สหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกสำคัญของกัมพูชา

สหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) โดยรายงานของ GDCE ระบุว่าการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่า 3.19 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 14.3 จากมูลค่า 3.73 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34.8 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาที่มีมูลค่ารวม 9.18 พันล้านดอลลาร์ สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าสำหรับการเดินทาง แม้ว่าปัจจุบันกัมพูชาจะไม่ได้สิทธิพิเศษของโครงการ GSP จากสหรัฐแล้วก็ตาม โดยในปี 2023 ทางการกัมพูชาคาดว่าสถานการณ์การส่งออกอาจต้องเผชิญกับความยากลำบาก เนื่องจากคำสั่งซื้อโดยภาพรวมลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งในปีที่แล้วการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและสหรัฐฯ มีมูลค่ารวม 6.92 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับปี 2021

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501307389/us-remains-cambodias-largest-export-market/

การค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาแตะ 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชามีมูลค่ารวมมากกว่า 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ หรือคิดเป็นการลดลงร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งรายงานโดยกรมศุลกากรและสรรพสามิต ของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง คิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาส่งเกือบ 9.2 พันล้านดอลลาร์ ไปยังตลาดต่างประเทศ ลดลงร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะเดียวกันการนำเข้าของกัมพูชาปรับตัวลดลงเช่นกันที่ร้อยละ 22.6 หรือคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของกัมพูชา ได้แก่ จีน สหรัฐฯ เวียดนาม ไทย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เยอรมนี ไต้หวัน และแคนาดา ด้านสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า สินค้าเพื่อการเดินทาง จักรยาน ข้าว อุปกรณ์ไฟฟ้า ยางพารา เฟอร์นิเจอร์ ผักและผลไม้ ขณะที่การนำเข้าส่วนใหญ่ ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง รถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยา อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า ปุ๋ย และยาฆ่าแมลงเป็นส่วนใหญ่

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501307770/cambodias-international-trade-recorded-at-over-19-billion-in-first-five-months/

นายกฯ ผลักดันใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง RCEP เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด

15 มิถุนายน 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มุ่งผลักดันการใช้สิทธิประโยชน์และขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดโลกภายใต้ความตกลง RCEP ซึ่งมีผลบังคับใช้กับชาติสมาชิกครบทั้ง 15 ประเทศแล้ว ครอบคลุมประชากรและ GDP กว่า 30% ของโลก โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ซึ่งมีการลงนามครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อปี 2563 ได้มีผลบังคับใช้ครอบคลุมประเทศฟิลิปปินส์แล้ว เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565 ส่งผลให้ RCEP บังคับใช้โดยสมบูรณ์ในประเทศสมาชิกทั้ง 15 ประเทศ ครอบคลุมประชากรและ GDP กว่า 30% ของโลก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมประเทศไทยในการขยายการค้าสินค้ากับและประเทศสมาชิก เพิ่มโอกาสทางการตลาดและการจ้างงานให้กับผู้ประกอบการธุรกิจ และประชาชนชาวไทยได้อย่างมหาศาล รวมทั้งจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า และเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้อีกด้วย ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้รับประโยชน์จาก RCEP ในเดือนมกราคม 2566 มีการส่งออกไปยัง 9 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ออสเตรเลีย สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์รวม 97.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 1,039 % เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2565 ที่ได้เริ่มบังคับใช้ความตกลง RCEP โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญภายใต้ความตกลง RCEP อาทิ น้ำมันหล่อลื่น มันสำปะหลังเส้น ปลาทูน่ากระป๋อง หัวเทียน เป็นต้น ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมอำนวยความสะดวก และให้คำปรึกษาสำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้ใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าอย่างสูงสุด และสะดวกรวดเร็วมากขึ้น

