สายการบิน Lucky Air เตรียมเปิดเที่ยวบินตรง สปป.ลาว

สายการบินต่างชาติอย่างน้อย 7 สายการบิน ได้เปิดเที่ยวบินตรงไปยัง สปป.ลาว เพื่อรองรับการค้าการท่องเที่ยวในภูมิภาคที่กำลังเติบโต ซึ่งได้ฟื้นตัวขึ้นอย่างมากหลังจากที่ สปป.ลาว ได้เปิดพรหมแดนต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติไปเมื่อปีที่แล้ว กล่าวโดยผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการของสายการบิน สปป.ลาว ขณะที่ปัจจุบัน  Lucky Air สายการบินต้นทุนต่ำในเมืองคุนหมิง ประเทศจีน ได้ประกาศที่จะกลับมาให้บริการเที่ยวบินไปยัง สปป.ลาว ณ เมือง หลวงพระบาง ในวันที่ 13 มีนาคม ที่กำลังจะมาถึงเป็นเที่ยวบินแรก โดยมีกำหนดการที่จะให้บริการเที่ยวบินไปยังเวียงจันทน์ ในวันจันทร์และวันศุกร์ และไปยังหลวงพระบางในวันพุธและวันอาทิตย์ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่คาดว่าจะหลั่งไหลเข้ามาในอนาคต

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Lucky38.php

ในช่วงเดือน ม.ค. การค้าระหว่าง กัมพูชา-อินเดีย ขยายตัวแตะ 37 ล้านดอลลาร์

ในเดือนมกราคม 2023 การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและอินเดียมีมูลค่ารวมกว่า 37 ล้านดอลลาร์ ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต คิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาไปยังอินเดียมูลค่ารวม 22 ล้านดอลลาร์ หลังกระทรวงพาณิชย์และสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำกัมพูชา ได้ยกระดับความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศ โดยในปัจจุบันกัมพูชาและอินเดียมีความพยายามเป็นอย่างมากในการผลักดันการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี ซึ่งเน้นว่าข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นส่วนช่วยยกระดับการค้า การลงทุน และความร่วมมือในภาคส่วนอื่นๆ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501243610/cambodia-india-trade-reaches-37m-in-january/

นักลงทุนจีนแห่กลับเข้ามาลงทุนยังกัมพูชา

นักลงทุนและนักธุรกิจชาวจีนต่างกระตือรือร้นที่จะกลับเข้ามาลงทุนยังกัมพูชาหลังจากการเปิดพรมแดนของจีน โดยการคาดการณ์ดังกล่าวถูกกล่าวในระหว่างงานฟอรัมที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่าง กัมพูชา-จีน (ไหหลำ) ณ กรุงพนมเปญ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเกือบ 200 คน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ นักธุรกิจ และนักลงทุนจากกัมพูชาและจีนเข้าร่วมการประชุม ด้าน Sok Sopheak รัฐมนตรีต่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเสริมว่า กัมพูชาคาดว่าจะมีการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น ตามข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับจีน และเกาหลีใต้ รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เป็นสำคัญ โดย FTA กัมพูชา-จีน และ RCEP ส่งผลทำให้การค้าทวิภาคีระหว่าง จีน-กัมพูชา มีมูลค่าสูงถึง 1.16 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2022 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า คิดเป็นการส่งออกของกัมพูชามีมูลค่า 1.2 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 17.9 และนำเข้ามูลค่า 1.04 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาได้ปฏิรูประบบการดำเนินงาน และพยายามออกมาตรการต่างๆ มากมาย เพื่อสนับสนุนการลงทุนและภาคธุรกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501243609/chinese-investors-keen-to-return-to-cambodia/

FTA ไทย-ยูเออี ประตูการค้าสู่ตะวันออกกลางของไทย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมเตรียมจัดการประชุมระดมความเห็น เปิดประตูการค้าการลงทุนผ่าน FTA ไทย-ยูเออี ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับจัดทำ CEPA ไทย-ยูเออี จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสัมคม พร้อมทั้งนำเสนอผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศ GCC และ CEPA ไทย-ยูเออี และรับฟังมุมมองและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็น สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย สำหรับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจและการค้าในตะวันออกกลาง ซึ่งพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง และยังสามารถเป็นประตูการค้าสู่กลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) ซึ่งมีสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ยูเออี ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน โอมาน กาตาร์ และคูเวต ซึ่งปัจจุบันสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทยในตลาดโลก และอันดับที่ 1 ในตะวันออกกลางโดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีมูลค่า 20,824.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+73.90%) เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มีสัดส่วนการค้า คิดเป็น 3.53% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย

ที่มา : https://www.thansettakij.com/business/economy/557089

“ข้าวเวียดนาม” ส่งออกเติบโตแข็งแกร่งในปี 2566

นาย Pham Van Chinh ผู้อำนวยสำนักงานการส่งออกและนำเข้าของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) กล่าวขอบคุณรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนอย่างทันท่วงที ทำให้ในปีที่แล้ว เวียดนามส่งออกข้าวได้ 7.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 13.8% ในเชิงปริมาณ และ 5.1% ในเชิงมูลค่า เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ส่งผลให้เวียดนามเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก และในปีนี้คาดการณ์ว่าเวียดนามจะส่งออกข้าวประมาณ 6.5 – 7 ล้านตัน เนื่องจากความต้องการข้าวคุณภาพสูงของเวียดนามเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากข้อมูลของสมาคมอาหารเวียดนาม ระบุว่าราคาส่งออกข้าวของเวียดนามยังคงเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท เปิดเผยว่าการผลิตข้าวเพื่อการส่งออกส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ในขณะที่ในภูมิภาคอื่นๆ นั้นผลิตข้าวเพื่อการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnams-rice-sector-expected-to-win-big-with-exports-in-2023-post1003250.vov

สื่อสวิส ตีแผ่ ‘เวียดนาม’ จุดหมายปลายทางใหม่ของธุรกิจต่างชาติ

สื่อสวิส (Swiss Daily) เปิดเผยบทความว่าเวียดนามมีการเติบโตทางเศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุดในเอเชีย ปี 2565 หลังวิกฤตโควิด-19 ซึ่งสวิตเซอร์แลนด์อยู่ในตำแหน่งที่มีความได้เปรียบจากเศรษฐกิจเวียดนามที่ขยายตัวสูงขึ้น และบริษัทสวิสหลายร้อยแห่งเป็นหนึ่งในนักลงทุนยุโรปรายสำคัญที่สุดในเวียดนาม โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมของสวิสที่สามารถใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์สินค้าที่ผลิตในเวียดนาม “Made in Vietnam” ทั้งนี้ การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมเวียดนาม สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการเข้ามาของบริษัทระดับโลก อาทิ ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของ Apple และบริษัทซัมซุง (Samsung) เป็นต้น นอกจากนี้ เวียดนามได้รับการจัดอันดับจากนักลงทุนต่างชาติว่าเป็นแหล่งการลงทุนที่ได้รับความสนใจชั้นนำของโลก ด้วยเหตุนี้ เวียดนามจะยังคงเห็นการก่อตั้งโรงงานขนาดใหญ่ในอนาคตอีกจำนวนมาก

ที่มา : https://en.nhandan.vn/swiss-daily-vietnam-becomes-a-new-destination-for-foreign-companies-post122754.html

10 เดือนที่ผ่านมา เมียนมานำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ทะลุกว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย ณ สิ้นเดือนมกราคม 2566 ของปีงบประมาณ 2565-2566 (เดือนเมษายน 2565 – ปัจจุบัน) พบว่า เมียนมานำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมมากที่สุด คิดเป็นมูลค่า 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมาคือ เครื่องนุ่งห่ม 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, วัตถุดิบเหล็กและเหล็กกล้า 560 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, สินค้าเวชภัณฑ์ 540 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, และปุ๋ยและน้ำมันปาล์ม 530 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่แล้ว เมียนมาจะนำเข้าสินค้าทุน สินค้าขั้นกลาง สินค้าอุปโภคบริโภค และวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (CMP) ในขณะที่การส่งออกจะเป็นผลิตผลทางการเกษตร สินค้าปศุสัตว์ สินค้าประมง สินค้าจากแร่ธาตุ สินค้าป่าไม้  สินค้าอุตสาหกรรมสำเร็จรูป และสินค้าอื่นๆ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/petroleum-products-top-import-line-up-with-over-4-billion-in-past-10-months/#article-title

