“เวียดนาม” ชี้ภาคการท่องเที่ยว ประสบความสำเร็จได้มากยิ่งขึ้น

จากการประชุมหารือโต๊ะกลมระหว่างผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญ เมื่อวันที่ 22 มี.ค.66 ที่จัดขึ้นโดย Vietnam Investment Review (VIR) พบว่าผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นพ้องตรงกันว่าเวียดนามยังไม่สามารถที่จะปลดล็อคศักยภาพได้อย่างเต็มที่ คุณ Nguyen Thi Le Huong รองผู้อำนวยการของบริษัทเวียดทราเวล กล่าวว่าด้วยแนวชายฝั่ง 3,000 กม. เวียดนามมีศักยภาพที่จะเป็นจุดหมายปลายทางของรีสอร์ทและดึงดูดนักท่องเที่ยวจากอินเดีย เกาหลีและมองโกเลีย เนื่องจากเห็นถึงความต้องการของนักท่องเที่ยวดังกล่าวที่จะมองหาชายหาดที่สวยงาม อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวได้ คือ รัฐบาลและธุรกิจชุมชนต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาต่างๆ นอกจากนี้ นาย Hoang Nhan Chinh หัวหน้าของคณะกรรมการที่ปรึกษาการท่องเที่ยว (TAB) กล่าวว่าอัตรานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าเวียดนามในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ บรรลุได้ตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ อยู่ที่ 10-12 ล้านคนในปี 2566 และเชื่อว่าภาคการท่องเที่ยวของเวียดนามจะขยายตัวสูงขึ้นไปอีก

ที่มา : https://vir.com.vn/tourism-in-vietnam-can-achieve-more-100581.html

สื่อสิงคโปร์! ย้ำเวียดนามมีศักยภาพการเติบโตของฟินเทค

‘AsiaOne’ สื่อชื่อดังของสิงคโปร์ เผยแพร่บทความ “Vietnam: Can it become the Fintech Mecca of the east?” โดยเน้นว่าฟินเทคของเวียดนามได้ก้าวไปสู่จุดสูงสุดใหม่ และยังเติบโตสูงขึ้นจากกรอบกฎหมายใหม่ ในขณะเดียวกัน โครงการปรับเปลี่ยนประเทศสู่ความเป็นดิจิทัล (Digital Transformation) ของเวียดนามในปี 2565 เป็นตัวเร่งให้ไปสู่ฟินเทค ทั้งนี้ ผลจากการบรรลุความสำเร็จขององค์กรฟินเทคที่สามารถเชื่อมโยงกับภาคธนาคารได้ ทำให้เกิดการสร้างความผสมผสานความร่วมมือระหว่างองค์กรได้อย่างเข็มข้นขึ้น นอกจากนี้ สมาคมธนาคารเวียดนาม (VNBA) เป็นแนวหน้าในการนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่อุตสาหกรรมบริการทางการเงินของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าบริการ SMS หรือส่งเสริมผู้ให้บริการอย่าง Visa และ Mastercard ลดค่าธรรมเนียมหลายประเภทของธนาคารเวียดนามในช่วงการแพร่ระบาด COVID-19

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/singaporean-site-highlights-vietnams-potential-for-fintech-growth/250293.vnp

เมียนมา-จีน ร่วมหารือส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าชายแดน

เมื่อวันอังคารที่ 21 มีนาคม 2566 ณ กระทรวงพาณิชย์ในกรุงเนปยีดอ ของเมียนมา Mr. U Myint Thura อธิบดีกรมการค้า กระทรวงพาณิชย์ของเมียนมา และ Mr. Du Jianhui นายกเทศมนตรีเมืองล้านช้าง จากประเทศจีน ได้ร่วมหารือเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ การลงนามข้อตกลงว่าด้วยการค้าผ่านแดนระหว่างเมียนมาและจีน และการอำนวยความสะดวกในการนำค้าสินค้าจากประเทศที่ 3 ผ่านชายแดนเมียนมา-จีน และการส่งเสริมเพื่อยกระดับการค้าชายแดนให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-china-economic-trade-promotion-meeting-held/

สปป.ลาว ลงนาม MoU เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าทางผ่านแดน

