ภาคการท่องเที่ยวอาเซียนผนึกกำลังภาคการขนส่ง ดันการเติบโตภาคนักท่องเที่ยว

การประชุมระหว่างคณะรัฐมนตรีการท่องเที่ยวอาเซียนและรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของอาเซียน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ กรุงพนมเปญ นำโดย Sok Soken รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชา ได้มีฉันทามติในประเด็นเร่งด่วนร่วมกันในการสนับสนุนความร่วมมือของภาคการท่องเที่ยวและการขนส่งของอาเซียน ในการผลักดันให้ภาคการท่องเที่ยวอาเซียนกลับมาเติบโตอีกครั้งหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด รวมถึงมีความพยายามที่จะเพิ่มการไหลเวียนด้านการเดินทางของนักท่องเที่ยวภายในกลุ่มประเทศอาเซียน สำหรับทางการกัมพูชาให้ความสำคัญกับการปรับใช้กลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยว ให้กลายมาเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ รวมถึงผลักดันให้ภาคสังคมเกิดการเติบโตด้วยการเพิ่มโอกาสการจ้างงานสร้างรายได้ โดยปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มสำคัญมาจากสหภาพยุโรป ซึ่งมีปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 80 และนักท่องเที่ยวจากกลุ่มชาติเอเชียเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2019 ก่อนเกิดการแพร่ระบาด สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 239.60 ล้านดอลลาร์ โดยมีอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR 2023-2027) ที่เฉลี่ยร้อยละ 10.34 ซึ่งคาดว่ามูลค่าจะปรับเพิ่มขึ้นสู่ 355.20 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2027

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501391621/asean-tourism-joins-forces-with-transport-sector-to-boost-numbers/

นายกฯ ฮุน มาเน็ต โปรโมทโครงการ ‘Visit Siem Reap 2024’ หนุนการท่องเที่ยวกัมพูชา

นายกรัฐมนตรีฮุน มาเน็ต ประกาศโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว ‘Visit Siem Reap 2024’ ซึ่งคาดว่าจะช่วยส่งเสริมภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยว ผ่านมาตรการจูงใจด้านภาษีและการอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางของนักท่องเที่ยว โดยนายกฯ ได้ประกาศไว้ในระหว่างการกล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมภาครัฐ-เอกชน (G-PSF) ครั้งที่ 19 ซึ่งการออกมาโปรโมทในครั้งนี้ถือเป็นการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวภายในพื้นที่จังหวัดเสียมราฐ ด้วยการที่จังหวัดมีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอย่างอุทยานโบราณคดีอังกอร์ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดย UNESCO ขณะที่นายกฯ ยังได้วางแผนที่จะสนับสนุนภาคธุรกิจด้วยการให้ธนาคารและสถาบันการเงิน ปรับโครงสร้างสินเชื่อที่ให้แก่ผู้ประกอบด้านการท่องเที่ยวและนักลงทุนในภาคการบริการ ให้เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น โดยปัจจุบันได้มีการจัดสรรเงินทุนให้กับภาคดังกล่าวไปแล้วกว่า 50 ล้านดอลลาร์ ในการฟื้นฟูหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501391623/pm-announces-visit-siem-reap-2024-initiative/

จีนพร้อมสนับสนุนภาคพลังงานกัมพูชา

ทางการกัมพูชาพร้อมตอบสนองต่อความต้องการด้านพลังงานภายในประเทศ ภายใต้การร่วมมือของนักลงทุนจีน โดยเฉพาะการช่วยลดต้นทุนการบริโภคพลังงานของภาคครัวเรือนกัมพูชาซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 0.25 ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งสูงกว่ามากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างประเทศไทยมีต้นทุนต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงอยู่ที่ 0.139-0.141 ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง และเวียดนามโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.073-0.078 ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง สิ่งนี้พิสูจน์แล้วว่ากัมพูชามีต้นทุนทางด้านพลังงานที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่ด้วยความพยายามของรัฐบาลในการปรับปรุงภาคพลังงานได้เริ่มดำเนินโครงการไว้ตั้งปี 2018 ด้วยการเปิดตัวโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 400 เมกะวัตต์ “Lower Sesan 2” ในจังหวัดสตึงแตรง ภายใต้เงินทุนสนับสนุนจาก China Hwaneng Group จับมือร่วมกับ Royal Group ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 800 ล้านดอลลาร์ ในการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำครอบคลุมกำลังการผลิตคิดเป็นกว่าร้อยละ 51 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501391160/china-proves-godsend-for-cambodias-energy-sector/

ส่งออกกัมพูชาโตแตะ 18.5 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2023

กรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา (GDCE) รายงานสถานการณ์การส่งออกของประเทศมีมูลค่ารวมสูงถึง 18.59 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สำหรับสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชา ได้แก่ เครื่องแต่งกาย รองเท้า สินค้าเพื่อการท่องเที่ยว จักรยาน และสินค้าเกษตร เป็นสำคัญ โดยเน้นการส่งออกไปยังตลาดหลักอย่าง สหรัฐฯ เวียดนาม จีน ไทย และญี่ปุ่น ซึ่งกัมพูชาส่งออกสินค้าไปยัง สหรัฐฯ มากที่สุดที่มูลค่าการส่งออกรวม 7.49 พันล้านดอลลาร์ ลดลงเล็กน้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านการส่งออกไปยังเวียดนามเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 40 หรือคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 2.26 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่การส่งออกไปยังจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.3 คิดเป็นมูลค่า 1.17 พันล้านดอลลาร์ ตามรายงานของ GDCE โดยส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์จากข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงการค้าเสรีกับจีนและเกาหลี ที่เริ่มมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา ซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการส่งเสริมภาคการผลิตในประเทศ และมีส่วนสำคัญในการดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ จากต่างประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501391190/cambodias-exports-reach-18-5b-in-10-months/

ผู้ว่าการ NBC รายงานการใช้สกุลเงินท้องถิ่นเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 2 ทศวรรษ

Chea Serey ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) กล่าวถึงการเติบโตของการใช้สกุลเงินท้องถิ่น อย่างสกุลเงินเรียลเติบโตเป็นอย่างมาก สำหรับในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยวัตถุประสงค์ในการลดค่าของเงินดอลลาร์ (de-dollarize) เพื่อให้สกุลเงินท้องถิ่นกลับมามีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น โดยทางการพยายามที่จะปรับสมดุลการใช้สกุลเงินดอลลาร์ ให้เป็นตามกลไกตลาดด้วยการดำเนินมาตรการนโยบายต่างๆ เพื่อส่งเสริมการใช้เงินสกุลเรียลมานับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2000 ซึ่งปัจจุบันปริมาณเงินเรียลที่หมุนเวียนอยู่ในระบบเพิ่มขึ้นจาก 0.85 ล้านล้านเรียล (ประมาณ 211 ล้านดอลลาร์) เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เป็น 14.5 ล้านล้านเรียล (ประมาณ 3.51 พันล้านดอลลาร์) ในปัจจุบัน สะท้อนไปยังการเพิ่มขึ้นทางด้านเสถียรภาพของสกุลเงินท้องถิ่นกัมพูชาได้เป็นอย่างดี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501390501/nbc-governor-says-cambodia-has-seen-big-increase-in-local-currency-usage-in-past-2-decades/

การค้า “กัมพูชา-จีน” ยังคงแข็งแกร่ง แม้อุปสงค์ทั่วโลกอ่อนตัว

การค้าระหว่าง กัมพูชา-จีน ยังคงแข็งแกร่ง ท่ามกลางอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนตัวลง เป็นผลมาจากการมีข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA) สำหรับมูลค่าการค้าสินค้าระหว่างกัมพูชาและจีนในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่าอยู่ที่ราว 1 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตของกัมพูชา (GDCE) โดยสินค้าศักยภาพของกัมพูชาที่ได้ทำการส่งออกไปยังจีน ได้แก่ ข้าวสาร กล้วย มะม่วง ลำไย และพริกไทย เป็นสำคัญ ขณะเดียวกันปริมาณการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของกัมพูชาในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ที่ 3.87 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 3.1 จากมูลค่า 3.99 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501390478/cambodia-china-trade-stays-robust-amid-weakening-global-demand/

ท่าอากาศยานนานาชาติ “เสียมราฐ-อังกอร์” พร้อมให้บริการเชื่อมสายการบินต่างๆ ทั่วโลก

ท่าอากาศยานนานาชาติ เสียมราฐ-อังกอร์ (SAI) พร้อมเปิดให้บริการเชื่อมสายการบินต่างๆ ทั่วโลก โดยในช่วงแรกของการเปิดให้บริการมีจำนวนสายการบินที่ให้บริการภายในสนามบิน SAI จาก 7 สายการบิน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 สายการบิน ภายในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า หลังบรรลุข้อตกลงกับสายการบินต่างๆ รวมถึงในช่วงสิ้นปีถือเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังกัมพูชาเป็นจำนวนมาก สำหรับจำนวนผู้โดยสารทางอากาศที่เดินทางผ่าน SAI เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 3,200 คนต่อวัน จากจำนวน 2,600 คน ที่บันทึกไว้เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ที่ผ่านมา ตามรายงานของสำนักงานเลขาธิการการบินพลเรือนกัมพูชา (SSCA) ขณะที่การรองรับเที่ยวบินสามารถรองรับได้สูงสุด 42 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มขึ้นจาก 34 เที่ยวบินต่อวัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของเดือนที่แล้ว ซึ่งจุดหมายปลายทางส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคอาเซียนและจีน ด้านกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชาเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (3 พ.ย.) ว่า กัมพูชาให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ราว 3.92 ล้านคน ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 211 จาก 1.26 ล้านคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501389376/more-airlines-set-to-operate-from-sai-airport/

