‘ภาวะเงินเฟ้อ’ กดดันประเทศในเอเชีย ใช้นโยบายการเงินเข้มงวดขึ้น

รายงานของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ฉบับใหม่ ระบุว่าแรงกดดันเงินเฟ้อที่สูงขึ้นของหลายประเทศในเอเชีย รวมถึงสปป.ลาว ผลักดันให้มีการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อที่มีผลต่อเศรษฐกิจ รวมถึงสร้างผลกระทบต่ออุปสงค์ภายนอกและทิศทางการส่งออกของภูมิภาคที่แย่ลง ทั้งนี้ สปป.ลาว มีอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในเอเชีย และคนจำนวนมากมีรายได้ที่ต่ำ ทำให้ต้องหันไปซื้อสิ้นค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

อีกทั้ง สำนักงานสถิติของสปป.ลาว เปิดเผยว่าอัตราเงินเฟ้อ ในเดือน ก.พ.2566 เพิ่มขึ้น 41.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค. ที่ 40.3% การปรับเพิ่มขึ้นของราคาในครั้งนี้ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (49.3%) ในขณะเดียวกัน แขวงคำม่วน มีอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดของประเทศ (49.82%) รองลงมาแขวงเวียงจันทน์และแขวงหลวงพระบาง เป็นต้น

ที่มา : https://vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Inflation48.php

ปริมาณรถยนต์และรถจักรยานยนต์ภายในกัมพูชาเพิ่มขึ้นกว่า 11.3%

กัมพูชารายงานจำนวนยานพาหนะที่จดทะเบียนในประเทศ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 11.3 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตามระบบการจัดการทะเบียนรถ ของกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง (MPWT) โดยจำนวนยานพาหนะที่จดทะเบียนในประเทศนับตั้งแต่ปี 1990-2022 มีจำนวนมากกว่า 6.7 ล้านคัน ซึ่งคิดเป็นรถจักรยานยนต์จำนวน 5.7 ล้านคัน, รถยนต์ขนาดเล็ก 728,294 คัน และรถบรรทุก 285,271 คัน ในขณะเดียวกัน จำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียน (EV) ที่จดทะเบียนในกัมพูชาก็เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของจำนวนรถยนต์ โดยจากรายงานล่าสุด การจดทะเบียนรถ EV เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 1,000 ในปีที่แล้ว หรือคิดเป็นจำนวนรวมกว่า 700 คัน ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการของรถ EV ในกัมพูชา รวมถึงรัฐบาลกัมพูชายังพร้อมสนับสนุนภาคเอกชนในการสร้างสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อรองรับความต้องการในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501251641/cambodias-vehicle-population-grows-by-11-3/

กัมพูชาส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องแต่งกายไปยังญี่ปุ่นขยายตัวต่อเนื่อง

การส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องแต่งกายของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่น เติบโตต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน แม้ว่าการส่งออกจะลดลงในช่วงปี 2020 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งการส่งออกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเป็นมูลค่ารวมกว่า 1,201.698 ล้านดอลลาร์ ในปี 2022 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน) ของปีที่แล้ว ที่มูลค่า 380.611 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวกว่าร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ตามข้อมูลเชิงลึกของ Fibre2Fashion ซึ่งกางเกงขายาวและกางเกงขาสั้น ถือเป็นกลุ่มสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุดที่กัมพูชาได้ทำการส่งออกไปยังญี่ปุ่น โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38.88 ของการส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด ในขณะที่กลุ่มสินค้าสำคัญอื่นๆ ได้แก่ เสื้อเจอร์ซีย์สัดส่วนร้อยละ 13.16, เสื้อยืด ร้อยละ 10.62, เสื้อเชิ้ต ร้อยละ 9.07 และเสื้อผ้าชั้นใน ร้อยละ 5.71

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501252053/cambodias-apparel-exports-to-japan-grow-further-in-2022-to-more-than-1-2-billion/

“เวียดนาม” เผย 2 เดือนแรก ผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โต 1.3%

จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท (MARD) ระบุว่าในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อยู่ที่ประมาณ 1.18 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี และหากพิจารณาเฉพาะในเดือน ก.พ. พบว่าผลผลิตประมงอยู่ที่ราว 593,400 ตัน เพิ่มขึ้น 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้แนะนำให้หน่วยงานในท้องถิ่นทั่วประเทศทำการเชื่อมโยงระบบการทำงาน ปรับโครงสร้างภาคประมงด้วยการปรับโครงสร้างการผลิตใหม่ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและปรับปรุงคุณภาพ รวมถึงยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเวียดนาม นอกจากนี้ จำเป็นที่ต้องพัฒนาระบบการจัดการให้มีความทันสมัย นำเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์มาใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมประมงให้สอดคล้องกับการอนุรักษ์สัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/aquaculture-output-grows-13-in-two-months/249504.vnp

“เวียดนาม” เผยจังหวัดกาวบั่ง ต้องการเงินลงทุนเกินกว่า 6.83 พันล้านเหรียญสหรัฐ

จังหวัดกาวบั่ง (Cao Bang) จำเป็นที่ต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 160.2 ล้านล้านดอง (มากกว่า 6.83 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงปี 2573 ภายใต้แผนพัฒนาจังหวัดปี 2564-2573 โดยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้อนุมัติแผนการดำเนินงานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นแผนการของจังหวัดที่จะตั้งเป้าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในภูมิภาค (GRDP) ขยายตัวเฉลี่ย 9.72% ต่อปี ภายในปี 2573 และคาดว่ารายได้ต่อหัวของจังหวัดจะสูงถึง 101.7 ล้านดองในปีนี้ ตลอดจนภายในปี 2593 จังหวัดกาวบั่ง ได้ตั้งเป้าที่จะเป็น 1 ใน 7 ของจังหวัดชั้นนำในแง่ของรายได้ต่อหัวในภาคเหนือของประเทศและยังเป็นหนึ่งในศูนย์กลางแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศที่สำคัญ ด้วยเหตุนี้ ทางจังหวัดจึงมุ่งเน้นไปที่การสร้างสภาพแวดล้อมทางการลงทุน เพื่อดึงดูดนักลงทุนและส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจชุมชน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1493969/cao-bang-needs-more-than-6-83b-in-investment.html

นทท. แห่จอง โรงแรม-เกสต์เฮาส์ ต้อนรับเทศกาลตะจานของเมียนมา

นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศและนักท่องเที่ยวในประเทศจำนวนมากแห่จองห้องพักโรงแรมและเกสต์เฮาส์บนชายหาดงาปาลี รัฐยะไข่ สำหรับในช่วงวันหยุดเทศกาลตะจาน (เทศกาลสงกรานต์ของเมียนมา) ในช่วงเดือนเมษายน 2566 ที่จะมาถึง  หาดงาปาลีเป็นชายหาดที่มีชื่อเสียงที่สุดของเมียนมา และคาดว่าจะคับคั่งไปด้วยนักท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดเทศกาลตะจาน ตลอด 10 วัน โดยนาย U Tin Htut ผู้อำนวยการฝ่ายโรงแรมและการท่องเที่ยวของรัฐยะไข่ คาดการณ์ว่า ธุรกิจโรงแรมจะดีขึ้นกว่าปีที่แล้วเนื่องจากมีแนวโน้มว่าจะมีนักท่องเที่ยวมากขึ้นในช่วงวันหยุดมากขึ้น หลังจากสถานการณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลายเป็นปกติ  นอกจากนี้ ยังได้ฝากให้นักท่องเที่ยวช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเพื่อให้หาดงาปาลีสะอาดและน่าท่องเที่ยวอยู่เสมอ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/hotels-guesthouses-in-ngapali-beach-fully-booked-for-thingyan-holidays/#article-title

ในช่วงเดือน ม.ค. มูลค่าการค้าระหว่าง สปป.ลาว-เวียดนาม ลดลง 27.3%

มูลค่าการค้าระหว่าง สปป.ลาว และเวียดนาม ลดลงกว่าร้อยละ 27.3 หรือคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 99.2 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือน ม.ค. แม้ข้อจำกัดเกี่ยวกับโควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายลง โดยคิดเป็นการส่งออกของ สปป.ลาว ไปยังเวียดนาม มูลค่า 71.4 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นการลดลงร้อยละ 23.8 ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าจากเวียดนามของ สปป.ลาว อยู่ที่มูลค่า 27.8 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกหลักของ สปป.ลาว ไปยังเวียดนาม ได้แก่ ข้าวโพดหวาน ยางพารา ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ และปุ๋ย ซึ่งในปี 2022 มูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่าง สปป.ลาว และเวียดนาม ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 1.7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งในปี 2023 สปป.ลาว และเวียดนามตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันที่ประมาณร้อยละ 10-15