บริษัทของทั้ง สปป.ลาว และไทย ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจไตรภาคี (MoU) ซึ่งได้ลงนาม ณ เวียงจันทน์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านทางรถไฟระหว่าง สปป.ลาว-ไทย และ สปป.ลาว-จีน โดยข้อตกลงนี้ลงนามโดยผู้อำนวยการรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว (LNR) ร่วมกับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Global Multimodal Logistics, รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Pan-asia Silk Road และประธานบริษัท Kaocharoen Train Transport ซึ่ง LNR จะประสานงาน อำนวยความสะดวก ซึ่งตั้งเป้าหมายในการขนส่งทุเรียนและผลไม้อื่นๆ อย่างน้อย 20,000 ตันต่อเดือน จากไทยไปยังตลาดจีน โดยหลังจากทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน เปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2021 ความต้องการทั้งการขนส่งสินค้าและการขนส่งผู้โดยสารปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนจากจำนวนผู้โดยสารที่พุ่งสูงขึ้น ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ แตะ 417,400 คน เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 256.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การขนส่งสินค้ารวมอยู่ที่ 647,700 ตันในช่วงเวลาเดียวกัน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 320

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten57_Deal_y23.php

สำนักงานตลาดพลังงานสิงคโปร์ วางแผนนำเข้าพลังงานสะอาดจากกัมพูชา

สำนักงานตลาดพลังงานสิงคโปร์ (EMA) ได้อนุมัติภายใต้เงื่อนไขสำหรับการนำเข้าพลังงานสะอาดจำนวน 1 กิกะวัตต์ (GW) จากกัมพูชาส่งไปยังสิงคโปร์ ผ่านสายเคเบิลใต้ทะเลระยะทางกว่า 1,000 กม. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การนำเข้าพลังงานที่กำลังดำเนินอยู่ของสิงคโปร์ โดยการอนุมัติดังกล่าวมอบหมายให้กับ Keppel Energy ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจพลังงานของสิงคโปร์ ในการต่อยอดจากการที่ทั้งสองประเทศได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ไปเมื่อปีที่แล้ว ว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงาน ขณะที่ PV Tech Premium อีกหนึ่งบริษัทด้านพลังงานของสิงคโปร์ วางแผนที่จะนำเข้าพลังงานหมุนเวียนจำนวน 4 GW ภายในปี 2035

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501259849/singapores-ema-gives-conditional-nod-to-project-importing-1gw-of-clean-energy-from-cambodia-inked-with-royal-group/

นักท่องเที่ยวเกือบหมื่นคน แห่ชมปรากฏการณ์วิษุวัต ณ นครวัด กัมพูชา

เช้านี้ (22 มี.ค.) นักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมกว่า 8,726 คน แห่ชมปรากฏการณ์วิษุวัต ณ ปราสาทนครวัด ในจังหวัดเสียมราฐ ซึ่งในจำนวนดังกล่าวคิดเป็นนักท่องเที่ยวชาวกัมพูชาราว 6,500 คน และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอีก 2,226 คน โดยปรากฏการณ์วิษุวัตจัดเกิดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ในช่วงเดือนมีนาคม (Spring Equinox) และในเดือนกันยายน (Autumn Equinox) ที่เป็นที่นิยามสำหรับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ซึ่งจากข้อมูลของเว็บไซต์ Mornings.co.uk ได้กล่าวว่านครวัดของกัมพูชาครองอันดับ 1 สำหรับสถานที่ชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ดีที่สุดในโลก รวมถึงนครวัดยังเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณและเป็นแหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโก ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501259841/nearly-10000-national-and-international-tourists-flock-to-see-equinox-at-angkor-wat-temple/

ฝ่าสุญญากาศการเมือง ดันโรงงานลงทุน 2.9 แสนล้าน

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รายงานว่า มูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งปีสูงถึง 664,630 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ถือเป็นมูลค่าที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด ขณะที่จำนวนโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนอยู่ที่ 2,119 โครงการ เพิ่มขึ้น 41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 นอกจากนี้การออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นที่ใกล้จะลงทุนจริงมากที่สุดก็มีแนวโน้มที่ดี มีโครงการที่ออกบัตรส่งเสริม 1,490 โครงการ เพิ่มขึ้น 9% และมีมูลค่าเงินลงทุน 489,090 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% เป็นสัญญาณที่ดีว่า ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้าจะมีการลงทุนจริงที่มากยิ่งขึ้น ด้านจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความเห็นว่า ปี 2566 กรมโรงงานฯ จะขับเคลื่อนการลงทุนผ่านการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ภายใต้นโยบาย MIND ใช้หัวและใจปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน ของปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการ ยกระดับศักยภาพ ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ นโยบายยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนเครื่องจักรให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปี 2566 มาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ มาตรการภาษีกระตุ้นการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ การผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ง่าย สิ่งทอเทคนิคทางการแพทย์ และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี)

