สนค.ชี้ศก.จีนดีขึ้นหลังคลายมาตรการโควิด

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประกาศเปิดประเทศของจีนตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 66 เป็นต้นไป หลังจากดำเนินนโยบาย Zero-COVID มานานกว่า 3 ปี เป็นสัญญาณที่ดีต่อการส่งออกไปยังตลาดจีน โดยประเมินว่า ในปี 2566 ตลาดจีนจะกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง โดยจีนเป็นตลาดหลักที่มีความสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศของไทย เป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 2 สัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 12 ของการส่งออกรวม รองจากสหรัฐอเมริกา

ที่มา : https://www.innnews.co.th/news/economy/news_479263/

จีนทวงแชมป์เที่ยวไทยอันดับ 1 สศช.ขยับเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติ-รายได้

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยในโอกาสนักท่องเที่ยวจีนเริ่มเดินทางเข้าไทยหลังจากรัฐบาลจีนประกาศเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.66 ว่า ททท.คาดว่าตลอดปี 66 จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยไม่น้อยกว่า 5 ล้านคน กลับมาเป็นชาติที่เข้าไทยมากเป็นอันดับ 1 ครองสัดส่วน 20% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในปีนี้ ที่คาดไม่น้อยกว่า 25 ล้านคน ทั้งนี้ โดย สถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย วันที่ 1-7 ม.ค. 66 มีจำนวนสะสม 419,516 คน โดยอันดับ 1 คือ รัสเซีย 46,128 คน รองลงมา คือ มาเลเซีย 45,517 คน, เกาหลีใต้ 32,977 คน, อินเดีย 22,393 คน และลาว 19,674 คน ส่วนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาเป็นอันดับที่ 12 ที่จำนวน 12,308 คน ขณะที่ตลอดปี 65 นักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 11,818,727 คน โดยอันดับ 1 คือ มาเลเซีย 1,951,834 คน ตามด้วยอินเดีย 965,994 คน, ลาว 844,958 คน, กัมพูชา 591,657 คน และสิงคโปร์ 589,770 คน ส่วนจีน อันดับ 14 ด้วยจำนวน 286,511 คน ด้านสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ปรับคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยใหม่หลังจากที่จีนเปิดประเทศเร็วกว่าที่คาดไว้ว่าจะเป็นครึ่งปีหลังของปี 66 จากเดิมที่ คาดจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 23 ล้านคน สร้างรายได้ 1.2 ล้านล้านบาท โดยขอรอดูสถานการณ์ในอีก 2-3 สัปดาห์ก่อนปรับตัวเลขใหม่ คาดจะมีความชัดเจนเดือน ก.พ.นี้ ขณะที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า จากที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนว่าเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะถดถอย ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยหรือไม่อย่างไร แต่ยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนภายหลังการเปิดประเทศ

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/feature/2598640

ททท.ลุยจัดโรดโชว์จีนรอบ 3 ปี นำผู้ประกอบไทยฟื้นตลาดจีนเที่ยวไทยมูลค่า 5 แสนล้าน

นายชูวิทย์ ศิริเวชกุล ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.เตรียมจัดโรดโชว์ส่งเสริมการขายที่จีนในช่วงสัปดาห์ที่ 3 เดือน ก.พ.66 ในพื้นที่หลัก 3 เมือง ได้แก่ เมืองเซี่ยงไฮ้ กว่างโจว และเฉิงตู นำผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั้งฝั่งไทยและจีนมาพบปะเจรจาธุรกิจกัน รวม 120 ราย ประกอบด้วยฝั่งไทย 60 ราย และฝั่งจีนอีก 60 ราย เพื่อนำไปจัดทำแพ็กเกจท่องเที่ยวไทย เสนอขายแก่นักท่องเที่ยวจีนทั้งกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) และเตรียมการขายสำหรับกรุ๊ปทัวร์ เมื่อรัฐบาลจีนอนุญาต ทั้งนี้ ถือเป็นการกลับไปจัดโรดโชว์ที่จีนครั้งแรกในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 หลังจีนเปิดประเทศ มีผลตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.66 เป็นต้นไป ขณะนี้นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง (FIT) สามารถออกท่องเที่ยวระหว่างประเทศได้แล้ว ซึ่งภาพรวมโครงสร้างตลาดนักท่องเที่ยวจีนก่อนโควิด-19 ระบาด กลุ่ม FIT ครองสัดส่วน 60% ส่วนกรุ๊ปทัวร์ 40% แต่ถ้าดูเฉพาะเมืองใหญ่ เช่น เซี่ยงไฮ้เป็นกลุ่ม FIT สูงถึง 80-90% ปักกิ่งมีกลุ่ม FIT 60-70% ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ปี 62 ก่อนวิกฤติโควิด-19 เป็นปีที่นักท่องเที่ยวจีนมาไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 11 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 531,000 ล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่ง 27% ของทั้งจำนวนและรายได้ตลาดต่างประเทศที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 40 ล้านคน ที่สร้างรายได้ 2 ล้านล้านบาท.