ทางการกัมพูชาจัดงานประกวด “หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งผลิตภัณฑ์”

คณะกรรมการแห่งชาติกัมพูชาวางแผนจัดการประกวด หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OVOP) ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มที่คาดว่าจะสนับสนุนให้ผู้ผลิตปรับปรุงคุณภาพและเพิ่มการส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยปัจจุบันทางการได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับกำหนดกฎเกณฑ์การเป็นสมาชิก OVOP ณ กรุงพนมเปญ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (7 พ.ย.) นำโดย Ouk Rabun รัฐมนตรีอาวุโสและประธานคณะกรรมการแห่งชาติสำหรับ OVOP โดยจะจัดอันดับให้กับผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1,2,3,4 และ 5 ดาว ผ่านการพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญบนมาตรฐานที่ทางการได้กำหนดไว้ สำหรับปัจจุบันมีสินค้าประมาณ 680 รายการ ที่ลงทะเบียนภายใต้โครงการ OVOP และส่วนใหญ่มีการจัดหน่ายแล้วในห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่น ซึ่ง OVOP ถือเป็นกลไกในการส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นใช้ทรัพยากรและทักษะอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์สำหรับตลาดในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งยังส่งเสริมการเพิ่มรายได้ให้กับภาคประชาชน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501389363/contest-to-rate-village-products-planned/

กัมพูชานำเข้าเนื้อวากิวจากญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 60

กัมพูชานำเข้าเนื้อวากิวจากญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 60 สำหรับในช่วง 8 เดือนแรกของปี รายงานโดยสื่อญี่ปุ่นโดยอ้างจากแหล่งข่าวของรัฐบาลญี่ปุ่น สำหรับเนื้อวากิวถือเป็นหนึ่งในเนื้อสัตว์ที่มีราคาแพงที่สุดในโลก ซึ่งมีราคาเริ่มต้นสูงกว่า 90 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม ด้วยเอกลักษณ์ทางด้านรสชาติที่เข้มข้น มีรสเนย และลายหินอ่อน (มันแทรก) ด้านกัมพูชาเริ่มนำเข้าเนื้อวากิวจากญี่ปุ่นตั้งแต่ในช่วงปี 2020 เป็นต้นมา รวมถึงกัมพูชาและเกาหลีใต้ได้เริ่มกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับการเจรจาการกักกันเนื้อสัตว์ที่นำเข้ามาจากเกาหลีใต้เมื่อ 8 ปีที่แล้ว โดยเกาหลีใต้หวังผลักดันการส่งออกเนื้อวัวเกรดพรีเมี่ยมจำนวนกว่า 2,000 ตัน มูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ ไปยังกัมพูชา ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า จากข้อมูลของ Statista รายงานว่าปริมาณการขายเนื้อสัตว์ในตลาดของประเทศกัมพูชา ซึ่งประกอบด้วยเนื้อสด เนื้อแปรรูป และสารทดแทนเนื้อสัตว์ คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 2.127 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2023 และคาดว่าจะเติบโตในอัตราร้อยละ 8.33 ต่อปี ไปจนถึงปี 2028

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501388703/japanese-wagyu-beef-exports-to-cambodia-decline-by-60-percent/

นายกฯ กัมพูชา ตั้งเป้าดันพระสีหนุเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของประเทศ

รัฐบาลกัมพูชาวางแผนพัฒนาจังหวัดพระสีหนุ ซึ่งเป็นเมืองชายฝั่งทะเลของกัมพูชา ให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งของประเทศ ผ่านการจัดทำแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาจังหวัด กล่าวโดย นายกฯ ฮุน มาเนต ซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง (MPWT) เป็นผู้รับผิดชอบในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟและท่าเรือน้ำลึก เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าภายในประเทศ ซึ่งนายกฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อหวังผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว สำหรับในเฟสแรกทางการมีการวางแผนที่จะขยายท่าเรือน้ำลึกเนื่องจากปัจจุบันลานจัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์เกือบเต็มพื้นที่ที่ร้อยละ 93 รวมถึงเพื่อที่จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งของผู้ประกอบการจากระหว่าง 400 ถึง 500 ดอลลาร์ ต่อตู้คอนเทนเนอร์ เหลือเพียง 200 ดอลลาร์ ต่อตู้คอนเทนเนอร์ อีกทั้งท่าเรือดังกล่าวยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งอย่างทางรถไฟ 2 สาย เชื่อมไปยังกรุงพนมเปญและปอยเปต ที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501388709/pm-says-preah-sihanouk-set-to-be-countrys-logistics-hub/