ข้อตกลง ‘RCEP’ โอกาสดันห่วงโซ่อุปทานของเวียดนาม

ศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NCIF) เปิดเผยว่าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) จะส่งผลในทิศทางที่เป็นบวกต่อเศรษฐกิจภูมิภาค และยกระดับรายได้ของภูมิภาคราว 0.6% ในปี 2573 ในขณะที่ตามรายงานของธนาคารโลก ประจำปี 2565 ได้คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนาม ขยายตัว 4.9% โดยปัจจัยสำคัญของข้อตกลงข้างต้นนั้นน่าจะเป็นความกลมกลืนของแหล่งกำเนิดสินค้าหรือวัตถุดิบในภูมิภาคที่ใช้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) ซึ่งจะเปิดโอกาสและผลประโยชน์อื่นๆ ในแง่ของการส่งออกในภูมิภาค ด้วยเหตุนี้ เวียดนามจึงสามารถนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศสมาชิกได้ เพื่อนำไปแปรรูปหรือผลิตสินค้าสำเร็จรูป ในขณะเดียวกันยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีเมื่อทำการส่งออกสินค้าไปยังประเทศสมาชิก ‘RCEP’

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1393973/rcep-helps-to-shape-viet-nam-s-supply-chains-report.html

บริษัทจากเกาหลีใต้หารือสปป.ลาว พัฒนาโครงการเมกะโปรเจกต์

กรมส่งกำลังบำรุงทั่วไปของกระทรวงป้องกันความสงบ แห่งสปป.ลาว ได้ลงนามเพื่อให้สิทธิ์ในการใช้ที่ดินในพื้นที่กิโลเมตรที่ 62 บนพื้นที่กว่า 1,200 เฮกตาร์ ของแขวงเวียงจันทน์ให้กับบริษัท โอเรียนเต็ลเพิร์ล จำกัด จากเกาหลีใต้ เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการ Resort Lao Complex มูลค่า 2.9 พันล้านเดอลลาร์สหรัฐฯ โดยประกอบไปด้วยการสร้างเมืองใหม่ สถานที่ท่องเที่ยวและศูนย์บริการ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างโอกาสในการทำงานให้กับคนในท้องถิ่นของสปป.ลาว ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าโครงการนี้จะส่งเสริมโครงการลงทุนในท้องถิ่นโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในอำเภอโพนโฮง แขวงเวียงจันทน์

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten221_South_y22.php

เดือนต.ค 65 เมียนมาส่งออกข้าวโพดทะลุ ! 177,000 ตัน

กระทรวงพาณิชย์ เผย เดือนต.ค.2565 เมียนมาส่งออกข้าวโพดกว่า 177,000 ตัน นำรายได้เข้าประเทศกว่า 53 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการส่งงออกทางทะเล 174,970 ตัน และอีก2,870 ตัน ถูกส่งออกผ่านด่านชายแดน ซึ่งจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมา ทำให้การส่งออกส่วนใหญ่ต้องอาศัยการขนส่งทางทะเลเป็นหลัก โดยตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บังคลาเทศ ศรีลังกา และมาเลเซีย ซึ่งในปีงบประมาณ 2563-2564 ที่ผ่านมา เมียนมาออกข้าวโพดประมาณ 2.3 ล้านตัน ทั้งนี้พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดที่สำคัญในเมียนมา ได้แก่ รัฐฉาน รัฐคะฉิ่น รัฐกะยา และรัฐกะเหรี่ยง รวมถึงไปถึงภาคมัณฑะเลย์ ภาคซะไกง์และภาคมะกเว

ที่มา: https://english.news.cn/asiapacific/20221112/92d074beee034d4aa5039841757ecd9c/c.html

 

‘เวียดนาม’ เร่งสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของธุรกิจ SMEs

หอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม (VCCI) และบริษัท Meta Group รวมถึงผู้แทนจากกระทรวงการวางแผนและการลงทุน กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและสมาคมธุรกิจ ร่วมประชุมหารือแผนการดำเนินงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เมื่อวันที่ 9 พ.ย. โดยงานดังกล่าวหารือเกี่ยวกับความท้าทายของธุรกิจ SMEs ที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงนโยบาย แนวโน้ม โอกาส เครื่องมือและโซลูชั่นที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ทั้งนี้ คุณ Bui Trung Nghia รองประธานกรรมการสภาหอการค้าเวียดนาม กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลได้เปิดโอกาสให้กับทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ช่วยยกระดับการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ เศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนาม มีมูลค่า 21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 เพิ่มขึ้น 31% เมื่อเทียบเป็นรายปี และคิดเป็น 5% ของ GDP ประเทศ