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_3888145

“กาแฟเวียดนาม”โตแกร่ง สกัดแบรนด์”สตาร์บัคส์”รุ่ง

กาแฟ เป็นเครื่องดื่มท้องถิ่นในเวียดนามที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แถมประเทศนี้ยังมีร้านคาเฟ่มากกว่าที่อื่น ๆ ในโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อสตาร์บัคส์รุกเข้าไปทำตลาดในเวียดนามเมื่อปี 2556 จึงเจอกับการคาดหวังที่หลากหลายจากแบรนด์อเมริกันชื่อดังอื่นๆ ทั้งแมคโดนัลด์และซับเวย์ “เหวียน กิมเงิน” เจ้าของร้านคาเฟ่แห่งหนึ่งในโฮจิมินห์  ซิตี้ เล่าว่าสตาร์บัคส์ไม่ใช่ร้านกาแฟที่ผู้คนทั่วไปอยากเข้าไปนั่งดื่มได้ทุกวัน ผมอยากทำกาแฟที่มีคุณภาพและให้บริการกาแฟที่ผู้คนสามารถหาซื้อได้

ทั้งนี้ เมื่อดูจากมูลค่าทางการตลาดกาแฟและจำนวนร้านกาแฟ พบว่าเวียดนามเป็นตลาดกาแฟใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ข้อมูลจากเว็บไซต์โนมา (knoema) ระบุว่า ไตรมาสแรกของ ปี 2566 เวียดนามมีสตาร์บัคส์เพียง 87 สาขา ถือว่ามีสาขาน้อยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยแบรนด์ที่มีสาขามากที่สุด คือ ไฮแลนด์สคอฟฟี มีสาขาในเวียดนามมากถึง 573 สาขา รองลงมาเป็นคอฟฟีเฮาส์ 154 สาขา ขณะที่แบรนด์ฟุกลองมี 111 สาขา และแบรนด์ตรุงเหวียนเลเจนด์ใกล้แตะ 100 สาขา

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/world/1058824

“เวียดนาม” เผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่กับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล

จากรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำปี 2565 (e-Conomy SEA 2022) ฉบับที่ 7 โดย Google, Temasek และ Bain & Company ระบุว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามในปี 2565 มีมูลค่าสูงถึง 23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะพุ่งทะยานแตะ 49 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 ซึ่งเป็นการเติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยตัวเลขของรายได้ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ของเวียดนาม อยู่ที่ 148 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว คิดเป็น 14.26% ของ GDP และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเศรษฐกิจดิจิทัลที่คิดเป็น 20% ของ GDP ประเทศ ทำให้เวียดนามจำเป็นต้องรักษาการเติบโตเศรษฐกิจดิจิทัลต่อปีที่ประมาณ 20% ซึ่งสูงกว่าประมาณการณ์การขยายตัวของ GDP ที่คาดการณ์ไว้มากกว่าสามเท่า

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1498513/central-bank-must-keep-a-close-on-the-financial-market-wb.html

การล่มสลายของแบงก์ SVB ไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเวียดนาม

Michael Kokalari หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากกองทุนเพื่อการลงทุน VinaCapital กล่าวว่าการล่มสลายของธนาคารซิลิคอนวัลเลย์แบงก์ (Silicon Valley Bank: SVB) จะไม่สร้างผลกระทบต่อตลาดหุ้นและเศรษฐกิจเวียดนาม และยังไม่พบความเสี่ยงจากเหตุการณ์ข้างต้นที่จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความสามารถในการทำกำไรหรือความสามารถในการชำระหนี้ของธนาคารในเวียดนาม ทั้งนี้ ธนาคารเวียดนามส่วนใหญ่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลอยู่งบแสดงฐานะการเงิน และราคาพันธบัตรรัฐบาลเวียดนาม อายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง 15% ตั้งแต่กลางปี ​​2564 และอัตราผลตอบแทนพุ่งสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการถือครองพันธบัตรรัฐบาลเวียดนาม อยู่ที่ราว 6% ของสินทรัพย์รวมของธนาคาร

นอกจากนี้ การล่มสลายของธนาคาร SVB ไม่น่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจเวียดนาม แม้ว่าสหรัฐฯ จะเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม และเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ 20% ของ GDP

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1500329/silicon-valley-bank-collapse-not-to-impact-vn-vinacapital.html