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2597655

กรุงศรีฯ ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 66 ขยายตัว 3.6% แรงหนุนท่องเที่ยว จับตาปัจจัยภายนอกกระทบ

วิจัยกรุงศรี บทวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจและการเงิน (ฉบับพิเศษ) โดยระบุถึงทิศทางเศรษฐกิจปี 2566 คาดว่าจะเป็นปีแรกที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยสามารถกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงหรือสูงกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 วิจัยกรุงศรีคาดเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะยังเติบโตต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.6 จากร้อยละ 3.2 ในปี 2565 โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง การใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่เติบโตจากการจ้างงานที่ปรับดีขึ้นโดยเฉพาะในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยว การลงทุนที่ยังมีสัญญาณเชิงบวกอยู่บ้างจากการฟื้นตัวของภาคบริการ ความต่อเนื่องของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการขยายตัวของการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

อย่างไรตาม การลงทุนในบางอุตสาหกรรมและการส่งออกในภาพรวมจะเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ภาวะทางการเงินที่ตึงตัวขึ้น การเติบโตต่ำของเศรษฐกิจจีน สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) ปัจจัยเหล่านี้อาจจำกัดการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ที่มา : https://www.thaipost.net/economy-news/296943/

ไทยเล็งร่วมผลิตปิโตรเลียมกับกัมพูชา

คณะรัฐมนตรีของไทยจัดการหารืออย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (3 ม.ค.) เกี่ยวกับการร่วมมือในการผลิตปิโตรเลียมในอ่าว กัมพูชา-ไทย ภายใต้การบูรณาการร่วมกันระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งการหารือนำโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กับ Suy Sem รัฐมนตรีกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานของกัมพูชา โดยมีวัตถุประสงค์ในการพิจารณาความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนพลังงานในภูมิภาค ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นจังหวะที่ดีในการรื้อฟื้นข้อตกลงการผลิตปิโตรเลียม บนพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน (OCA) ของทั้งสองประเทศ โดยทั้งสองประเทศกำลังเร่งเจรจากันเกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อน (OCA) 26,000 ตร.กม. ซึ่งคาดว่าจะมีทรัพยากรธรรมชาติทั้งน้ำมันและก๊าซใต้พื้นทะเลมากถึง 500 ล้านบาร์เรล ขณะที่กัมพูชายังมีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาแหล่งน้ำมันและก๊าซ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากราคาน้ำมันและก๊าซในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้นหลังเกิดสงครามยูเครน ซึ่งความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในกัมพูชาคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.8 ล้านตันในปี 2030 เพิ่มขึ้นจาก 2.8 ล้านตันในปี 2020

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501214065/thailand-keen-on-joint-petroleum-production-with-cambodia/

DITP ชี้ช่องผลิตสินค้า BCG เจาะผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z ในแคนาดา

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโตรอนโตประเทศแคนาดา ถึงโอกาสในการขยายการส่งออกสินค้ากลุ่ม BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว) เจาะตลาดผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z ในแคนาดา ที่ปัจจุบันให้ความสำคัญกับสินค้าที่มีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผลการสำรวจพบว่า กลุ่มผู้บริโภค Gen Z ที่มีอายุระหว่าง 10-25 ปี มีสัดส่วนสูงถึง 20%ของประชากร และได้กลายเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงกว่ากลุ่มรุ่นก่อน คือ Millennials ในภูมิภาคอเมริกาเหนือ กลุ่ม Gen Z มีการใช้จ่ายในปี 2564 มูลค่าสูงถึง 360,000 ล้านเหรียญสหรัฐ(12.9 ล้านล้านบาท) มีแหล่งรายได้มาจากงานประจำและงานชั่วคราวหรือจากผู้ปกครอง มีทัศนคติและพฤติกรรมผู้บริโภคแตกต่างจากคนรุ่นก่อน ทำให้นักการตลาดให้ความสำคัญกับการศึกษาและทำความเข้าใจคนกลุ่มนี้ เพื่อปรับกลยุทธ์สินค้าการตลาดต่างๆให้กับเข้ากับคนกลุ่มนี้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่มา: https://www.naewna.com/business/699253