ที่มา : https://vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten47_Laovietnam_y23.php

กัมพูชาหนุนแรงงานในอุตสาหกรรมการตัดเย็บเสื้อผ้า

รัฐบาลกัมพูชากำลังจะเปิดตัวโครงการสนับสนุนแรงงาน ร่วมกับบริษัทเอกชนที่ประกอบกิจการโรงงานสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินแก่แรงงานที่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ โดยมีรายงานว่า นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานและการฝึกอาชีพของประเทศ รวมถึงกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง ในการทำงานร่วมกันกับบริษัทเอกชนเพื่อช่วยเหลือแรงงานกว่า 32,000 คน ที่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากการปิดโรงงานกว่า 70 แห่ง ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาแรงงานที่ถูกเลิกจ้างได้รับการสนับสนุนทางการเงินรวม 70 ดอลลาร์ต่อเดือน นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2022 หลังโรงงานปิดตัวลง โดยแบ่งเป็นการสนับสนุนจากรัฐบาลกัมพูชา 40 ดอลลาร์ และโรงงานสนับสนุน 30 ดอลลาร์ รวมเป็น 70 ดอลลาร์ต่อเดือน เพื่อเป็นการเยียวยาแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้าง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501251325/cambodia-moves-to-support-garment-workers/

ในช่วง Q4/2565 รายได้ท่าเรือสีหนุวิลล์ของกัมพูชา ลดลงกว่า 12%

Sihanoukville Autonomous Port (PAS) ซึ่งเป็นท่าเรือของรัฐบาลกัมพูชา โดยได้ประกาศผลการดำเนินการในช่วงไตรมาสที่ 4 ลดลงร้อยละ 12.16 หรือคิดเป็นมูลค่า 77.01 พันล้านเรียล เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการลดลงเป็นผลมาจากปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ที่ลดลงกว่า 26,704 TEUs หรือคิดเป็นจำนวนรวมอยู่ที่ 159,104 TEUs ในช่วงเวลาดังกล่าว รวมถึงท่าเรือยังได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวน ในขณะเดียวกันรายได้รวมทั้งปี 2022 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.41 หรือคิดเป็นมูลค่า 343.74 พันล้านเรียล แต่ถึงอย่างไรก็ตามกำไรสุทธิลดลงปรับตัวลดลงร้อยละ 10.19

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501250926/pas-q4-revenue-down-12-at-77-01b-riels/

เคาะเวนคืนที่ดิน ทุ่ม 4.4 พันล้าน สร้างมอเตอร์เวย์เชื่อม ‘สนามบินอู่ตะเภา’ บูมอีอีซี

คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลสำนักท้อน และตำบลพลา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพื่อดำเนินงานก่อสร้าง โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา โดยสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 กรุงเทพมหานคร-บ้านฉาง รวมทางแยกไปบรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 (บางวัว) และทางแยกไปบรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (บ้านอำเภอ) และทางเข้าท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาในท้องที่ตำบลสำนักท้อน และตำบลพลา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ด้วยวงเงินการก่อสร้าง 4,400 ล้านบาท โดยต้องเวนคืนที่ดินมูลค่ารวมประมาณ 107.7 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็น โครงการที่สำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะช่วยเติมเต็มโครงข่ายคมนาคมให้สมบูรณ์ เชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑลไปสู่ภาคตะวันออกได้อย่างสะดวกทั้งทางน้ำ ทางบก ทางราง และทางอากาศ เกิดการเชื่อมต่อระบบขนส่งอย่างไร้รอยต่อ สามารถรองรับการไหลเวียนของการจราจรที่เกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยเสริมการให้บริการของโครงการสนามบินอู่ตะเภาเพื่อยกระดับเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 รวมถึงเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของเมืองการบินตะวันออก จะทำให้การพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออกกลายเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจที่สำคัญของไทย ตลอดจนเป็นแรงผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการบิน และประตูเศรษฐกิจสู่เอเชีย ทั้งนี้ ครม.ให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้และให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_3861315