ที่มา : https://www.naewna.com/business/737438

“คนเวียดนาม” มองการจัดการการเงินส่วนบุคคลไปในทิศทางที่ดี

“แมนูไลฟ์” เปิดเผยผลการสำรวจ พบว่าคนเวียดนามมองเรื่องการบริหารทางการเงินส่วนบุคคลไปในทิศทางที่เป็นบวก แต่คนส่วนใหญ่ยังกังวลว่าจะจัดการกับสุขภาพของตนเองได้อย่างไร โดยจากการสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะเห็นได้ว่ารายได้ส่วนบุคคลเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 17% ในปี 2566 และเมื่อถามถึงวิธีการในการบรรลุเป้าหมายทางการเงิน พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 40% ทำการออมเงินเพื่อการเกษียณ รองลงมาออมเงินเพื่อค่ารักษาพยายาล 37% ค่าเล่าเรียนของลูกหลาน 32% และออมเงินสำหรับการซื้อบ้านใหม่ 30% ตามลำดับ ทั้งนี้ เครื่องมือสำคัญที่จะบรรลุเป้าหมายทางการเงินส่วนบุคคล รวมถึงการออมเงินเพื่อการเกษียณ พบว่าคนส่วนใหญ่ 80% ต้องการถือเงินสด รองลงมาการสนับสนุนทางครอบครัวและมรดก (42%) และการประกันสุขภาพส่วนบุคคลและโรคร้ายแรง (37%) ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดเอเชีย ในขณะเดียวกัน คนเวียดนามมองว่าอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย ได้แก่ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ (62%), ภาวะเงินเฟ้อ (60%), สุขภาพที่ย่ำแย่ (51%), การสูญเสียรายได้ (48%) และค่ารักษาพยายาล (38%)

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-people-optimistic-about-personal-finances-post1026170.vov

“เวียดนาม” ลงนามข้อตกลง FTA กับประเทศคู่ค้า 15 ฉบับ

เวียดนามเป็นประเทศเดียวที่ได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักรและรัสเซีย และจนถึงในปัจจุบัน เวียดนามได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรี รวมทั้งสิ้น 15 ฉบับ และอยู่ในช่วงขั้นตอนการเจรจาข้อตกลงการค้าอีก 4 ฉบับ โดยข้อตกลงการค้าหรือเขตการค้าเสรีมีส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเวียดนามมีข้อได้เปรียบอย่างมากที่จะส่งเสริมการค้า ความเชื่อมโยงทางธุรกิจและนำเสนอสินค้าเวียดนามไปสู่ผู้บริโภคในตลาดสำคัญทั่วโลก ทั้งนี้ จากข้อมูลในปีที่แล้ว ระบุว่ายอดการส่งออกที่ใช้หนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าแบบพิเศษ ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี มีมูลค่าอยู่ที่ 78.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 33.61% ของมูลค่าการส่งออกรวมของเวียดนามไปยังตลาดที่ทำข้อตกลงการค้าเสรี (233 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม รายงานว่าอัตราการใช้หนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าแบบพิเศษ อยู่ที่ 33.61% และอัตราการเติบโตที่ 13.18% แสดงให้เห็นถึงสัญญาณการฟื้นตัวของการส่งออกของเวียดนามในตลาด FTA ในช่วงหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-signs-15-ftas-with-foreign-partners-2153890.html

“เมียนมา” เผยราคาน้ำตาลพุ่งทะยาน

ราคาน้ำตาลมีทิศทางที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลาดภายในประเทศ และอยู่ในระดับจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ประมาณ 3,300 จ๊าดต่อ Viss เป็นผลมาจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น อยู่ที่ 680 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ประกอบกับสต๊อกสินค้าในประเทศอยู่ในระดับต่ำและการนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศน้อยลง ทำให้ราคาน้ำตาลสูงขึ้น ทั้งนี้ ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น สาเหตุมาจากการส่งเสริมผู้ปลูกอ้อย นอกจากนี้ คุณ อูวินเท (U Win Htay) รองประธานสมาคมผลิตภัณฑ์น้ำตาลและอ้อยของเมียนมา กล่าวว่าก่อนหน้านี้ เมียนมาส่งออกน้ำตาลไปยังจีนและเวียดนาม ซึ่งเกินกว่าที่บริโภคไว้ในประเทศ แต่ในปัจจุบันเมียนมาส่งออกเพียงแค่ประเทศเวียดนาม

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/sugar-price-on-upward-spiral/#article-title

คาด สปป.ลาว ได้รับประโยชน์จาก RCEP

คาด สปป.ลาว จะได้รับประโยชน์จากข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) หลังมีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลของ สปป.ลาวและจีน กำลังเร่งเจรจาถึงสัดส่วนที่จะทำการลดหย่อนภาษีศุลกากรระหว่างกัน นำโดย Mr.Chanthavong Seneamatmontry รองประธาน แนวลาวส้างซาด (Lao Front for National Development) ในระหว่างการเข้าร่วมประชุม RCEP Local Governments and Friendship Cities Cooperation (Huangshan) ประจำปี 2023 ณ เวียงจันทน์ โดยนโยบายการลดภาษีจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนระหว่าง สปป.ลาวและจีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมทั้งยังคาดว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มสมาชิก RCEP อีกด้วย ซึ่งสิ่งสำคัญคือภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ตลาดยอมรับ โดยปัจจุบัน สปป.ลาว พร้อมที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับจีนเพื่อผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ร่วมกันมากขึ้น ผ่านความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในด้านธรรมาภิบาลและยกระดับความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการเกษตร รวมทั้งเพื่อประโยชน์สูงสุดของเส้นทางรถไฟ สปป.ลาว-จีน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten112_Laos_tobenefit_y23.php

