเวียดนามที่กำลังจะมาถึง ตั้งแต่วันที่ 1-4 ก.ย. โดยเฉพาะเที่ยวบินฮานาย-ดาลัด, เที่ยวบินกวีเญิน-เกาะฟู้โกว๊ก และเที่ยวบินกงด๋าว-ญาจาง มีอัตราการจองที่นั่ง 73%-97% ในวันที่ 31 ส.ค. นอกจากนี้ สำนักงานบินเตรียมที่จะร่วมมือกับสายการบินต่างๆ เพื่อรับมือผู้โดยสารที่มีความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงวันชาติเวียดนาม

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/high-domestic-flight-occupancy-anticipated-during-upcoming-holiday/

‘เวียดนาม’ เผยช่วง 8 เดือนปีนี้ ผู้ประกอบการลงทุนในต่างประเทศ ทะลุ 416 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงการวางแผนและการลงทุน (MPI) เปิดเผยว่าในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ผู้ประกอบการเวียดนามลงทุนในต่างประเทศ มีมูลค่า 416 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยจากเงินลงทุนรวมทั้งหมดข้างต้น โครงการใหม่ได้รับเงินทุนราว 244.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จำนวน 79 โครงการ ในขณะที่โครงการที่มีอยู่เดิมได้รับเงินทุนราว 171.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จำนวน 18 โครงการ ทั้งนี้ นักลงทุนเวียดนามที่ลงทุนในต่างประเทศส่วนใหญ่ลงทุนในภาคการค้าปลีกและค้าส่ง มีมูลค่า 150.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า เกษตรกรรม การเงินและการธนาคาร นอกจากนี้

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/over-416-million-usd-invested-abroad-in-8-months/267218.vnp

‘เมียนมา’ เผยส่งออกถั่ว เม.ย.-ส.ค. พุ่ง 630,000 ตัน

สมาคมผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ถั่วพัลส์ ถั่วฝัก ข้าวโพด และงาแห่งเมียนมา รายงานว่าเมียนมาส่งออกถั่วและถั่วพัลส์ในช่วง เม.ย.-ส.ค. ปริมาณ 630,000 ตัน ทำรายได้เกินกว่า 511 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ถั่วเขียว ถั่วเขียวผิวดำและถั่วแระ โดยส่วนใหญ่ส่งออกไปยังตลาดอินเดียและจีน นอกจากนี้ พื้นที่เพาะปลูกผลผลิตทางการเกษตรของเมียนมา มีสัดส่วน 33% ขณะที่พื้นที่ปลูกถั่ว มีสัดส่วนเพียง 20% ของพื้นที่ทั่วประเทศ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-exports-630000-tonnes-of-beans-pulses-in-april-august/#article-title

ในช่วงเดือนสิงหาคม อัตราเงินเฟ้อ สปป.ลาว ชะลอตัวลงแตะ 25.88%

อัตราเงินเฟ้อในประเทศ สปป.ลาว ณ ช่วงเดือนสิงหาคมลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 25.88 เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคมที่ร้อยละ 27.8 ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติ สปป.ลาว โดยราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.85 ต่ำกว่าในช่วงเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับร้อยละ 37.81 ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการปรับตัวลดลงของราคาสินค้ากลุ่มดังกล่าว สำหรับภาคส่วนที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำสุดในเดือนสิงหาคม ได้แก่ เครื่องใช้ในครัวเรือนอยู่ที่ร้อยละ 0.20 ไปรษณีย์และโทรคมนาคมร้อยละ 0.57 และการศึกษาร้อยละ 0.75 แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการแล้วก็ตาม ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อใน สปป.ลาว มาจากค่าเงินกีบที่อ่อนค่าลง หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น และการขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงไปยังเศรษฐกิจของ สปป.ลาว รวมไปถึงส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของประชาชน

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/laos-inflation-drops-to-2588-in-august/267230.vnp

7 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกยางขยายตัว 3% มูลค่าแตะ 228.5 ล้านดอลลาร์