โรงแรมในหลวงพระบาง สปป.ลาว ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้น

Daophet Bouphaphanh รองประธานสมาคมโรงแรมและเกสต์เฮ้าส์ในแขวงหลวงพระบาง กล่าวว่า อัตราการเข้าพักโรงแรมของนักท่องเที่ยวจีน ในเมืองมรดกโลกอย่างหลวงพระบางเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยคาดว่ายอดจองห้องพักจะเพิ่มขึ้นตลอดทั้งปี ซึ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนส่วนใหญ่เดินทางมาทางบกโดยรถส่วนตัว หลังจากทางการจีนได้ยกเลิกข้อจำกัดการเดินทางสำหรับพลเมืองของตนและอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศเมื่อวันที่ 8 มกราคม ที่ผ่านมา และเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะหลั่งไหลเข้ามา รองประธานสมาคมฯ ได้หารือกันในระหว่างหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของจังหวัด เพื่อปรับปรุงที่พักและบริการต้อนรับให้เพียงพอสำหรับปริมาณนักท่องเที่ยวที่กำลังจะกลับมา

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten37_Luang_y23.php

CDC อนุมัติโครงการลงทุนใหม่จากญี่ปุ่นมูลค่ารวม 2.9 พันล้านดอลลาร์

สภาเพื่อการพัฒนาแห่งกัมพูชา (CDC) ได้อนุมัติโครงการลงทุน 150 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 2.9 พันล้านดอลลาร์ ที่เสนอโดยนักลงทุนญี่ปุ่นในประเทศ ณ สิ้นเดือนมกราคมปีนี้ ตามการรายงานของ CDC หลังจากการประชุมระหว่างเลขาธิการ Sok Chenda Sophea และเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกัมพูชา Atsushi Ueno รวมถึงผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA), องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) และสมาคมธุรกิจญี่ปุ่นแห่งกัมพูชา (JBAC) ในการหารือร่วมกัน โดยโครงการลงทุนที่โดดเด่นของนักลงทุนญี่ปุ่นในกัมพูชา ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า, โรงงานประกอบรถยนต์, โรงงานผลิตมอเตอร์ขนาดเล็ก, โรงงานผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า และโรงพยาบาล ซึ่งการลงทุนของนักลงทุนชาวญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมต่างๆ ของกัมพูชา ถือเป็นบทบาทสำคัญในการสนับสนุนความหลากหลายทางเศรษฐกิจของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501243067/cdc-approves-2-9-billion-japanese-investment-projects/

กัมพูชามองหาแหล่งเงินลงทุน สร้างทางรถไฟความเร็วสูงสายแรก

Sun Chanthol รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและการขนส่งของกัมพูชาเปิดเผยว่าปัจจุบันทางการกัมพูชามองหาแหล่งเงินทุนในการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง โดยเส้นทางรถไฟดังกล่าวเริ่มต้นจากเมืองหลวงพนมเปญทอดยาวไปจนถึงปอยเปต ซึ่งเป็นเมืองที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย รวมระยะทาง 382 กิโลเมตร โดยคาดว่ารถไฟจะสามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วในช่วง 160 ถึง 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะเดียวกันจะจัดตั้งสถานีทั้งสิ้น 33 สถานี ตัดผ่านถนนประมาณ 300 สายโดยใช้สะพาน ตามคำแถลงที่ China Road & Bridge Corp (CRBC) รายงาน ซึ่งได้กำหนดงบประมาณในการก่อสร้างไว้ที่ 4 พันล้านดอลลาร์ ครอบคลุมการก่อสร้างทางรถไฟ สถานี และรถไฟความเร็วสูง ด้านนายกรัฐมนตรีฮุนเซนกล่าวเสริมหลังไปเยือนประเทศจีนเมื่อต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา โดยได้แถลงการณ์ถึงการที่จีนได้ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนโครงการในระยะเริ่มต้น รวมถึงการวางแผน การออกแบบ และการศึกษาความเป็นไปได้ ผ่านการทำงานร่วมกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งทางการจีนคาดหวังถึงการเชื่อมต่อกันในระดับภูมิภาคด้วยเส้นทางรถไฟของกัมพูชากับทางรถไฟจีน-สปป.ลาว-ไทย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501243268/cambodia-seeks-4-billion-investments-for-its-first-high-speed-railway/