‘เวียดนาม’ เผยผปก. SMEs เติบโตบนแพลตฟอร์มอเมซอน ดันส่งออกโต 50%

จากรายงานของแพลตฟอร์มชื่อดัง ‘อเมซอน (Amazon)’ เปิดเผยว่าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของเวียดนาม เล็งเห็นถึงประโยชน์จากแพลตฟอร์มอเมซอน ทั้งการเพิ่มยอดขายของสินค้าและการสร้างแบรนด์ให้สามารถตีตลาดต่างประเทศได้ ซึ่งจากข้อมูลสถิติพบว่ายอดการส่งออกของคู่ค้าเวียดนามบนแพลตฟอร์มอเมซอน ขยายตัวกว่า 50% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยเฉพาะสินค้าในหมวดของใช้ในครัว สุขภาพ เครื่องแต่งกายและความงามที่กลายเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้มากที่สุดบนแพลตฟอร์มอเมซอน และมีแนวโน้มที่จะผลิตและส่งออกสินค้าประเภทอื่นๆ ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน เป็นต้น

ทั้งนี้ อีคอมเมิร์ซเป็นปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จในการส่งออกของธุรกิจเวียดนาม โดยจำนวนพันธมิตรการขายบนแพลตฟอร์มของอเมซอน เพิ่มขึ้นมากกว่า 40% และขยายไปสู่ธุรกิจต่างๆ ตั้งแต่ผู้ค้าปลีกที่มีชื่อเสียงอย่าง ‘Lamer’ ไปจนถึงผู้ผลิตแบบดั้งเดิม ‘Beefurni’ และสตาร์ทอัพอย่าง ‘Tidita’ และ ‘Abera’ ได้ใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์ม เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคต่างประเทศ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1650393/vietnamese-smes-thrive-on-amazon-export-growing-50.html

‘แคนาดา’ เปิดประตูสู่ธุรกิจเวียดนามในตลาดโลก

แคนาดาเป็นตลาดที่มีศักยภาพและพร้อมที่จะผลักดันธุรกิจเวียดนามในการขยายสู่ตลาดต่างประเทศ ทั้งการเติบโตของด้านเทคโนโลยี การเงิน กลุ่มลูกค้าและเครือข่ายโลจิสติกส์ในสหรัฐอเมริกา ในขณะเดียวกันจากข้อได้เปรียบของข้อตกลงการค้าเสรีและคุณภาพแรงงาน ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งข้ามเอเชีย ทำให้เวียดนามสามารถเชื่อมโยงกับธุรกิจแคนาดากับตลาดเอเชียได้ ทั้งนี้ ในปัจจุบัน เวียดนามเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของแคนาดาในกลุ่มประเทศอาเซียน และเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่อันดับ 7 ของตลาด รองจากสหรัฐฯ และจีน เป็นต้น

นอกจากนี้ นาง Tran Thu Quynh ที่ปรึกษาเชิงพาณิชย์ของสถานทูตเวียดนามประจำประเทศแคนาดา กล่าวว่าแคนาดามีจุดแข็งที่สำคัญในด้านการพัฒนาเครื่องจักรที่มีคุณภาพสูง เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม ชีวการแพทย์ และวัตถุดิบที่นำเข้าจากเวียดนาม อาทิ แร่ธาตุ พลาสติก ไม้ น้ำมัน ธัญพืชและปุ๋ย เป็นต้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1650430/canada-a-gateway-for-vietnamese-businesses-going-global.html

‘เวียดนาม’ คาดเม็ดเงินทุนไหลเข้า FDI เติบโตต่อเนื่องปี 2567

สำนักงานการลงทุนต่างประเทศ เปิดเผยข้อมูล ณ วันที่ 20 ม.ค. พบว่าเวียดนามดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มากกว่า 2.36 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 40.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และมีโครงการใหม่ที่ได้รับการจดทะเบียนสูงถึง 190 โครงการ คิดเป็นเงินทุนจดทะเบียนรวมมากกว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 24.2% และ 66.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ทั้งนี้ นาย Michael Kokalari ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคและการวิจัยตลาดของ VinaCapital ประเมินว่าในปี 2567 เวียดนามยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติและยังคงสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทญี่ปุ่นที่เห็นโอกาสในการร่วมมือกับหน่วยงานในประเทศ อาทิ การลงทุนในภาคอสังหาฯ การผลิตและการค้าปลีก ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BCI) ของหอการค้ายุโรป เปิดเผยผลการสำรวจ ชี้ให้เห็นว่าธุรกิจ 31% มองว่าเวียดนามเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการลงทุนระดับโลก

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-fdi-forecast-to-remain-strong-through-2024/279260.vnp

‘เวียดนาม’ เผย ม.ค. ยอดส่งออกกาแฟ พุ่ง 2 เท่า

กระทรวงเกษตรและพัฒนาขนบท เปิดเผยว่าเวียดนามส่งออกกาแฟไปยังต่างประเทศในเดือน ม.ค. อยู่ที่ 230,000 ตัน ทำรายได้ราว 623 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 61.6% และ 100.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ในขณะที่ราคากาแฟเฉลี่ยของภาคกลางปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาอยู่ที่ประมาณ 78,200-79,400 ดองต่อกิโลกรัม และคาดว่าทิศทางของราคากาแฟจะสูงขึ้นทะลุ 80,000 ดองต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ราคากาแฟเพิ่มขึ้นมาจากผู้ค้าซื้อกาแฟมีความต้องการสูง ก่อนที่จะถึงเทศกาลตรุษเต็ด (Tet) ของเวียดนาม ในขณะเดียวกัน ผู้ส่งออกมองว่าจะขาดแคลนผลผลิตเหมือนกับปีที่แล้ว จึงมีความต้องการซื้อมากขึ้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1650432/viet-nam-s-coffee-export-value-doubles-in-january.html

‘เวียดนาม’ ส่งออก ม.ค. พุ่ง 42%

จากรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เปิดเผยว่าในเดือน ม.ค.67 การส่งออกมีมูลค่า 33.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.65 การนำเข้ามีมูลค่า 30.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ เกินดุลการค้า 2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยการส่งออกที่ขยายตัวอย่างมากนั้น เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นกว่า 97% และ 38% ตามลำดับ

ทั้งนี้ สหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มีการนำเข้าราว 9.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ตลาดส่งออกแบบดั้งเดิม ได้แก่ จีน สหภาพยุโรปและอาเซียน มีสัดส่วนการส่งออกที่เติบโตเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ กระทรวงฯ คาดว่าสถานการณ์การส่งออกจะเผชิญกับอุปสรรค เนื่องจากได้รับภาระต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นและความตึงเครียดทางการเมืองโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1650421/viet-nam-s-exports-surge-42-in-january.html

‘วีเอ็นจี’ บริษัทเทคยักษ์ใหญ่จากเวียดนาม ยกเลิกแผนเข้าสู่ตลาดโลก

จากรายงานทางการเงินของบริษัทวีเอ็นจี (VNG) เปิดเผยว่าบริษัทขาดทุนในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 อยู่ที่ 291 พันล้านดอง นับเป็นการขาดทุนไตรมาสที่สามติดต่อกัน และหากพิจารณาทั้งปีจะเห็นได้ว่าบริษัทขาดทุนรวมกันทั้งสิ้น 756 พันล้านดอง รวมถึงการขาดทุนของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำอย่าง ‘Tiki’ สูญเสียเงินกว่า 510 พันล้านดอง ถึงแม้ว่าทางบริษัทขาดทุนอย่างมาก แต่ก็มีรายได้เพิ่มขึ้น 10% จากธุรกิจหลักของบริษัทจากเกมส์ออนไลน์ คิดเป็นสัดส่วนราว 75% ของรายได้ทั้งหมด

ทั้งนี้ บริษัทวีเอ็นจีได้วางแผนที่จะระดมทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ มูลค่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 จากการเสนอขายหุ้นออกใหม่ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) และมีแผนจดทะเบียนในตลาด Nasdaq Global Market

อย่างไรก็ดี ต่อมาได้ขอแจ้งถอนการเสนอขายหุ้น IPO โดยนักวิเคราะห์คาดว่าสาเหตุที่ถอนการเสนอขายดังกล่าวมาจากสถานะในปัจจุบันของตลาดหุ้นโลก

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/tech-giant-vng-cancels-plan-to-enter-global-market-but-keeps-ambitious-goals-2247956.html

‘เวียดนาม’ เผยตลาดรถจักรยานยนต์อ่อนแอ ก่อนเทศกาลเต็ด

ตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศช่วงเทศกาลเต็ด (ตรุษจีน) เผชิญกับสถานการณ์ที่ผิดปกติ โดยแทนที่จะปรับขึ้นราคาสินค้า กลับกันผู้แทนจำหน่ายปรับลดราคาสินค้าพร้อมกัน เพื่อกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภค อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะปรับลดราคาลง แต่สถานการณ์ของตลาดรถจักรยานยนต์ของเวียดนามยังคงอ่อนแอ