กัมพูชาส่งออกยางแห้งในช่วง 7 เดือนแรกของปีจำนวนรวมกว่า 170,968 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของ General Directorate of Rubber สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 228.5 ล้านดอลลาร์ โดยราคายางแห้งหนึ่งตันมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1,337 ดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าราคาในช่วงช่วงเดียวกันของปีที่แล้วประมาณ 244 ดอลลาร์ ต่อตัน สำหรับผู้นำเข้ารายสำคัญยังคงเป็นกลุ่มประเทศในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และจีนเป็นหลัก ขณะที่ปัจจุบันในประเทศกัมพูชาได้มีการเพาะปลูกต้นยางในพื้นที่ทั้งหมด 404,578 เฮกตาร์ โดยมีต้นยางที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 315,332 เฮกตาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 78 ของพื้นที่เพาะปลูก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501352255/cambodias-rubber-exports-up-3-pct-in-first-7-months-to-earn-2285-million/

รัฐบาลกัมพูชาจ่อปรับค่าแรงขั้นต่ำกลุ่มอุตสาหกรรม GFT ในประเทศ

รัฐบาลกัมพูชายืนยันปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างต่อเนื่องสำหรับแรงงานในภาคอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าการเดินทาง (GFT) โดยยึดมั่นในความยั่งยืนของภาคดังกล่าวและเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาด ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้รับการสนับสนุนมาจากรัฐบาลชุดใหม่ของกัมพูชา ขณะที่ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำรายเดือนสำหรับภาคส่วนนี้อยู่ที่ 200 ดอลลาร์ ต่อเดือน เพิ่มขึ้นจาก 194 ดอลลาร์ ต่อเดือน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับอุตสาหกรรมเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าการเดินทาง (GFT) ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญของกัมพูชา โดยมีสถานประกอบประมาณ 1,332 แห่ง สร้างการจ้างงานประมาณกว่า 830,000 คน ซึ่งคิดเป็นการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวมูลค่ารวมกว่า 6.27 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี ถึงแม้จะลดลงอย่างมากจากการมูลค่า 7.89 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลการค้าจากกรมศุลกากรและสรรพสามิต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501352116/gft-minimum-wage-hike-focuses-on-sustainability/

รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนชงผู้นำไฟเขียวทำความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัล ยุทธศาสตร์คาร์บอน

นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 55 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 19-22 ส.ค.2566 ที่ผ่านมา ณ เมืองเซอมารัง สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ว่า การประชุมครั้งนี้ ได้ผลลัพธ์สำคัญที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) และผู้นำอาเซียน ในช่วงระหว่างวันที่ 3-7 ก.ย.2566 โดยมีประเด็นสำคัญ ได้แก่ การจัดทำกรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน (DEFA) การจัดทำยุทธศาสตร์ความเป็นกลางทางคาร์บอน และปฏิญญาว่าด้วยกรอบการดำเนินงานสำหรับโครงการพื้นฐานด้านอุตสาหกรรม ซึ่งผลลัพธ์ดังกล่าวถือเป็นกลไกการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจใหม่ของอาเซียนที่ตอบสนองเชิงรุกต่อแนวโน้มการค้าของโลกสำหรับการเจรจาจัดทำความตกลง DEFA ได้ตั้งเป้าที่จะเริ่มเจรจาปลายปีนี้ และให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี โดยคาดว่า DEFA จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าด้านดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน ให้สูงถึง 4-6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2573 ส่วนการจัดทำยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในเศรษฐกิจสีเขียวและสนับสนุนการเติบโตที่ยั่งยืนของภูมิภาค นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบการเร่งรัดดำเนินการตามแผนงานของเสาเศรษฐกิจ เช่น การจัดตั้งหน่วยงานสนับสนุนความตกลง RCEP การใช้เอกสารรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน หรือ e-Form D ในระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบทั้ง 10 ประเทศ ภายในปี 2566 โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 124,609.5 ล้านดอลลาร์ โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 71,968.5 ล้านดอลลาร์ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 52,641.0 ล้านดอลลาร์ และในช่วง 7 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ก.ค.) การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 67,916.2 ล้านดอลลาร์ ซึ่งไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 38,579.1 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์และยานยนต์อื่นๆ น้ำตาล เครื่องปรับอากาศติดผนัง และไทยนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 29,337.1 ล้านดอลลาร์ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ มันสำปะหลัง ข้าวโพด ซึ่งตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์

ที่มา : https://corehoononline.com/index.php/set/company/showcontent/211469.html