ที่มา : https://en.nhandan.vn/measures-sought-to-speed-up-digital-transformation-in-smes-post119693.html

‘เวียดนาม’ ปริมาณขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือ เพิ่มขึ้น 3% ช่วง 10 เดือนแรก

สำนักงานบริหารการเดินเรือเวียดนาม (VMA) เปิดเผยข้อมูลว่าในเดือนม.ค.-ต.ค. มีปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านท่าเริอเวียดนาม 608.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว คิดเป็น 84% ของเป้าหมายทั้งปี ในขณะที่ตามรายงานของ SSI Research ระบุว่าแนวโน้มการเติบโตของภาคการขนส่งทางทะเลยังคงไม่สดใส เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการท่าเรือส่วนใหญ่มีมีมุมมองไปในทิศทางที่เป็นบวก ถึงแม้เผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคม

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/ports-see-jan-oct-cargo-throughput-rising-3-y-o-y/

เมียนมานำเข้าปุ๋ยทางทะเลทะลุ 75,000 ตัน มูลค่า 46.847 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ระหว่างวันที่ 1-31 ตุลาคม 2565 เมียนมานำเข้าปุ๋ยจากการค้าทางทะเลกว่า 75,000 ตัน มูลค่า 46.847 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยนำเข้าจากโอมานมากกว่า 25,000 ตัน จีน 27,000 ตัน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 8,500 ตัน เวียดนาม 5,200  ตัน และไทย 3,800 ตัน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปริมาณการนำเข้าลดลงกว่า 35,000 ตันเมื่อเทียบกับเดือนกันยายนที่ผ่านมา ส่วนการนำเข้าผ่านชายแดนมีปริมาณมากกว่า 11,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 4.281 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเป็นการนำเข้าจากจีนประมาณ 5,700 ตัน ไทย 3,700 ตัน และอินเดีย 1,100 ตัน ทั้งนี้ราคาปุ๋ยจะเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 65,000-170,000 จัตต่อถุงกระสอบ (50 กก.) ขึ้นอยู่กับยี่ห้อและชนิดของปุ๋ย

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-imports-over-75000-tonnes-of-fertilizer-worth-46-847-mln-by-sea-in-oct/#article-title

สินค้าเกษตร สปป.ลาว จ่อเข้าตลาดเซี่ยงไฮ้ภายใต้ข้อตกลง CIIE

คาดว่าผักและผลไม้ของ สปป.ลาว จะเริ่มส่งออกและจัดจำหน่ายไปยังตลาดในเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ภายใต้ข้อตกลงใหม่ที่ได้ลงนามในงาน China International Import Expo (CIIE) ครั้งที่ 5 โดยกรมส่งเสริมการค้าของกระทรวงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ของ สปป.ลาว ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลเขตหยางผู่ ตามรายงานของ SHINE สำนักข่าวเซี่ยงไฮ้ ซึ่ง MoU ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างจีนและ สปป.ลาว โดยเน้นไปที่การสนับสนุนผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีคุณภาพ เพื่อเข้าสู่ตลาดท้องถิ่นและตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งสินค้าเกษตรหลักของ สปป.ลาว ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากของคนเซี่ยงไฮ้ ได้แก่ ข้าวโพดหวาน มันสำปะหลังแห้ง และเสาวรส โดยในปีที่แล้วมูลค่าการค้าระหว่าง สปป.ลาว-จีน คิดเป็นมูลค่ากว่า 4.35 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของคณะกรรมการความร่วมมือ สปป.ลาว-จีน คิดเป็นมูลค่านำเข้าจากจีนอยู่ที่ 1.67 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 ในขณะที่มูลค่าการส่งออกของ สปป.ลาว เพิ่มขึ้นเป็น 2.68 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 28.2

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2022_Laofarm219.php

สนามบินนานาชาติแห่งใหม่คาดว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการเติบโตของกัมพูชา

สนามบินนานาชาติพนมเปญแห่งใหม่ ซึ่งลงทุนและกำลังก่อสร้างโดยบริษัทสัญชาติจีน บริษัท China Construction Third Engineering Bureau Group Co., Ltd. โดยคาดว่าจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของกัมพูชาในอนาคต ผ่านการร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างกัมพูชาและจีนภายใต้กรอบความคิดริเริ่ม หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ซึ่งหากโครงการก่อสร้างสนามบินแล้วเสร็จจะสามารถรองรับเครื่องบินได้ทุกขนาด (4F-Class) ตั้งแต่เครื่องบินขนาดเล็ก-ใหญ่ โดยคาดว่าสนามบินนอกจากจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว ยังคาดว่าจะมีส่วนช่วยในการบรรเทาความหนาแน่นของปริมาณผู้เดินทาง และมีบทบาทในการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501181671/chinese-built-international-airport-expected-to-play-key-role-in-boosting-growth-in-cambodia/

กัมพูชาอนุมัติโครงการลงทุน 161 โครงการ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี

ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ กัมพูชาอนุมัติโครงการการลงทุนทั้งหมด 161 โครงการ ด้วยเงินลงทุนรวม 3.5 พันล้านดอลลาร์ กล่าวโดย Sok Chenda Sophea ผู้แทนสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ขณะร่วมประชุมทางด้านการส่งเสริมการค้าและการลงทุนเวียดนาม-กัมพูชา เมื่อวานนี้ (9 พ.ย.) ซึ่งกล่าวเสริมว่าภาคอุตสาหกรรมของกัมพูชามีการขยายตัวมากกว่าร้อยละ 41.5 ในขณะเดียวกันโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศก็ขยายตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 51 รวมถึงปัจจุบันกระทรวงฯ และสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนได้เร่งจัดทำพระราชกฤษฎีกาย่อย เกี่ยวกับการดำเนินการตามกฎหมายด้านการลงทุนแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ และจะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนภาคการลงทุนภายในประเทศต่อไปในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501181372/cambodia-approves-more-than-150-investments-worth-more-than-3-billion-in-10-months/

ไทยเนื้อหอมต่างชาติจ่อลงทุนเพียบ เน้นทำเลทองอีอีซี

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2565 หรือ ก.ย. 64-ต.ค. 65 กนอ. มียอดขาย เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั้งที่ร่วมดำเนินการและที่ดำเนินการเอง 2,016.24 ไร่ เพิ่มขึ้น 65.1% เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ 1,770 ไร่ แบ่งเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี 1,716.99 ไร่ และนอกพื้นที่อีอีซี 299.25 ไร่ เนื่องจากไทยได้ประกาศเปิดประเทศเป็นทางการ รวมทั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานหลักของไทยมีความชัดเจน ทำให้นักลงทุนทั้งใน และต่างประเทศมีความเชื่อมั่น ทยอยเข้ามาต่อเนื่อง ส่วนปี 66 กนอ. ตั้งเป้ายอดขาย หรือเช่าพื้นที่ไว้ที่ 2,500 ไร่ เนื่องจากได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัว และปัจจัยบวกจากทิศทางการเคลื่อนย้ายการลงทุนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ การแพร่ระบาดของโควิด-19 การเกิดสงครามยูเครน-รัสเซีย และล่าสุดการปฏิรูปการเมืองในประเทศจีน ทำให้หลายอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ จัดระบบการผลิตครั้งใหญ่ ซึ่งไทยมีความได้เปรียบหลายส่วน ส่งผลให้บริษัทขนาดใหญ่ระดับโลกหลายบริษัท เล็งเข้ามาลงทุนในไทย สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมอันดับแรกที่เข้ามาลงทุน คือ กิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรม 22.6%, อุตสาหกรรมยานยนต์ และการขนส่ง 11.06%, อุตสาหกรรมเหล็ก และผลิตภัณฑ์โลหะ 9.33%, อุตสาหกรรมยาง พลาสติก และหนังเทียม 8.85% และอุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักร และอะไหล่ 8.36 % โดยนักลงทุนจากญี่ปุ่นครองแชมป์สนใจลงทุนมากเป็นอันดับหนึ่งถึง 31.25% รองลงมา คือ นักลงทุนจากจีน 18.75 และนักลงทุนจากอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ อินเดีย และมาเลเซีย 6.25%

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/news/1669249/