ทั้งนี้ คนวงในของอุตฯ คาดการณ์ว่าในปี 2567 ทั้งจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว และยอดขายรถจักรยานยนต์ที่ลดลง ทำให้ธุรกิจต่างๆ ใช้กลยุทธ์การลดราคา เพื่อกระตุ้นการซื้อ

นอกจากนี้ จากข้อมูลสถิติพบว่ายอดขายรถยนต์ในปี 2566 อยู่ที่ 2,516,212 คัน ลดลง 16.21% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งแบรนด์ฮอนด้า (Honda) ยังคงมีสัดส่วนของยอดขายมากที่สุดกว่า 83% ของยอดขายทั้งหมดในเวียดนาม

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/domestic-motorcycle-market-sees-poor-demand-before-tet-2248076.html

‘เวียดนาม’ เผย ม.ค.67 โทรศัพท์สินค้าส่งออกอันดับ 1 ยอดโต 6.7%

กรมศุลกากรเวียดนาม รายงานว่าการส่งออกโทรศัพท์และชิ้นส่วนในช่วงครึ่งแรกของเดือน ม.ค.67 มีมูลค่า 2.86 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และโทรศัพท์ยังคงเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ในแง่ของมูลค่าการส่งออก รวมถึงเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนามในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ การส่งออกโทรศัพท์และชิ้นส่วนในปี 2566 ทำรายได้สูงถึง 52.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่ในอันดับที่ 2 รองจากคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ในขณะเดียวกันตลาดส่งออกหลักของเวียดนาม ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้

ที่มา : https://en.vneconomy.vn/phone-exports-rank-top-in-1h-january.htm

‘นายกฯ’ เรียกร้องให้มีการพัฒนาระบบโลจิสติกส์สินค้าเกษตรของเวียดนาม

นายฝ่าม มิงห์ จิญ นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้ออกแถลงการณ์ที่จะมุ่งส่งเสริมการเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ เพื่อขับเคลื่อนการบริโภคและการส่งออกสินค้าเกษตร ป่าไม้และประมง โดยถือว่าเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของเกษตรกรรมและการพัฒนาชนบท

ทั้งนี้ บทบาทภาระดังกล่าว ทางกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท (MARD) ได้รับทำหน้าที่สำคัญในการประสานงานกับกระทรวงและหน่วนงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมมือโครงการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ ปรับปรุงคุณภาพและยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าเกษตรเวียดนาม

นอกจากนี้ยังต้องร่วมมือกับท้องถิ่นในการตรวจสอบและพัฒนาศูนย์บริการโลจิสติกส์ให้มีความเหมาะสมกับสินค้าเกษตร ตลอดจนจัดหลักสูตรฝึกอบรมด้านโลจิสติกส์ โดยเฉพาะผู้บริหารของรัฐฯ ภาคธุรกิจและสหกรณ์ในภาคเกษตรกรรม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/pm-urges-logistics-connectivity-for-vietnamese-farm-produce/279364.vnp

‘คณะผู้แทน’ สำรวจความต้องการผู้บริโภคในช่วงเทศกาลเต็ต พุ่ง 20-30%

คณะผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า และคณะกรรมการประชาชนของเทศบาล รายงานผลการตรวจสอบเมื่อวันที่ 5 ก.พ. พบว่าความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 20-30% ภายหลังเทศส่งเทพเจ้าเตาไฟ โดยซูเปอร์มาร์เก็ตและธุรกิจต่างๆ คาดการณ์ว่าความต้องการจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษญวน หรือเรียกเต็ต (Tet) และยังได้มีการวางแผนเชิงกลยุทธ์ ตลอดจนลงนามสัญญาต่างๆ กับองค์กร เพื่อที่จะเพิ่มผลผลิตสินค้า โดนเฉพาะสินค้าจำเป็น อาหารและของชำ

นอกจากนี้ ธุรกิจต่างๆ เริ่มหันมาเข้าสู่การค้าดิจิทัลออนไลน์ ตั้งแต่การพัฒนาช่องทางการขายของออนไลน์ไปจนถึงการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงการให้บริการจัดส่งสินค้าถึงบ้านและเชื่อมต่อไปยังเมืองและจังหวัดต่างๆ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/consumer-demand-up-20-30-in-run-up-to-tet-post1075927.vov