การส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT ของกัมพูชายังคงแข็งแกร่ง แม้การส่งออกโดยรวมจะลดลง

กลุ่มสินค้าเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง (GFT) ยังคงเป็นกลุ่มสินค้าที่มีสัดส่วนการส่งออกสูงสุดของกัมพูชาในช่วง 5 เดือนแรกของปี ที่สัดส่วนร้อยละ 43.4 จากมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา รายงานโดยกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ซึ่งการส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT ในช่วงเวลาดังกล่าวมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 3.99 พันล้านดอลลาร์ ลดลงที่ร้อยละ 23.06 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มูลค่า 5.18 พันล้านดอลลาร์ ส่งผลทำให้เกิดความกังวลเป็นอย่างมากเกี่ยวกับการปิดโรงงานและการสูญเสียการจ้างงานที่มีการจ้างมากถึง 850,000 คน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมระบุว่าการส่งออกที่ลดลงเป็นผลมาจากอุปสงค์ที่ลดลง และการที่มีสินค้าคงคลังมากเกินไปหลังการส่งออกสินค้าไปยังยุโรปและสหรัฐฯ ที่ลดลง ตามรายงานของ Tassilo Brinzer ประธานหอการค้ายุโรปในกัมพูชา (EuroCham) ซึ่งในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าและรองเท้าร้อยละ 20-25 ในกัมพูชาปิดตัวลงส่งผลทำให้แรงงานจำนวนมากตกงาน ในขณะเดียวกันรัฐบาลกัมพูชาได้เริ่มโครงการร่วมกับเจ้าของโรงงานสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินแก่คนงานที่ตกงานหลังจากการปิดโรงงาน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501306694/cambodias-gft-woes-unabated-as-exports-decline-23/

กัมพูชาเล็งทำข้อตกลงด้านการค้าเสรีร่วมกับญี่ปุ่น

Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบหมายหน่วยงานในการดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกัมพูชาและญี่ปุ่น หลังจากในช่วงปีนี้การส่งออกสินค้าของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งรัฐมนตรีได้กล่าวข้อความดังกล่าวไว้ในงานสัมมนาที่มีนักธุรกิจและผู้ประกอบการจากทั้งสองประเทศเข้าร่วมหารือเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกทางการค้าในยุคดิจิทัลระหว่างญี่ปุ่นและกัมพูชาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (9 มิ.ย.) โดยกล่าวเสริมว่าทั้งสองประเทศควรใช้ประโยชน์จากข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) อย่างเต็มที่ ซึ่งในระยะถัดไปทางการกัมพูชาคาดหวังถึงการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับญี่ปุ่นโดยตรง และกำลังเร่งศึกษา รวมถึงพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน โดยปัจจุบันญี่ปุ่นถือเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 สำหรับสินค้าส่งออกของกัมพูชา ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ คิดเป็นมูลค่าการส่งออกของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นมูลค่า 442 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง เครื่องใช้สำนักงาน และเครื่องหนัง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501306688/cambodia-eyes-free-trade-agreement-with-japan/

นายกฯ พอใจ เงินเฟ้อไทยคลี่คลาย พ.ค. เพิ่มเพียง 0.53% ต่ำที่สุดในอาเซียน

วันที่ 14 มิ.ย. นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อในประเทศไทย พอใจสัญญาณเงินเฟ้อไทยคลี่คลายและต่ำที่สุดในอาเซียน โดยล่าสุดข้อมูลกระทรวงพาณิชย์รายงานระบุดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย (เงินเฟ้อ) เดือนพฤษภาคม 2566 เท่ากับ 107.19 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 106.62 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นเพียงร้อยละ 0.53 ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และต่ำสุดในรอบ 21 เดือน ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและค่ากระแสไฟฟ้า รวมทั้งราคาสินค้าในหมวดอาหารชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ระดับสูง ทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ชะลอตัวค่อนข้างมาก ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูล เม.ย. 2566) โดยไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อระดับต่ำ และต่ำที่สุดในอาเซียน จาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข ทั้ง สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 อยู่ที่ระหว่างร้อยละ 1.7-2.7 (ค่ากลาง 2.2) และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/politic/2701703