สศช.เผยสูตรใหม่พบคนจนพุ่ง 8.1 ล้านคน

น.ส.วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช.ได้พบข้อมูลคนจนของประเทศไทย พบว่ามีหลากหลายมิติไม่ใช่เฉพาะเรื่องเงินเท่านั้น เพื่อใช้วัดคนจนในมิติอื่นๆ โดยวัดผ่าน 4 มิติ คือ มิติด้านการศึกษา มิติการใช้ชีวิตในแบบที่ดีต่อสุขภาพ มิติความเป็นอยู่ และมิติด้านการเงิน ซึ่งแต่ละมิติมีการกำหนดตัวชี้วัดไว้ 3 ตัวชี้วัด รวมเป็น 12 ตัวชี้วัด ซึ่งหากใช้ตัวชี้วัดความยากจนหลายมิติเทียบกับความยากจนที่วัดผ่านเกณฑ์รายได้ ผลจากการใช้ดัชนีดังกล่าวพบว่า หากวัดคนจนที่อยู่ต่ำเส้นความยากจนหรือในฝั่งรายได้จะมีคนจนเพียง 4.4 ล้านคน แต่ถ้าเอาดัชนีความยากจนหลายมิติมาวัด พบว่า มีคนจนสูงถึง 8.1 ล้านคน ซึ่งมิติสำคัญที่พบมากสุดคือ ด้านความเป็นอยู่ มีสูงถึง 35% รองลงมากคือความมั่นคงด้านการเงิน 29% เป็นสัดส่วนที่ทำให้คนมีความยากจนมากสุด

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/feature/2581096

“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” เข็น มอก.เอส ยานยนต์ไฟฟ้า

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ออกประกาศมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เอส หรือ มอก.เอส ซึ่งเป็น มอก.ที่มอบให้กับเอสเอ็มอีเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 2 มอก. ได้แก่ การบริการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้า และการบริการดัดแปลงรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อรองรับมาตรฐานของเอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชน (โอทอป) เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสนใจเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และบางส่วนนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่มีอยู่ไปดัดแปลงให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อรถไฟฟ้าคันใหม่

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2576168

สรท.คาดส่งออกไทย ปี 2566 ขยายตัว 3% ไร้แรงหนุน

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท. คาดการณ์การส่งออกรวมปี 2565 ขยายตัวที่ 7-8% หรือมีมูลค่า 290,000-293,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ การส่งออกปี 2566 ขยายตัวที่ 2-3% หรือมีมูลค่า 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจัยบวกที่จะสนับสนุนให้การส่งออกขยายตัวได้ คือ จีนผ่อนคลายโควิด-19 สินค่าการส่งออกที่ยังเติบโต การส่งออกอาหาร สินค้าเกษตร เป็นต้น

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-1140385

8 เดือนแรกของปี 65 ค้าชายแดนเมียวดีของเมียนมามีมูลค่ารวม 1.456 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย มูลค่าการค้าชายแดนเมียวดีระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึง 25 พฤศจิกายน 2565 แตะ 1.456 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงอย่างมากถึง 148.545 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว เพราะการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าและความไม่แน่นอนทางการเมืองในพื้นที่ชายแดนส่งผลให้การส่งออกไปไทยลดลงอย่างมาก โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ สินค้าเกษตร (พริก หัวหอม ผงข้าว ขมิ้น ดอกลิลลี่แห้ง เมล็ดกาแฟ ถั่วเขียว ยาง อบเชย เปลือกถั่วแมคคาเดเมีย ลูกพลัม  และถั่วลิสง) สินค้าประมง (ปลากะตัก หอยกาบ ปลาตะลุมพุกฮิลซาปู กุ้ง และปลาอื่น ๆ) และสินค้าอุตสาหกรรมสำเร็จรูปประเภทตัดเย็บและบรรจุภัณฑ์ (เสื้อกันหนาวบุรุษ เสื้อเชิ้ตสตรี และเสื้อผ้าอื่น ๆ) ซึ่งความต้องการของไทยสำหรับของใช้และวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหารในครัวเรือนจากเมียนมาเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหารและธุรกิจอาหาร เริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหลังโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myawady-border-trade-totals-1-456-billion-in-about-eight-months/